“ลับแล” เป็นหนึ่งอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ล้อมรอบไปด้วยหุบเขา และมีเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ที่เล่าต่อๆ กันมา กลายเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของที่นี่ “ตะลอนเที่ยว” จึงขอมาเยือนเมืองลับแลคราวนี้ตามโครงการ “เขาเล่าว่า...” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เกี่ยวกับเรื่องเล่าตำนานต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้รู้สึกอยากท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น
เมื่อมาถึงเมืองลับแลสิ่งแรกที่เห็นคือ “ซุ้มประตูเมืองลับแล” สัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองลับแล มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์แบบสุโขทัย ที่ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่และสวยงาม นอกจากนั้นถัดไป จะพบกับ “ประติมากรรมแม่หม้ายเมืองลับแล” ที่แสดงถึงตำนานของเมืองลับแล ที่เล่าถึงแม่หม้ายผู้ที่ยอมเสียสละ เพื่อรักษาสัจจะวาจาที่เป็นกฎของเมืองว่าเมืองนี้ห้ามพูดโกหก จึงกลายเป็นเรื่องราวเขาเล่าว่า...โดยมี เจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ เล่าให้ฟังว่า “มีชายหนุ่มคนหนึ่งได้พลัดหลงทางกับเพื่อนจนไปพบกับหญิงสาวชาวลับแล จึงเกิดความรักใคร่กัน โดยหญิงสาวได้พาชายหนุ่มมาอยู่กินที่บ้านเป็นสามีภรรยากันภายใต้กฎของเมืองลับแลที่ห้ามพูดโกหก เวลาผ่านมาทั้งสองมีลูกหนึ่งคน อยู่มาวันหนึ่งหญิงสาวออกไปข้างนอกและให้สามีเลี้ยงลูก แต่เนื่องจากภรรยาออกไปนานลูกเลยคิดถึงแม่และร้องไห้ไม่หยุด จึงเป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อพลั้งเผลอโกหกลูกว่า แม่กลับมาแล้วเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยินเข้า และบอกลูกสาวถึงการกระทำของสามีที่ทำผิดกฎเมืองลับแล ฝ่ายหญิงจึงตัดสินใจสละความสุขส่วนตัว ให้สามีไปจากเมืองลับแล เธอจึงจัดข้าวของใส่ย่ามให้สามีสำหรับการเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางสามีรู้สึกว่าย่ามที่สะพายหนักขึ้น จึงเปิดดูเห็นแต่แท่งขมิ้นจึงทิ้งไปเหลืออยู่ไม่กี่แท่ง แต่พอกลับถึงบ้านและเปิดถุงย่ามออก ก็พบว่าแท่งขมิ้นกลายเป็นทองคำจึงเสียดาย และตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองลับแลแต่ก็หาเมืองไม่พบ”
ส่วนที่มาของคำว่า “ลับแล” นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เมืองลับแลแต่เดิมเป็นที่หลบหนีข้าศึกของชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หากเป็นคนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อีกทั้งทางทิศเหนือยังมีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนและเป็นป่าดงดิบ ในช่วงเย็นพระอาทิตย์ยังไม่ตกดินบรรยากาศก็มืดแล้ว เพราะยอดเขาบังพระอาทิตย์ ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “ลับแลง” โดยในภาษาเหนือแปลว่า หายไปในเวลาเย็น และเพี้ยนมาเป็นคำว่า “ลับแล” ในปัจจุบัน
ฟังเรื่องราวตำนานแล้ว ลับแลถือว่าเป็นเมืองเล็กๆ ที่สามารถท่องเที่ยวได้ด้วยจักรยาน ปั่นชมบรรยากาศวิถีชีวิตและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ภายในเมือง โดยสามารถติดต่อขอยืมจักรยานได้ที่ “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล” พร้อมทั้งมีคู่มือและแผนที่ให้ปั่นเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมือง โดยที่แรกที่ปั่นไปเยือน คือ “อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ” ซึ่งตั้งอยู่ตรงแยกตลาดสดเทศบาลศรีพนมมาศ พระศรีพนมมาศ เป็นปูชนียบุคคลที่สร้างความเจริญให้แก่อำเภอลับแลเป็นอย่างมาก อาทิ เป็นผู้วางผังเมืองลับแล สร้างฝายหลวง ส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ซึ่งคนลับแลให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้นปั่นลัดเลาะไปตามซอย สองข้างทางจะมีชาวบ้านคอยโบกไม้โบกมืออย่างไม่ขาดสาย ปั่นไปเรื่อยๆ จนถึงสถานที่ท่องเที่ยวแห่งที่สอง นั่นคือ "บ้านราษฎร์สุดใจ" หรือ “บ้านร้อยปีคุณมงคล” ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่าแก่ในลับแลที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ที่นี่เคยเป็นบ้านของนายสรรพากรในสมัยก่อน ตัวบ้านจะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น โดยส่วนด้านหน้าจะเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของเจ้านาย ส่วนด้านหลังเป็นเรือนทีอยู่อาศัยของบ่าวไพร่ เชื่อมต่อกัน ภายในบ้านยังคงมีของเก่าให้ชมไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน ข้าวของเครื่องใช้ ในปัจจุบันที่นี่ยังคงเป็นบ้านพักส่วนตัวที่มีผู้อาศัยอยู่ หากใครอยากมาเที่ยวเยี่ยมเยือนชมบ้านหลังนี้ต้องติดต่อแจ้งไว้ล่วงหน้าจึงสามารถเยี่ยมชมได้
จากนั้นปั่นย้อนกลับมาไปยัง "ถนนราษฎร์อุทิศ" หรือมีชื่อที่เรียกกันว่า "ถนนคนกิน” เป็นถนนที่มีของกินอร่อยต่างๆ ตามสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นร้าน “เจ๊นีย์ของทอดลับแล” ที่ขายของทอดต่างๆ คลุกแป้งสูตรเฉพาะของร้านที่สืบทอดต่อกันมา โดยวัตถุดิบที่นำมาทอดนั้นมีหลายอย่าง ทั้ง เต้าหู้ทอด เผือกทอด ข้าวโพดทอด ปอเปี๊ยะทอด และไฮไลท์ที่สุดคือ หน่อไม้ทอด จิ้มกับน้ำจิ้มรสชาติอร่อยกลมกล่อม จากนั้นปั่นไปชิมกันต่อไม่ไกลที่ร้าน “หมี่พันป้าหว่าง” หมี่พันของขึ้นชื่อใน อ.ลับแล ที่นำหมี่มาห่อด้วยข้าวแคบเป็นม้วน อร่อยติดใจไปตามๆ กัน
จากนั้นไปเยือนชมของสวยงามผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมนั่นคือ "พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล" โดย จงจรูญ มะโนคำ หรือคุณโจ เป็นผู้ก่อตั้งที่นี้ คุณโจได้คลุกคลีอยู่กับการทอผ้าตั้งแต่เด็กๆ และรักในการทอผ้าเป็นอย่างมาก จึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นเพื่อบ่งบอกความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวลับแล ผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีความประณีต สอดแทรกทัศนคติ ความเชื่อ โชคลาภ บนผืนผ้าที่ทอลวดลาย ซึ่งเกิดจากจินตนการของผู้ทอจากสิ่งรอบๆ ตัว ลักษณะบนลายผืนผ้าจึงเรียบง่าย เช่น ลายนกคุ้ม ลายนาค ลายสร้อย ลายดอกหมาก ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์สองชั้น โดยจะจัดแสดงผ้าเก่าที่มีอายุนานร้อยปี สวยงามให้ได้ชม และผ้าพื้นเมืองแบบใหม่ที่ดัดแปลง นอกจากนั้น คุณโจ ยังได้ร่วมอนุรักษ์เก็บลายผ้าเก่าต่างๆ และก่อตั้งกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้น ออกแบบผ้าซิ่นตีนจกให้มีความหลากหลายจนเป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้นยังคงเอกลักษณ์ในการทอผ้าแบบดั้งเดิม คือ การจกด้วยขนเม่น และใช้วัตถุจากธรรมชาติในการย้อมสีผ้า เพราะมีความมุ่งมั่นว่า การขายผ้าซิ่นตีนจกลับแลไม่ได้ขายเฉพาะฝีมือเท่านั้น แต่เป็นการขายจิตวิญญาณของชาวลับแลอีกด้วย
หลังจากเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองลับแลแล้ว ยังสัมผัสได้ถึงเสน่ห์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนที่นี่ ที่ยังเชื่อมั่นและอนุรักษ์ในความเป็นลับแล และพร้อมร่วมสืบทอดต่อไปให้คนรุ่นหลังให้มีใจรักในท้องถิ่น นอกจากนั้นความเป็นมิตรของผู้คนชาวลับแล พร้อมยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วทุกแห่งให้มาเยี่ยมเยือนชมสถานที่ท่องเที่ยวเแห่งนี้เสมอ ที่เมืองลับแล...ไม่แลลับอีกต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com