xs
xsm
sm
md
lg

เดินเที่ยวกรุงเทพฯ : เพลินๆ เดินย่าน “เสาชิงช้า” หัวใจแห่งเกาะรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ตลาดตรอกหม้อ” ตลาดสดใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

เมื่ออาทิตย์ก่อนฉันได้ไปร่วมกิจกรรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในกิจกรรม “กรุงเทพฯ เดินเที่ยว : Walking Bangkok” ได้สัมผัสย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ ผ่านการเดินเท้า ที่ทำให้ได้เห็นมุมที่สวยงาม มีชีวิตชีวา และยังได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของแต่ละย่านแต่ละชุมชนในกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยเส้นทางที่ฉันมาเดินในวันนี้คือเส้นทางที่เป็นดัง “หัวใจ” ของกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือย่าน “เสาชิงช้า” นั่นเอง

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก และมีการขุดคลองรอบกรุงขึ้น ครั้งนั้นพระองค์จึงกำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครหรือสะดือเมืองขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ รวมถึงเสาชิงช้า และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญอย่างวัดสุทัศนเทพวรารามอีกด้วย
ผู้คนมาจับจ่ายซื้อของคึกคัก
แต่ก่อนจะไปชมเทวสถานหรือศาสนสถานเหล่านั้น ฉันขอเริ่มต้นวันด้วยการเดินชมตลาดสดกันก่อนเลย หลายคนอาจงงว่าแถวเสาชิงช้านี่มีตลาดสดด้วยหรือ?? ขอบอกว่ามี แถมเป็นตลาดใหญ่เสียด้วย นั่นคือ “ตลาดตรอกหม้อ” ที่อยู่ในตรอกหม้อ หรือซอยเทศา ซึ่งเป็นซอยที่เชื่อมระหว่างถนนบำรุงเมืองกับถนนราชบพิธ

จริงๆ แล้วในอดีตนั้น ตลาดในย่านกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลากหลาย ที่ใจกลางเสาชิงช้าเองก็มีตลาดแห่งหนึ่งซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ลานคนเมืองไปจนถึงศาลาว่าการ กทม. เรียกว่าตลาดเสาชิงช้า แต่หลังจากมีการสร้างศาลาว่าการ กทม. ในปี 2516 ทำให้ตลาดเสาชิงช้าที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงหายไป แต่ตลาดตรอกหม้อซึ่งขายอยู่ในตรอกนั้นยังคงอยู่ และมีบรรยากาศคึกคักไม่แพ้ตลาดเช้าที่ไหนๆ

สำหรับตลาดตรอกหม้อนี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่ช่วงตี 5 ไปจนถึงราว 9 โมงตลาดก็จะเริ่มวาย ถ้ามาในวันธรรมดาตลาดจะคึกคักมากกว่าเสาร์-อาทิตย์ เพราะนอกจากประชาชนทั่วไปจะมาซื้อของแล้ว เหล่าพนักงานข้าราชการในหน่วยงานบริเวณใกล้เคียงก็จะมาซื้อหาอาหารกันให้คึกคัก ว่ากันว่าของกินที่นี่หลากหลาย สดใหม่ รสชาติดี คุ้มค่าเงินไม่น้อย เป็นตลาดขวัญใจอันดับหนึ่งของคนในย่านนี้เลยทีเดียว
คุณภาสินี ผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ของบ้านหมอหวาน
ใกล้กับตลาดตรอกหม้อ เป็นที่ตั้งของ “บ้านหมอหวาน” ที่เดินทะลุจากตรอกหม้อเข้ามาได้ สถานที่นี้เป็นอีกแห่งหนึ่งที่อยากแนะนำกัน “บ้านหมอหวาน” หรือ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ตึกสไตล์โคโลเนียลที่สร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 6 เป็นบ้านและสถานที่ปรุงยาแผนโบราณของนายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2413-2489

อาคารหลังนี้รวมถึงสูตรปรุงยาได้ตกทอดมาถึงลูกหลานรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยมีคุณภาสินี ญาโนทัย เป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 และเป็นผู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับยาแผนโบราณของบ้านหมอหวานให้เราได้ฟังกัน โดยยาแผนโบราณที่ได้รับการถ่ายทอดมาทั้งกรรมวิธีและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมก็คือยาหอม 4 ตำรับของหมอหวาน ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต หนึ่งในนั้นก็คือ “ยาหอมสุรามฤทธิ์” ที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ
คุณป้าออระ กำลังหุ้มเม็ดยาหอมด้วยทองคำเปลว
วันที่เข้าไปชมนี้ ฉันได้พบกับคุณป้าออระ วรโภค ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 หรือรุ่นหลานของหมอหวาน คุณป้าได้มาสาธิตการปั้นเม็ดยาหอมสุรามฤทธิ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากปรุงสมุนไพรเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคุณป้านำเนื้อยามาใส่ในพิมพ์ทองเหลือง เพื่อให้ยาแต่ละเม็ดมีน้ำหนักหรือขนาดหรือโดสที่เท่าๆ กันในแต่ละเม็ด เมื่อปั้นเสร็จแล้วก็จะนำเม็ดยามาหุ้มด้วยทองคำเปลว ซึ่งถือเป็นสมุนไพร(จากแร่ธาตุ) ชนิดหนึ่งที่มีรสเย็น มีสรรพคุณช่วยลดไข้ และเป็นยาอายุวัฒนะ การหุ้มด้วยทองคำเปลวนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทักษะมากเนื่องจากทองมีความบางและเบา ถ้าทำไม่ดีทองจะละลายซึมไปกับยาได้ คุณป้าออระค่อยๆ คลึงยาหอมไปกับทองคำอย่างเบามือจนได้เม็ดยาสีทองสุกปลั่งน่าชม
ยาแผนโบราณแห่งบ้านหมอหวาน มีให้เลือกหลากหลายตำรับ
และนอกจากยาหอมสุรามฤทธิ์แล้ว ก็ยังมี “ยาหอมอินทรโอสถ” “ยาหอมประจักร์" “ยาหอมสว่างภพ” “ยาทาเส้น” “ยาแก้พิศม์” “ยาอมชื่นจิตต์” และยา “ลูกแปลกแม่” ที่แม่กินแล้วคงความสาวสวยผิดหูผิดตาจนลูกจำแม่ไม่ได้ ปรุงจากตำรับยาอายุวัฒนะที่สาวๆ ได้ทราบสรรพคุณแล้วก็แทบจะอยากเหมากลับบ้านหมดแผง
พระเสฎฐมุนี หล่อขึ้นจากกลักฝิ่น
ออกจากบ้านหมอหวานมาแล้วเราเดินทางต่อมายัง “วัดสุทัศนเทพวราราม” เราแวะเข้าไปกราบหลวงพ่อโต หรือพระศรีศากยมุนีในพระวิหารวัดสุทัศน์ แต่นอกจากหลวงพ่อโตที่หลายคนรู้จักกันดีแล้ว ที่นี่ยังมีพระพุทธรูปสำคัญที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในเมืองไทย เพราะเป็นพระพุทธรูปที่หล่อมาจากกลักฝิ่นทองเหลือง ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญที่ต้องเดินลึกเข้าไปในเขตสังฆาวาสนั่นเอง

เหตุที่หล่อพระพุทธรูปมาจากกลักฝิ่นนั้นก็เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ไม่โปรดให้ประชาชนสูบฝิ่น ในปี 2382 ตอนนั้นมีการปราบการค้าฝิ่นครั้งใหญ่ ได้ทั้งฝิ่นดิบฝิ่นสุกเกือบๆ 2 แสนกิโลกรัม มีการนำฝิ่นเหล่านี้มาเผาทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ส่วนกลักฝิ่นและกล้องสูบฝิ่นที่เป็นทองเหลืองเหล่านั้นได้นำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปนามว่า “พระพุทธเสฎฐมุนี”
วัดเทพมณเฑียร
ชมวัดพุทธกันไปแล้ว ขอเปลี่ยนอารมณ์มาชมวัดฮินดูกันบ้างดีกว่า ด้านข้างวัดสุทัศน์ เป็นที่ตั้งของ “วัดเทพมณเฑียร” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนภารตะวิทยา ข้างๆ โรงเรียนเบญจมราชาลัย โดยก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างวัดเทพมณเฑียรนี้ ชาวฮินดูได้พร้อมใจกันจัดตั้งสมาคม “ฮินดูสภา” ขึ้นและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมฮินดูสมาช” มาจนถึงปัจจุบัน และหลังจากนั้นทางสมาคมก็ได้จัดตั้งโรงเรียนภารตวิทยาลัยขึ้นในบริเวณเดียวกัน โดยรับนักเรียนทุกเชื้อชาติศาสนาให้เข้าเรียนร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก
ภายในวัดเทพมณเฑียร
และหลังจากสร้างโรงเรียนเรียบร้อยแล้วก็ได้สร้างโบสถ์เทพมณเฑียรขึ้น และได้อัญเชิญเทวปฏิมา ปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดาอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดูมาจากประเทศอินเดีย โดยรูปเคารพเทพเจ้าเหล่านี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร มีเทพองค์ประธานก็คือพระนารายณ์และพระนางลักษณมี นอกจากนั้นก็มีเทวรูปพระศิวะ พระพิฆเนศ พระกฏษณะ เจ้าแม่อุมาเทวี ฯลฯ และยังมีเทวรูปของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาในศาสนาพุทธด้วย นั่นเพราะเมื่อมีพุทธศาสนาเกิดขึ้น มีผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนมาศรัทธาในพระพุทธศาสนาแทน ทำให้เกิดการสร้างคติความเชื่อของฮินดูที่ว่า ปางอวตารของพระนารายณ์ปางที่ 9 นั้น ได้อวตารมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสมือนว่าทำให้พระพุทธศาสนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูนั่นเอง ทั้งนี้ผู้ที่ศรัทธาสามารถขึ้นมากราบไหว้เหล่าเทพด้านบนได้โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้านล่างก่อน
เสาชิงช้าสีแดงเด่น
ออกจากวัดเทพมณเฑียรมา ฉันมองเห็น “เสาชิงช้า” สีแดงสด ซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน เสาชิงช้าเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่ทาสีแดง มีเสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ใช้เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ในอดีตนั้นมีการทำพิธีโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้ากันทุกปี แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้เลิกไปเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะประเพณีโล้ชิงช้านี้มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่องดไปในรัชกาลที่ 7 แล้วก็ไม่เคยมีการโล้ชิงช้าที่เสาชิงช้าอีกเลย แต่ยังคงมีพิธีตรียัมปวายซึ่งทำพิธีโล้ชิงช้าขนาดเล็กในเทวสถานตามโบราณราชประเพณี
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
พูดถึงเสาชิงช้า ก็ต้องโยงไปถึง “เทวสถาน” หรือ “โบสถ์พราหมณ์” ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 พร้อมๆ กับการสร้างวัดสุทัศนฯ โดยรัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะสร้างศาสนาสถานของพราหมณ์หลวงขึ้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวสถานขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทวรูปฮินดูอันเป็นรูปเคารพภายในเทวสถานมาจากเมืองสุโขทัย

ภายในเทวสถานมีโบสถ์ 3 หลังด้วยกัน หลังแรกทางซ้ายมือเรียกว่าสถานพระอิศวร ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรปางประทานพร ซึ่งเป็นเทวรูปสัมฤทธิ์ศิลปะสุโขทัยที่เก่าแก่ดั้งเดิมและงดงามมาก บนพระเศียรสวมเทริด พระพักตร์เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย และนอกจากนั้น ภายในวิหารหลังนี้ยังมีแผ่นไม้กระดานที่ใช้โล้ชิงช้าในอดีตอีกด้วย

ส่วนโบสถ์หลังกลาง เรียกสถานพิฆเนศวร ประดิษฐานองค์พระพิคเณศ ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัยเช่นเดียวกับพระศิวะ และโบสถ์หลังขวาสุดเรียกว่าสถานพระนารายณ์ ประดิษฐานเทวรูปของพระนารายณ์และพระลักษณมี ส่วนพระพรหมประดิษฐานอยู่ในศาลด้านหน้าสถานพระศิวะ อีกทั้งยังมีศิวลึงค์อยู่ในศาลาโปร่งระหว่างสถานพระศิวะและสถานพิฆเนศวรอีกด้วย โดยในเทวสถานนี้มีป้ายแนะนำลำดับการไหว้เทวรูป โดยให้เริ่มจากสักการะพระพิคเณศ ตามด้วยพระนารายณ์ พระพรหม ศิวลึงค์ และพระอิศวรตามลำดับ
ซุ้มประตูวัง สัญลักษณ์แพร่งสรรพศาสตร์
จากโบสถ์พราหมณ์ ฉันขอพาไปวน “ย่านสามแพร่ง” กันก่อนสักหนึ่งรอบ ย่านนี้เรียกว่าสามแพร่งซึ่งที่มาของชื่อแพร่งทั้งสามนี้มาจากชื่อเจ้านายสามพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 ที่มีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์ กับถนนตะนาว ทำให้พื้นที่บริเวณวังของทั้งสามพระองค์ถูกถนนตัดผ่ากลางจนเป็นทางสามแพร่ง ต่อมาจึงตั้งชื่อถนนตามนามของทั้งสามพระองค์คือถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งภูธร

มาดูสิ่งที่น่าสนใจในแต่ละแพร่งกันดีกว่า สำหรับ “แพร่งสรรพศาสตร์” ที่อดีตเคยเป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก หรือช่างทองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณแพร่งสรรพศาสตร์นี้ปัจจุบันเหลือให้ชมเพียงแค่ซุ้มประตูหน้าวัง เพราะได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2510 อาคารบ้านเรือนแถบนี้ถูกไฟผลาญไปจนหมด รวมทั้งตัววังด้วย
โรงละครปรีดาลัยแห่งแพร่งนรา
ส่วน “แพร่งนรา” เคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตัวตำหนักของวังเป็นตึกผสมไม้สองชั้น ประดับลวดลายฉลุไม้สวยงาม กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงมีความสนใจในเรื่องของการนิพนธ์และศิลปะการละคร พระองค์ได้ทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในบริเวณที่ประทับ ชื่อว่า “โรงละครปรีดาลัย” ขึ้นเป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยาม รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรละครร้องที่โรงละครแห่งนี้ด้วย โดยปัจจุบันสิ่งที่ยังเหลือให้เห็นก็คือตำหนักไม้ที่ใช้เป็นโรงละครปรีดาลัยเท่านั้น
ตึกแถวเก่าแก่ของแพร่งภูธร
มากันที่แพร่งสุดท้าย “แพร่งภูธร” ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ที่แพร่งภูธรนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอย่าง "สุขุมาลอนามัย" สถานีอนามัยแห่งแรกของกรุงเทพฯ และยังเปิดให้บริการรักษาชาวชุมชนและคนทั่วไปจนถึงตอนนี้ และสำหรับคนที่ชื่นชอบรถโบราณ ที่แพร่งภูธรนี้มี “อู่วิเชียรซ่อมรถ” อู่เก่าแก่กว่า 70 ปี ที่รับซ่อมรถโบราณ รถคลาสสิก ที่บางคันอาจจะซ่อมนานเป็นปีๆ เพราะต้องรออะไหล่

นอกจากสิ่งที่น่าสนใจที่ได้มาชมแล้ว บริเวณสามแพร่งนี้ยังเต็มไปด้วยร้านอาหารของกินสารพัด ที่ส่วนใหญ่เป็นร้านเก่าแก่เปิดมานาน ซึ่งฉันจะขอยกเรื่องกินนี้ไว้เล่าในโอกาสต่อไปดีกว่า
เหล่าภิกษุณีในพระวิหารวัดเทพธิดาราม
เราเดินข้ามลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการ กทม.แล้วตรงเข้าซอยมายัง “วัดเทพธิดาราม” วัดเล็กๆ ที่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย วัดแห่งนี้รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่พระราชธิดาคนสำคัญคือพระองค์เจ้าหญิงเทววิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ วัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลาย ตั้งแต่พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถที่สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง มีพระนามว่า “พระพุทธเทววิลาส” ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กๆ แต่สง่างามยิ่งนัก
ภิกษุณีหลากหลายอิริยาบถ
ส่วนในพระวิหารที่ฉันไม่อยากให้พลาดชมนั้น เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานที่เบื้องหน้ามีหมู่พระภิกษุณีจำนวน 52 องค์ อยู่ในอิริยาบถที่หลากหลาย มีทั้งภิกษุณีที่นั่งปฏิบัติธรรม นั่งฟังธรรม ฉันหมาก สูบยา นั่งเอนบ้างเอียงบ้างตามสบาย แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของผู้หญิง

การสร้างหมู่พระภิกษุณีนี้นับเป็นข้อเตือนใจว่า เมื่อผู้หญิงเข้ามาบรรพชาเป็นภิกษุณีนั้น จำเป็นต้องมีศีลมากกว่าพระภิกษุสงฆ์ เพราะธรรมชาติของสตรีนั้นแตกต่างจากบุรุษ ทั้งในเรื่องของร่างกาย จิตใจ และลักษณะนิสัย นับเป็นสิ่งแปลกไม่เหมือนวัดใดเลย และมีเสน่ห์ชวนให้ชมได้เพลินด้วยเช่นกัน
โลหะปราสาทแห่งวัดราชนัดดา
เดินต่อมาถึง “วัดราชนัดดาราม” ที่อยู่ติดกัน วัดแห่งนี้รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา (หลาน) คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี

สิ่งที่โดดเด่นของวัดราชนัดดารามที่หลายๆ คนรู้จักกันดีก็คือ “โลหะปราสาท” หนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวของโลก โดยโลหะปราสาทแห่งนี้เพิ่งบูรณะปรับปรุงเสร็จใหม่ๆ ดูเปล่งประกายท่ามกลางแสงอาทิตย์ยามเย็น

แม้จะเป็นโลหะปราสาทหนึ่งเดียวของโลก แต่โลหะปราสาทนี้ก็ไม่ได้เป็นหลังแรก เพราะก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ก็เคยมีการสร้างโลหะปราสาทมาแล้ว 2 หลังด้วยกัน หลังแรกก็คือปราสาทของนางวิสาขา บุตรีของธนัญชัย เศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย หลังที่ 2 ผู้สร้างคือพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราชปุระ ประเทศลังกา แต่ทั้งสองหลังนี้หักพังเสียหายไปเกือบหมดแล้ว

สำหรับโลหะปราสาทของเมืองไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างโลหะปราสาทขึ้นแทนการสร้างธรรมเจดีย์ โดยช่างได้เดินทางไปดูแบบถึงยังประเทศลังกา และนำเค้าเดิมนั้นมาเป็นแบบสร้าง แล้วปรับปรุงให้เป็นศิลปกรรมแบบไทยงดงามอย่างที่เห็น
อาคารเก่าแก่ด้านหลังป้อมมหากาฬ
ส่วนบริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดราชนัดดา เป็นที่ตั้งของ “ป้อมมหากาฬ” 1 ใน 2 ป้อมปราการที่ยังหลงเหลือในกรุงเทพฯ (อีกแห่งหนึ่งคือป้อมพระสุเมรุ) ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค ทำให้เราได้เห็นป้อมปราการและกำแพงเมืองที่เคยใช้ป้องกันข้าศึกในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และด้านหลังป้อมมหากาฬ เป็นที่ตั้งของชุมชนป้อมมหากาฬ และมีสวนหย่อมเล็กๆ อยู่ริมคลอง อีกทั้งยังมีอาคารเก่าแก่ซึ่งเคยใช้เป็นท่าเรือรอพระที่นั่ง หรือเรือพระประเทียบ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
วันนี้ทั้งวันเดินวนเวียนไปมาอยู่ในย่านเสาชิงช้า ซึ่งถ้าวัดระยะทางการเดินจริงๆ แล้วไม่ได้ไกลกันเลย แต่ระหว่างทางกลับพบสิ่งที่น่าสนใจ สิ่งที่เรายังไม่เคยรู้อีกหลายอย่าง และนี่แหละคือเสน่ห์ของการเที่ยวกรุงเทพฯ #walkingbkk




* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น