xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชุมชนป้อมมหากาฬ การขับไล่ครั้งสุดท้ายของ กทม. !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -3 ก.ย. 59 ปฏิบัติการไล่รื้อสิ่งปลูกภายใน “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตามแผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินไปตามเส้นตายที่ขีดเอาไว้ ขณะที่ชาวบ้านยืนหยัดต่อสู้อย่างอหิงสา ยื้อลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้าย

ภาพเหตุการณ์ในวันนั้น ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ตั้งปราการด่านสุดท้ายเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชน รวมตัวปิดกั้นประตูทางเข้าออก เขียนป้ายข้อความแสดงความไม่เห็นด้วย บางส่วนนั่งรวมกลุ่มประสานมือตั้งกำแพงมนุษย์แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ลูกเด็กเล็กแดงร้องไห้ระงมด้วยความตกใจต่อปฏิบัติการไล่รื้อ ซ้ำร้ายผู้เฒ่าบางรายถึงกับลมจับต้องรีบปฐมพยาบาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ทาง กทม. นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ ได้เข้ามาเจรจากับฝ่ายชุมชนฯ อีกครั้ง และเข้ารื้อถอนบ้านที่ยินยอมให้รื้อจำนวน 12 หลัง ส่วนอีก 1 หลังที่ยอมให้รื้อเป็นบ้านไม้สักทองซึ่งจะถูกเก็บรักษาไว้ก่อน และยังคงเหลืออีก 44 ครัวเรือน ซึ่งจะขอยืนหยัดต่อสู้ ประกาศกร้าวจะไม่ย้ายออกไปไหน เพราะต้องการรักษาชุมชนเก่าแก่มีประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป

เช่นเดียวกับ ภาคประชาสังคมที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านปฏิบัติการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ของ กทม. กรณีขอเวนคืนพื้นที่สร้างสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อพิพาทยืดเยื้อมายาวนานกว่า 24 ปี แม้มีแนวทางเสนอทางออกไปยัง กทม. แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะติดปัญหาเรื่องระเบียบปฏิบัติ ซึ่งครั้งนี้ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ตัวแทนชุมชนฯ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ยื่นหนังสือถึง บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ตั้ง คณะกรรมการพหุภาคี จาก19 ฝ่าย เน้นการทำงานแบบเดินหน้าว่า สวนสาธารณะ โบราณสถาน และชุมชนป้อมมหากาฬ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไร มีการวางแผนอนุรักษ์พัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว, ภาคอนุรักษ์ ฯลฯ

แน่นอน คณะทำงานชุดนี้ต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจของ กทม. ต้องเป็นคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย จึงเห็นควรว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ น่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็นประธาน รวมทั้งยื่นเรื่องขอให้ บิ๊กตู่ ช่วยยับยั้ง กทม. ในการหยุดไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ความว่า

1.ให้นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการพหุภาคี มีตัวแทนทุกส่วน เพื่อศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหา

2. ขอให้มีการศึกษาผังเมืองและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชานไม้โบราณ ร.3 เพื่อให้ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีวิถีชุมชนร่วมกัน

3. ระหว่างการศึกษาขอให้ กทม.หยุดดำเนินการไล่รื้อและอื่นๆ กับชุมชน

4. ขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการพหุภาคีมาปรับ พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ปี พ.ศ. 2535

และ 5. ขอให้นำตัวอย่างกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรมาภิบาลในการจัดทำแผนพัฒนาและการบริหารจัดพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาวชุมชน จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นหนังสือผ่าน นายบุญเกิด ปะระทัง จนท.ศบช.สปน. โดยรับนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป

อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ย. 59 แม้ บิ๊กตู่ ยังไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการ ทว่า ทางด้าน ม.ล.ปนัดดา ทราบเรื่องเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการตั้งประธานคณะกรรมการพหุภาคีเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา หากได้รับมอบหมายก็พร้อมที่เข้าไปดูแลข้อพิพาทระหว่าง กทม. กับ ชุมชนฯ

“ผมว่าทุกฝ่ายต้องมีความเกรงใจซึ่งกันและกัน อะไรคือข้อกฎหมาย กฎระเบียบหรือความเห็นอกเห็นใจจะต้องเอามาคิดร่วมกัน และเชื่อว่าในท้ายที่สุดจะเหมือนในหลายๆ เรื่องที่เกิดความสำเร็จ ซึ่งต้องมีการพูดจาหารือและคิดว่านายกฯ เองเป็นห่วงเรื่องนี้มาก แต่อาจมองว่าเป็นเรื่องของท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจ ดังนั้นผู้รับผิดชอบจึงต้องปฏิบัติกันไป แต่รัฐบาลก็จะติดตามดู”ม.ล.ปนัดดาให้ความเห็น

ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปในลักษณะพัฒนาเมืองจนหลงลืมผู้อยู่อาศัยอย่างนั้นหรือไม่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ สมาชิกกลุ่ม Trawell และผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel ผู้ขับเคลื่อน “มหากาฬโมเดล' พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวSanon Wangsrangboon ความว่า

“1. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยที่มาบุกรุกพื้นที่สาธารณะเหมือนกรณี สะพานเหล็ก ประตูน้ำ ฯลฯ แต่คือการไล่รื้อบ้านคนที่มีโฉนด มีทะเบียนบ้าน ด้วยเหตุผลว่ารัฐต้องการเอาพื้นที่นี้พัฒนาเป็นอะไรสักอย่าง

2. เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องชุมชนประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น แต่คือสัญลักษณ์ว่ารัฐต้องการไล่คนออกไปโดยที่ยังไม่มีใครเห็นว่าเขาจะทำอะไรและมีประโยชน์ต่อทุกคนจริงๆ หรือไม่ เรายังไม่เบื่อกับการเห็นที่ที่รื้อเสร็จ แล้วมันร้าง แล้วมันพัง ไม่มีคนดูแลอีกหรอ เพราะสุดท้ายผมเชื่อเหลือเกินว่ามันไม่ได้ใช้เพื่อสาธารณะจริงๆ... ใครลองไปดูพื้นที่สะพานเหล็กตอนนี้ เป็นต้น มันคือการทำอะไรเพื่อส่วนรวมจริงๆ หรอ คลองที่เน่า และพื้นที่เน่า แบบนั้น...

3. เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครถูก ใครผิด ใครเลว ใครดี แต่มันคือเรื่องที่คนใช้เมืองอย่างเรา อยากรู้ว่ารัฐจะเอามันไปทำอะไร? มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าก่อนจะพัฒนาอะไร เราหยิบศักยภาพของพื้นที่อย่าง (1) บ้านโบราณและ (2) คนที่พร้อมจะพัฒนา มาเป็นโจทย์ในการสร้างพื้นที่ร่วมกันเพื่อ "สาธารณะ" จริงๆ

4. เราพอจะเห็นแบบที่สำเร็จแล้วก่อนได้มั้ย? ก่อนที่รัฐจะทำลายศักยภาพทั้งหมดในนั้นทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย...

5. แล้วคนใช้เมืองอย่างเรา หรือ ชาวบ้านในพื้นที่ พอจะออกความเห็นด้วยได้มั้ย ถ้ามันจะเป็นป้อมมหากาฬเพื่อทุกคน จริงๆ เราอยากให้มีการทำ Co-Creation เหมือนที่ใครๆในโลกนี้เขาก็ทำกัน

6. หากมองว่าชาวบ้าน หรือสลัม หรือคนจน คือปัญหา การไล่เขาออกไปต่างจังหวัด เป็นคนชายขอบ นี่คือทางออกของการพัฒนาเมืองจริงๆหรอ จะดีกว่ามั้ยถ้าบทบาทรัฐจะเปลี่ยนไป เป็นให้การศึกษา จ้างงาน กำหนดกรอบการอยู่ร่วม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเขาขึ้นมาแทน จะดีกว่ามั้ยนะ

7. กรุงเทพฯ โตขึ้นทุกวัน และเมืองที่หนาแน่นมากๆ อย่างกรุงเทพฯ พิสูจน์แล้วว่าการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ไหนใดๆในเมือง มันต้องกระทบที่อยู่อาศัยแน่ๆ จะดีกว่ามั้ยถ้ารัฐตีกรอบของชาวบ้านให้ชัดว่าถ้าในวันที่รัฐมีความจำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ใดๆเพื่อสาธารณะแล้วมันต้องกระทบการอยู่อาศัยจริงๆ หลักการที่คนจะอยู่ร่วมกับการพัฒนาเมืองต้องทำอะไรบ้าง ต้องเสียสละความเป็นส่วนตัวอะไรบ้างเป็นข้อๆ 1,2,3,4... โดยหยิบเคสป้อมมหากาฬที่วันนี้ชาวบ้านถอยหลังจนสุดและพร้อมอาสาอยู่ร่วมและพัฒนาอยู่แล้วนี้ มาเป็นกรณีตัวอย่างก็ยังได้

8. มากกว่านั้น ชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬบอกว่า ถ้าให้โอกาสเขาแล้ว แล้วเขาพัฒนาตัวเองให้อยู่ร่วมกับสวนสาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตไม่ได้ เขาจะยอมออกจากพื้นที่ จะรื้อบ้านตัวเอง ด้วยกรอบเวลา 2 ปี!

9. หลายคนบอกว่าเขารับเงินไปแล้ว เขาเห็นแก่ตัวดันทุรังจะอยู่ต่อ ความจริงก็คือว่า เงินกว่า 90% ของจำนวนเงินทั้งหมด รับโดยเจ้าของที่ดินตระกูลใหญ่โตที่ไม่เคยอยู่ที่นี่และตรงนั้นเป็นที่ดินส่วนใหญ่เกือบทั้งพื้นที่ คนที่อยู่ปัจจุบันบางส่วนเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆที่เหลือ และคนส่วนใหญ่คือผู้เช่า ชาวบ้านเหล่านี้บ้างสืบทอดหลายชั่วอายุ (บางบ้าน 6 ชั่วอายุ) บ้างย้ายมาหลัก 20 กว่าปีเป็นอย่างน้อย ผู้เช่าได้ค่าเยียวยาเพียงหยิบมือพร้อมๆกับสถานที่ใหม่ที่ไม่มีอยู่จริง มีแต่พื้นดินเปล่า ในยุคที่ไม่คิดว่าประชาชนจะต่อต้านอะไรรัฐได้ เขารับเงินโดยดุษณี แต่พอแสงไฟแห่งรัฐธรรมนูญปี 40 พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน เขาอยากกู้สิ่งนี้กลับมา วันนี้เขาอยากพัฒนาตนเอง ยอมทุกอย่างเพื่ออยู่ร่วมกับเมือง ถ้าต้องคืนเงินก็พร้อม หรือแม้กระทั่งต้องเสนอข้อเสนอที่จะทิ้งความเป็นส่วนตัว เพื่อการอยู่ร่วมกับส่วนรวมให้ได้ บทบาทของรัฐควรจะให้โอกาสพัฒนาเขา หรือ ไล่เขาไปเพื่อไปเป็นปัญหาที่อื่นแทนแบบนี้?

10. ความจริงก็คือ นักกฎหมายทุกท่านชี้ว่า มันมีทางออกของกฎหมายที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ภายใต้การเคารพกฎหมายเวนคืนเดิมนั้น คือให้ชาวบ้านอยู่ในรูปแบบหน่วยงานดูแล หรือมากกว่านั้น ตัวกฎหมายก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้เช่นกัน กฎหมายเป็นเพียงเรื่องของ เทคนิค แต่วิสัยทัศน์ ในการพัฒนาต่างหากที่วิกฤตมากๆและเราควรพูดให้รัฐเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ที่วิกฤตินี้ ตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ติดกับเทคนิคต่างๆที่เป็นเครื่องมือเหล่านั้นมากกว่า

11. เคสนี้แสดงให้เห็นว่า คนไม่ใช่ปัจจัยแรกของการพัฒนาเมืองเราจริงๆ แต่คือการเคลียร์พื้นที่ให้กับอะไรสักอย่าง สวนสาธารณะเพื่อทุกคน? หรือเพื่อคนชั้นกลางขึ้นไป หรือเพื่อฝรั่ง หรือเพื่อใครกัน? มองในแง่ร้าย มันอาจเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ มาเปิดอะไรที่เต็มบ้านเราไปหมดแล้วอีกครั้ง...

12. หากบ้านที่ป้อมมหากาฬโดนไล่รื้อได้ บ้านของพวกเราทุกคนก็สามารถโดนรื้อได้เหมือนกัน เพราะบ้านเขาก็มีโฉนด มีทะเบียน ไม่ต่างจากเรา หากรัฐจะออกกฎหมายมาซื้อเราในแบบเดียวกัน...”

ก็ได้แต่หวังว่า “บิ๊กตู่” จะไม่ปล่อยให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ' “รอเก้อ” ข้อพิพาทการพัฒนาเมืองระหว่าง กทม. กับ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ล่วงเลยมากว่า 24 ปี ถ้าไม่จบรัฐบาลนี้จะไปจบรัฐบาลไหน จะจัดการอย่างไรรีบสั่งการไปเลยครับท่าน!




กำลังโหลดความคิดเห็น