xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย 234 ปี “ป้อมมหากาฬ”...ลมหายใจชุมชนที่กำลังรวยริน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปี “ป้อมมหากาฬ” ที่ก่อเกิดผูกพันเป็นชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง แต่ชุมชนแห่งนี้จะอยู่หรือไป เป็นดั่งตะกอนแห่งความกังวลใจของใครต่อใครในชุมชมนั้น...


ป้อมมหากาฬ
ป้อมปราการแห่งพระนคร

ป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง ตั้งอยู่บริเวณริมคลองรอบกรุง ใกล้เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีกำแพงเมืองต่อไปเป็นแนวยาวตามถนนมหาไชย จนสุดที่ร้านน้ำอบนางลอย “ป้อมมหากาฬ” เป็นป้อมที่ใช้รักษาพระนครสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนกลางของกำแพงเมือง สร้างขึ้นพร้อมกับอีก 14 ป้อม แต่ไม่ปรากฏมีวังของเจ้านายอยู่บริเวณริมป้อม เข้าใจว่าคงจะอยู่ในความดูแลของวังอื่นอยู่แล้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬพร้อมด้วยกำแพงเมืองเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 65 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ป้อมมหากาฬเป็นป้อมขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม วัดจากฐานรากชั้นนอกด้านทิศเหนือจรดฐานด้านทิศ ใต้กว้าง 38 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงปลายใบเสมา 4.90 เมตร และจากพื้นดินถึงหลังคาป้อม 15 เมตร โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน รากฐานอยู่ใต้ระดับผิวดิน ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นที่ 1 และ 2 กำแพงป้อมเป็นแบบใบเสมาเหลี่ยมขนาดใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นกำแพงปีกกาที่ต่อออกมาจากกำแพงป้อมชั้นที่ 2 มีลักษณะใบเสมาปลายแหลมเหมือนกำแพงเมือง

ตัวป้อมชั้นบนสุดมีลักษณะเป็นหอรูปแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้า 1 ประตู หลังคาโครงไม้มุงกระเบื้องทรงคล้ายฝาชีหรือใบบัว คว่ำ 2 ชั้น ที่ป้อมชั้นล่างมีปืนใหญ่ตั้งประจำช่องเสมาเป็นจำนวน 6 กระบอก กำแพงเมืองที่ต่อจากป้อมมหากาฬไปตามแนวถนนมหาไชยนั้น มีลักษณะเป็นกำแพงมีเชิงเทิน ใบเสมาชนิดปลายแหลม ยาว 180 เมตร ถูกตัดขาดเป็นช่วงๆรวม 4 ช่วง กำแพงช่วงยาวมีช่องประตูรูปโค้งแบบประตูช่องกุดใต้เชิงเทิน 3 ประตู สองข้างช่องประตูเป็นบันไดขึ้นสู่ชานบนกำแพง ในพุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรได้บูรณะป้อมและกำแพงเมือง เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้ก่อคอนกรีตแนวเชิงเทินเชื่อมช่วงกำแพงที่ขาดเข้าด้วยกันตามแบบเดิม



ตามแนวกำแพง ตั้งแต่ป้อมมหากาฬยังมีพื้นที่ชานกำแพงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ (พื้นที่ชานกำแพง คือพื้นที่ยื่นล้ำจากกำแพงเมืองลงสู่แม่น้ำหรือลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาอาศัยปลูกเรือนที่อยู่อาศัยอยู่รายรอบตัวเมือง) เป็นพื้นที่ที่เคยเป็นท่าเรือ และมีบ้านเรือนของผู้คนอยู่เป็นชุมชนมาช้านาน โดยเฉพาะชุมชนนี้ยังมีบ้านเรือนแบบโบราณ มีทางเดินตรอกที่ติดต่อระหว่างกัน

บริเวณชานกำแพงเมืองที่เคยเป็นท่าเรือสำหรับขุนนางและเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าเมืองและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่น เช่น ตามลำคลองมหานาค คลองแสนแสบ และคลองโอ่งอ่างไปยังชุมชนรอบเมืองอื่นๆ ชุมชนชานกำแพงเมืองป้อมมหากาฬนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต่อเนื่องกันมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยเข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปลูกเรือนเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีวัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดาราม เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ รวมทั้งมีศาลเจ้าซึ่งสถิตอยู่ที่ป้อมมหากาฬเป็นที่กราบไหว้บูชาของคนในชุมชน

ชุมชนป้อมมหากาฬชานพระนคร ชุมชนขนาดย่อมที่อยู่หลังกำแพงป้อมมหากาฬกินพื้นที่ตั้งแต่หัวถนนมหาไชยไปจรดชายคลองหลอดวัดราชนัดดา มีเนื้อที่ 4 ไร่ 300 ตารางวา ชุมชนขนาดกระทัดรัดประมาณ 50 กว่าหลังคาเรือน เมื่อเดินผ่านเข้าไป ‘ประตู 4’ หรือตรอกพระยาเพชรปาณี ก็จะพบชุมชนขนาดย่อมที่กล่าวถึง ชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นชุมชนแห่งสุดท้าย ท่ามกลางกระแสไล่รื้อถึงวันนี้ เป็นเวลานานกว่า 24 ปีแล้ว กับการยืนยันต่อสู้ของชาวบ้านต่อการ “ไล่รื้อ” จากกรุงเทพมหานคร



ชุมชนเก่าแก่
ลมหายใจที่ยังหลงเหลือ

บริเวณชุมชนแห่งนี้ถือเป็นย่าน ‘ชานพระนคร’ แหล่งชุมชนเก่าแก่ติดพระนครที่แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน แต่เดิมมีการขุดคลองรอบกรุงเพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไป และอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทำให้เกิดมีการลงหลักปักฐานอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนริมน้ำตามย่านต่างๆ จนกลายมาเป็นย่านชานพระนครที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเมืองชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์

ป้อมมหากาฬแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลองเข้าและออกไปนอกเมือง เพราะเป็นบริเวณที่จะต่อไปยังที่อื่นตามคลองมหานาค คลองแสนแสบ และตามคลองโอ่งอ่างไปยังรอบเมืองอื่นๆ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ และชาวบ้านมาหลายยุคสมัย มีการปลูกสร้างอาคาร เป็นแนวยาวตลอดตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจรดแนวคูคลองวัดเทพธิดารามในปัจจุบัน ต่อมาเรียกกันว่า ตรอกพระยาเพชรฯ เพราะเคยเป็นบ้านพักของพระยาเพชรปาณี (ตรี) ข้าราชการกระทรวงวังและเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลิเกทรงเครื่องนั่นเอง

นอกจากบ้านพักของพระยาเพชรปาณี บ้านของตำรวจวัง ที่นี่ยังเคยเป็นที่ผลิตเครื่องดนตรีไทย และกลองในสมัยรัชกาลที่ 6 อีกด้วย บ้านเรือนไทยดั้งเดิมของหมื่นศักดิ์แสนยากรที่มีหน้าจั่วแบบ ‘จั่วใบเรือ’ ‘จั่วลูกฟัก’ ฝาเป็นฝาลูกฟักตามแบบฉบับมาตรฐานของเรือนไทยเดิมของภาคกลาง

ด้วยความที่ชุมชนที่นี่มาจากหลายครอบครัวมีเครือญาติที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง รวมทั้งสงขลา ทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ปั้นเศียรพ่อแก่สำหรับไหว้ครู หรือแม้แต่การทำกรงนก ทั้งหมดล้วนเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคียงคู่มากับป้อมมหากาฬแห่งนี้ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และรักษาไว้หากนานวันไปอาจจะเสื่อมสูญและสูญหายไปกับกาลเวลา

จั่วใบเรือ
จั่วลูกฟัก

ทำไมต้องถูกไล่รื้อ
อะไรหรือคือสาเหตุ?

ตั้งแต่ พ.ศ.2535 กรุงเทพมหานครได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ส่งผลให้ชุมชนป้อมมหากาฬจะต้องถูกไล่รื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวน สาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ 1 ปี กรุงเทพมหานครตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ชาวบ้านที่มีที่ทางจึงยอมรับค่าเวนคืน ในปี 2538 กรุงเทพมหานครประกาศว่าจะนำรถมาไถทั้งชุมชน ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งออกมายอมรับค่าเวนคืน ก่อนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปซื้อที่อยู่ในโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้

เมื่อพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภครองรับทั้งในการใช้ชีวิต และรายได้ ทำให้ชุมชนรวมตัวกันเจรจากับกรุงเทพมหานครเพื่อแก้ไขปัญหา นำไปสู่การขอคืนเงินและกลับไปอาศัยในพื้นที่เดิม จากนั้นมาที่นี่ก็กลายเป็นปมขัดแย้งที่เรื้อรังมากว่า 2 ทศวรรษ

ปี 2548 ชาวชุมชนได้มีการมีการจัดทำข้อเสนอพร้อมแบบการจัดผังชุมชน โดยวิธีปันที่ดิน จากทั้งหมด 4 ไร่ แบ่งการปลูกสร้างบ้านเรือน 1 ไร่ ส่วนที่เหลือใช้สร้างสวนสาธารณะ พร้อมทั้งการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย และกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนยันว่า (1) สวนสาธารณะ (2) โบราณสถาน และ (3) ชุมชน สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานและคูคลองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการอนุรักษ์บ้านไม้โบราณเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมือง

ล่าสุดการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการรื้อย้ายชุมชนภายในป้อมมหากาฬขึ้นมาใหม่โดยเพิ่มเติมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาด้วย เพื่อทำตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535

ไม่ว่าเรื่องราวมหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงเช่นไร อยากให้หลายคนได้ตระหนักถึงคุณค่าของเมืองเก่ามิใช่มีแต่เพียงโบราณสถาน อิฐ หิน ปูน ทราย เท่านั้น หากจะมีความหมายมากไปกว่านั้น เพราะสถานที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ การได้รับรู้เรื่องราวผ่านผู้คนจากอดีตที่ผ่านมา ถึงรากเหง้าและความเป็นมาของเราที่ยังหลงเหลือให้เห็นได้อนุรักษ์ไว้ เฉกเช่นชุมชนป้อมมหากาฬชานพระนครซึ่งเป็นแห่งเดียวที่เหลืออยู่และสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ชุมชนเก่าหลายแห่งที่ต้องจากไปกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง แต่ก็หวังว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยเกี่ยวกับผู้คนที่ยังมีชีวิตเหล่านั้นจะไม่ถูกกลบเลือนและหลงลืมไปด้วย




เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
(ขอบคุณข้อมูลจาก interner และ facebook รวมพลคนป้อมมหากาฬ)

กำลังโหลดความคิดเห็น