xs
xsm
sm
md
lg

ตระเวนยลวัดวางามตา ตามรอย “สุนทรภู่” มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“อนุสาวรีย์สุนทรภู่” ตั้งอยู่ในวัด  “วัดศรีสุดาราม”
โดย : หนุ่มลุกทุ่ง

วันที่ 26 มิถุนายน เป็น “วันสุทรภู่” วันที่รำลึกถึงกวีผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2529 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมอีกด้วย ซึ่งทำให้ฉันเกิดความคิดว่าวันหยุดสุดสัปดาห์นี้จะไปตะลอนเที่ยวตามวัดวาอารามต่างๆ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับท่านสุนทรภุ่เมื่อครั้งยังมีชีวิต ซึ่งได้แก่ วัดชีปะขาว วัดแห่งแรกที่ท่านได้มาเล่าเรียนในวัยเด็ก และวัดเลียบ , วัดแจ้ง , วัดโพธิ์ , วัดมหาธาตุ ,วัดเทพธิดาราม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้จำพรรษาหลังลาออกจากราชการและมาบวชจนถึงช่วงปั้นปลายชีวิต

ก่อนที่จะเริ่มต้นการเดินทางไปเที่ยววัดวาอารามต่างๆ ตามรอยท่านสุนทรภู่ ฉันก็จะขอเล่าประวัติของท่านให้ได้ฟังกันอย่างคล่าวๆ กันก่อนนะ "พระสุนทรโวหาร” นามเดิม “ภู่” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สุนทรภู่” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. พ.ศ. 2329 เป็นกวีที่มีชื่อเสียงอย่างมากของประเทศไทย มีความชำนาญทางด้านกลอน และได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานจนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “พระอภัยมณี” ที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน
“หลวงพ่อพระศรีอาริย์” ประดิษฐาน ณ หอไตรวัดศรีสุดาราม
ในส่วนหน้าที่การงานนั้น ท่านสุนทรภู่ได้รับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และเมื่อสิ้นรัชกาลท่านก็ได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

หลังจากองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวรรณกรรมระดับโลกเมื่อปี พ.ศ. 2529 ในปีต่อมา พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น และได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันสุนทรภู่” นับแต่นั้นทุกๆ ปี
“หอวรรณกรรมพระสุนทรโวหาร”
หลังจากได้รู้ประวัติคร่าวๆ ของท่านแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มต้นเที่ยวที่วัดแรก คือ “วัดชีปะขาว” หรือ “วัดศรีสุดาราม” ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย เป็นวัดแรกที่ท่านสุนทรภู่ได้มาร่ำเรียนกับพระในวัยเด็กก่อนเข้ารับราชการ ซึ่งมีเนื้อความส่วนหนึ่งปรากฏในนิราศสุพรรณ บทที่ 24 ว่า “วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดปะขาวเอย เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้องกลางสวน” และกลอนบทนี้ก็ได้ถูกจารึกไว้ที่แทนอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ภายในวัดให้ได้อ่านกัน





วัดศรีสุดารักษ์แห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่สมัยอยุธยา ต่อในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรีสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ ครั้นการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดศรีสุดาราม”

ภายในวัดมีโบราณสถานมากมายให้ได้ชมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้สักการะขอพร อาทิ หอไตรประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีอาริย์ทองสัมฤทธิ์ , อุโบสถหลังใหม่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้สร้าง , หอวรรณกรรมพระสุนทรโวหา สถานที่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวของท่านสุนทรภู่ ซึ่งฉันก็ได้เดินดูเดินชมเพลิดเพลินกับการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปพร้อมๆ กับการชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่
องค์พระปรางค์ “วัดอรุณราชวราราม” งดงามสูงเด่นสง่างาม
และวัดแห่งถัดมา ฉันได้เลือกไปเที่ยวที่ “วัดแจ้ง” หรือ “วัดอรุณราชวราราม” เพราะตั้งอยู่ในฝั่งธนบุรีเหมือนกับวัดศรีสุดาราม วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยอยุธยา โดยมีชื่อเดิมว่า “วัดมะกอก” ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้นเชื่อกันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 และมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว





และในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา พร้อมกับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบิดา และสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ภายในวัดและให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง จึงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานมากมายให้ได้ชมกัน ซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก โดยเฉพาะองค์พระปรางค์ที่สูงตระหง่าน แม้ในตอนนี้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ก็ยังสวยงามไม่เสื่อมคลาย

(คลิกติดตามเรื่อง เที่ยวภายใน “วัดอรุณราชวราราม” ได้ที่ลิงค์นี้)
3 ใน 4 ของพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”
หลังจากนั้นฉันได้เดินเที่ยวเดินชมในวัดอรุณฯ จนสมใจแล้ว ฉันก็ใช้บริการเรือข้ามฟากมายังฝั่งพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และเมื่อปี พ.ศ. 2551 ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย





และวัดพระเชตุพนฯ ก็ยังถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ โดยมีพระเจดีย์ที่สำคัญคือ “พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล” ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายในวัดก็ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่มากมายให้ได้ชมกันอีกด้วย
พระมณฑปพระบรมสารีริกธาตุ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร”
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดถัดมาที่ฉันได้มาเที่ยว โดยเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยาที่เรียกว่า “วัดสลัก” และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2326 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ”

พระองค์ได้พระราชทานนามวัดใหม่อีกครั้ง ใน พ.ศ. 2346 ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสขึ้นที่วัดแห่งนี้ และได้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ซึ่งภายในวัดนั้นเงียบสงบมีโบราณสถานต่างๆ ให้ได้ชม อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้สักการะ และในทุกๆ วันพระก็จะมีการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม ให้ได้ผู้ที่สนใจได้ร่วมกิจกรรมกันด้วย




“พระปรางค์” ศาสนสถานแห่งเดียวใน “วัดราชบุรณราชวรวิหาร” ที่รอดจากระเบิด
ถัดมามาเที่ยวที่ “วัดเลียบ” หรือ “วัดราชบุรณราชวรวิหาร” ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบ เพื่อให้เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ และเมื่อแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระราชทานนามว่า "วัดราชบุรณะ"





และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า และ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ สถานที่สำคัญ ๆ ภายในวัดจึงถูกระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรทำลายจนหมด ซึ่งยังคงเหลือพระปรางค์องค์เดิม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นศาสนสถานแห่งเดียวภายในวัดที่รอดจากระเบิดให้ได้ชมจนมาถึงปัจจุบัน และปัจจุบันวัดราชบุรณะก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมดแล้ว
หนึ่งในพระปรางค์ทิศทั้งสี่  โบราณสำคัญของ “วัดเทพธิดารามวรวิหาร”
และวัดสุดท้ายที่ฉันมาได้มาเที่ยวก็คือ “วัดเทพธิดารามวรวิหาร” ตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย เป็นวัดสุดท้ายท่านสุนทรภู่ได้มาจำวัดในช่วงปลายของชีวิต ซึ่งเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นภิกษุและได้จำพรรษา ท่านได้เขียนงานเขียนชิ้นสุดท้ายชื่อ “รำพันพิลาป” ก่อนลาสิกขาบท ซึ่งปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกว่า "บ้านกวี" เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ให้ได้มาชม





วัดเทพธิดารามฯ แห่งนี้ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิลาสพระปิยราชธิดา และเมื่อสำเร็จเรียบร้อย พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามวัดว่า "วัดเทพธิดาราม" ซึ่งหมายถึง "อัปสรสุดาเทพ" ซึ่งโบราณสำคัญในวัดนี้ก็คือ “พระปรางค์ทิศทั้งสี่” ที่สร้างด้วยฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 องพระปรางค์สูงประมาณ 15 เมตร ตั้งอยู่บนลานทักษิณสูงมุมทั้ง 4 ทิศ ของพระอุโบสถ ที่ฐานของพระปรางค์ แต่ละองค์จะมีรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ให้ได้ชมความสวยงามของโบราณสถานในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

หลังจากฉันได้เต็มอิ่มจากการชมความสวยงาม ของวัดวาอารามต่างๆ ตามรอยท่านสุนทรภู่แล้ว ก็ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งที่ได้กล่าวว่าไว้ "ความดีไม่สูญหาย ถึงตัวตายก็ยังอยู่” หากทุกๆ คน ได้ทำคุณงามความดีไม่มากก็น้อย แม้ความตายจะพรากร่างกายไปจากโลกนี้ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความดีงาม เพราะฉะนั้นแล้วเราก็ควรทำแต่กรรมดี ไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อตัวเราเอง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น