xs
xsm
sm
md
lg

“นครสวรรค์-อุทัย”...จาก “เจ้าพระยา” ถึง “สะแกกรัง” มนต์ขลังเสน่ห์วิถีไทย เก๋ไก๋ชุมชนริมน้ำงามประทับใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้ำสะแกกรังกับเสน่ห์วิถีเรือนแพอันเรียบง่ายแต่มากมายไปด้วยเสน่ห์แห่ง จ.อุทัยธานี
บนวิถีแห่งสายน้ำแหล่งกำเนิดสรรพชีวิต นอกจากจะเป็นบ่อเกิดแห่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีมากหลายแล้ว ยังอุดมไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีชุมชนอันน่าสนใจยิ่ง

ดังเช่นวิถีคนริมน้ำแห่งจังหวัด “นครสวรรค์” และ “อุทัยธานี” ที่ในวิถีไทยอันเรียบง่าย กลับมากมายไปด้วยเสน่ห์ชุมชนแฝงเร้นอันน่าประทับใจและชวนค้นหาไม่น้อย
แม่น้ำน่านที่ไหลผ่าน อ.ชุมแสง อดีตชุมชนที่เคยรุ่งเรืองในอดีต โดยเป็นท่าข้าวและชุมชนการค้าริมน้ำสำคัญของนครสวรรค์
ปากน้ำโพ

นครสวรรค์”จังหวัดที่เป็นดัง“ประตูสู่ภาคเหนือ” เมืองนี้มีฉายาที่ “ตะลอนเที่ยว”รู้จักคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กนั่นก็คือ“เมืองปากน้ำโพอันถือเป็นต้นกำเนิดของ“แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่เกิดจากแม่น้ำ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน ไหลมารวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้น แม่น้ำปิงและแม่น้ำวังได้ไหลมารวมกันเป็น “แม่น้ำปิง” ที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก ส่วนแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านได้ไหลมารวมกันเป็น“แม่น้ำน่าน” ที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์

จากนั้นแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำปิง(วัง+ปิง)ได้ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน(ยม+น่าน)ที่ “ปากน้ำโพ”เกิดเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่มาพร้อมๆ กับลักษณะพิเศษของแม่น้ำ 2 สี โดยแม่น้ำปิงจะมีสีออกเขียว ส่วนแม่น้ำน่านจะมีสีออกน้ำตาลแดง ส่วนแผ่นดินกึ่งกลางของแม่น้ำ 2 สาย 2 สีนั้นมีลักษณะเป็นแหลมสุดแผ่นดิน แต่ชาวบ้านเรียกขานว่า “เกาะยม” ซึ่งบนนั้นมีชุมชนอาศัยอยู่มาช้านานนับร้อยปี
ปากน้ำโพ ณ จุดที่แม่น้ำ 2 สาย คือ ปิง กับ น่าน มาบรรจบกัน
ปากน้ำโพในอดีตเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญทางน้ำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก่อนจะพัฒนาเป็นชุมทางในยุคต่อๆ มา โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการสร้างรถไฟ(รถจักรไอน้ำ)เชื่อมต่อจากเมืองหลวงขึ้นไปสู่ภาคเหนือนั้น ปากน้ำโพถือเป็นชุมทางสำคัญโดยทั้งทางเรือและทางรถไฟ(สถานีปากน้ำโพ)

ผู้คนจำนวนมากที่เดินทางขึ้นเหนือ-ล่องใต้ ต่างก็มาแวะพักที่ปากน้ำโพเนื่องจากเป็นจุดกลางระหว่างทาง ที่นี่จึงเป็นเมืองเศรษฐกิจ เป็นชุมทางค้าขาย เป็นชุมทางพักล่องไม้ซุง เป็นจุดเติมน้ำเติมฟืนของรถจักรไอน้ำ(ที่วันนี้ยังหลงเหลือแทงก์เติมน้ำเก่าเป็นมรดกตกทอดให้ชม)
แท็งก์เติมน้ำรถจักรเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่
ปากน้ำโพยุคนั้นนับว่ามีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ในแม่น้ำเต็มไปด้วยเรือนแพ ขณะที่บนบก 2 ฟากฝั่งก็คึกคักไม่แพ้กัน

แต่เมื่อมีการตัดถนน ขยายถนน เปลี่ยนยุคมาสู่การใช้รถยนต์สัญจรทางถนนเป็นหลัก นั่นก็ทำให้ปากน้ำโพค่อยๆ ลดความสำคัญลง จนวันนี้ชุมชนบ้านเรือนแพริมน้ำดูค่อนข้างเงียบเหงา ซบเซา
เรือนแพปากน้ำโพ
อย่างไรก็ดีรอยอดีตอันยิ่งใหญ่แห่งปากน้ำโพยังคงมีปรากฏให้รำลึกผ่านชุมชนริมน้ำ บ้านเรือนทั้งบนเกาะยมและริมน้ำ ซึ่งวันนี้ยังหลงเหลือเรือนแพส่วนหนึ่งไว้เพียงเล็กน้อยให้เราได้ล่องเรือเที่ยวชมกัน(ติดต่อที่ท่าเรือข้ามฟาก) ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นขึ้นไปอยู่บนฝั่งกันหมดแล้ว

เรือนแพหลายหลัง โดยเฉพาะเรือนแพส่วนหนึ่งริมแม่น้ำน่าน วันนี้ยังคงสภาพของเรือนแพดั้งเดิมที่ดูดีมีเสน่ห์ เช่นเดียวกับบ้านบางหลังบนเกาะยมที่แม้จะดูเก่าทรุดโทรม แต่ว่าก็ยังคงร่องรอยความคลาสสิกสวยงามเอาไว้ ให้เราได้รำลึกย้อนความหลังของปากน้ำโพถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของชุมชนเรือนแพริมน้ำแห่งนี้
วิถีเรือนแพที่ยังหลงเหลืออยู่เล็กน้อยที่ปากน้ำโพ
ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่

ณ บริเวณ 2 ฟากฝั่งน้ำของปากน้ำโพเป็นที่ตั้งของ 2 ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในนครสวรรค์ นั่นก็คือ “ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์” และ “ศาลเจ้าแม่หน้าผา” ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญของชาวปากน้ำโพ
บรรยากาศในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หนึ่งใน 2 ศาลเจ้าพ่อที่คนนับถือเป็นอย่างมากในนครสวรรค์
ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์(ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ศาลเจ้าพ่อ” หรือ “ปึงเถ่ากง” ตั้งอยู่ตรงปากน้ำโพฝั่งแม่น้ำน่าน เลยจุดบรรจบแม่น้ำ 2 สายลงมาทางใต้นิดหน่อย ชนิดที่สามารถมองเป็นปากน้ำได้อย่างชัดเจน

สำหรับองค์เจ้าพ่อเทพารักษ์ที่นี่ถือเป็นต้นกำเนิดของงานประเพณี “แห่เจ้าปากน้ำโพ” ซึ่งหากอ้างอิงจากหลักฐานที่มีบันทึกปรากฏ ในปีหน้า(2559) จะเป็นการครบรอบ 100 ปีของประเพณีแห่เจ้าพ่อปากน้ำโพที่ทางจังหวัดเขามีแผนที่จะเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่
เจ้าพ่อเทพารักษ์
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุน ส่วนชั้นบนเป็นที่ประทับขององค์เจ้าพ่อเทพารักษ์(องค์ประธาน) เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าพ่อกวนอู และองค์เทพเจ้าอื่นๆ รวมถึงมีระฆังโบราณที่ชาวจีนไหหลำนำมาถวายในปี พ.ศ. 2413 เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าศาลเจ้าแห่งนี้มีอายุอย่างต่ำ 145 ปีขึ้นไป
ศาลเจ้าแม่หน้าผา
ส่วน “ศาลเจ้าแม่หน้าผา”(ศาลเจ้าหน้าผา) หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่” หรือ “ปึงเถ่าม่า” เป็นศาลเจ้าสำคัญของนครสวรรค์คู่กับศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์

ภายในศาลเจ้าแม่มี “เจ้าแม่หน้าผา” เป็นองค์ประธาน เคียงข้างด้วย “เจ้าพ่อแควใหญ่” รวมถึงมีเทวรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆให้สักการะบูชา ไม่ว่าจะเป็น เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่ธรณี และเจ้าแม่ทองดำ(ทองสุก)ที่เป็นแผ่นไม้เก่าแก่แกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่อันมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
โค้งแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านหน้าเทศบาล อ.ชุมแสง
ชุมแสง

จากปากน้ำโพ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางทวนสายน้ำน่านขึ้นไปทางเหนือยัง “อำเภอชุมแสง” ที่มีจุดที่แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงที่ปากน้ำโพเกิดเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ชุมแสง เป็นหนึ่งในอำเภอเก่าแก่สำคัญของนครสวรรค์ ชื่อ“ชุมแสง” มีที่มาจากข้อสันนิษฐาน 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรก มาจาก “ต้นชุมแสง” ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำถิ่น
บรรยากาศชุมชนค้าขายที่ชุมแสง ณ ปัจจุบัน
ส่วนข้อที่สองมาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังทำสงครามกู้ชาติรบชนะพม่าแล้ว ได้ทำการรวบรวมชาติไทยที่แบ่งเป็นก๊กต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่นเป็นหนึ่งเดียว โดยลำดับแรกได้ยกพลขึ้นเหนือมาตั้งค่ายเพื่อปราบก๊กเจ้าเมืองพิษณุโลก ซึ่งพระองค์ท่านได้ใช้ที่นี่เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือ “คลังแสง” ชื่อของอำเภอแห่งนี้จึงมาจากคลังแสงก่อนที่จะเพี้ยนเป็น “ชุมแสง” ดังในปัจจุบัน

ชุมแสงในอดีตย้อนไปตั้งแต่ราวห้าสิบถึงเกือบร้อยปีที่แล้ว ถือเป็นชุมชนริมน้ำน่านที่มีความคึกคักเป็นยิ่ง ที่นี่ถือเป็นทั้งท่าข้าวและเป็นชุมชนค้าขายริมน้ำอันสำคัญของนครสวรรค์ เนื่องจากมีการคมนาคมขนส่งไป-มาสะดวก ทั้งทางน้ำ ทางบก(เกวียน) และทางรถไฟ(สถานีชุมแสง)
วิถีการค้าขายอย่างเรียบง่าย
ชุมแสงในยุคนั้นมากไปด้วยพ่อค้าวาณิช มีผู้คนเดินทางสัญจรเข้า-ออกอย่างต่อเนื่อง มีโรงสี ธนาคาร และโรงแรมอยู่หลายแห่งด้วยกัน ที่สำคัญคือมี “ตลาดชุมแสง” อันคึกคักและขึ้นชื่อ ที่วันนี้มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

แต่ชุมแสงก็เป็นเช่นเดียวกับปากน้ำโพคือเมื่อถนนเข้ามา การสัญจรทางน้ำ ทางรถไฟลดความสำคัญลง ส่งผลให้ปัจจุบันวิถีริมน้ำ ชุมชนการค้า และตลาดชุมแสงค่อยๆ ลดความคึกคักลง แต่ว่าก็ไม่ถึงกับเงียบเหงาซบเซาเสียทีเดียว เพราะในวันที่ “ตะลอนเที่ยว” ไปเยือนชุมแสง เรายังได้พบกับบรรยากาศการค้าขายที่ยังคงดูมีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว ชวนให้เราเที่ยวซอกแซกเข้าตามตรอกออกตามซอย ทั้งเดิน ทั้งปั่นจักรยานเพื่อไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้
ร้านค้าอวลบรรยากาศย้อนยุคพบได้ทั่วไปในชุมแสง
โดยย่านการค้าชุมแสงวันนี้ มีทั้งส่วนอาคารตลาดเก่าที่แม้จะถูกทิ้งร้างทรุดโทรมแต่ว่าก็ยังคงเสน่ห์ของความเก่าแก่คลาสสิกไว้ลายให้เห็นกัน โดยเฉพาะในตรอกซอยตลาดเก่าที่มีคุณป้า คุณย่า คุณยาย นั่งขายปลาสด ผักสด ผักดอง กะปิ ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม ปลาแห้ง และของกินอีกสารพัดในซอกมุมเล็กๆ กับวิถีของคนเล็กๆ ที่เน้นการค้าขายแบบเรียบง่ายพอเพียง ซึ่งคนที่ถวิลหาอดีตเห็นแล้วเป็นต้องอดหลงรักไม่ได้
สินค้าพื้นบ้านในบรรยากาศการซื้อ-ขายอย่างเรียบง่าย แต่มากไปด้วยเสน่ห์
ขณะที่ในส่วนของชุนค้าขายตลาดปัจจุบันนั้นก็อวลไปด้วยเสน่ห์ของบรรยากาศย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนไม้ ที่หลายๆ หลังมีประตูแบบโบราณ ชนิดที่คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเห็นแล้วเป็นต้องอึ้ง หรือตามร้าน ตามบ้าน ที่ขายวางสินค้าอันหลากหลายประเภทที่เป็นดังโชว์ห่วยมีชีวิตซึ่งนับวันๆภาพเหล่านี้ยิ่งหดหายไปจากเมืองไทยลงทุกที

เช่นเดียวกันกับ “สถานีรถไฟชุมแสง” ที่อยู่ไม่ไกลจากตลาดนั้นก็เป็นอีกหนึ่งมุมย้อนยุคในชุมแสง ที่ยังคงดูดีมีชีวิตชีวามากความเคลื่อนไหว
สถานีรถไฟชุมแสงที่ยังคงความคลาสสิกและมีชีวิตชีวา
หันมาดูในส่วนของสถานที่สำคัญชวนเที่ยวชมในชุมแสงกันบ้าง ชาวชุมแสงมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง” ซึ่งเป็นศาลเก่าแก่คู่ชุมชน รูปเคารพองค์เจ้าพ่อแกะสลักจากขอนไม้ลอยน้ำ ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่าเจ้าพ่อได้มาเข้าฝันชาวบ้านให้นำขอนไม้ลอยนี้มาแกะสลักเป็นรูปเคารพของท่าน

นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานอันชวนทึ่งว่า เดิมที่นี่มีเจ้าพ่ออยู่องค์เดียว แต่ต่อมาท่านได้ไปประทับทรงให้ชาวบ้านแห่เรือขันหมากไปสู่ขอเจ้าแม่เกยไชย มาประทับอยู่ด้วยกันและกลายเป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงมาจนทุกวันนี้
ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
ทุกๆปีชาวชุมแสงจะจัดงานสมโภช เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสงขึ้น ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรก ราวเดือนกุมภาพันธ์ จัดงานวันคล้ายวันเกิดเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง ครั้งที่สอง ราวเดือนธันวาคม จัดงานประจำปี โดยมีการอัญเชิญเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ แห่ไปรอบตลาดชุมแสง พร้อมด้วยการจัดมหรสพอย่างสนุกสนานครึกครื้น ซึ่งปัจจุบันงานนี้จัดมากว่า 80 ปีแล้ว

ในชุมแสงยังมีวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ “วัดเกยไชยเหนือ(วัดบรมธาตุ)” วัดเก่าแก่ที่ภายในวัดมีเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุฐานแปดเหลี่ยมซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ขณะที่ “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมน้ำน่านไม่ไกลจากตลาดเท่าใดนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญคู่ชุมชนและเป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมแสง ซึ่งบริเวณรอบๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มีการนำรูปปั้นไก่มาถวายแก้บนกันเป็นจำนวนมาก
สะพานหิรัญนฤมิตเมื่อมองจากอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯ
ส่วน “สะพานหิรัญนฤมิต” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์คู่ชุมชนที่น่าสนใจ ที่วันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองชุมแสงไปแล้ว

สะพานหิรัญนฤมิต สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้ผู้คนจากสองฟากฝั่งน้ำสัญจรข้ามไป-มา โดยห้ามรถยนต์ 4 ล้อวิ่งผ่าน
สะพานหิรัญนฤมิตอีกหนึ่งไฮไลต์คู่ชุมชนชุมแสง
สะพานหิรัญนฤมิตแม้จะเป็นสะพานเล็กๆ เป็นสะพานสร้างใหม่ แต่ว่าด้วยลักษณะอันโดดเด่นเป็นสะพานแขวนที่ทั้งรูปแบบ รูปทรง สีสัน และองค์ประกอบต่างๆ ดูสวยงามคลาสสิกลงตัว สะพานหิรัญนฤมิตจึงถือเป็นจุดเด่นแห่งใหม่ในอำเภอชุมแสง ที่ผู้ผ่านไป-มามักนิยมมาเซลฟี่ถ่ายรูปคู่กับสะพานแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

ด้านใครที่เป็นผู้พิสมัยในการกิน ชุมแสงถือว่ามากไปด้วยอาหารการกินอร่อยๆ มากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ราดหน้านายโก๊ะ” กับราดหน้าอร่อยระดับรับแขกบ้านแขกเมือง,”ร้านยายแกลบ” กับเมนูปลาและอาหารไทยรสจัดจ้าน, “ขนมเปี๊ยะคุณยาย” ขนมเปี๊ยะแป้งนุ่มบาง ไส้เยอะหวานหอมกลมกล่อม ขณะที่อาหารการกินเด่นๆอื่นๆ นั้นก็มี ไอศกรีมโบราณข้างสถานีรถไฟ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เย็นตาโฟเจ๊วรรณ กวยจั๊บโบราณเจ๊ฮุง ลูกชิ้นปลากรายเจ๊เตียง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆจากตาลโตนด ทั้งน้ำตลาดสด น้ำตาลปึก และลอนตาล เป็นต้น
ถนนคนเดินที่จัดทุกๆเย็นวันอังคาร
นอกจากนี้ที่ถนนริมน้ำบริเวณสะพานยังมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดินในทุกๆเย็นวันอังคาร ซึ่งก็มีสินค้า อาหารการกิน ให้เลือกชิมและช้อปกันอย่างหลากหลาย นับเป็นอีกหนึ่งสีสันของชุมชนชุมแสงที่มากไปด้วยวิถีความเคลื่อนไหว
ชุมแสงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่าปั่นจักรยานเที่ยวชม
และด้วยมนต์เสน่ห์อันหลากหลายของชุมชนริมน้ำชุมแสง ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคเหนือและเทศบาลเมืองชุมแสงภายใต้การนำของ“นายศรชัย อธิปฏิเวชช” นายกเทศมนตรีเมืองชุมแสง จึงได้จัดกิจกรรมนำร่องปั่นจักรยานท่องเที่ยวขึ้น โดยมีชมรม“เสือเฒ่าชุมแสง” เป็นแกนหลักในการพาไปชมยังจุดต่างๆ เพราะเป็นผู้ที่คุ้นเคยชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาปั่นกันอยู่เป็นประจำ
ปั่นจักรยานบนถนนเลาะริมน้ำ
สำหรับกิจกรรมปั่นจักรยานทัวร์เมืองชุมแสงนั้น เราสามารถปั่นในเส้นทางเลาะริมน้ำเที่ยวชมบ้านเรือนเก่า สะพานหิรัญนฤมิต อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินฯ ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ชมบรรยากาศยามเย็นริมฝั่งแม่น้ำน่านที่วันนี้ยังมีปั๊มน้ำมันลอยน้ำเก่าแก่(เลิกใช้แล้ว) ตั้งเด่นอยู่ริมน้ำชวนให้รำลึกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ หรือใครจะปั่นชิลล์ ชิลล์ ออกกำลังกายไปในตัว ซอกแซกไปในตลาด ย่านการค้า สัมผัสวิถีชาวบ้าน พูดคุยกับชาวชุมชน แวะกินโน่นกินนี่ ช่วยกระจายรายได้ก็นับว่าเก๋ไก๋ดีทีเดียว
ปั่นผ่านบ้านเรือนเก่าริมน้ำ
นับได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากเราจะได้สัมผัสวิถีชุมชน บ้านเรือนเก่า และสถานที่สำคัญต่างๆแล้ว รอยยิ้มและมิตรไมตรีของชาวชุมแสงนับเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความประทับใจ ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ชุมชนแห่งนี้น่าสัมผัสเที่ยวชมมากขึ้น
ทิวทัศน์เมืองอุทัยธานี
อุทัยธานี

จากนครสวรรค์ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางข้ามจังหวัดมายัง “อุทัยธานี” เมืองที่มีแม่น้ำ “สะแกกรัง” เป็นดังเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวอุทัยมาช้านาน ในสายน้ำแห่งนี้มีวิถีแห่ง“เรือนแพ”สุขจริงอิงกระแสธารา ที่วันนี้ถือเป็นชุมชนเรือนแพขนาดใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเรา

เรือนแพสะแกกรังเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของเมืองอุทัย เรือนแพที่นี่ส่วนใหญ่มีขนาดกะทัดรัดและมีรูปแบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแพหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้วิถีชาวแพแห่งสะแกกรังยังคงอยู่(แม้ว่าลูกบวบในวันนี้จะมีราคาสูงมาก)นั่นก็คือความสะอาดและความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำสะแกกรัง
แม่น้ำสะแกกรัง เส้นเลือดหลักของชาวอุทัยฯ
ชุมชนชาวเรือนแพสะแกกรังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ พวกเขาอาศัยกินอยู่หลับนอนอยู่บนแพ บางแพประดับตกแต่งที่อยู่อาศัยของตัวเองด้วยการปลูกดอกไม้ กล้วยไม้ ปลูกพุทธรักษา บางแพปลูกต้นเตยขาย ปลูกผักบุ้งไว้กินและเก็บขาย บางแพเลี้ยงปลาในกระชังอย่างเช่น ปลาสวาย ปลาแรด ปลาเทโพ ชาวเรือนแพส่วนใหญ่ยังดำรงอาชีพประมง มีการทำปลาแห้งรมควันส่งขายตลาด นับเป็นภาพวิถีชีวิตชุมชนชาวเรือนแพที่หาชมกันไม่ได้ง่ายๆในเมืองไทยนอกจากที่อุทัยธานี
ตลาดเช้าลานสะแกกรัง
จากแม่น้ำขยับขึ้นฝั่งมาสัมผัสกับบรรยากาศแห่งการซื้อ-ขายริมฝั่งยามเช้าน้ำอันคึกคักและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาของ“ตลาดลานสะแกกรัง” ตลาดเช้าแห่งวิถีชีวิตชุมชนของชาวแพและชาวบก ณ ลานสะแกกรังที่ทอดยาวเคียงข้างไปกับลำน้ำ
พระ-เณรน้อยออกเดินบิณฑบาตยามเช้าที่ตลาดลานสะแกกรัง
ตลาดลานสะแกกรังเป็นหนึ่งในวิถีตลาดเช้าอันทรงเสน่ห์ โดยพ่อค้า-แม่ค้าจะนำสินค้ามาวางขายกันตั้งแต่เช้ามืดไปถึงสายกับสารพัดสารพันสินค้ามากมาย โดยเฉพาะกับสินค้าพื้นบ้านผลผลิตแห่งลำน้ำแกกรังอย่าง ปลาสด ปลาย่าง ปลาแห้ง นอกจากนี้ก็ยังมีพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล อาหารการกิน ขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ฯลฯ ที่ถูกนำมาวางขายกันอย่างละลานตา
ช่วงปิดเทอมปีนี้มีการบวชเณรภาคฤดูร้อน จึงมีเณรน้อยออกเดินบิณบาตยามเช้าเป็นจำนวนมาก
จากบริเวณตลาดหากมองไปยังอีกฟากฝั่งของลำน้ำที่มีสะพานปูนเล็กๆทอดข้ามเชื่อม 2 ฟากฝั่งสะแกกรังเข้าด้วยกัน เราจะได้พบกับ “วัดโบสถ์” หรือชื่อเต็ม“วัดอุโปสถาราม” (เดิมชื่อ“วัดโบสถ์มโนรมย์”)

วัดโบสถ์เป็นวัดเก่าแก่ริมฝั่งสะแกกรัง ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดน่าสนใจไปด้วยเจดีย์ 3 องค์ 3 สมัยที่สร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน คือ ทรงลอมฟางในสมัยสุโขทัย(ทิศใต้), ทรงหกเหลี่ยมสมัยอยุธยา(ทิศเหนือ) และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสมัยรัตนโกสินทร์(องค์กลาง) รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือวิจิตรทั้งภายในโบสถ์และภายนอกฝั่งประตูทางเข้าโบสถ์
วัดโบสถ์ วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำสะแกกรัง
นอกจากนี้ก็ยังมี “มณฑปแปดเหลี่ยม” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในรูปทรงแบบตะวันตกอันสวยงามสมส่วนและสุดคลาสสิก ที่ถือเป็นดังสัญลักษณ์ของวัดโบสถ์และสัญลักษณ์ริมแม่น้ำสะแกกรังแห่งอุทัยธานี

ถัดจากตลาดริมฝั่งน้ำกลางเมืองขยับเข้ามาอีกราว 1-2 ช่วงถนนสู่ชุมชนตัวเมืองอุทัย เราจะได้พบกับมนต์เสน่ห์ของอาคารบ้านเรือนที่มีทั้งอาคารปูนและเรือนไม้ โดยเฉพาะอาคารบริเวณ“ตรอกโรงยา” หรือ “เซ็กเกี๋ยกั้ง”(คนจีนในอดีตเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สะแกกรัง”) ที่เป็นเรือนไม้เก่าแก่สองชั้นปลูกสร้างเป็นแถวยาวดูทรงเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ โดยในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ตรอกโรงยาจะมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน มีสินค้า อาหารการกิน มากมายมาวางจำหน่ายให้เลือกซื้อเลือกกินดูคึกคึกมีชีวิตชีวา
บ้านเรือนเก่าในตัวเมืองที่ส่วนใหญ่ทาสีม่วง เนืองในปีมหามงคล
สำหรับในช่วงที่ “ตะลอนเที่ยว” ไปตะลอนทัวร์เดินชมวิถียามเช้าเมืองอุทัยและตลาดเช้าลานสะแกกรังนั้น มีความพิเศษเนื่องจากปีนี้(2558)เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษาโดยเฉพาะในเดือนเมษามหามงคล ซึ่งชาวจังหวัดอุทัยธานีได้ร่วมมือกันทางสีบ้านเรือน(ส่วนใหญ่)ในตัวเมืองเป็นสีม่วงแลดูสวยงาม พร้อมเพรียง และเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี
บ้านเรือนเก่าในตัวเมืองที่ส่วนใหญ่ทาสีม่วง เนืองในปีมหามงคล
ส่วนที่ถือเป็นพิเศษในช่วงนี้อีกเช่นกันนั่นก็คือ ในช่วงนี้ที่ “วัดใหม่” (วัดใหม่จันทราราม)มีเด็กนักเรียนมาบวชเณรฤดูร้อนกันเป็นจำนวนมากกว่า 100 รูป ทำให้ยามเช้าตรู่ทั้งในตัวเมืองและในตลาดลานสะแกกรังดูคึกคักไปด้วยพระภิกษุและสามเณร(บวชใหม่) ที่แบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาวให้ญาติโยมได้ใส่บาตร นับเป็นภาพแห่งศรัทธาที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
พระ-เณร ให้ศีล พร ญาติโยม
เกาะเทโพ

การมาเยือนอุทัยธานีของ “ตะลอนเที่ยว” ในทริปนี้ นอกจากการเที่ยวชมวิถีสีสันในตัวเมืองแล้ว เราเลือกยังเที่ยวแบบอินเทรนด์กับการ“ปั่นจักรยาน” ตะลอนทัวร์สัมผัสสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมาอุทัยธานีได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ส่งเสริมการปั่นจักรยานอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมีสโลแกนประจำจังหวัดว่า “อุทัยเมืองน่าใช้จักรยาน
ปั่นจักรยานบนเกาะเทโพ ผ่านต้นคูนที่กำลังออกดอกสะพรั่งเหลืองอร่าม
สำหรับการปั่นจักรยานท่องเที่ยวอุทัยในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว”มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ “เส้นทางท่องเที่ยวเกาะเทโพ” โดยเราร่วมปั่นไปกับ “ชมรมจักยานเพื่อสุขภาพอุทัยธานี” เจ้าถิ่นผู้ชำนาญพื้นที่เป็นผู้บุกเบิกกิจกรรมปั่นจักรยานเที่ยวหลากหลายเส้นทางในจังหวัดอุทัยธานี 33

เกาะเทโพ(ต.เกาะเทโพ อ.เมือง) ชื่อนี้มาจากชื่อ“ปลาเทโพ” ที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำสะแกกรัง ก่อนจะกลายเป็นชื่อเกาะเรียกขานกันจนทุกวันนี้

เดิมเกาะเทโพเป็นแหลมที่ยื่นออกมาคั่นแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แต่เมื่อมีการขุดคลองเชื่อมลำน้ำทำให้แหลมขาดออกจากแผ่นดินใหญ่กลายเป็นเกาะน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ ขนาบด้วยแม่น้ำ 2 สายเหนือใต้ คือแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือ และแม่น้ำสะแกกรังทางทิศใต้
ปั่นเที่ยวชมวัดโบสถ์
จากตัวเมืองอุทัยธานีพวกเรานัดกันแต่เช้าตรู่ที่ตรอกโรงยาก่อนจะปั่นแบบชิลชิล ไปชมวิถีเมืองยามเช้า ชมตลาดลานสะแกกรังอันคึกคัก และมากไปด้วยขบวนเณรน้อยออกบิณฑบาต

จากนั้นพวกเราไปตั้งต้นออกสตาร์ทกันที่ “สะพานข้ามวัดโบสถ์” (ฝั่งตลาด)แล้วปั่นขึ้นสะพานเล็กไปหยุดชมทิวทัศน์ยามเช้าของแม่น้ำสะแกกรัง ก่อนจะปั่นไปเที่ยวชมวัดโบสถ์ที่ช่วงนี้ต้นคูนออกดอกสีเหลืองสะพรั่งตัดกับสีม่วงสดใสของตะแบกที่ออกดอกบานเต็มต้นเช่นกัน
ปั่นผ่านอุโมงค์ต้นไม้
จากวัดโบสถ์เราปั่นเลาะกำแพงวัดผ่าน “อุโมงค์ต้นไม้” ที่เป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่อันร่มรื่น แล้วปั่นเรื่อยๆสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวเกาะเทโพที่บางทีก็ซอกแซกเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งบนเกาะเทโพนั้นมีกลุ่มอาชีพเด่นชวนให้ปั่นเที่ยวชมได้แก่ “กลุ่มปลาย่างแปรรูปบ้านน้ำตก”, “กลุ่มเลี้ยงปลาแรดในกระชัง”, “สวนส้มโอบ้านน้ำตก”, “กลุ่มทำเสื่อลำแพน บ้านท่าดินแดง” ที่ได้พบกับ 2 คุณป้ายอดฝีมือ คือ “ป้าลมเย็น หนุนวงศ์” และ “ป้าสมจิตร์ อัตตะวงศ์” ที่พูดคุยกับผู้มาเยือนเหมือนลูกหลาน อย่างสนุกเฮฮาน่าประทับใจยิ่งนัก
ปลาย่างควันโชยบนเกาะเทโพ
ส่วนที่ “บ้านตะโกสูง” ที่เป็นหนึ่งในจุดเที่ยวหลักสำคัญของเส้นทาง ช่วงที่เราไปปั่น(ก่อนสงกรานต์) นาข้าวแปลงใหญ่กำลังออกรวงเหลืองทองผมเขียวท่ามกลางฉากหลังเป็นกลุ่มตาลต้นสูงยืนตระหง่านอยู่จำนวนหนึ่ง ให้พวกเราแวะหามุมเหมาะถ่ายรูป เซลฟี่ และดื่มน้ำพักเหนื่อยกัน 37
ปั่นผ่านทุ่งนาบ้านตะโกสูง
จุดต่อไปเราปั่นไปชม “สวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ”(บึงพระชนกจักรี) ช่วงนี้บัวหลวงจำนวนหนึ่งกำลังออกดอกสะพรั่งให้สีชมพูอ่อนสบายตา พร้อมๆกับมีนกน้ำหลากหลายมาโผบินสร้างสีสันอยู่ในบึงใหญ่
สวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ
สำหรับอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ที่เราเลือกให้เป็นพระเอกปิดท้ายทริปนั่นก็คือ เส้นทางปั่นเลาะเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของเกาะบริเวณ“กลุ่มร้านอาหาร” ซึ่งในช่วงกลางหน้าร้อนดอก“คูน”หรือ“ราชพฤกษ์” ดอกไม้ประจำชาติไทยที่ปลูกอยู่หลายต้นริมแม่น้ำกำลังออกดอกเหลืองอร่ามสดใสสะพรั่ง
ปั่นผ่านซุ้มต้นดอกคูนริมเจ้าพระยา
เส้นทางบางช่วงให้บรรยากาศคล้ายๆเรากำลังปั่นผ่านซุ้มดอกคูนที่ออกดอกเต็มต้นห้อยระย้างามอร่าม นับเป็นความงามส่งท้ายก่อนที่เราจะปั่นกลับในเส้นทางวงรอบมาข้าม “สะพานพัฒนาภาคเหนือ”กลับคืนสู่ตัวเมืองอุทัยฯ จบทริปปั่นเที่ยวอุทัยฯแบบชิลชิล ในเกาะเทโพลงอย่างประทับใจ
....................
พักเหนื่อยเอาแรง
และนี่ก็เป็นบางส่วนแห่งวิถีชุมชนริมสายน้ำของจังหวัด “นครสวรรค์” และ “อุทัยธานี” ที่ในวิถีความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบันนั้น ชุมชนริมน้ำเหล่านี้ที่ยังคงวิถีสงบ เรียบง่าย พอเพียง ซึ่งแม้นี่อาจจะดูไม่หวือหวา

แต่ทว่ากลับมากไปด้วยมนต์เสน่ห์อันชวนหลงใหลให้เที่ยวชมกันแบบมิรู้เบื่อ

***********************************************************

สอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานีเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุทัยธานี โทร. 0-5651-4651-2

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

คลิกอ่าน “ข้าวมันไก่โกตี๋” มีดีให้ลิ้มลอง...สูตรเด็ดไหหลำ อร่อยยาวนานคู่เมืองอุทัยฯ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

คลิกอ่านเรื่องกิน-เที่ยว นครสวรรค์-อุทัยธานี หลงเสน่ห์ตลาดเก่า สัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำ เที่ยวแบบ Slow Life ที่ตลาดโบราณ “ชุมแสง-อุทัยฯ”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น