ในปีนี้ “การท่องเที่ยววิถีไทย” กำลังเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่ “เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังส่งเสริมให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติหันมาเห็นความสุขและความสนุกแบบไทยๆ ผ่านแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของไทย ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” เห็นว่า เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวไทยนั้นมีมากมายอยู่แล้ว ยิ่งถ้านักท่องเที่ยวได้มาเจอความน่ารักมีน้ำใจของคนไทย ความอร่อยของอาหารไทย ก็ยิ่งต้องหลงรักเมืองไทยมากขึ้นไปอีก
เหมือนอย่างวันนี้ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาหลงเสน่ห์ของสองเมืองแห่งภาคเหนือตอนล่าง “สุโขทัย-กำแพงเพชร” ที่อาจจะดูเป็นเมืองเงียบๆ เรียบง่าย เน้นการท่องเที่ยวแบบ Slow Life ไม่หวือหวา แต่นั่นยิ่งทำให้เราสัมผัสกับบรรยากาศของเมืองได้มากขึ้น อีกทั้งจุดมุ่งหมายของ “ตะลอนเที่ยว” ในครั้งนี้คือการมาเที่ยวชมและชิมสารพัดของอร่อยที่ตลาดโบราณย้อนยุค มาเดินเล่นชมบรรยากาศเมืองเก่า ไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองมรดกโลก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของทั้งสองเมืองนี้และมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว
“สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย มรดกไทย มรดกโลก”
ความเก่าแก่ไม่ได้หมายถึงความเสื่อมหรือด้อยค่าเสมอไป...“ตะลอนเที่ยว” คิดเมื่อได้เดินทางมาเยือนที่ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ใน อ.เมืองสุโขทัย อาณาจักรโบราณของไทยที่แม้จะเหลือเพียงซากโบราณสถาน แต่กลับมีเสน่ห์แฝงไปด้วยเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีต ความเก่าแก่ของเมืองสุโขทัยเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น “มรดกโลก” คู่กับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งในกำแพงเมืองและนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 200 แห่ง โดยมี “วัดมหาธาตุ” เป็นวัดขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย สิ่งสำคัญในวัดคือพระเจดีย์มหาธาตุรูปดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้
นอกจากนั้นก็ยังมี “วัดศรีสวาย” ที่โดดเด่นด้วยพระปรางค์ 3 องค์ ศิลปะแบบลพบุรี “วัดสระศรี” งดงามด้วยเจดีย์ทรงลังกาซึ่งตั้งอยู่กลางสระตระพังตระกวน โดยนักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมภายในอุทยานฯ กันในช่วงบ่าย และเที่ยวอยู่ภายในอุทยานฯ จนถึงตอนเย็นเพื่อจะได้ชมภาพอันงดงามของพระอาทิตย์ตกเบื้องหลังโบราณสถาน ที่ดูแล้วทั้งสงบ สวยงาม และขรึมขลังไปในเวลาเดียวกัน โดยจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามเป็นที่นิยมมีอยู่สองแห่งด้วยกัน คือบริเวณด้านหน้าวัดพระมหาธาตุ และบริเวณด้านหน้าสระตระพังตระกวน (วัดสระศรี)
ส่วน “วัดศรีชุม” เป็นอีกหนึ่งวัดนอกกำแพงเมืองที่ไม่ควรพลาดชมภายในวิหารวัดศรีชุมประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ นามว่า “พระอจนะ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ไม่หวั่นไหว และไม่ไกลกันคือ “วัดพระพายหลวง” ซึ่งโดดเด่นด้วยองค์ปรางค์ศิลาแลง 3 องค์ เป็นศิลปะในยุคเดียวกับศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่วนด้านหน้าของวัดเป็นอาคารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน เดิน
บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดพระพายหลวง เป็นที่ตั้งของ “หอพระพุทธสิริมารวิชัย” ภายในประดิษฐาน "พระพุทธสิริมารวิชัย" พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยองค์เก่าแก่ที่แต่เดิมได้หักพังเสียหายหลังจากเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองสุโขทัยเมื่อปี 2511 แต่ต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระขึ้นใหม่ รวมทั้งสร้างหอพระที่ประดิษฐานให้แก่พระพุทธรูปเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 ชันษา
นอกจากจะได้มากราบหลวงพ่ออันงดงามแล้ว ก็ยังจะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของหอพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามแบบสุโขทัย และภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือเยี่ยมเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย รวมถึงภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พระพุทธสิริมารวิชัยอีกด้วย
ส่วนมากแล้วนักท่องเที่ยวมักเลือกใช้วิธีเช่าจักรยานปั่นเพื่อชมโบราณสถาน แต่ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นอีกหนึ่งวิธีเที่ยวชมวัดที่ได้บรรยากาศสุดๆ และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวต่างชาติกันมาก นั่นก็คือการนั่งเกวียนเทียมวัวจากหอพระพุทธสิริมารวิชัยเพื่อไปชมวัดศรีชุมหรือวัดในบริเวณใกล้เคียง โดยจะมีจุดขึ้นเกวียนอยู่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวข้างๆ หอพระสนนราคาก็ไม่แพงเลย 300 บาท/เกวียน นั่งได้ 6 คน เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสวมงอบนั่งเกวียนถ่ายรูปสนุกสนานกันใหญ่
อีกหนึ่งมรดกโลกอันเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวสุโขทัยที่ “ตะลอนเที่ยว” ไม่พลาดไปเยือนก็คือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ในอำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งในอดีตเป็นเมืองที่เกิดขึ้นก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะขึ้นครองกรุงสุโขทัย ชื่อว่าเมืองเชลียง ก่อนจะกลายเป็นเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสวรรคโลกในที่สุด
สิ่งที่เป็นไฮไลต์โดดเด่นในอุทยานฯ ศรีสัชนาลัยก็คือ “วัดช้างล้อม” ที่มีโบราณสถานสำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา ซึ่งมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก ส่วน “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่ตั้งอยู่ตรงกันข้าม ก็มีโบราณสถานสำคัญคือเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม อีกทั้งยังมีเจดีย์ราย และอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กันถึง 33 องค์ และ “วัดนางพญา” ที่อยู่ติดกันก็มีความโดดเด่นตรงลวดลายปูนปั้นด้านข้างวิหารอันงดงาม ทั้งรูปกึ่งวานรกำลังวิ่ง ลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพพนม ซึ่งเป็นฝีมือชั้นครู รูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
“ชมฟรีมินิไลต์แอนด์ซาวนด์เดินเล่นตลาดเก่า ตลาดปสาน-ตลาดริมยม”
สุโขทัยขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีการจัดงานแสดงแสงสีเสียงที่อลังการมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลอยกระทง แต่ใครที่มาเที่ยวสุโขทัยในช่วงนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ชมการแสดงแสงสีเสียงแบบย่อส่วน แต่ว่าสามารถชมกันได้ฟรี โดยเป็นการแสดงมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในทุกๆ วันศุกร์ที่ 2 ของเดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2558 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเป็นเรื่องราว “เล่าเรื่องเมืองสุโขทัย” โดยจะจัดแสดงบริเวณวัดสระศรี ได้ชมบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนพร้อมทั้งได้ชมมินิไลต์แอนด์ซาวนด์กันแบบฟรีๆ ด้วย คุ้มสุดๆ
นอกจากนั้น เพื่อให้ครบรสชาติของการชมการแสดงยามค่ำคืน ก่อนการชมการแสดงนักท่องเที่ยวสามารถเดินชม “ตลาดปสาน” โดยให้นักท่องเที่ยวใช้พดด้วงแทนเงินสด ในการซื้อสินค้าภายในตลาดย้อนยุควิถีของคนสุโขทัย และแน่นอนว่าต้องมีอาหารสารพัดมาให้เราได้ชิมกัน โดยเป็นอาหารพื้นถิ่นน่าอร่อยมากมาย ทั้ง ข้าวเปิ๊บ ข้าวพัน แกงขี้เหล็ก ขนมกง ชะมดงาดำ ปลาเห็ด และข้าวแกงโบราณกินกันให้อิ่มหนำสำราญกันไปเลย
พูดถึงตลาดโบราณที่สุโขทัย ถ้าอยากจะได้บรรยากาศตลาดเก่าของแท้ ก็ต้องมาที่ “ตลาดริมยม” ซึ่งอยู่ในอำเภอกงไกรลาศ และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันเสาร์แรกของเดือน ตลาดริมยมแต่เดิมเป็นตลาดใหญ่คึกคัก เป็นแหล่งชุมทางของบรรดาเรือที่ล่องขึ้นลงในแม่น้ำยม และยังเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในสุโขทัย หรือเรียกได้ว่าเป็นตลาดปลาแห่งแรกในประเทศไทยด้วย โดยมีการซื้อขายปลากันอยู่บริเวณบ้านเรือนไม้เก่าริมแม่น้ำยม แต่ก็เหมือนกับตลาดโบราณริมน้ำหลายๆ แห่ง เมื่อการคมนาคมทางบกทันสมัยขึ้น ส่งผลให้การคมนาคมและการค้าขายทางน้ำซบเซาลงจนต้องปิดตัวไปในที่สุด
แต่ภายหลังชาวบ้านและหน่วยงานหลายๆ ฝ่ายต่างก็ได้ร่วมกันฟื้นฟูความรุ่งเรืองและบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตของตลาดริมยมกลับคืนมา จนปัจจุบันนี้ตลาดริมยมกลายเป็นตลาดโบราณน่ารักแห่งกงไกรลาศ ที่ในช่วงเย็นย่ำราวๆ 16.00 น. ชาวบ้านทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยคุณลุงคุณป้าต่างก็จะแต่งตัวสวยด้วยชุดไทยออกมาเปิดร้านขายของกินสารพัดแบบ โดยจะเน้นเป็นของกินพื้นถิ่น เช่น ปลาแห้ง น้ำพริกปลาร้า ปลาเห็ด(ทอดมัน) ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ที่ใส่มาในกระทงใบตองสวยงามน่ากิน อีกทั้งทางตลาดได้จัดให้มีเก้าอี้นั่งสำหรับกินอาหาร กินไปชมบ้านเก่าสองข้างทางไป ได้ทั้งอิ่มท้องอิ่มใจ
สำหรับใครที่อาจเลือกมาเยือนกงไกรลาศไม่ตรงกับช่วงที่มีตลาด ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะสามารถมาเดินชมบรรยากาศของตลาดเก่าได้ตลอดเวลา โดยบ้านไม้ริมน้ำยมก็ยังคงทำผลิตภัณฑ์จากปลา เช่น ปลาร้า น้ำปลา และปลาแห้ง ส่งขาย นอกจากนั้นก็ต้องไปชิม “ขนมผิงแง้มประตูขาย” โดยเป็นเจ้าเดียวที่ยังคงทำขนมผิงกับเตาถ่านแบบโบราณแท้ๆ รสชาติหอมหวานและขายดีจนต้อง "แง้มประตูขาย" ไม่อย่างนั้นของจะหมดเร็วมาก จริงเท็จอย่างไรต้องลองไปชิมและถามเจ้าของร้านดู
“หม้อกรัน เครื่องปั้นดินเผา ของดีบ้านทุ่งหลวง สุโขทัย”
ได้ชมมรดกโลกและตลาดโบราณของสุโขทัยกันไปแล้ว “ตะลอนเที่ยว” บ่ายหน้าลงใต้ไปตามทางหลวงหมายเลข 101 มุ่งหน้าไปเยือนกำแพงเพชรเป็นจุดมุ่งหมายต่อไป ระหว่างทางได้ผ่าน “บ้านทุ่งหลวง” ใน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เคยได้ยินมาว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่ส่งขายไปทั่วประเทศ เลยต้องขอแวะชมกันเสียหน่อย
ชาวบ้านทุ่งหลวงแทบทุกครัวเรือนต่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีแหล่งดินอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน และนำดินเหล่านั้นมาปั้นขึ้นรูปกันบริเวณใต้ถุนบ้าน และเผาด้วยเตาเผาที่ทำขึ้นเอง โดยเป็นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ และเผาด้วยอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก
สำหรับเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านทุ่งหลวงก็คือ “หม้อกรัน” ซึ่งเป็นหม้อน้ำในสมัยโบราณที่มีรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง มีบันทึกไว้เมื่อปี 2444 ว่าหม้อกรันนี้เคยเป็นของถวายแด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงทำให้ทราบว่าบ้านทุ่งหลวงได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสืบต่อกันมานานนับร้อยปีแล้ว โดยหม้อกรันจะมีส่วนผสมของทรายมากกว่าปกติเพื่อช่วยในการคายน้ำ ดังนั้นน้ำในหม้อกรันบ้านทุ่งหลวงจึงมีความเย็นมากกว่าหม้อทั่วๆ ไป และหม้อนี้ยังใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานแต่งงาน โดยเชื่อว่าจะกันความชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีออกไป
ไม่เพียงหม้อกรันเท่านั้นที่เป็นสินค้าขายดีของบ้านทุ่งหลวง แต่ที่นี่ยังทำเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายชนิด ตามความถนัดของแต่ละบ้าน โดยมีทั้งกาน้ำดินเผา หม้อดินจิ้มจุ่ม แจกัน ตะเกียง รวมไปถึงปั้นหุ่นรูปเหมือน ที่ชาวบ้านทุ่งหลวงทำได้เหมือนและฝีมือละเอียดมากทีเดียว
“เยือนเมืองมรดกโลก ไหว้ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งกำแพงเพชร”
หลังจากผ่านบ้านทุ่งหลวงมาไม่นาน เราก็เดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดกำแพงเพชร โดย “ตะลอนเที่ยว” ขอไปเยือน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ก่อนเป็นแห่งแรก บรรยากาศของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรค่อนข้างเงียบและมีผู้คนบางตากว่าที่สุโขทัย แต่เรื่องความงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้นนับว่าไม่แพ้กัน โดยสร้างขึ้นภายใต้รูปแบบศิลปะสุโขทัยผสมผสานกับอิทธิพลของศิลปะแบบอยุธยาและล้านนา จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร
การเที่ยวชมภายในโบราณสถานนั้นสามารถขับรถหรือเช่าจักรยานปั่นชมได้เอง และหากมากันเป็นหมู่คณะก็สามารถใช้บริการรถรางได้เช่นกัน โดยโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือโบราณสถานหรือกลุ่มวัดที่อยู่ภายในเขตกำแพง โดยมีโบราณสถานสำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ เขตวังโบราณ ศาลพระอิศวร ส่วนกลุ่มวัดที่อยู่นอกกำแพงเมือง หรือที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก มีโบราณสถานสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมหลายแห่ง ได้แก่ “วัดช้างรอบ” ที่รับรูปแบบองค์เจดีย์มาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย แตกต่างตรงที่เป็นช้างปูนปั้นครึ่งตัว จำนวน 68 เชือก หัวและสองขาหน้าที่โผล่พ้นจากผนังประดับลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ กำไลโคนขาและข้อเท้า
“วัดพระนอน” แม้จะเหลือเพียงแท่นประดิษฐานองค์พระนอนและเสาวิหารรองรับหลังคา แต่ก็ทำให้เราเห็นถึงความสามารถของช่างยุคเก่าที่ใช้วัสดุขนาดใหญ่ในการสร้างอาคาร เพราะเสาศิลาแลงที่รองรับหลังคาแต่ละต้นนั้นเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แท่งเดียวไม่มีรอยต่อ กว้างด้านละ 1 ม. สูง 4-5 ม. อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงคุณภาพศิลาแลงเมืองกำแพงเพชรที่มีชื่อเสียง และยังเป็นที่มาของวลี “ศิลาแลงใหญ่” วรรคหนึ่งในคำขวัญจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย
“วัดพระสี่อิริยาบถ” อีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาด วัดแห่งนี้โดดเด่นด้วยมณฑปทรงจตุรมุขขนาดใหญ่ แต่ละด้านก่อผนังให้เว้าเข้าไปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 4 อิริยาบถ ได้แก่ พระพุทธรูปลีลา พระพุทธรูปนอน พระพุทธรูปนั่ง และพระพุทธรูปยืน ซึ่งเป็นองค์เดียวที่สภาพสมบูรณ์ที่สุด
ได้ชมโบราณสถานวัดวาเก่าแก่กันไปแล้ว ถ้าใครอยากตระเวนทำบุญไหว้พระกันต่อ ทางเทศบาลเมืองกำแพงเพชรก็ได้จัดรถรางนำเที่ยวให้บริการในเส้นทาง “ไหว้ 7 สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โดยมีจุดขึ้นรถที่ลานใต้ต้นโพธิ์ ใกล้กับหอนาฬิกากลางเมืองกำแพงเพชร รถรางจะพาเราไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองกำแพงเพชรทั้ง 7 สิ่ง โดยมีผู้บรรยายประจำรถให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดต่างๆ และเล่าเรื่องราวน่าสนใจในเมืองกำแพงเพชรให้ฟังกัน โดยเริ่มจากพาไปสักการะ “ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร” ที่เชื่อกันว่าเป็นพระหลักเมืองที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี เป็นการเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นไปสักการะ “ศาลพระอิศวร” ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร
รถรางยังพาไปกราบสักการะหลวงพ่อโม้ที่ “วัดเทพโมฬี” ซึ่งคนกำแพงเพชรนิยมมาบนบานศาลกล่าวห้ามฝนไม่ให้ตกเวลาจัดงานต่างๆ และนิยมแก้บนด้วยข้าวหมากและขนมจีน ไปชมหอไตรกลางน้ำอันงดงามที่ “วัดคูยาง” ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองโบราณที่ “วัดเสด็จ” และเป็นวัดหนึ่งที่โด่งดังในเรื่องการปลุกเสก “พระกำแพงสามขา” ส่วนที่ “วัดบาง” ก็ต้องไปกราบ “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปเชียงแสนเก่าแก่ เนื้อสำริดซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งของไทย และมาปิดท้ายกันที่ “ศาลปึงเถ่ากง-ม่า” มาสักการะองค์ปึงเถ่ากง-ปึงเถ่าม่า เจ้าพ่อเจ้าแม่กำแพงเพชร เจ้าพ่อเสือ เจ้าแม่ทับทิม และองค์เทพต่างๆ ภายในศาล ก่อนจะปิดท้ายรายการด้วยการนั่งรถชมบรรยากาศริมน้ำปิงชิลๆ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย โดยรถรางจะมีให้บริการทุกวัน วันละ 2 รอบคือ 09.00 น. และ 13.00 น. นั่งเที่ยวได้ฟรีถึงวันที่ 28 ก.พ. นี้
“ชิมขนม ชมพระเครื่อง เดินตลาดย้อนยุคในเมืองโบราณนครชุม”
บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหรือฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า “เมืองนครชุม” ซึ่งปรากฏหลักฐานการก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นมาก่อนการสร้างเมืองกำแพงเพชร แม้ว่าร่องรอยของเมืองโบราณจะลบเลือนไปมากเนื่องจากการกัดเซาะของแม่น้ำปิงและการขยายตัวของชุมชน แต่เมืองนครชุมก็ยังคงความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ศูนย์รวมจิตใจของชาวนครชุมและชาวกำแพงเพชรอยู่ที่ “พระบรมธาตุเจดียาราม” หรือ “พระบรมธาตุนครชุม” พระธาตุเก่าแก่ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นกลางเมืองนครชุม พร้อมปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป ในครั้งนั้นเองทำให้เกิด “งานประเพณีนบพระเล่นเพลง” อันเป็นประเพณีคู่บ้านเมืองนครชุมและกำแพงเพชรมาจนปัจจุบัน โดยงานนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี ปีนี้ใครอยากมาร่วมงานก็ต้องเริ่มวางแผนกันได้แล้ว
สำหรับรูปแบบขององค์พระบรมธาตุนครชุม แต่เดิมมีรูปแบบอย่างเจดีย์สุโขทัย 3 องค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พญาตะก่าซึ่งเป็นพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเมืองกำแพงเพชรมีใจศรัทธาขออนุญาตบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ โดยได้รื้อเจดีย์เก่าแล้วสร้างใหม่ตามศิลปะแบบพม่าก่อนจะนำเจดีย์องค์เก่าบรรจุไว้ด้านใน พระบรมธาตุนครชุมจึงมีลักษณะเป็นเจดีย์แบบพม่ามาจนปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว นครชุมยังถือเป็นแหล่งรวมพระเครื่องแหล่งใหญ่ของประเทศ โดยพระเครื่องกำแพงเพชรที่รู้จักกันทั่วไปมี 2 กรุ คือกรุฝั่งตัวเมืองกำแพงเพชร และกรุทุ่งเศรษฐี ซึ่งอยู่ทางฝั่งนครชุม โดยกรุพระที่อยู่ในตระกูลทุ่งเศรษฐีมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลาง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี เป็นต้น และพระเครื่องในตระกูลนี้ ได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ ก็ได้รับเกียรติจากวงการพระเครื่องให้บรรจุอยู่ในชุดเบญภาคีที่นักเล่นพระต่างอยากมีไว้บูชาคู่กาย
หากใครสนใจลึกกว่านั้น อยากมาเรียนรู้เรื่องราวรวมไปถึงวิธีทำพระเครื่องเมืองกำแพง ก็ต้องมาที่ “แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม” ที่บ้านของลุงสมหมาย พยอม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระบรมธาตุนครชุมมากนัก ลุงสมหมายเป็นนักสร้างพระดินเผาผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองนครชุม และคลุกคลีอยู่ในวงการพระเครื่อง ด้วยความที่มีใจรัก จึงศึกษาและจดจำวิธีการทำพระเครื่องจากช่างพระเครื่องในกำแพงเพชร และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจในวิธีการทำพระเครื่องตามแบบโบราณ ซึ่งหากใครสนใจเรื่องพระเครื่อง โดยเฉพาะพระเครื่องของกำแพงเพชรแล้ว “ตะลอนเที่ยว” ขอบอกว่าไม่ควรพลาด เพราะจะได้รับความรู้กลับไปมากมายเลยทีเดียว
อีกทั้งบ้านที่อยู่ติดๆ กันกับบ้านของลุงสมหมาย ยังมีจุดน่าสนใจอีกหนึ่งแห่งคือบ้านของคุณยายประภาศรี เอกปาน ซึ่งเป็นบ้านที่ทำ “ขนมข้าวตอกอัด” ขนมไทยโบราณชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของคนนครชุม ขนมข้าวตอกอัดทำมาจากข้าวตอกที่ตำละเอียดผสมกับน้ำเชื่อม กะทิ และน้ำตาล ก่อนจะนำไปอัดเข้าแป้นพิมพ์ให้ออกมาเป็นรูปทรงดอกไม้และเจดีย์ ก่อนจะนำไปอบควันเทียนจนหอม ชิมข้าวตอกอัดหอมหวาน ได้รสชาติขนมโบราณคู่เมืองนครชุม
แต่เนื่องจากวัตถุดิบที่ไม่ผสมสารกันเสีย ดังนั้นขนมข้าวตอกอัดของคุณยายจึงต้องทำวันต่อวัน จะไม่ทำตุนไว้เพื่อขาย แต่จะทำตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง ดังนั้นหากใครอยากชิมหรืออยากชมขั้นตอนและวิธีทำที่บ้านคุณยายจึงควรติดต่อไปล่วงหน้าเพื่อสั่งขนมหรือสอบถามเสียก่อนว่าวันนี้มีการทำขนมหรือไม่
และเพื่อให้ได้บรรยากาศของเมืองนครชุมอย่างเต็มอิ่ม “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวมาเยือนในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์แรกของเดือน เพราะเป็นช่วงที่มี “ตลาดย้อนยุคนครชุม” ตลาดโบราณเล็กๆ แต่น่ารักที่ชาวนครชุมช่วยกันสร้างบรรยากาศเก่าๆ ให้กลับมาอีกครั้ง โดยตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนชาญธุรารักษ์ ที่ทั้งสองฝั่งถนนจะเป็นเรือนไม้เก่าแบบคลาสสิก และในช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ชาวเมืองนครชุมก็จะแต่งกายสวยงามด้วยชุดไทย ออกมาตั้งตลาดขายของกันสนุกสนาน
ข้าวของที่ขายในตลาดย้อนยุคนครชุมส่วนมากก็จะเป็นอาหารไทยพื้นบ้านสารพัดอย่าง ทั้งผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวหอยทอด ปลาเห็ด หมูสะเต๊ะ รวมไปถึงขนมหลากหลาย ทั้งขนมครก ขนมโป๊งเหน่ง ขนมกง ขนมตาล รวมไปถึงขนมข้าวตอกอัดของคุณยายประภาศรีก็มีคนรับมาวางขายด้วยเช่นกัน แถมขายหมดอย่างรวดเร็วมากเสียด้วย โดยใครที่เลือกอาหารหรือขนมได้ถูกใจแล้วก็สามารถนำมานั่งกินบนโต๊ะที่จัดไว้ให้เป็นแถวยาวกลางตลาด
“ตะลอนเที่ยว” นั่งกินไปชมบรรยากาศอันคึกคักของผู้คนในตลาดไปด้วย เท่าที่เห็นก็มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของไม่น้อยเลยทีเดียว และนอกจากของกินสารพัดอย่างแล้ว ในตลาดก็ได้จัดโซนให้มีการจำหน่ายของที่ระลึก สินค้าโอท็อป มีเวทีการแสดงและมีดนตรีให้ฟัง นับเป็นตลาดโบราณน่ารักอีกแห่งหนึ่งที่ “ตะลอนเที่ยว” อยากนำมาบอกต่อ
ได้เที่ยวสองเมือง “สุโขทัย-กำแพงเพชร” ได้สัมผัสทั้งบรรยากาศของบ้านเมือง ได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน เดินเล่นตลาดโบราณ และชิมอาหารท้องถิ่น เท่านี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็สุขใจแล้ว และเชื่อว่าหากใครได้ลองมาสัมผัส ก็คงหลงเสน่ห์ของทั้งสองเมืองนี้ได้ไม่ยาก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยได้ที่ ททท.สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่สุโขทัย-กำแพงเพชร) โทร.0-5561-6228-9 หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tatsukhothaifanpage
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านเรื่องราวการท่องเที่ยวและที่กิน ที่พักน่าสนใจในเส้นทางท่องเที่ยว กำแพงเพชร-สุโขทัย ได้ที่นี่ เที่ยว “กำแพงเพชร-สุโขทัย” ชิมหลากหลายของอร่อยในตลาดโบราณ เที่ยวเพลินในอุทยานฯ มรดกโลก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com