ตรัง -ขนมพื้นเมืองชื่อดังของ จ.ตรัง ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยมียอดการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงเทศกาลหยุดยาวเที่ยวสงกรานต์เช่นนี้ ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และประสบปัญหาภัยแล้ง
วันนี้ (16 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจบรรยากาศตามร้านจำหน่ายของฝากต่างๆ โดยเฉพาะร้านขนมพื้นเมืองในจังหวัดตรัง ซึ่งในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว หรือช่วงไฮซีซันนี้ ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดี และมียอดการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด อันเป็นผลมาจากการที่จังหวัดตรัง มีขนมพื้นเมืองจำนวนมากมาย และได้กลายมาเป็นสินค้าของฝากชื่อดังมาอย่างยาวนานแล้ว ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่จะไม่ค่อยดีนัก เนื่องมาจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ผนวกกับสภาวะภัยแล้ง
นางเอมอร เอี่ยมศรี เจ้าของร้านขนมเปี๊ยะซอย 9 กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำไม่ได้มีผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายขนมพื้นเมือง และยังคงมีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจนผลิตแทบไม่ทัน อันเป็นผลมาจากการที่พยายามรักษาคุณภาพขนมเปี๊ยะให้มีความกรอบอร่อย สดใหม่ และเลือกวัตถุดิบชั้นดีมาผลิต ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานสูตรต้นตำรับจากฮ่องกง และตกทอดมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน จนกลายเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ เพราะมีขนมเปี๊ยะนับ 10 ไส้ ให้เลือกซื้อหาไปรับประทานกัน
ส่วน นางดรุณี ดำคง เจ้าของร้านเจ๊ดา สี่แยกอันดามัน กล่าวว่า ขณะนี้มียอดการผลิตเต้าส้อ วันละ 300-400 กล่อง และมีตลาดอยู่ทั่วทุกภาคจึงขยายตัวไปได้ไม่จำกัด ส่วนสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาไม่มีผลกระทบใดๆ เพราะทางร้านพยายามพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ และหากทำให้สินค้ามีจุดเด่น หรือมีชื่อเสียงก็ย่อมจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี พร้อมกับการรักษาสูตรเด็ดของเต้าส้อ เอาไว้ คือ มีแป้งห่อ 2 ชั้น ทั้งในและนอกเพื่อให้มีความเหนียวนุ่มน่ารับประทาน แถมยังมีไส้แปลกใหม่ และมีรสชาติดีๆ ให้เลือกกันอีกมากมาย
ขณะที่ นางพิณ น้ำเยื้อง เจ้าของร้านขนมจีบสังขยาป้าพิณ กล่าวว่า การที่ทางร้านยังคงมียอดขายสินค้าดีอย่างต่อเนื่องไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร เพราะได้มีการพัฒนาขนมพื้นเมืองให้เป็นเอกลักษณ์ และมีรสชาติดั้งเดิมที่ไม่ซ้ำใคร จนนับเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบขนมจีบ จากสามเหลี่ยม มาเป็นตัวกลม ภายใต้แนวคิดที่ว่า สุขใจทั้งผู้ให้ สบายใจทั้งผู้รับ ตลอดจนคัดสรรส่วนประกอบที่มีคุณภาพ และนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อให้การผลิตขนมทำได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากขึ้น