พระนครศรีอยุธยา - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล ผู้แทนพระองค์ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน
เมื่อเวลา 10.45 น.วันนี้ (19 ก.พ.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“พระป้าย” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เกสิน” หมายถึง “ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ” บุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน เพราะธรรมเนียมจีนเคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบูชาเซ่นสรวงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ
พระป้ายดังกล่าวมีอยู่ 2 ป้าย ป้ายแรกคือ พระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกไว้เป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง ขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง 2 คู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
ส่วนอีกแห่งนั้นเป็นพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทองมีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง จารึกพระปรมาภิไธย ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน
ส่วนพระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดการแต่เดิมจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จะสังเวยในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน
เครื่องสังเวยจะเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง