xs
xsm
sm
md
lg

นราฯน่าทึ่ง...“คัมภีร์อัล-กุรอานโบราณ” สมบัติแผ่นดินล้ำค่า ความสำคัญระดับโลก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
“คัมภีร์ อัล-กุรอานและเอกสารโบราณ” สมบัติแผ่นดินล้ำค่าที่ถูกรวบรวมจัดแสดงไว้ที่ “โรงเรียนสมานมิตรวิทยา”
“นราธิวาส” มีความหมายว่า “ที่อยู่ของคนดี”

แต่ในช่วงร่วมสิบปีมานี้ นราธิวาสโชคไม่ดี เพราะได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นจากฝีมือของผู้ไม่ประสงค์ดี (เช่นเดียวกับในยะลา ปัตตานี รวมถึงในสงขลาบ้างเป็นบ้างครั้ง)

อย่างไรก็ดีท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าความสงบสุขจะหวนคืนกลับมาเมื่อไหร่ ในมุมตรงกันข้าม เมืองนราฯก็มีแง่งามของธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อาหารการกิน ที่คนในอยากบอกให้กับคนนอกรับรู้ถึง“ของดีเมืองนราฯ” ที่มีความน่าสนใจอยู่มากหลาย

นั่นจึงทำให้ทางจังหวัดนราธิวาส โดยประชาสัมพันธ์จังหวัดได้จัดโครงการ “นราฯ...น่าเที่ยว”ขึ้น เพื่อต้องการให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงมนต์เสน่ห์ในของดีของเมืองนราฯ
คัมภีร์อัล-กุรอาน สิ่งสำคัญทรงคุณค่าของชาวมุสลิม
สำหรับสิ่งน่าสนใจสำคัญที่เป็นไฮไลท์และเป็นของใหม่ที่หลายๆคนไม่รู้ก็คือ “คัมภีร์ อัล-กุรอานและเอกสารโบราณ” สมบัติแผ่นดินล้ำค่าที่ได้ถูกรวบรวมและจัดแสดงไว้ที่ “โรงเรียนสมานมิตรวิทยา” ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งคัมภีร์และเอกสารโบราณที่นี่ถือว่ามีมากที่สุดในอาเซียนอีกทั้งยังมีความสำคัญในระดับโลกเลยทีเดียว

จากสิ่งไม่รู้ค่าสู่สิ่งล้ำค่า

ต้นทางของการค้นพบและรวบรวมครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นจากคนต้นเรื่องคือ “อ.มาหะมะลุตฟี หะยีสาแม” หรือ “อ.ลุตฟี” ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ผู้มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในนราฯ จนได้รับรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ในปี 2547 ได้เล่าให้ผมฟังว่า

“เดิมผมมีคัมภีร์กับเอกสารโบราณอยู่ประมาณ 10 เล่ม แต่เราไม่มีข้อมูล ไม่รู้คุณค่า จึงเก็บไว้เฉยๆไม่ได้สนใจอะไร จนเมื่อได้เดินทางไปที่มาเลเซีย เห็นคัมภีร์ไม่กี่เล่มถูกนำมาจัดแสดงอย่างดี และมีคนมาเที่ยวชม จึงมานึกดูว่าบ้านเราก็มีและมีมากกว่าด้วย น่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้”
อ.ลุตฟี ผู้รวบรวม เก็บรักษา และเผยแพร่คัมภีร์โบราณให้โลกรับรู้
หลังจากนั้น อ.ลุตฟี ก็ได้เกิดประกายต้องการที่จะเผยแพร่คัมภีร์และเอกสารที่มีอยู่ จึงได้นำความมาบอกต่อชุมชนและบอกต่อให้หลายๆคนทราบ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะมีชาวบ้านในพื้นที่และชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย นำคัมภีร์โบราณและเอกสารเก่าแก่มาบริจาคให้อาจารย์ช่วยเก็บรักษาดูแลและนำไปทำประโยชน์กันเป็นจำนวนมากรวมแล้วกว่า 70 เล่ม

อ.ลุตฟี บอกว่า คัมภีร์อัล-กุรอานเก่าแก่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนในสมัยก่อนไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศแล้วนำคัมภีร์และเอกสารกลับมา เพราะที่นี่เคยเป็นปอเนาะโบราณ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะเดินทางติดตัวมาจากผู้ที่มาทำการค้าขายแลกเปลี่ยน ซึ่งสมัยนั้นมีปัตตานีเป็นศูนย์กลาง มีท่าเรือใหญ่สำคัญอยู่ที่นั่น
อีกหนึ่งคัมภีร์เก่าแก่ที่มีการตกแต่งด้วยลวดลายโบราณ
สำหรับคัมภีร์และเอกสารโบราณเหล่านี้ ผมนำข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลจากคำบอกเล่าของ อ.ลุตฟี มาประมวล สรุปความได้ว่า

...คัมภีร์อัล-กุรอาน เป็นเอกสารสำคัญที่บันทึกหลักคำสอนของพระศาสดา หลักการ และข้อปฏิบัติของผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนทั่วโลก ซึ่งคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณที่นี่ ได้มาจากพื้นที่ภาคใต้ของเมืองไทย จากคาบสมุทรมลายูนูซันตารา และจากบางประเทศในโลกมุสลิมที่เคยมาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยในอดีต มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ราว 100 – 1,200 ปี

...คัมภีร์มีหลายขนาด จากเล็กถึงใหญ่ และจากบางไปถึงหนามาก ปกคัมภีร์ทำด้วยหนังสัตว์ เช่น หนังกวาง หนังแพะ เนื้อในเป็นกระดาษสา หรือกระดาษเปลือกไม้ เขียนเป็นภาษาอาหรับโบราณ รวมถึงภาษาบาลี ตัวอักษรเขียนด้วยหมึกดำ หลายหน้ามีการตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลายต่างๆในแบบมุสลิม บ้างก็มีลวดลายศิลปะแบบจีน มลายู บ้างก็มีการตกแต่งด้วยแผ่นทองคำเปลว นับเป็นงานศิลปะโบราณอันสวยงามประณีต ที่มีลวดลายโบราณชวนให้ศึกษาค้นคว้า

....นอกจากคัมภีร์แล้วก็ยังมีเอกสารตำราโบราณ อาทิ เอกสารภาษาศาสตร์ เอกสารทางศาสนา วรรณคดี ศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมาย เวชศาสตร์ เป็นต้น...
คัมภีร์โบราณ เล่มที่ อ.ลุตฟี บอกว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดาคัมภีร์ของที่นี่
ทั้งนี้ในส่วนคัมภีร์และเอกสารเด่นๆที่เป็นไฮไลท์นั้นก็มี

-คัมภีร์โบราณ ที่ อ.ลุตฟี บอกว่าเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุ 1,300 กว่าปี เขียนในปี 103 ฮิจเราะห์(ค.ศ.682) ปกทำด้วยหนังสัตว์ ไม่มีการเย็บเล่ม เขียนด้วยลายมือ(อ้างอิงจากข้อมูลที่ระบุไว้ที่ตู้จัดแสดงคัมภีร์ ซึ่งข้อมูลคัมภีร์โบราณเก่าแก่ที่สุดของที่นี่ หลายแห่งระบุไม่ตรงกันที่ตัวคัมภีร์และจำนวนอายุ)

-คัมภีร์ที่มีการล้อมด้วยกรอบทองคำเปลว ใช้สีดำ เขียว แดง ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบิดาของอาจารย์

-คัมภีร์ที่มีภาพเขียนสีประกอบในลวดลายมุสลิมโบราณ, เอกสารบันทึกการทำกริช การทำตัววายังกุลิตของอินโดนีเซีย(การละเล่นหุ่นเงาคล้ายหนังตะลุงของทางภาคใต้บ้านเรา) และ ฯลฯ
เอกสารโบราณ ที่มีทั้งความรู้และคุณค่าทางศิลปะ
นี่นับเป็นสิ่งอันทรงคุณค่า ซึ่งนอกจากจะมีคัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อ.ลุตฟี ยังบอกกับผมว่า โรงเรียนสมานมิตรฯ เป็นแหล่งรวบรวมคัมภีร์และเอกสารโบราณที่มีมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

เดินหน้าสู่พิพิธภัณฑ์

เดิมหลังริเริ่มโครงการรวบรวมคัมภีร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อ.ลุตฟี กับชาวชุมชนได้คัดสรรคัมภีร์และเอกสารส่วนหนึ่งส่วนหนึ่งมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้กันที่ “ศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอานโรงเรียนสมานมิตรวิทยา” ซึ่งด้วยความที่จัดแสดงกันแบบชาวบ้าน ไม่ใช่มืออาชีพ ทำให้คัมภีร์ส่วนหนึ่งชำรุด
คัมภีร์และเอกสารส่วนใหญ่เก่าคร่ำ ต้องรักษาซ่อมแซมกันเป็นอย่างดี
นั่นจึงทำให้ทางประเทศตุรกีที่เชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณเมื่อทราบเรื่องได้ดำเนินการยืมคัมภีร์ไปซ่อมเป็นจำนวน 6 เล่ม(ไม่รู้ทราบได้อย่างไร เพราะผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ดูแลด้านวัฒนธรรมหลายๆคนในบ้านเรายังไม่ทราบเลย) ก่อนที่กรมศิลปากรจะเดินทางไปรับคัมภีร์ทั้ง 6 เล่มกลับคืนมาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา(อันนี้มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านว่าตุรกียืมไปซ่อมนานไปหน่อย ไทยจึงต้องไปดำเนินการทวงคืนมา)

หลังจากนั้นกรมศิลป์ก็ได้ทำการต่อยอด เข้ามาขึ้นทะเบียนคัมภีร์และเอกสารโบราณเหล่านี้ พร้อมๆกับเข้ามาช่วยทางโรงเรียนดำเนินการเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการ รวมถึงจัดทำพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นที่เก็บและจัดแสดงคัมภีร์และเอกสารเก่าแก่เหล่านี้
ส่วนหนึ่งของคัมภีร์ที่นำมาจัดแสงดก่อนจะทยอยส่งให้กรมศิลป์ซ่อมแซมเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในอนาคต
พรทิพย์ พันธุโกวิท หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 3 สงขลา(ดูแลพื้นที่ 5 จังหวัด สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) กล่าวว่า การดูแลรักษาและการซ่อมแซมมีทั้งแบบเร่งด่วนและในระยะยาว ซึ่งคัมภีร์และเอกสารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเก่าแก่มาก ชาวชุมชนเก็บรักษากันแบบชาวบ้านเท่าที่จะทำได้ ปริมาณการชำรุดเสียหายจึงมีมากถึง 80%

นอกจากนี้เรื่องของความชื้นก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ โดยนราธิวาสมีความชื้นสัมพัทธ์มากถึง 70-75% เกินกว่ามาตรฐานที่อยู่ใน 60-65 %
การเก็บรักษาคัมภีร์เบื้องต้น ห่อและเก็บในกล่องพิเศษ
ขณะที่เรื่องระยะทางที่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่สะดวกต่อการสั่งวัสดุมาซ่อมแซม เก็บรักษา ดูแลรักษา ก็ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งในการรักษาสมบัติชาติเก่าแก่เหล่านี้ โดยล่าสุดมีการสั่งกล่องเก็บรักษาคัมภีร์ที่ดูเผินๆภายนอกเหมือนกล่องทั่วไป แต่นี่เป็นกล่องพิเศษกันความชื้น ไร้กรด ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้กรดจากกระดาษกล่องไปทำปฏิกิริยากับคัมภีร์

ในส่วนของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์นั้น พรทิพย์ บอกว่า จะดำเนินสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์กันที่โรงเรียนสมานมิตรฯแห่งนี้ โดยจะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์แบบที่ชาวชุมชนมีส่วนร่วม ก่อนจะตกผลึกลงมือก่อสร้างจริงในขั้นสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการให้สร้างแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี
อีกหนึ่งงานศิลปะที่ปรากฏในเอกสารโบราณ
ด้าน นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สร้างพิพิธภัณฑ์ ได้ให้ข้อมูลกับผมว่า ถ้าพิพิธภัณฑ์สร้างแล้วเสร็จ คัมภีร์และเอกสารโบราณเหล่านี้จะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่สนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ผู้ว่าฯนราฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คัมภีร์อัล-กุรอานและเอกสารโบราณทรงคุณค่าเหล่านี้ จะเป็นสิ่งช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม อันสามารถนำไปเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในนราธิวาส ทั้งทะเล ป่าเขา ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน อาหารการกิน
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองนราฯ เพื่อให้ 2 วัฒนธรรมคือ พุทธ กับมุสลิม(อิสลาม) เรียนรู้ร่วมกัน เข้าใจกัน เพื่อเดินหน้าสู่สันติภาพในอนาคต” ผู้ว่าฯนราฯกล่าว

และนี่ก็คือแง่งามของเมืองนราฯที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ซึ่งสำหรับคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณและเอกสารโบราณเก่าแก่เหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งอันทรงคุณค่ายิ่งแล้ว ยังถือเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามจากทั่วโลก
เอกสารโบราณที่มีทั้งตักอักษรและภาพวาด
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาได้เคยมีชาวต่างชาติมาเสนอขอซื้อคัมภีร์หลายๆเล่มจาก อ.ลุตฟี โดยบ้างก็ต้องการนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ บ้างเพื่อนำไปบูชา บ้างก็เพื่อนำไปสมบัติส่วนตัวอันเนื่องมาจากความนับถือศรัทธา แต่ อ.ลุตฟี ไม่ยอมขาย ซึ่งอาจารย์ได้ให้เหตุผลกับผมว่า

“ต้องการที่จะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นมรดกของชาติ”
ห้องจัดแสดงคัมภีร์เอกสารโบราณในปัจจุบัน ที่“โรงเรียนสมานมิตรวิทยา”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น