ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ขุมทองเมืองลุง : ประวัติศาสตร์และคุณค่า” เชิญนักวิชาการท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมค้นหาที่มาที่ไปของทองคำซึ่งชาวบ้านขุดพบใน จ.พัทลุง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังไร้ข้อสรุป เชื่ออาจเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นทองคำที่ใช้บูรณะพระบรมธาตุเมืองคอน
วานนี้ (4 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมคอนเฟอเรนซ์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ขุมทองเมืองลุง : ประวัติศาสตร์และคุณค่า” โดยเชิญนักวิชาการและนักวิจัยอิสระมาร่วมวิเคราะห์หาที่มาที่ไปของทองคำซึ่งถูกชาวบ้านขุดพบในพื้นที่ ม.7 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ศรีสุพร ปิยรัตนวงศ์ หัวหน้าภาควิชาสารัตถศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเป็นได้ที่ทองคำที่ขุดพบจะเกี่ยวข้องกับการบูรณะพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นสมัยใด เนื่องจากเมื่อมีการบูรณะพระบรมธาตุจะมีชาวบ้านในคาบสมุทรมลายูบริจาคข้าวของเงินทองร่วมบูรณะพระบรมธาตุเป็นจำนวนมาก
“นอกจากนี้ พบว่าในอดีตเส้นทางผ่านพื้นที่ จ.พัทลุง เมื่อหลายพันปีก่อนเคยเป็นเส้นทางการค้าโบราณ ในขณะที่ อ.เขาชัยสน จะมีเส้นทางเดินเรือเล็กๆ ที่สามารถเดินเรือออกสู่ทะเลอ่าวไทย และยังมีเส้นทางเชื่อมไปยังปากแม่น้ำตรังทางฝั่งทะเลอันดามันได้ การนำทองคำไปบูรณะพระบรมธาตุในสมัยโบราณจึงน่าจะใช้เส้นทางสายนี้” ผศ.ดร.ศรีสุพร กล่าว
ขณะที่ นายพิชัย ศรีใส นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาความเป็นมาของทองคำในยุคสมัยต่างๆ กล่าวว่า มีตำนานพื้นบ้านที่บอกว่า การนำทองคำมาบูรณะพระบรมธาตุ คณะเดินทางอาจเดินทางเข้าร่องน้ำผิด เนื่องจากคิดว่าถึงปากน้ำเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช แล้ว แต่กลับพบว่าเป็นเส้นทางเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา เมื่อหลงทางจึงมีการฝังทองคำไว้ในที่ต่างๆ เช่น ที่โคกนกคุ่ม ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือที่บริเวณหัวนายแรง ริมชายฝั่งบ้านเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา ก็มีตำนานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นกัน
ด้านนายวีระพงศ์ ยศบุญเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการพิจารณาแผนที่โบราณ พบว่า ในช่วงรัชกาลที่ 1- 3 เริ่มมีการระบุเส้นการเดินทางทางบกบันทึกไว้ในแผนที่แล้ว แม้ว่าในยุคสมัยนั้นการเดินทางที่เป็นที่นิยมมักจะใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก โดยพบว่า ในแผนที่โบราณมีการระบุจุดที่เป็นเหมืองทองคำไม่ต่ำกว่า 4-5 แหล่งในภาคใต้ แสดงให้เห็นว่า บริเวณภาคใต้ของไทยเชื่อมไปจนถึงมาเลเซีย เป็นแหล่งที่มีทองคำอยู่จำนวนมากมาย แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า การนำทองคำไปร่วมบูรณะพระบรมธาตุใช้เส้นทางใดเป็นหลัก และมีเส้นทางผ่านบริเวณที่ขุดพบทองหรือไม่
ส่วนนายพิชัย เบญจรัตนภาคี เลขานุการประธานชมรมร้านทองหาดใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งสมาชิกชมรมร้านทองใน อ.หาดใหญ่ ให้ชะลอการรับซื้อทองคำที่ชาวบ้านขุดพบ และมองว่ามูลค่าของทองคำทั้งหมดสูงกว่าทองคำปัจจุบันแน่นอน เนื่องจากมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ด้วย และมองว่าทองคำดังกล่าวมีความบริสุทธิ์มากกว่าทองคำในสมัยปัจจุบัน
ขณะที่ นายนิพันธ์ เมืองสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาชัยสน จ.พัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบบุคคลในภาพถ่ายตามสื่อต่างๆ เพื่อเรียกตัวมาทำการสอบสวน และติดตามาทองคำที่ขุดพบกลับคืนมาเป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป