xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์รับมอบทองคำแผ่นจากเจ้าของที่ดินเขาชัยสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าของที่ดินเขาชัยสนส่งคืนทองคำแผ่นให้กรมศิลป์ศึกษาที่มา คาด 7 วันรู้ผล วอนชาวบ้านคืนทองสมบัติชาติ ขู่ผู้ครอบครองต้องส่งมอบภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดใช้กฎหมายนำตัวมาดำเนินคดี

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ว่าการ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง นายอนันต์ ชูโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รักษาการรองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วย นายธาราพงษ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต รมว.วธ. ร่วมประชุมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อ.เขาชัยสน กว่า 100 คน ชี้แจงถึงกรณีการขุดพบทองคำโบราณในพื้นที่ อ.เขาชัยสน เพื่อให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นตัวกลางทำความเข้าใจ และไม่ให้ชาวบ้านขุดทองคำในพื้นที่ดังกล่าวอีก พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ที่ครอบครองนำทองคำที่ขุดพบมาส่งคืนให้กับกรมศิลปากร เพื่อนำไปศึกษาและรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ถึงที่มาของทองคำดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการชี้แจงแล้วเสร็จ คณะผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และคณะกรมศิลปากร ได้เดินทางไปยังบ้านของ นายวิ ทับแสง เจ้าของที่ดินที่ขุดพบทองคำโบราณ โดยใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 30 นาที ในที่สุด นายวิ ก็ยอมมอบแผ่นทองคำโบราณน้ำหนักประมาณ 2 บาท ในสภาพสมบูรณ์แบบ ส่งคืนให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาและประเมินค่า

นายวินัย กล่าวว่า ในส่วนของ จ.พัทลุง จะช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านที่ขุดพบทองแล้วนำไปครอบครองไว้นำกลับมาส่งคืนให้กรมศิลปากร ซึ่งวันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ นายวิ เจ้าของที่ดินได้ส่งคืนเป็นคนแรก หลังจากนี้ ก็เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะต้องไปศึกษาและหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ต่อไป

นายอนันต์ กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบทองแล้ว ก็จะมอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช จัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อสั่งการให้นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์นำไปตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดของแผ่นทอง ซึ่งคาดว่าภายใน 7 วัน น่าจะมีคำตอบและได้รับความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนที่จะตรงตามคำสันนิษฐานว่าเป็นทองคำที่นำไปหุ้มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช หรือไม่นั้น คงต้องมีการเก็บข้อมูลหลายๆ ด้านก่อน รวมทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทองในยุคสมัยใด ทั้งนี้ อยากขอร้องให้ประชาชนที่นำทองไปให้รีบนำทองกลับมาคืน ซึ่งในเบื้องต้น กำหนดระยะเวลาไว้ภายใน 15 วัน ประชาชนที่ครอบครองทองคำจะต้องนำทองมาส่งมอบคืน หลังจากส่งมอบคืนแล้ว กรมศิลปากรจะมีการประเมินค่าราคาทอง และจ่ายค่าตอบแทน 1 ใน 3 ของมูลค่าทั้งหมด

นายอนันต์ กล่าวว่า ถ้าหากเกิน 15 วัน จะประสานไปยังจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้านำมาคืนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกรมศิลปากร ก็ถือว่าไม่มีความผิด ที่สำคัญยังเป็นการส่งคืนข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ สำหรับการส่งคืนนั้น ชาวบ้านสามารถส่งคืนผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำหรับการขุดค้นในพื้นที่นั้น ขณะนี้ กรมศิลปากรได้จัดทำผังการขุดค้นในเบื้องต้น และจะมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อเปิดหน้าดินและขุดค้นตามหลักวิชาการ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นเวลาราว 2-3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูล โดยขนาดความลึกของการขุดค้นประมาณ 3-5 เมตร ซึ่งการขุดค้นจะเป็นการขุดตามหลักวิชาการ อาจจะมีการพบโบราณวัตถุเพิ่มเติมอีกก็เป็นได้

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น