นครศรีธรรมราช - อธิบดีกรมศิลปากรเชื่อว่าทองคำที่ขุดพบในจังหวัดพัทลุง อาจมีความเชื่อมโยงกับพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เตรียมมอบให้สำนักศิลปากรที่ 14 ขุดค้นทางโบราณคดีเต็มรูปแบบ ขณะที่นักประวัติศาสตร์เตือน ของโบราณหากนำไปในทางไม่ดีอาจเกิดภัยแก่ตัวเอง
วันนี้ (29 พ.ค.) นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังจากการลงพื้นที่แหล่งโบราณคดี ที่มีการขุดพบทองคำจำนวนมากในอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ว่า แถบใกล้เคียงมีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเพียงแห่งเดียว ที่มีระยะทางจากแหล่งที่พบมาถึง ซึ่งพบว่ามีแม่น้ำที่สามารถลัดเลาะมายังนครศรีธรรมราชได้ ลักษณะของแผ่นทองคำนั้นได้ผ่านกระบวนการของช่างทองมาแล้ว มีการรีดเป็นแผ่นสามารถพกพาเดินทางได้ง่าย โดยขณะนี้ได้มอบให้สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อพิสูจน์ทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการฝังเป็นการเจตนา หรือด้วยเหตุอย่างอื่น
นายอเนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ยังกล่าวต่อว่า อยากให้ประชาชนที่พบทองคำเหล่านี้ โดยเฉพาะทองคำที่มีลวดลายจารึกอักษร หรือรูปแบบศิลปะต่างๆ เหล่านี้สามารถศึกษาได้ และเป็นมรดกต่อไปให้ลูกหลาน โดยนำมามอบให้แก่กรมศิลปากร ซึ่งทางกรมศิลปากร จะมีค่าตอบแทนให้ตามมูลค่าจริง และมีค่าตอบแทนในส่วนของการทรงคุณค่าเพิ่มเข้าไปอีก เป็นมูลค่าที่สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งน่าเสียดายหากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจะถูกหลอมไปเพียงเพื่อประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราว ได้เงินมาแล้วก็หมดไป
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมศิลปากร ยังระบุด้วยว่า ทองคำที่พบน่าเชื่อว่าจะเป็นทองคำของเจ้านายในระดับเจ้าเมือง หรือขุนนางชั้นสูง หรือคหบดี เนื่องจากดูปริมาณแล้วพบเป็นจำนวนมาก และขณะนี้ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอให้ประกาศให้พื้นที่แหล่งโบราณคดีจุดนี้ เป็นพื้นที่ควบคุมห้ามประชาชนเข้ามาขุดค้น ขณะเดียวกัน จะประสานไปยังกองทัพภาคที่ 4 ในการเข้าจัดระเบียบพื้นที่เพื่อให้กรมศิลปากรเข้าดำเนินการ
ขณะที่ นายอาณัฐ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช แสดงความกังวลว่า มีเจ้าหน้าที่รายงานว่า ได้มีบางกลุ่มเริ่มนำเอาเครื่องสแกนโลหะเข้ามาในพื้นที่ เพื่อทำการค้นหาทองคำแล้ว โดยขณะนี้กำลังเร่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าป้องกันพื้นที่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าแหล่งโบราณคดีที่สำคัญนี้จะเสียหายมากไปกว่านี้
ขณะที่ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ทองคำที่พบนั้นเป็นแผ่นที่ถูกรีดจนบางเช่นเดียวกับทองคำที่อยู่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โดยเป็นไปได้ว่า ผู้ที่นำมานั้นอาจนำมาเพื่อมาก่อสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ หรืออาจเป็นทองคำที่เหลือจากการหุ้มปลียอดแล้ว เนื่องจากมีลักษณะเดียวกัน และถูกนำไปยังสถานที่สำคัญอื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่าง แต่อาจเกิดเหตุบางอย่างจึงไม่สามารถเดินทางไปถึงได้
“ขอเตือนว่าทองคำเหล่านี้หากคนโบราณนำมาเพื่อบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้วนั้น ย่อมหมายความว่า เป็นความตั้งใจที่สูงมาก คนโบราณจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงอยู่ในศีลในธรรม จะมีอานิสงส์แรงกล้า ของทุกชิ้นก่อนบูชาจะยกทูนขึ้นเหนือศีรษะถือเป็นของสูงมีการกล่าวภาวนาถวายเป็นเครื่องบูชา ดังนั้น อานิงสงส์เหล่านั้นยังคงอยู่ เมื่อไปได้มาแล้วนำเอามาทำในทางไม่ถูกไม่ควร จะยิ่งสร้างความเสื่อมให้แก่ตนเอง และครอบครัว หลายตัวอย่างได้เกิดขึ้นโดยเฉพาะของโบราณ
เช่น ทองคำ ตัวอย่างที่อยุธยาร้านค้าทองที่รับซื้อทองโบราณที่ถูกโจรกรรมมาจากโบราณสถาน มีอันเป็นไปต้องตายยกครอบครัว ด้วยการฆ่าตัวตายพร้อมกัน หรือที่นครศรีธรรมราช ร้านทองที่รับซื้อทองที่ถูกโจรกรรมมาจากการลอกเอาแผ่นทองคำจากพระทองคำบนหอพระสิหิงส์ ถูกไฟไหม้จนหมดเนื้อหมดตัว เจ้าตัวเองนอนเป็นอัมพาตท่อนล่างเป็นแผลเปื่อยยุ่ยจนตาย เป็นต้น ของที่มีคุณค่าควรคู่แผ่นดินย่อมที่จะควรคู่แผ่นดินคนที่มีบารมีไม่ถึงไม่สามารถครอบครองได้” นักประวัติศาสตร์รายนี้กล่าว