xs
xsm
sm
md
lg

กระทิงตายจำนวนมากที่กุยบุรี ปริศนารอวันเปิดเผย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
เมื่อปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับทรัพยากรทางธรรมชาติกรณีกระทิงป่าตายในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งสาเหตุที่เป็นข่าวครึกโครมนั้นก็เนื่องมาจากกระทิงป่าล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยเริ่มพบว่ามีกระทิงป่าตายตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556 แรกเริ่มนั้นสันนิษฐานว่ากระทิงอาจถูกเสือไล่ล่าตามธรรมชาติ แต่จากนั้นก็เริ่มพบความผิดปกติมากขึ้น เมื่อเริ่มสำรวจพบว่ามีจำนวนกระทิงตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทหาร และองค์กรภาคประชาชน ร่วมมือกันเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อุทยาน จนพบว่ามีกระทิงตายทั้งหมด 20 ตัว (ซากกระทิงตัวที่ 20 พบเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 57)

ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่า กระทิงที่ตายนั้นไม่ได้ตายจากสาเหตุทางธรรมชาติ แต่มีความผิดปกติหลายอย่าง ตั้งแต่สภาพการตายของกระทิงที่เชื่อกันว่ามาจากการถูกสารพิษ แต่คนที่ทำนั้นไม่ได้เป็นชาวบ้านในพื้นที่กุยบุรีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีข่าวการขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ป่ากุยบุรี ซึ่งมีผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

หลังจากมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนในกรณีนี้แล้ว ก็มีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุการตายของกระทิงป่ากุยบุรี ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนตัวหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่จะต้องเข้ามาดูแลพื้นที่อุทยาน รวมถึงพื้นที่ในโครงการกุญชร ที่ในอนาคตจะผนวกรวมให้เป็นกลุ่มป่ามรดกโลกร่วมกับอุทยานแห่งชาติแห่งกระจาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการปรับรูปแบบการบริหารอุทยานระบบใหม่ โดยเมื่อกลายเป็นกลุ่มป่ามรดกโลกแล้ว ก็จะมีผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จากที่ปัจจุบันนี้ พื้นที่ป่ากุยบุรีถูกพัฒนาให้เป็นซาฟารีแห่งหนึ่งของเมืองไทย จากความร่วมมือของอำเภอกุยบุรี ชุมชน และชมรมอนุรักษ์กระทิง ที่เข้าไปร่วมจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

สาเหตุที่มีการสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ ก็เนื่องจากจุดที่พบซากกระทิงตายนั้น อยู่ในเขตพื้นที่โครงการกุญชร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะผนวกรวมให้เป็นกลุ่มป่ามรดกโลก เป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือนักท่องเที่ยวเข้าไป และยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากชุมชนมาก
กระทิงออกหากินฝูงใหญ่
สำหรับการตรวจสอบทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีการเก็บชิ้นเนื้อ ดิน น้ำ และส่วนต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุการตายของกระทิงไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ซึ่งล่าสุดนี้มีผลการตรวจออกมาแล้วบางส่วน แต่คาดว่าผลการตรวจสอบจะออกมาครบทั้งหมดในราวปลายเดือน ม.ค. 57 นี้ จึงต้องมีการปิดอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้สะดวก โดยจะทำการปิดอุทยานไปจนกว่าจะได้ผลทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วน สามารถคลี่คลายประเด็นการตายของกระทิงป่ากุยบุรีทั้ง 20 ตัวได้

แม้ว่ายังต้องรอผลของการตรวจสอบสาเหตุการตายของกระทิง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการตายโดยธรรมชาติ หรือน้ำมือของมนุษย์ที่ตักตวงเอาผลประโยชน์ให้กับตัวเองโดยไม่ได้สนใจชีวิตของสัตว์ร่วมโลกเลยก็ตาม แต่ตอนนี้ เราก็ได้สูญเสียกระทิงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยไปแล้วเป็นจำนวนถึง 20 ตัว นับเป็นจำนวนมากทีเดียวเมื่อเทียบกับจำนวนกระทิงที่มีอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีจำนวน 80 กว่าตัว (ข้อมูลเมื่อปี 2556)

ภาพของกระทิงที่เป็นสัตว์หายากแล้วในปัจจุบันอาจจะต้องหายไป และในอนาคตอันใกล้ ลูกหลานของเราอาจจะต้องทำความรู้จักกระทิงจากภาพในอินเทอร์เน็ต โดยไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ หากว่าเราไม่ช่วยกันดูแลและคุ้มครองกระทิงจากเงื้อมมือของมนุษย์โลภ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น