ฉันว่าช่วงนี้ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร อากาศเย็นสบายดีเป็นพิเศษมากกว่าในหลายๆ ปีที่ผ่านมา อากาศดีก็ทำให้อารมณ์ดี จะให้นั่งจับเจ่าอยู่บ้านก็กระไรอยู่ ว่าแล้วก็จัดแจงแต่งตัว ออกไปเที่ยวสนุกๆ แถมหาความรู้ไปในตัวกันดีกว่า
วันหยุดนี้ฉันก็เลยพาตัวเองมาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเสียเลย แต่ไม่ต้องตกใจว่าป่วยเป็นอะไร เพราะฉันจะมาเดินเที่ยวที่โรงพยาบาลแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งอย่างที่เคยรู้กันว่าภายในโรงพยาบาลศิริราชนี้ก็มีพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์เปิดให้ผู้คนเข้าไปหาความรู้อยู่หลายแห่ง และล่าสุดนี้ก็ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” แบบนี้ฉันก็ต้องไม่พลาดที่จะเข้าไปเยี่ยมชมเสียหน่อย
“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” สร้างขึ้นบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เดิมเคยเป็นที่ตั้งพระราชวังหลัง ต่อมามีการสร้างสถานีรถไฟธนบุรีและโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย โรงพยาบาลศิริราชจึงได้รวบรวมประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้เพื่อนำมาจัดแสดงในอาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ที่เป็นอาคารอนุรักษ์ และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม
ฉันเดินมาถึงพิพิธภัณฑ์ก็ต้องยืนชื่นชมความสวยงามของอาคารอนุรักษ์ที่เป็นสีเหลืองอ่อนๆ สลับกับอิฐสีส้มแดง และด้านข้างยังมีหอนาฬิกาสูง ดูแล้วเป็นอาคารที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งใน กทม. เลยทีเดียว
พอเดินเข้ามาด้านในก็จะเจอกับห้องจำหน่ายบัตร ที่ตกแต่งบริเวณโดยรอบให้เหมือนกับสถานีรถไฟในสมัยก่อน ซึ่งก็เพื่อให้รำลึกถึงว่าสถานที่แห่งนี้คือสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายใต้
ซื้อตั๋วเข้าชมกันแล้ว เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ก็พาฉันเข้ามาสู่การจัดแสดงห้องแรกที่มีชื่อว่า “ห้องศิริสารประพาส” ที่ห้องนี้จะนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์โดยรวมผ่านวิดีทัศน์และสิ่งจัดแสดงต่างๆ ส่วนฉันก็นั่งดูอยู่ที่เก้าอี้ไม้สักทองแบบที่นักศึกษาแพทย์หลายรุ่นเคยใช้มาก่อน
ส่วนจุดเริ่มต้นในการเดินชมพิพิธภัณฑ์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ “ห้องศิริราชขัตติยพิมาน” ซึ่งเป็นห้องฉันได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราช และการแพทย์ของประเทศไทย ทำให้พวกเราได้มีสุขภาพที่ดีกันเหมือนในทุกวันนี้
ถัดมาเป็น “ห้องสถานพิมุขมงคลเขต” ที่ฉันได้นั่งชมจิตรกรรมไทยที่สวยงาม บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่ผสมผสานแสงสีเสียงให้ได้ตื่นตาตื่นใจ และได้รับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย
สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถึงแม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาล ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์เท่านั้น ยังมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และเรื่องราวของชุมชนในละแวกนี้ ที่นำเสนอผ่านการจัดแสดงในส่วนต่างๆ เริ่มจาก “ฐานป้อม” ที่เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงอดีตของพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ที่เคยตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ ก่อนที่จะผ่านความทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ใกล้ๆ กันก็มีการจัดแสดง “เครื่องถ้วยโบราณ” ที่ขุดค้นพบในช่วงที่มีการก่อสร้างอาคารสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช
หรือจะเป็น “แผนที่เมืองธนบุรี” ซึ่งเป็นแผนที่จำลองมาจากของเก่าที่เขียนโดยชาวพม่าที่ลักลอบเข้ามาสืบความลับในสยาม มีการลงรายละเอียดของสถานที่ต่างๆ และยังมีการเปรียบเทียบกับสถานที่ในปัจจุบัน ทำให้พอนึกออกว่าสมัยธนบุรีนั้นบ้านเมืองเราเป็นอย่างไรบ้าง
และห้องที่ฉันชอบที่สุดในส่วนของประวัติศาสตร์ก็คือ “ห้องโบราณราชศัตรา” ที่ห้องนี้จะจัดแสดงศาสตราวุธหลากหลายชนิดและหลากหลายชาติพันธุ์ที่ทรงคุณค่า เพราะว่าเป็นของเก่าที่ได้รับมอบมาจากราชสกุลเสนีวงศ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ข้างๆ ตู้จัดแสดงก็ยังมีวีดิทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำความสะอาดและการเก็บรักษาศาสตราวุธต่างๆ ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยในการรักษาของเก่าให้อยู่ในสภาพดีขนาดนี้ และแม้ว่าห้องนี้จะถ่ายรูปไม่ได้ แต่ฉันก็ได้เก็บเอาภาพความวิจิตรงดงามของศาสตราวุธทั้งหลายเอาไว้ในใจ
ห้องถัดไปเป็นห้องสุดท้ายของบริเวณชั้นล่าง ในอาคารพิพิธภัณฑ์ 1 นั่นก็คือ “ห้องคมนาคมบรรหาร” ที่มีภาพยนตร์สี่มิติให้ได้ชมกัน ฉันลองไปยืนในห้องแล้วก็ใส่แว่นตาสี่มิติพร้อมๆ กับชมภาพยนตร์ไป ก็รู้สึกเหมือนเข้าไปยืนอยู่ในเหตุการณ์จริงตั้งแต่ช่วงการสร้างสถานีแห่งนี้ เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องเอี้ยวตัวหลบลูกระเบิดไปด้วย จนกระทั่งมาถึงช่วงปัจจุบันของสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม)
ขึ้นมาที่ชั้นสอง ก็เริ่มเข้าสู่เนื้อหาทางด้านการแพทย์กันบ้าง อย่างห้องแรก “งานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์” ที่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากไม้ อาคารประกอบ และเครื่องเรือนจากงานพระเมรุครั้งนี้ ได้นำมาสร้าง “โรงศิริราชพยาบาล” โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดิน
ห้องต่อมาเล่าเรื่องราวของโรงเรียนแพทย์ในยุคแรก ที่จะต้องเรียนรู้ผ่าน “หุ่นกายวิภาคมนุษย์” ที่ทำมาจากเยื่อกระดาษ และยังเล่าเรื่องราวของพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย ในห้อง “สมเด็จพระบรมราชชนก”
ถัดมา ฉันก็ได้เรียนรู้เรื่องราวทางด้านการแพทย์มากขึ้น ทั้งการตรวจโรคในเบื้องต้น การสืบค้น การวินิจฉัยและรักษาโรค ในห้อง “หุ่นโรควิเคราะห์” ที่จัดแสดงให้เหมือนกับห้องตรวจโรคผู้ป่วย และได้ลองเป็นคุณหมอฟังเสียงปอด เสียงหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะต่างๆ เพื่อการวิเคราะห์โรค
แต่ส่วนที่สำคัญของการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องรู้จักดี ก็คือ “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละร่างกายของตนเองให้ทำการศึกษา เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพในอนาคต การจัดแสดงในส่วนนี้ใช้โต๊ะปฏิบัติการที่เคยรองรับอาจารย์ใหญ่มารุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงความขลังผ่านการจัดแสดงและการจัดแสงในส่วนนี้
มาถึงอีกห้องที่ฉันชอบมากก็คือ “ห้องจำลองการผ่าตัด” เป็นการจำลองการผ่าตัดแบบย้อนยุค ให้ได้รู้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากรที่ทำงานในห้องผ่าตัดมีใครบ้าง แล้วฉันก็ได้ลองมาเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่ง ลองจับเครื่องมือผ่าตัดให้คนไข้ (จำลอง) เป็นประสบการณ์สนุกๆ อีกอย่างหนึ่งที่ฉันได้ลอง
นอกจากเรื่องราวของแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยอีกด้วย โดยในห้อง “มหัศจรรย์ร่างกายมนุษย์” จะมาไขรหัสการแพทย์จากมุมมองของแพทย์แผนตะวันตกและแพทย์แผนที่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และยังมีการจำลอง “ร้านโอสถวัฒนา” ร้านยาสมุนไพรไทยมาให้ได้ชมกัน
เดินมาก็ตั้งนาน เพิ่งจะหมดบริเวณของอาคาร 1 ออกมาที่ระเบียงชั้น 2 ที่เชื่อมต่อกับอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ก็มีมุมร้านกาแฟให้นั่งพักผ่อนก่อนจะเดินต่อไปยังอาคาร 3 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับชุมชนบางกอกน้อย
เริ่มจากการมาสักการะ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม พระมหาเถระที่ได้รับการเคารพศรัทธาตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป แล้วก็มาลองชม “วิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย” ที่มีการจำลองโรงละคร ร้านค้า ร้านอาหาร แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในสมัยก่อนว่าเป็นอยู่กันอย่างไร
สุดท้ายก็เดินมาชม “เรือโบราณ” ที่ขุดค้นพบในพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งเรือลำนี้เป็นเรือไม้โบราณขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 24 เมตร และถือว่าเป็นเรือไม้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเท่าที่เคยขุดค้นได้ เดินดูรอบๆ แล้วก็ต้องทึ่งในความสามารถของคนไทยเราที่สามารถต่อเรือลำใหญ่ได้ขนาดนี้
กว่าจะเดินชมจนครบทุกห้องที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบหมดวันเลยทีเดียว แต่ก็ได้ความรู้พร้อมๆ กับความสนุกสนาน ที่ทำให้เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปเลย สถานที่ดีๆ แบบนี้ มาแล้วก็ต้องบอกต่อให้คนอื่นลองมาชมด้วย จะได้มีความรู้และสนุกสนานเหมือนกันฉัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. เปิดให้บริการวันจันทร์, พุธ-อาทิตย์ (หยุดวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00-17.00 น. ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก (ไม่เกิน 18 ปี) 25 บาท ต่างชาติ 200 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม. เข้าฟรี
นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานแล้ว ภายในโรงพยาบาลศิริราชยังมีพิพิธภัณฑ์การแพทย์อีก 5 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในวันและเวลาเดียวกัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา, พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน และ พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร
ซึ่งหากสนใจเข้าชมทั้งพิพิธภัณฑ์ศิริรราชพิมุขสถาน และพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช สามารถซื้อบัตรเดียวเที่ยว 2 พิพิธภัณฑ์ได้ในราคาพิเศษ ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก (ไม่เกิน 18 ปี) 50 บาท ต่างชาติ 300 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม.
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2419-2601, 0-2419-2618-9
www.si.mahidol.ac.th/museums
FB : siriraj.museum
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com