xs
xsm
sm
md
lg

ถึง รมว.ชัชชาติ จากใจผู้ใช้รถเมล์

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับคุณ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ที่ยังคงรั้งเก้าอี้บ้านเอเอฟ เอ๊ย! รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ต่อไปหลังมีการปรับครม.ยิ่งลักษณ์ ๑/๕ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ถือว่ายังมีเวลาให้ท่านเสนาบดีชัชชาติ ได้ทำงานกันไปอีกพักใหญ่ ....

จริงๆ อย่างที่ผมเคยบอกกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้อยากเขียนเรื่องการเมืองอะไรนักเลย แต่อย่างว่าล่ะครับ สุดท้ายชีวิตของเราทุกคน (อาจจะไม่ทุกคน) ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมาเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองเข้าจนได้ ส่วนตัวแล้วไม่ได้รู้จักกับคุณชัชชาติ และก็แอบไม่ปลื้มกับ กรณีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เฉพาะในส่วนที่ให้ไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่ว่าผมไม่อยากให้มีรถไฟชินคันเซ็นนะ แต่ผมกังวลและไม่มั่นใจในการบริหารจัดการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสักเท่าไหร่ ....

.... นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราจะคุยกันในงวดนี้ครับ

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (๒๕ มิ.ย.๕๖) ก็มีข่าว คุณชัชชาติ แกไปลงนามในหนังสือขอความร่วมมือให้ข้าราชการและพนักงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับ ๙ ขึ้นไปในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีสถานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ให้ใช้บริการรถ ขสมก. หรือรถร่วมบริการเดินทางไปทำงานและกลับอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ วัน พร้อมทำรายงานเสนอหัวหน้าส่วนงานเพื่อรวบรวมรายงานเสนอกระทรวงพิจารณาในระยะเวลา ๒ เดือน เริ่มตั้งแต่ วันที่ ๑ ก.ค.- ๓๐ ส.ค. เพื่อให้มีความ "เข้าใจถึงปัญหาการจราจรและปัญหาการให้บริการของ ขสมก." ตามที่มีประชาชนท้วงติงปัญหา โดยเฉพาะรถเมล์ซึ่งมีผู้ใช้บริการวันละ ๓ ล้านคน ตอนนี้มีปัญหารถขาดระยะรอนานมาก ซึ่งคุณชัชชาติ แกบอกว่า การจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ผู้ที่แก้ปัญหาไม่เคยนั่งรถเมล์ไม่เคยใช้บริการเลยคงไม่เข้าใจแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

ผมเห็นข่าวแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย ... นี่มันคือนวัตกรรมทางการเมืองชัดๆ ที่ให้คนที่มีอำนาจในการแก้ลองไปพบและรู้จักกับปัญหาเสียก่อน แล้วก็จะเห็นว่า อะไรคือปัญหา จึงมาแก้ไขได้ เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในบ้านเราสักเท่าไหร่นัก จึงถือว่าเป็น "นิมิตหมายอันดี"
ภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นั่งรอรถเมล์
ถัดมาอีก ๒ วัน ก็มีรายงานว่า คุณจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น บังเอิญลงรถเมล์แล้วพบกับท่านเสนาบดีชัชชาติ แกนั่งรอรถเมล์อยู่ที่ป้ายหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของตัวเองแกบอกว่า เพื่ออยากจะรับรู้ปัญหาของชาวบ้านจริงๆว่าระบบขนส่งของ ขสมก. มีปัญหายังไง จะได้รู้ว่าถ้าซื้อรถเมล์มาแล้วจะให้บริการประชาชนยังไงให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งตอนนี้ผมมีรถประจำตำแหน่งจึงไม่รู้ว่าปัญหาจริงๆเป็นอย่างไร

"ตอนนี้รอสาย ๕๐๙ อยู่ เพื่อนั่งไปลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วก็จะต่ออีกสายไปถึงสนามบินดอนเมืองเพื่อไปขึ้นเครื่องบินไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างจังหวัด แต่ปรากฏว่านั่งรอมานานกว่า ๒๐ นาทีแล้ว รถก็ยังไม่มาซึ่งไม่รู้ว่าปล่อยรถกันอย่างไร เพราะดูจากชาวบ้านที่มารอก่อนก็ยังไม่มีใครได้ขึ้นรถเลย" ดูเหมือนคุณชัชชาติ เริ่มจะได้รู้ปัญหา เหมือนชาวบางกอกกันบ้างแล้ว

นักข่าวคนดังกล่าวยังรายงานด้วยว่า ระหว่างที่คุณชัชชาติ รอรถเมล์อยู่นั้นก็มีรถ ปอ.ขสมก.สาย ๗๐ ที่วิ่งตามกันมา ๒ คันรวด น้าชัชชาติ ถึงกับบ่นว่า สายนี้ปล่อยรถกันอย่างไร ทำไมถึงมา ๒ คันซ้อนได้ แล้วคันหลังที่วิ่งตามมาก็ไม่มีคนขึ้นนะสิ ทั้งนี้ ตนทดลองขึ้นมาหลายวัน พร้อมกับข้าราชการของกระทรวง โชคดีที่ไม่มีคนรู้จัก ก็ดีที่ได้เห็นปัญหาจริง พบว่าปัญหาของรถเมล์คือเรื่องการบริการ ถ้าบริการดีใครก็อยากขึ้น

ผมแอบ "ดีใจเล็กๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีรัฐมนตรีที่ใส่ใจในปัญหาประชาชนบ้าง" แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆ แต่ก็สอดคล้องกับคนหมู่มากที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แห่งนี้ ถ้าจะให้ดี น่าให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ก็ไปแอบชวนคุณชายสุขุมพันธ์ พ่อเมืองกรุงมาลองนั่งแบบมนุษย์ปุถุชนกันดูเขาจะได้เชื่อมการแก้ปัญหาได้เป็นระบบมากขึ้น

ถึงแม้ว่าจนแล้วจนรอด รมต.ชัชชาติ ก็ไม่ได้ต่อรถเมล์ไปยังปลายทางสนามบินดอนเมือง เนื่องจากรถเมล์สาย ๕๐๙ ที่แกจะขึ้นมาช้า เลยทำได้แค่ต่อรถส่วนตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่งั้นมีหวังตกเครื่องบินแน่นอน

เท่าที่อ่านก็คงจะสืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ เมษายน มีมติเห็นชอบ "โครงการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ๓,๑๘๓ คัน" ในวงเงิน ๑๓,๑๖๒.๒๐ ล้านบาท เพื่อให้ ขสมก.จัดหารถใหม่ทดแทนรถที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่คาดว่าจะช่วยให้ขสมก.ประหยัดได้ถึง ๒,๖๑๖ ล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะจัดซื้อแล้วเสร็จภายใน ๑๘ เดือน แบ่งเป็นจัดซื้อรถเมล์ร้อน ๑,๖๕๙ คัน คันละ ๓.๘ ล้านบาท และรถเมล์ปรับอากาศ ๑,๕๒๔ คัน คันละ ๔.๕ ล้านบาท ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย.ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ก็ได้เห็นชอบการแต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างทีโออาร์จัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ" ตามที่นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.เสนอ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง และกำหนดให้ดำเนินการจัดทำร่างทีโออาร์ฯ ให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๒๐ วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ลงนามคำสั่ง

ก่อนหน้าที่รมต.ชัชชาติ จะไปนั่งรถเมล์ชิลๆ นั้น เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย. แกก็นั่งเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้างาน โครงการของหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะการให้บริการรถเมล์ ขสมก. ในส่วนของ “การซ่อมบำรุง” ที่ขณะนี้มีรถจอดเสียอยู่จำนวนมากว่า มีสาเหตุมาจากอะไร โดย ขสมก.รายงานว่ามีรถทั้งหมด ๓,๕๐๐ คัน แต่วิ่งให้บริการได้เพียง ๒,๗๕๐ คัน ที่เหลือเสียต้องจอดอยู่เฉยๆ ทำให้เกิดปัญหารถไม่พอบริการ ประชาชนรอรถนาน ทำไมการซ่อมถึงไม่มีคุณภาพ สัญญาซ่อมบำรุงมีความถูกต้องหรือไม่ถึงได้ใช้เวลาซ่อมนาน

“อย่าคิดว่ารถเมล์ใหม่จะเป็นยาวิเศษที่จะแก้ปัญหา ขสมก.ได้ทั้งหมด เพราะถ้า ขสมก.ไม่ปรับปรุงตัวเอง รถใหม่ก็ไม่ช่วยอะไร” คำประกาศของรมต.ชัชชาติ ในที่ประชุมที่ไม่รู้จะเป็นแค่คำขู่หรือเปล่า

แต่พลันหลังจากท่านชัชชาติ สั่งให้บิ๊กข้าราชการไปทัวร์รถเมล์ ทางด้าน คุณวีระพงศ์ วงแหวน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ก็ออกมาพูดถึง ๓ สาเหตุที่เป็นปัญหาหลักขององค์กร เรื่องแรกก็คือ ปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร จากมติครม.ปี ๓๘ ที่ห้ามรัฐวิสาหกิจรับพนักงานเพิ่ม ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถ เนื่องจากพนักงานทยอยเกษียณทุกปี

โดยปัจจุบันมีพนักงานขับรถอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ คน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนรถที่ออกวิ่งให้บริการได้จำนวน ๒,๘๐๐ คัน เพราะควรมีสัดส่วนอย่างน้อยพนักงาน ๒ คนต่อรถ ๑ คันเพื่อให้สามารถจัดสลับทำหน้าที่ช่วงเช้าและบ่ายได้ แต่ปัจจุบันแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยให้ขับรถช่วงกะเช้าควงกะบ่ายด้วย ทำให้ทั้งพนักงานเหนื่อยและเครียด แทบไม่มีวันหยุดให้ได้หยุดพักเลย

เรื่องที่ ๒ รถเมล์มีอายุการใช้งานมาก เสียในเส้นทางทุกวัน ถ้าเสียตอนเย็นต้องรอถึงเช้าจึงจะมีช่างมาซ่อม และเรื่องสุดท้าย ปัญหาการจราจรติดขัด เมื่อรถติดทำให้รถเมล์ไม่สามารถวิ่งหมุนเวียนให้บริการได้ทัน ดังนั้นรัฐบาลต้องแก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง และควรจัดให้มีช่องทางบัสเลนที่ใช้งานได้จริง โดยห้ามให้รถอื่นเข้ามาวิ่ง เพื่อให้รถเมล์มีเส้นทางวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งทุกวันนี้สหภาพฯ ขสมก.ก็ยอมรับว่าไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากรัฐบาลแก้ปัญหารถติดไม่ได้จะโทษการให้บริการของ ขสมก.เพียงอย่างเดียวก็ดูไม่เป็นธรรม และเป็นการบั่นทอนกำลังใจการทำงานของพนักงานระดับล่าง ส่วนการสั่งให้ข้าราชการระดับซี ๙ ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะได้เห็นปัญหาอย่างแท้จริง

และหลังจากที่ท่านเจ้าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปสัมผัสชีวิตรถเมล์ด้วยตัวเองเพียง ๑ วัน เมื่อ ๒๘ มิ.ย. รมต.ชัชชาติ ก็ได้เรียกประชุมมอบนโยบายต่อผู้บริหาร ขสมก. พร้อมด้วย ผอ.เขตการเดินรถ 8 เขต เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการ โดยได้มอบนโยบายเน้นไปที่การแก้ปัญหารถเมล์ขาดระยะให้เพิ่มปริมาณรถให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงเย็นซึ่งพบว่ามีปัญหามาก แต่สาเหตุที่ทำให้ในช่วงเย็นมีรถน้อย เนื่องจากพนักงานขับรถไม่เพียงพอ ก็จะต้องเจรจาเรื่องการทำงานช่วงเวลากับพนักงานเพื่อให้การเดินรถในระบบทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็นมีปริมาณเท่ากัน และหากจำเป็นต้องรับพนักงานขับรถเพิ่มควรต้องทำ

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการ ๘ เขตการเดินรถสำรวจถนน โดยให้พิจารณาว่าจุดใดมีปัญหาการจราจร และมีสาเหตุจากปัจจัยใดบ้าง เพื่อจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาจราจร โดยให้รายงานปัญหาที่พบต่อกระทรวงคมนาคมในวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหาร กทม. เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาจราจรร่วมกันด้วย

เรื่องหนึ่งที่ผมดูจะรู้สึก "ดีใจเหลือเกิน" นั่นคือ ท่านรมว.ชัชชาติ แกบอกว่า จะหารือกับ กทม.จะเกี่ยวกับ "ป้ายรถเมล์" ต่างๆ ที่ต้องมีการปรับปรุงสภาพ รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น ป้ายบอกสายรถเมล์ที่จะผ่านจุดดังกล่าว และสามารถบอกเวลาของรถเมล์คันต่อไปที่จะเดินทางมาถึง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยนำรายได้จากป้ายโฆษณามาลงทุนดำเนินการ รวมทั้งจะต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาบริหารการเดินรถ ซึ่งได้ขอให้ขสมก.เตรียมสำหรับการจัดซื้อรถใหม่เพื่อให้ติดตั้งระบบจีพีเอสในรถทุกคัน เพื่อช่วยบริหารการปล่อยรถและกำกับรถแต่ละเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ

นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่คุณชายสุขุมพันธุ์ บริพัตร รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหนที่ ๒ ว่ามันควรจะทำ ส่วนรายละเอียดผมคงไม่สาธยายให้เสียพื้นที่ ก็กลับไปอ่านได้ในบทความที่ชื่อว่า "ขอเถอะครับท่านสุขุมพันธุ์ #๑" แล้วกัน

จะว่าไป การที่คุณชัชชาติ ไปนั่งอยู่ป้ายรถเมล์แล้วไม่มีคนรู้จัก ก็ยังไม่แปลกใจเท่าขึ้นรถเมล์แล้วพนักงานขสมก.ซึ่งอยู่ในกระทรวงใต้อาณัติของท่านไม่รู้จัก อันนี้ก็ดูน่าขันเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ขยันเปลี่ยนรมต.ก็เป็นได้ แต่คุณชัชชาติ ก่อนเป็นเสนาบดีว่าการ ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงนี้มาก่อน มันก็น่าจะเคยเห็นหน้าค่าตากันมาบ้างล่ะ .... แต่ในอีกมุมนึงมันก็เป็นผลดี ที่ท่านรมว.ชัชชาติ จะได้สัมผัสการบริการที่แท้จริงของลูกน้องที่มอบให้แก่ประชาชนทั่วไปว่าเขาได้รับกันอย่างไร ก็ได้แต่หวังว่า หลังจากที่มีข่าวออกมาแล้วจะไม่มีใครเอารูปแกไปติดหราบนรถเมล์นะครับ ฮ่าๆๆๆ

พูดถึงปัญหารถเมล์กรุงเทพ เอาจริงๆ นะ ในส่วนของการบริการโดยรวมของ "ขสมก." ผมกลับไม่ค่อยเจอปัญหาสักเท่าไหร่ ทั้งในเรื่องมารยาท ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมากราบงามๆ แต่ขอให้บอกป้ายรถเมล์ต่อไปที่จะถึง ตรงนี้หลายๆ สายก็ทำได้ดี การพูดจาเก็บสตางค์ผู้โดยสาร ก็ปกติปุถุชนทั่วไป การขับที่เร็วแต่ปลอดภัย ไม่ค่อยจอดแช่ จอดตรงป้ายมาก (ไม่ได้ประชดนะ แต่ความผิดมันอยู่ที่คนขึ้นที่ไปรอนอกป้ายเพราะรถร่วมฯ มักจอดไม่ตรงนั่นเอง) รถ ปอ.บางคันมีหนังสือให้อ่านด้วย แต่ก่อนนั้นเป็นหนังสือดาราซึ่งด้านหลังมีโฆษณาให้ดาวน์โหลดคลิปวาบหวิวสยิวกิ้วกันโจ่งครึ่ม มาตอนนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธแทน ทั้งบทสวดมนต์ ทั้งคำสอน ทำเอาผู้ใช้บริการกลับลำกัน ๑๘๐ องศาเลยทีเดียว .... แหม๋

ที่เป็นปัญหาก็คือ "รถเมล์ฟรี" เนี่ยล่ะ ... ผมพยายามมองโลกในแง่ดีว่า "การรอรถเมล์ฟรีเหมือนได้เสี่ยงดวง" ถ้าวันไหนได้ขึ้นแสดงว่าดวงดี ถ้ารอจนรถเมล์เสียตังค์ผ่านไป ๓ - ๔ คัน แล้วก็ยังไม่มา นั่นหมายความว่า โชคน่าจะไม่เข้าข้างเราแล้วล่ะ ... บางคนเจอสถานการณ์ที่เรียกว่า "รถเมล์ฟรีวิ่งหนีประชาชน" โบกแล้วไม่จอดบ้าง หรือจอดไกลกว่าป้ายบ้าง ที่ผมเจอล่าสุดนี่คือ พี่ท่านหมดระยะแล้วไม่บอกกันสักคำ ผู้โดยสารก็กรูขึ้นรถกันเพียบ พนักงานขับรถแกก็นั่งเงียบ แล้วก็ขับออกจากป้ายไปกลับรถซะงั้น ผู้โดยสารก็ได้แต่งง แล้วก็ลงรถแบบมึนๆ นี่มันคุณหลอกดาวชัดๆ

กับอีกเรื่องก็อย่างที่ท่านชัชชาติ เจอด้วยตัวเองล่ะครับ รอรถนานและมาทีก็มาติดๆ กัน ตรงนี้ ถ้ามีป้ายรถเมล์ที่กำหนดระยะเวลาการเดินรถได้ ก็จะช่วยได้ในการคำนวนว่าเราจะต้องรอรถกันกี่นาทีในแต่ละช่วงเวลา

แต่ที่เจอหนักๆ หน่อยคือเหล่าบรรดา "รถร่วมบริการ" ทั้งหลายเนี่ยล่ะ โดยเฉพาะ "มินิบัส" ถึงแม้จะเปลี่ยนรูปโฉมรถใหม่เอี่ยมเป็นสีส้มแล้ว แต่หลายๆ อย่างก็ยังคงเหมือนเดิม .....

สิ่งที่ผมเจอคล้ายๆ กันของรถร่วมฯ และมินิบัส คือการ "จอดไม่ค่อยตรงป้ายรถเมล์" สักเท่าไหร่ พี่ท่านจะจอดกันก่อนถึงป้ายสักเมตรนึง ไม่เข้าใจเหมือนกันทั้งๆ ที่บางทีรถพี่ท่านก็ขับมาคันแรก ป้ายรถเมล์ก็โล่งไม่มีรถคันใดจอดอยู่ แต่พี่ท่านก็ยังคงจอดห่างเหมือนเดิม ทีนี้ไอ้คันต่อมาก็ต้องจอดต่อจากท้ายรถท่านเป็นขบวนๆ บางคันใจร้อนก็ปาดหน้า หรือให้ผู้โดยสารลงอีกเลนนึง (ฝั่งขสมก.ก็เป็นนะ) แล้วบางทีพี่แกก็ "จอดแช่" เป็นเวลานานด้วย ผมเคยจับเวลาเล่นๆ บางคันตั้ง ๕ นาที ผู้โดยสารก็หงุดหงิดกันใหญ่

การบริการบนรถโดยสาร ก็มีลักษณะคล้ายกัน พนักงานเปรียบ "รถเสมือนบ้าน" บางคันก็เอาลูกมาเลี้ยงด้วย อันนี้ส่วนตัวผมไม่ตำหนิ ก็เห็นใจครับ บางครอบครัวทั้งผัวทั้งเมียอยู่ในรถ ลูกก็ไม่รู้จะฝากใครเลี้ยง ไม่ได้มีเงินเข้าเนิร์สเซอรี่เหมือนคนมีกะตังค์เขา ส่วนการแต่งกายพนักงานก็หลวมๆ ไม่เคร่งครัดอะไร ถ้าเป็นกะดึกๆ นี่บางคัน "ไม่รู้ใครเป็นพนักงานใครเป็นผู้โดยสาร" เพราะกระเป๋ารถเมล์ไม่ใส่เครื่องแบบเดินถือไอ้แง๊บๆ (กล่องเหล็กใส่สตางค์) เราก็ชะงัก เฮ้ยยังไงวะเนี่ย .... แต่บางคันก็เป๊ะมากนะ ผมเคยเจอกระเป๋า ปอ.แบบเนี๊ยบตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย

ที่เห็นบ่อยอีกก็เรื่อง "คำผรุสวาท" ทั้งกระเป๋าทั้งคนขับ บางทีก็ทะเลาะกันเองด่ากันจนลืมวุฒิภาวะว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ซะงั้น ก็เข้าใจว่าเครียด แต่พี่ก็โตๆ กันแล้วน่าจะข่มอารมณ์ไปล่อกันหลังเลิกงานก็ได้ บ้างก็ด่าสวนผู้โดยสารที่ไม่พอใจในการขับรถคันนั้น (แหม แต่บางคนก็น่าด่าจริงๆ นะ ไอ้พวกเนียนไม่จ่ายตังค์บ้าง เนียนลวนลามหญิงสาวบนรถบ้าง) นี่ยังไม่รวมรถแข่งกันแย่งผู้โดยสาร หรือพนักงานขับรถสูบบุหรี่ขณะปฏิบัติงานด้วย

ก็ไม่เข้าใจว่า พวกรถร่วมฯ นี่ตอนเขารับสมัครงาน เขาทำกันยังไงนะ มีการคัดเลือกอะไรหรือไม่ หรือว่าไม่ค่อยมีคนไม่สมัครเพราะเห็นว่าเป็นงานที่ไม่น่าอภิรมย์นัก ก็เลยเป็นอย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ ........

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า เป็น "ปัญหาใหญ่" คือ พนักงานเก็บสตางค์ที่มีขนาดร่างกายอันมโหฬาร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อ้วนมากนั่นเอง เวลาแกเดินไปเก็บสตางค์ทีนึงก็ทำเอาเลนยืนผู้โดยสารหายไปเกือบจะ ๒ เลน นี่ยิ่งเวลารถแน่นยังกับปลากระป๋องนี่ โอ้โห! เสมือนถูกบีบอัดกันเป็นวาฟเฟิลเลยทีเดียว (ผมโดนมาแล้ว น้ำตาแทบไหล) ซึ่งจริงๆ กระเป๋ารถเมล์น่าจะมีรูปร่างที่ไม่ใหญ่จนเกินไปเพื่อให้มุดผ่านฝูงชนได้ง่าย ก็อยากให้มีสักโครงการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ฟื้นฟูสุขภาพแก่ทั้งคนขับและกระเป๋าด้วยนี่น่าจะดีไม่น้อย
ภาพรถมินิบัสเสียกลางทาง โชคดีที่มีเด็กช่างศิลป์ผ่านมาเห็นจึงช่วยกันไปเข็นรถ
ผมเล่ามานี่ไม่ได้ว่า "พนักงานที่ทำดี" ซึ่งก็มีอยู่เยอะนะครับ และผมก็ว่า มันน่าจะมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่ทำให้พวกเขาได้รับการชื่นชมทางด้านการบริการบ้าง อย่างเช่นช่วงหนึ่งที่ทาง ขสมก.ได้ร่วมมือกับสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจัดโครงการให้ผู้โดยสารโทรแจ้งกระเป๋ารถเมล์บริการดี โดยหากมีผู้โทรเข้ามาแจ้งพนักงานคนนั้นมากๆ พนักงานคนนั้นก็จะได้รับเงินเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน อันนี้ถ้าเอกชนจะหวนกลับมาทำให้ครอบคลุมโดยรวมถึงพนักงานรถร่วมบริการด้วย ก็จะดีอย่างยิ่งเลยล่ะ

ความปลอดภัยของพนักงานและผู้โดยสารก็เป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงเลิกเรียนสำหรับสายสำคัญๆ ที่ต้องผ่านหน้าจุดเสี่ยงที่พวกเขาเหล่ายอดมนุษย์จะก่อการอาละวาดทำร้ายคนต่างสถาบันกัน ก็น่าจะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออาสาสมัครจราจร ขึ้นมาอยู่บนรถเพื่อคอยแจ้งเหตุร้าย หรือระงับเหตุที่อาจเกิดขึ้น ผมจำได้ว่ารถเมล์ร้อนขสมก.บางคันนี่ มีไฟหวอคอยเตือนเมื่อเวลามีเหตุ ก็ไม่รู้ว่ายังใช้ได้อยู่หรือเปล่า และเห็นว่ารถเมล์รุ่นใหม่ที่จะซื้อมาจะติดจีพีเอส ก็หวังว่าจะช่วยป้องกันกรณีโจรปล้นรถเมล์ขับไปดาวอังคารได้บ้าง

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ก็ขอแนะนำให้คุณชัชชาติ ลองไปพิจารณาดูนะครับ และถ้าจะให้ดี ได้รู้ซึ้งถึงปัญหาแนะนำให้ลองไปขึ้นในหลายๆ จุดครับ ก่อนที่ชาวบ้านจะจำหน้าท่านได้ กำหนดเวลาออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ในวันทำงานนั่งจากบ้านท่าน วนรอบเมืองดูการจราจรแล้วเข้ากระทรวง พอพักเที่ยงก็นั่งรถเมล์ชมเมืองรอบใน พอช่วงเย็นก็นั่งไปเดินชมตลาดยามเย็น แล้วรอจนสักสี่ทุ่มค่อยนั่งรถเมล์กลับบ้าน สลับกันนั่งขสมก.บ้าง รถร่วมบ้าง มินิบัสบ้าง ปอ.บ้าง รถร้อนบ้าง ท่านคงจะได้เห็นปัญหาที่เพิ่มขึ้น

ก็คงได้แต่หวังว่า สิ่งที่คุณชัชชาติ พยายามจะปฏิรูปรถประจำทางกรุงเทพ คงจะไม่แห้วเหมือนกับที่สุดท้ายแกก็ไม่ได้นั่งรถเมล์ไปสู่ปลายทางดอนเมืองนะครับ

"ส่วนปัญหาจราจร .... ถ้าท่านสามารถจัดการแท็กซี่ที่จอดแช่แถวๆ ห้างสรรพสินค้าให้ได้ก่อน เรื่องอื่นๆ ก็สบาย..."
กำลังโหลดความคิดเห็น