เรื่องราวความรักของนายทหารหนุ่มแห่งกองทัพดินแดนอาทิตย์อุทัยกับสาวไทยฝั่งธนฯ แห่งคลองบางกอกน้อย จากนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี ถูกนำมาสร้างเรียกน้ำตาคนดูอีกครั้ง ทั้งในเวอร์ชั่นของโกโบริบี้ในจอแก้ว และโกโบริแบร์รี่ในจอเงิน
โกโบริบี้เรื่องราวกำลังสนุกเข้มข้นจนคนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนโกโบริณเดชน์ก็ใกล้ลงโรงฉายเต็มทีและฉันเชื่อว่าสาวๆ จำนวนมากก็ตั้งตารอชมพร้อมควักตังค์ซื้อตั๋วกันแล้ว ฉันเองอาจจะ “อิน” กว่าคนอื่น เพราะพอได้เห็นกระแสคู่กรรมแล้วก็นึกอยากจะมาไว้อาลัยให้โกโบริและรำลึกความหลังสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาในสถานที่จริง วันนี้ก็เลยอยากพาทุกคนมาเยือน “สถานีรถไฟบางกอกน้อย”
ก่อนอื่นต้องเท้าความไปถึงตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีพระราชดำริให้ก่อตั้งกิจการรถไฟหลวงขึ้นในปี 2433 ด้วยสาเหตุทางความมั่นคงของประเทศ โดยเริ่มจากสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือก่อน แล้วจึงเริ่มสร้างทางรถไฟสายใต้
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการก่อสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปี 2443 โดยตัวสถานีสร้างขึ้นบริเวณปากคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นที่ดินเวนคืนจากชุมชนชาวมุสลิม โดยพระองค์ได้พระราชทานที่ดินฝั่งตรงกันข้าม พร้อมกับสร้างมัสยิดอันซอริซซุนนะห์ (มัสยิดหลวง) ให้เพื่อเป็นการทดแทน
ทางรถไฟสายใต้ในขณะนั้นสร้างจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังเพชรบุรี รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร โดยเปิดเดินรถเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2446 ถือเป็นเส้นทางสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ ผู้คนจากฝั่งพระนครที่ต้องการโดยสารรถไฟสายนี้จะต้องอาศัยเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยามายังสถานี เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ
ผู้คนในย่านคลองบางกอกน้อยอาศัยอยู่อย่างสงบใกล้กับสถานีรถไฟบางกอกน้อยได้ราว 40 ปี สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ประเทศไทยเองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ ยกพลขึ้นบกบุกขึ้นฝั่งไทย บีบบังคับให้เราต้องยอมอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองในความควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร
บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการบัญชาการ การขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยขึ้นรถไฟไปยังสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อสร้างทางรถไฟต่อไปยังพม่า ดังนั้น ผู้คนในชุมชนย่านคลองบางกอกน้อยจึงได้รับผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดเป็นเรื่องราวหลากหลายระหว่างชาวบางกอกน้อยและทหารญี่ปุ่น ทั้งรักทั้งชัง ทั้งสนุกทั้งเศร้า หลายรสชาติอย่างที่ในนวนิยายถ่ายทอดออกมา
แต่เรื่องที่ทำให้คนบางกอกน้อยเดือดร้อนที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรวนเวียนมาทิ้งระเบิดแถวสถานีรถไฟบางกอกน้อยซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความสูญเสียมากบ้างน้อยบ้างแก่ชาวบ้าน แต่วันที่รุนแรงที่สุดก็คือวันที่ 29 พ.ย. 2487 เมื่อฝ่ายทหารพันธมิตรส่งฝูงบิน B-29 เข้าโจมตีทิ้งระเบิดบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย เนื่องจากทราบจากฝ่ายข่าวกรองมาว่า ในวันนั้นกองทัพญี่ปุ่นจะมีการขนส่งสัมภาระยุทธปัจจัยจำนวนมาก ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มการโจมตีตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 พ.ย. ไปจนรุ่งเช้า เล่ากันว่า ตอนเช้าหลังจากการทิ้งระเบิดในวันนั้นเงียบเหมือนป่าช้า ศพทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อยู่เต็มริมคลอง จนสนามโรงเรียนสุวรรณารามยังไม่พอฝัง และพ่อดอกมะลิของเราก็คงเสียชีวิตจากแรงระเบิดในวันนั้นด้วยเช่นกัน
และสำหรับสถานีรถไฟบางกอกน้อยเองก็ถูกระเบิดทำลายจนแทบไม่เหลือซาก ดังนั้น เมื่อสงครามสงบ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการสร้างสถานีขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย โดยสร้างเป็นอาคารอิฐสีแดง มีหอนาฬิกา ซึ่งถือว่าเป็นอาคารที่มีความสวยงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง และตั้งชื่อสถานีนี้ใหม่ว่า “สถานีธนบุรี” และเปิดใช้งานอาคารหลังใหม่เมื่อปี 2493
หลังจากนั้นอีกราว 50 ปีต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อรถไฟสายใต้หลายขบวนได้เปลี่ยนต้นทาง-ปลายทางไปที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานีธนบุรีจึงไม่คึกคักเหมือนก่อน และในปี 2542 ได้มีโครงการปรับปรุงอาคารสถานีธนบุรีและพื้นที่โดยรอบ การรถไฟจึงสร้างสถานีรถไฟอีกแห่งหนึ่งขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อใช้เป็นที่รับส่งผู้โดยสารทดแทนสถานีธนบุรี ตั้งชื่อว่าสถานีบางกอกน้อย (ปัจจุบันสถานีอยู่บริเวณหลังตลาดศาลาน้ำร้อน)
และในที่สุด การรถไฟก็ได้มอบที่ดินและตัวอาคารบริเวณสถานีธนบุรีที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 33 ไร่ ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช และเปลี่ยนไปใช้สถานีรถไฟบางกอกน้อยที่สร้างขึ้นใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีธนบุรี” ซึ่งก็ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีทั้งขบวนรถชานเมือง รถธรรมดา และรถเร็ว วิ่งขึ้นล่องไปยังสถานีศาลายา (นครปฐม) สถานีหลังสวน (ชุมพร) สถานีน้ำตก (กาญจนบุรี) สถานีนครปฐม สถานีราชบุรี
นอกจากนั้น ในบริเวณใกล้เคียงสถานีธนบุรียังเป็นที่ตั้งของ “โรงรถจักรธนบุรี” ซึ่งเป็นสถานีบำรุงรักษา-ซ่อมแซมรถจักรดีเซล และเป็นที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำที่เหลืออยู่ของการรถไฟฯ ซึ่งได้นำมาวิ่งลากจูงขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญๆ เช่น วันสถาปนากิจการรถไฟ วันปิยมหาราช วันพ่อแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ
ส่วนสถานีธนบุรีหลังเดิมที่ยกให้โรงพยาบาลศิริราชไปนั้น ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยทางโรงพยาบาลได้ปรับปรุงและจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนวังหลัง-บางกอกน้อย และสิ่งแสดงทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์การแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช ขอบอกว่าน่าเข้าไปชมมาก ซึ่งหากฉันมีโอกาสจะพาไปชมกันอีกที หรือหากใครอยากลองไปดูก่อนก็ตามสะดวก ซึ่งถ้าใครไปชมภายในวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงแนะนำก็จะสามารถซื้อตั๋วในราคาพิเศษ คือผู้ใหญ่ 50 บาท (ปกติ 150 บาท) เด็ก 20 บาท (ปกติ 50 บาท) แต่ต้องรีบหน่อยเพราะเหลือเวลาแค่ 2 วันเท่านั้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"สถานีธนบุรี" ตั้งอยู่ที่ ถ.รถไฟ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ อยู่บริเวณด้านหลังตลาดศาลาน้ำร้อน ส่วน "สถานีบางกอกน้อย" (เดิม) ปัจจุบันเป็น “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดวันจันทร์-เสาร์ 09.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชม เด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 150 บาท (หากมาชมก่อนวันที่ 30 มี.ค. 56 เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท)
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com