xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดอมรินทราราม ลือนาม “หลวงพ่อโบสถ์น้อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดอมรินทรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมปากคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เดิมชื่อ “วัดบางว้าน้อย” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี 2200 แต่ไม่ปรากฏผู้สร้าง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบางว้าน้อยเป็นพระอารามหลวง

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือกรมพระราชวังหลังทรงสถาปนาใหม่ทั้งอาราม คือ สร้างพระอุโบสถและพระระเบียง สร้างวิหารหลังพระอุโบสถ ๒ หลัง พระเจดีย์ข้างหน้าพระอุโบสถ ๒ องค์ พระปรางค์ข้างหลังพระอุโบสถ ๒ องค์ พระปรางค์ข้างพระอุโบสถ ๒ องค์ กำแพงแก้วและศาลารายติดกำแพงแก้ว ๖ หลัง หอระฆัง หอไตร หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญใหญ่ และกุฏิสงฆ์อีกหลายหลัง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม”

เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตแล้ว พระองค์เจ้าหญิงกระจับ พระธิดา ได้ทรงสร้างภูเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธฉายจำลอง และพระองค์เจ้าหญิงจงกลทรงสร้างมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระระเบียงและพระวิหาร รวมทั้งทรงสร้างกุฏิเพิ่มอีกหลายหลัง

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระปลัดมิตร ฐานานุกรมของหม่อมเจ้าพระสังวรประสาธน์ (หม่อมเจ้าพระเล็ก) สร้างหอไตร

สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและเสนาสนะหลายครั้ง รวมทั้งการสร้างกุฏิ หอระฆังหน้ามณฑป และศาลาเพิ่มเติม

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและสร้างอาสนสงฆ์ในพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ และหอสวดมนต์

ต่อมาได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488) ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ เช่น สถานีรถไฟธนบุรี ที่บางกอกน้อย จึงทำให้วัดอมรินทรารามซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งพระอุโบสถหลังใหญ่ พระระเบียง ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์หลายหมู่ได้ถูกลูกระเบิดทำลาย ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุต่างๆ อันมีค่าก็ถูกไฟเผาผลาญเสียหาย

เหลือเพียงมณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธฉายจำลอง หลวงพ่อโบสถ์น้อย หอสวดมนต์ใหญ่ ศาลาใหญ่ และกุฏิบางหลังเท่านั้น

เมื่อสงครามสงบลง ทางวัดได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม โดยพบว่า ความรุนแรงของระเบิดทำให้พระเศียรของพระประธานประจำโบสถ์น้อยที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ได้หักพังลงมาและมีรอยร้าว จึงเริ่มดำเนินการจัดงานต่อพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นครั้งแรก แต่ไม่สามารถต่อกลับเข้าไปได้ จึงได้ปั้นพระเศียรขึ้นใหม่ โดยคงเค้าพระพักตร์เดิม และสร้างอุโบสถหลวงพ่อโบสถ์น้อยขึ้นใหม่ด้วย

หลวงพ่อโบสถ์น้อยนับเป็นปูชนียวัตถุสำคัญ ที่ชาวบางกอกน้อยถือว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความน่าอัศจรรย์ที่โบสถ์น้อยและองค์หลวงพ่อซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนจากลูกระเบิดในครั้งนั้น ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในหนังสือประวัติวัดว่า

"แม้แต่ตัวโบสถ์น้อยของท่าน ซึ่งอยู่ริมทางรถไฟธนบุรีก็ได้รับภัยในครั้งนี้ด้วย หลุมระเบิดตกอยู่รอบๆโบสถ์ของท่าน และที่เชิงเขาของโบสถ์น้อย ไฟก็ไหม้เหมือนกัน แต่ก็ดับได้เองเหมือนปาฏิหาริย์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก"

ปัจจุบันปูชนียวัตถุและสิ่งสำคัญในวัด ได้แก่

• พระอุโบสถ เป็นทรงจัตุรมุข ฐานอาคารเป็นฐานสิงห์ลูกแก้ว หลังคา ๔ ซ้อน ๓ ตับ มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ลายหน้าบันเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างเอราวัณ

• พระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘ ศอก ๑ คืบ สูง ๑๑ ศอก

• หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง ๗ ศอก ๒๑ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒๒ นิ้ว

• พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง อยู่ในกำแพงแก้วข้างหน้าพระอุโบสถ ๒ องค์

• พระปรางค์ในกำแพงแก้ว ข้างหลังพระอุโบสถ ๒ องค์

• พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง อยู่ใกล้กับพระมณฑปพระบาท ๑ องค์

• มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ สูง ๘ วา ๒ ศอก เป็นมณฑปทรงจตุรมุขหลังคา ๒ ซ้อน ๒ ตับ ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องและถ้วยชามเขียนสีของจีน ฝีมือประณีตงดงามมาก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง มีกำแพงล้อมรอบและประตูเข้าออกทั้ง ๔ ทิศ

• พระพุทธฉายจำลอง ที่ภูเขาสูงจากพื้นดินถึงยอด ๓ วา ๒ ศอกเศษ อยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ

• ตำหนักเขียว เดิมเป็นตำหนักของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักเขียวแห่งนี้ไปปลูกเป็นกุฏิ
สงฆ์ที่วัดอมรินทราราม

• อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารสูง ๕ ชั้น เริ่มสร้างเมื่อปี ๒๕๓๗ อาคารหลังนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสร้างอาคารเป็นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท นับเป็นเรื่องมหามงคลอย่างยิ่งแก่คณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ของวัด

ในปี ๒๕๕๓ ได้มีโครงการอนุรักษ์มณฑปพระพุทธบาทจำลอง วัดอมรินทราราม โดยความร่วมมือของกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังภายในมณฑป และงานอนุรักษ์ประติมากรรมพระพุทธบาทสี่รอย และแท่นประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งได้ดำเนินงานแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕

มณฑปพระพุทธบาทจำลองจึงหวนคืนสู่ความงดงามโดดเด่นเป็นสง่าเคียงคู่กับพระอุโบสถ ณ พระอารามแห่งนี้

การบูชารอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท หมายถึง รอยเท้าของพระพุทธเจ้า มีมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป แต่ความนิยมในการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองก็ยังคงมีต่อมา ด้วยเชื่อว่า รอยพระพุทธบาทจำลองย่อมมีอานุภาพและสิริมงคลประดุจรอยพระพุทธบาทอันแท้จริง

การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีปหรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันคือแม่น้ำเนรบุตตา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น