xs
xsm
sm
md
lg

บาดแผลอ่าวพร้าว-เสม็ดสีดำ คราบน้ำมันเปื้อนน้ำลาย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ทะเลสีดำที่อ่าวพร้าว(30 ก.ค. 56 : ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ)
...ช. - ทะเลสีดำ
ญ. - แค่ในอ่าวพร้าว
ช. - แค่เป็นข่าวฉาว
ญ.- เลือดเย็นใช่ไหม

ช.- ทะเลสีดำ
ญ.- ไม่ต้องใส่ใจ
ช. - จะทำเช่นไร
ญ.- ปิดข่าวไว้เธอ...

นี่ไม่ใช่เพลง“ทะเลสีดำ”เวอร์ชั่นต้นฉบับ ที่“ลุลา” กับ “ต้า พาราด็อกซ์” ร้องไว้ แต่เป็นเวอร์ชั่นแปลงเนื้อ(DRZO ทะเลสีดำ) โดย “Devil Resonate” ที่กำลังแรงมากในโลกไซเบอร์มีการแชร์กันเป็นจำนวนมาก

บางคนเรียกเพลงนี้ว่าทะเลสีดำเวอร์ชั่นอ่าวพร้าว บ้างก็เรียกว่าเป็นเวอร์ชั่น ปตท. สุดแท้แต่

แต่นี่ถือเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสุดโดนและเข้ากับสถานการณ์อย่างแรง ซึ่งพิธีกรเล่าข่าวน่าจะนำไปเปิดประกอบในรายการบ้าง
อ่าวพร้าวช่วงก่อนเกิดวิกฤติน้ำมัน ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของเกาะเสม็ด
ภาษีเรา

จากเหตุการณ์น้ำมันดิบจำนวนมากของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน)ในเครือ ปตท.รั่วไหลออกมากลางทะเล แล้วถูกคลื่นลมพัดพาคราบน้ำมันดิบไปติดบริเวณ “อ่าวพร้าว”ตลอดแนว เปลี่ยนหาดทรายชายทะเลอันขาวสวยใสของอ่าวพร้าวให้กลายเป็นสีดำทะมึน เกิดเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ทำให้ “เกาะเสม็ด” จ.ระยอง วันนี้ ถูกเปลี่ยนฉายาใหม่(ชั่วคราว) จาก“เสม็ดเสร็จทุกราย”เป็น“เสม็ดเสร็จน้ำมัน” แทน

สำหรับอ่าวพร้าวแม้ไม่ใช่อ่าวที่ดังที่สุดในเกาะเสม็ด แต่เป็นอ่าวที่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยที่สุดบนเกาะเสม็ด เพราะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มองเห็นพระอาทิตย์ตกทะเลได้อย่างชัดเจน
สภาพอ่าวพร้าว วันที่ 1 ส.ค. 56
แต่ผลกระทบจากมหันตภัยน้ำมัน ทำให้ช่วงแรกอ่าวพร้าวดำปิ๊ดปี๋กลายเป็นทะเลสีดำ ก่อนที่สถานการณ์ปัจจุบัน(1 ส.ค. 56) จะสามารถขจัดคราบน้ำมันไปได้กว่า 70% เปลี่ยนจากหาดสีดำกลับมาเป็นหาดที่เกือบปกติที่ยังหลงเหลือคราบน้ำมันอยู่บ้างบางส่วน ซึ่งผมต้องขอขอบคุณทหารเรือและอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเก็บคราบ ขจัดน้ำมัน

แต่ประทานโทษ!!! งบประมาณในการเข้าไปช่วยเหลือขจัดคราบน้ำมันของทหารเรือ ณ วันนี้ กลับนำมาจากเงินภาษีของประชาชน ส่วนปตท.วันนี้ยังคงเงียบกริบ

นอกจากนี้ล่าสุดปตท. ยังออกมาประกาศรับสมัครเหล่าจิตอาสา(พนักงานปตท.เอง) ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์จากชาวเน็ตว่า ทำไมปตท.บริษัทที่มีกำไรนับแสนล้านต่อไป กลับไม่มีทีม ไม่มีกำลังพลเตรียมพร้อมต่อการแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น หรือทำไมปตท.ไม่จ้างหน่วยงานที่มีทีมงานพร้อมในด้านนี้??? เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้มันไม่ใช่พิบัติภัยจากธรรมชาติ หากแต่เป็นความผิดของบริษัทในเครือปตท.เอง
อ่าวพร้าววันโดนคราบน้ำมันถล่ม(29 ก.ค. 56 : ภาพ : รอยเตอร์)
ฟ้อง

มหันตภัยน้ำมันครั้งนี้ทำให้เกิดบาดแผลสีดำขึ้นที่อ่าวพร้าว จนเบื้องต้นถูกปิด 1 เดือน เพื่อฟื้นฟูชายหาด ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และอื่นๆ ซึ่งแม้คราบน้ำมันจะไหลมาโจมตีที่อ่าวพร้าวเป็นหลัก แต่มันส่งผลกระทบต่อเกาะเสม็ดเป็นวงกว้าง และกว้างกว่านั้นไปถึงการท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง โดยในเบื้องต้นประมาณการว่าภาคการท่องเที่ยวระยองเจ๊งจากเหตุการณ์นี้ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดีทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดได้ยืนยันว่าเหตุการณ์มหันตภัยน้ำมันนี้สร้างความเสียหายเฉพาะที่อ่าวพร้าวกับพื้นที่ใกล้เคียง แต่ส่วนอื่นของเกาะเสม็ดไม่ได้รับผลกระทบ สามารถเที่ยวได้ตามปกติ
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดยืนยันว่า บนเกาะยังมีอีกหลายหาด หลายอ่าวสามารถเที่ยวได้ตามปกติ
สำหรับผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวท่องเที่ยวอื่นๆ งานนี้ใครที่ได้รับผลกระทบ มีกระแสจำนวนมากเรียกร้องให้ฟ้องต่อพีทีทีจีซี เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับความเดือนร้อน อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้าน แม่ค้า ชาวประมงพื้นบ้าน อุทยานฯ หรือใครต่อใครที่เดือดร้อนจากพิษน้ำมันรั่ว ก็ต้องฟ้องบริษัทน้ำมันเช่นกันครับ

เพราะนี่ถือเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งนักวิชาการและภาคประชาชนจำนวนมาก บอกว่ารัฐต้องเป็นหัวหอกในการนำฟ้องร้อง พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ปตท.สผ.ทำน้ำมันรั่วที่ออสเตรเลีย แล้วรัฐบาลออสเตรเลียกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ฟ้องปตท.สผ. แต่ที่นี่ไทยแลนด์กลับกลายเป็นว่า รมว.พลังงานกลับมาออกข่าวว่าไม่ควรฟ้องพีทีทีจีซีซะงั้น
อ่าวพร้าวในสถานการณ์ปกติก่อนเกิดวิกฤติน้ำมัน
อย่างไรก็ตามด้วยกระแสที่ถูกกดดันหนักโดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ ทำให้ภาครัฐโดยกรมเจ้าท่าฯและกรมอุทยานฯ ออกมานำทัพในการฟ้องร้องต่อพีทีทีจีซีแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คงมีการฟ้องร้องอื่นๆเรียงคิวตามมาอีกเพียบ

สำหรับเรื่องการฟ้องร้องนี่ไม่ใช่เพื่อความสะใจ แต่เพื่อความถูกต้อง เป็นคดีตัวอย่างไม่ให้เกิดขึ้นอีก อีกทั้งยังเป็นบทเรียนต่อรัฐ-เอกชนอื่นๆ ว่าการจะทำโครงการใหญ่อะไรที่มีผลกระทบในหลายด้าน ทางบริษัทนั้นๆต้องมีความรอบรอบรัดกุม มีมาตรการรองรับ โปร่งใส ไม่ปกปิด บิดเบือนข้อมูล ถ้าทำผิดพลาดมาก็ต้องเยียวยา และพร้อมรับการฟ้องร้อง

อย่าทำเหมือนที่ผ่านๆมา เมื่อบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ทำผิดอะไรแล้ว ก็ร่วมมือกับรัฐภาคการเมืองปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ใช้เงินฟาดหัวชาวบ้านให้เรื่องมันจบๆกันไป
ภารกิจขจัดน้ำมัน (30 ก.ค. 56 : ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ)
ฟอกสี

มหันตภัยน้ำมันรั่วเปลี่ยนทะเลอ่าวพร้าวเป็นสีดำ(ชั่วคราว)ครั้งนี้ส่งผลกระทบหลากหลายในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประมงชายฝั่ง แหล่งอาหารทางทะเล โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศนั้นโดนเต็มๆทั้งบนบก ใต้ทะเล สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลตั้งแต่แพลงก์ตอน กุ้งปลา หอยปู และสัตว์อื่นๆ ต่างถูกพิษน้ำมันรั่วเล่นงาน ซึ่งสุดท้ายมันส่งผลมาต่อผู้บริโภคขั้นสุดท้ายคือมนุษย์นั่นเอง

แต่ประทานโทษ!!! หากเราดูข่าวในสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะทีวีที่มีนักเล่าข่าว นักเต้าข่าว นักอ่านข่าว หรือนักตลกบริโภค ส่วนใหญ่จะพบกับการนำเสนอข้อมูลเพียงบางด้าน โดยมุ่งเน้นไปที่การรายงานข่าวแบบดราม่าหรือไม่ก็มาแนวโลกสวย อาทิ ปัญหามันเกิดขึ้นไปแล้วเราขอส่งกำลังใจช่วย ไม่มีอะไรน่ากลัว มีอาสาสมัครจำนวนมากมาช่วยเก็บกู้น้ำมัน ข่าวดีน้ำทะเลใสขึ้นมาแล้ว(ทั้งที่จริงน้ำทะเลยังมีคราบน้ำมันดำอยู่) หรือประเภทคราบน้ำมันที่นี่ไม่มีแล้ว(ก็เพราะมันลอยไปสร้างมลภาวะกับที่อื่นแทน) เกาะเสม็ดยังสวยเที่ยวได้ มีหาดอื่นๆอีกมากมายให้เที่ยว ฯลฯ

เอาเถอะสื่อคนไหน สำนักไหน จะดราม่าแข่งกับ“ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น”ก็สุดแท้แต่ หากสิ่งที่นำเสนอคือความจริง ความถูกต้อง คนรับสื่อที่มีวิจารณญาณย่อมสัมผัสรับรู้ได้

ส่วนสื่อไหนที่มีเจตนาหมกเม็ด ใช้วาทกรรมน้ำลาย ความดราม่า ลีลาการนำเสนอ คอยทำหน้าที่ฟอกสี ชะล้าง แก้ต่าง ให้บริษัทน้ำมัน หรือไม่ก็เป็นประเภทถามชง เน้นการเปิดพื้นที่ให้นายทุนออกมาแถ แก้ตัว ปกป้องตัวเอง พลิกลิ้น ตลบตะแลง สุดท้ายวิญญูชนคนกินข้าวย่อมจับได้ไล่ทัน พร้อมกับชำแหละสื่อบางคนอย่างถึงกึ๋น

แต่ดูเหมือนสื่อพวกนั้นจะไม่แคร์ เพราะเงินสามารถจ้างผีโม่แป้งได้ ฉันใดก็ฉันเพลที่เงินก็สามารถจ้างสื่อฟอกสีได้
อ่าวพร้าว 2 สี (30 ก.ค. 56 : ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ)
น้ำลายนายทุน

แม้สื่อทีวีสื่อกระแสหลักเลือกที่จะหลับตานำเสนอข้อมูลเพียงบางด้าน แต่หากใครที่ติดตามสื่อกระแสรองอย่างหนังสือพิมพ์บางฉบับ สื่อออนไลน์ โซเชียมีเดีล เฟซบุ๊ค ก็จะได้พบกับข้อมูลอีกด้านหนึ่ง เป็นความจริงที่ถูกนายทุนบริษัทน้ำมันปกปิด พร้อมๆกับการแฉ จับผิด และนำข้อมูลเท็จมาชำแหละกันอย่างถึงกึ๋น นอกจากนี้ยังมีการด่า ประณาม รวมถึงการปล่อยมุขตลกร้ายให้ใครบางคนที่ถูกพลาดพิง อึ ฉี่ไม่ออกกันไปหลายวันทีเดียว

งานนี้เราลองมาดูบางส่วนในการจับได้ไล่ทันของสื่อกระแสรองกัน เริ่มตั้งแต่ หลังเกิดน้ำมันรั่วกลางทะเล ยังไม่ไหลมาถึงอ่าวพร้าว ทางผู้บริหารพีทีทีจีซี ก็ออกมาแถลงในวันที่ 28 ก.ค.ว่าเอาอยู่ ครั้นพอเช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏน้ำมันไหลเข้าอ่าวพร้าวจนกลายเป็นสีดำปี๋
อีกหนึ่งความสูญเสีย (30 ก.ค. 56 : ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ)
เมื่อเหตุการณ์ดำเนินถึงขั้นนี้ทางผู้บริหารบริษัทน้ำมันยังออกมาให้ข้อมูลสวนทางกับความรู้สึกคนทั่วไปว่า นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะน้ำมันดิบเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายแล้วจะย่อยสลายไปเอง

แต่ในความเป็นจริงก็คือ น้ำมันดิบมีทั้งสารปรอท ตะกั่ว และสารพิษอีกหลากหลาย อีกทั้งยังมีกลิ่นเหม็นระยับ ขณะที่ผู้เข้าไปขจัดคราบยังต้องสวมชุดปกปิดมิดชิดอย่างกับเดินในอวกาศ และอยู่ในที่มีน้ำมันได้ไม่นาน ประมาณ 15-30 นาที ก็ต้องออกมาพัก นอกจากนี้พิษน้ำมันยังทำเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่ไปช่วยขจัดน้ำมันเจ็บป่วยกันเป็นจำนวนมาก สวนทางกับคำสัมภาษณ์เปื้อนน้ำลายของผู้บริหารบริษัทน้ำมันอย่างชัดเจน

อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวเน็ตวิพากษ์กันมากก็คือ เรื่องของการปกปิดข้อมูล ปริมาณน้ำมันที่รั่วจริงๆ ไม่ใช่ปริมาณที่รั่วจากการให้ข่าวที่สวนทางกับความเป็นจริง

น้ำมันรั่วออกมาเท่าไหร่ไม่ชัดเจน บอกว่ารั่ว 50,000 ลิตร เก็บไปได้แล้ว 90% แต่ทำไมมันถึงมีมากมายทำอ่าวพร้าวดำปี๋ อีกทั้งยังไหลไปยังที่อื่นอีกด้วย การให้ข้อมูลไม่ชัดเจนในเรื่องสารเคมีในการกำจัดน้ำมัน
น้ำมันรั่วมากแค่ไหน วันนี้ยังคงคลุมเครือ (30 ก.ค. 56 : ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ)
ขณะที่ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหา ก็เห็นได้ชัดว่าบริษัทน้ำมันไม่พร้อม ไม่เป็นมืออาชีพ แต่ผู้บริหารดันออกมาให้ข่าวว่าเอาอยู่ เพิ่งซ้อมการเก็บกู้น้ำมันล่วงหน้ามาไม่กี่วัน เรียกว่าพูดจนน้ำลายแตกฟอง แต่ในสถานการณ์จริงกับบ้อท่า ไม่สามารถจัดการอะไรได้ แถมยังมีคำอวดโอ่ว่าที่ทำอยู่นี่เกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้เสียอีก

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทางผู้บริหารบริษัทน้ำมันแก้ไม่ได้ ตอบไม่ได้ หรือเลี่ยงที่จะตอบ เลือกที่จะปกปิด อีกทั้งมาตรการเยียวยาทั้งในช่วงวิกฤติ เบื้องต้น ระยะสั้น ระยะยาวก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

นั่นจึงไม่แปลกที่จะมีใครบางคนบอกว่า ปตท. ย่อมาจาก “เปิดความตายสู่ท้องทะเล"

เพราะในมหันตภัยครั้งนี้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่นอกจากจะล้มเหลวในการแก้การปัญหาแล้ว ยังมุ่งสร้างภาพ หมกเม็ด ปกปิดข้อมูล ไม่พูดความจริง แต่กลับใช้วาทกรรมน้ำลายแตกฟอง มาแก้ต่าง แก้ตัว ปกป้องตัวเอง โดยมีภาครัฐเป็นแบ็คคอยเกื้อหนุน สื่อกระแสหลักเป็นกระบอกเสียงคอยฟอกสี

นับเป็นอีกหนึ่งความน่าเศร้าของประเทศไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น