xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้ ปตท.เลิกปิดข้อมูลน้ำมันรั่ว หนุนชาวบ้านฟ้องเป็นบทเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อาภา หวังเกียรติ
“ดร.อาภา” หวั่นใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันยิ่งเพิ่มมลพิษในทะเล ชี้เกิดผลกระทบระยะยาวแน่นอนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ห่วงสารมะเร็งปนเปื้อนในสัตว์ทะเล จี้ปตท.เลิกบิดเบือนข้อมูลจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ด้าน “ดร.รักไทย” มั่นใจหากบริษัทมีการเตรียมพร้อมจะไม่บานปลายขนาดนี้ พร้อมหนุนชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก


วันที่ 30 ก.ค. ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ดร.รักไทย บูรพภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี

โดย ดร.อาภากล่าวว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่า 7 หมื่นลิตร ไปๆ มาๆ กลายเป็น 5 หมื่นลิตร แล้ว ปตท.บอกว่าตอนนี้กำจัดไปแล้ว 4.5 หมื่นลิตร เหลือ 5 พันลิตร แต่อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลาฯ คำนวณคร่าวๆ จากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าน่าจะรั่วประมาณ 1 แสนลิตร - 1.9 แสนลิตร ตัวเลขพวกนี้ ปตท.ต้องเปิดเผย ควรให้คนอื่นเข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลข้างเดียวจากผู้สร้างความเสียหายเอง ประเด็นหลักของกรณีนี้คือการปิดบังข้อมูลตั้งแต่แรกเพื่อไม่ให้หุ้นตก มีจดหมายแถลงถึงตลาดหลักทรัพย์ชัดเจนว่าปลอดภัยแล้ว แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนกลายเป็นลุกลามใหญ่โต

ดร.อาภากล่าวต่อว่า น่าเสียดายเพราะ ปตท.เคยมีประสบการณ์น้ำมันรั่วมาแล้ว เมื่อปี 2552 กรณี บริษัท พีทีทีอีพี ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ.เคยเกิดน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะที่ออสเตรเลีย ก็ปกปิดข้อมูลเหมือนกัน กรณีนี้รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลอินโดนีเซีย ฟ้องเรียกค่าเสียหาย แล้ว ปตท.ต้องจ่ายชดเชยมหาศาล เขามีประสบการณ์หมดแล้ว แต่ไม่มีการนำบทเรียนมาใช้ แล้วกรณีที่อ่าวเม็กซิโกทำให้ทั่วโลกตื่นตัวกันหมด แต่ของเรากลับเหมือนเดิม การให้ข้อมูลหน่วยงานของรัฐก็ดันโน้มเอียงไปทางบริษัทเอกชนมากกว่า

ส่วนสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นคราบน้ำมัน กว่ากรมควบคุมมลพิษจะเปิดเผยก็นานมาก โดยช่วงบ่ายเพิ่งออกมาแถลงว่าใช้สารออยซิลิกอน เอ็นเอสไทด์ 2/3 เพื่อทำให้น้ำมันแตกกระจายและตกลงไปข้างล่าง ตอนแรกตนกังวลว่าจะใช้สารเดียวกับกรณีอ่าวเม็กซิโก ซึ่งอันนั้นอันตรายมาก แต่อันนี้น่าจะอันตรายน้อยกว่า แต่ก็ยังไม่แน่ชัดเนื่องจากเป็นชื่อทางการค้าแต่ยังไม่ได้ดูสารเคมีองค์ประกอบ

แต่ยังไม่ต้องพูดถึงสารที่นำมาฉีด เพราะน้ำมันดิบเองก็มีองค์ประกอบที่เป็นสารพิษอยู่หลายตัว มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย อย่างเบนซิน โทลูอีน ไซลีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ชาวบ้านมาบตาพุดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก จากการที่มีโรงกลั่นตั้งอยู่ และมีโลหะหนักบางตัว เช่น นิกเกิล โครเมียม ปรอท หรืออาจมีสารบางตัว เช่น ซัลไฟด์ องค์ประกอบพวกโลหะหนักนั้นมันจะเพิ่มขยายเท่าตัวในสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ตัวใหญ่กินตัวเล็กสารพิษก็จะเพิ่มเท่าตัว แล้วคนก็เป็นอันดับสุดท้ายในห่วงโซ่อาหาร ฉะนั้นคนก็จะได้รับสารพิษในระดับเข้มข้นมากที่สุด การที่สารเคมีตกค้างในห่วงโซ่อาหารเป็นผลกระทบระยะยาวมาก ด้วยตัวน้ำมันดิบเองก็อันตรายอยู่แล้ว นี่ยังไปเพิ่มสารอันตรายเข้าไปอีก

ดร.อาภากล่าวอีกว่า ทางบริษัท ปตท.อย่าคิดแต่เพียงว่าแค่เอาน้ำมันออกไปจากผิวน้ำแล้วเรื่องจบ แต่ต้องติดตาม ตรวจสอบ ผลเสียหายระยะยาว ทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเสียโอกาสทำกิน อาหารทะเลราคาแพงขึ้น ต้องชดเชยอย่างเป็นธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นต้องมีการฟ้องร้องแน่นอน ที่ผ่านมา ปตท.พยายามขยายธุรกิจตัวเองให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บอกจะทำการพัฒนาที่ยั่งยืน มีธรรมาภิบาล อันนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าทำดีตนก็ยินดี

กรณีนี้ทางกรมอุทยานสามารถฟ้องได้ เพราะอยู่ในเขตอุทยาน รัฐก็ฟ้องได้เพราะทำให้รัฐเสียหาย แต่คาดว่าจะไม่ฟ้อง ซึ่งประชาชนต้องใช้ประชาธิปไตยทางตรง คือรวมตัวกันประเมินค่าเสียหายเตรียมฟ้อง แม้ใช้เวลานานแต่ก็ต้องอดทน ตนเชื่อมั่นว่าชาวระยองเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้แน่นอน โดยเฉพาะชาวประมง คนท้องถิ่น ต้องรวมตัวกันแข็งขัน รวบรวมหลักฐานทั้งหลาย ถ้า ปตท.ชดเชยเป็นธรรมอาจไม่ฟ้องก็ได้ แต่ท้ายที่สุดตนว่าเดี๋ยวก็ต้องฟ้อง ซึ่งตนจะให้กำลังใจ

ด้าน ดร.รักไทย กล่าวถึงการจัดการกับน้ำมันรั่ว ว่า ปตท.ไม่มีการเตรียมพร้อม มีเหตุการณ์ทุ่นไม่พอ เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทใหญ่รายได้มหาศาลขนาดนี้ น่าเตรียมพร้อมมากกว่านี้ ส่วนที่ติดต่อสิงคโปร์ให้มาช่วยก็ใช้เวลาวันกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงจากสิงคโปร์บินมาไทยไม่เกินชั่วโมงครึ่ง ถ้าเตรียมการพร้อมตั้งแต่ต้น สามารถล้อมกรอบน้ำมันไว้ได้ไม่ไปไกลแบบนี้แน่นอน อีกทั้ง ปตท.ก็เคยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีรั่วที่ออสเตรเลีย ที่ถูกต้องต้องมีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุอันดับแรกต้องพูดความจริง

ดร.รักไทยกล่าวอีกว่า การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน ปกติจะใช้ในน้ำลึก เพราะพอสารเคมีไปจับจะมีระยะเวลาสลายก่อนนองก้นทะเล แต่นี่เป็นน้ำตื้น เกรงว่าจะไปจับปะการังในขณะที่สารเคมียังอยู่ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แน่นอน

กรณีนี้ทิ้งบทเรียนราคาแพงมาก เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องมองว่าทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ปตท.บอกต้องการร่วมงานกับทุกฝ่าย แต่ฝ่ายวิชาการยังไม่เห็นมีให้เข้าไปร่วม แล้วต้องถามว่าปตท.เป็นของใคร เป็นของรัฐบาล รัฐก็ต้องรับผิดชอบร่วม เป็นของเอกชนก็ต้องชดเชย แล้วเงินชดเชยนี้จะตกไปเป็นภาระประชาชนในรูปของภาษีน้ำมันหรือเปล่า ตอนนี้มันปนไปหมดไม่ชัดเจน

ดร.รักไทยกล่าวทิ้งท้ายว่า หากชาวบ้านจะฟ้องร้อง ต้องการข้อมูล นักวิชาการบ้านเราพร้อมช่วย และอยากให้มองว่าการฟ้องนี้อาจไม่ได้ทำเพื่อตัวท่านเอง แต่ทำเพื่อลูกหลาน ให้เป็นคดีตัวอย่างเพื่อให้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก


ดร.รักไทย บูรพภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น