xs
xsm
sm
md
lg

ม่วนใจ๋ ใน “แม่แจ่ม”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
แม่แจ่ม เมืองงามในหุบเขา
“แหล่ม” ในภาษาวัยรุ่น มาจาก “แจ่ม”

ส่วน “แจ่ม” ในดินแดนแห่งนี้มาจาก “แจม”

สำหรับดินแดนแห่งนี้ที่ผมจะเล่าถึงก็คือ “อำเภอแม่แจ่ม” แห่งจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนชวนฝันของผู้หลงใหลในวิถีอันสงบงาม

แม่แจ่ม...เมืองแจม

แม่แจ่มเป็นเมืองในหุบเขา ที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ เป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็นมากแห่งหนึ่งในเชียงใหม่
นาขั้นบันได มนต์เสน่ห์แห่งแม่แจ่ม
ชื่อแม่แจ่มเมื่อฟังแล้วดูช่างแสนงาม เพราะคำว่าแจ่มมันช่างแจ่มแจ๋ว แจ่มจรัส แต่ประทานโทษ!!! ที่มาของชื่ออำเภอนี้ที่มาของมันช่างสวนทางกับความแจ่มโดยสิ้นเชิง เพราะแม่แจ่ม มาจากคำว่า “แจม” ที่แปลว่า อดอยาก ขาดแคลน
 
โดยในตำนานเมืองแม่แจ่มนั้นเล่าขานกันมาว่า ที่นี่เคยมีสิงห์ 2 ตัวเป็นพี่น้องกัน หากินอยู่ในป่าใหญ่ แต่ทั้งคู่กลับชอบทะเลาะแย่งอำนาจกันอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเสด็จมา จึงทรงแบ่งเขตให้กับสิงห์ 2 ตัว โดยเอาลำห้วยเป็นเครื่องกั้นเขตแดน และเรียกขานกันต่อๆกันมาว่า “ห้วยช่างเคิ่ง” ที่หมายถึงแบ่งครึ่งกัน ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ดอยสะกาน ราษฎรได้นำข้าวปลาอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากราษฎรที่เมืองนี้ยากจน จึงถวายอาหารอย่างขาดแคลน เมืองนี้จึงถูกเรียกว่า “เมืองแจม”ก่อนที่ชาวบ้านจะเรียกเพี้ยนเป็น “แม่แจ๋ม” และเป็น “แม่แจ่ม”ในปัจจุบัน

หากถามว่าแม่แจ่ม แจ่มตรงไหน ในสายตาของผู้นิยมแสงสีอาจจะมองว่าที่นี่ไม่มีอะไร แต่ในสายตาของผม ที่นี่คือดินแดน less is more เพราะในเมืองเล็กๆอันเรียบง่ายที่ใครและใครหลายๆคนมองผ่าน ที่นี่กับอวลไปด้วยเสน่ห์แห่งความสงบงาม เป็นแจ่มที่แฝงเร้นอยู่ในความเรียบง่าย
จิตรกรรมฝาผนังวัดกองแขก
สุดแจ่ม 5 วัดแห่งแม่แจ่ม

ใครที่เบื่อวัดพุทธพาณิชย์ ขอหวย เลขเบอร์ ปลุกเสก เครื่องรางของขลัง สร้างสิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มุ่งทำบุญแบบศรัทธามาร์เก็ตติ้ง ถ้ามาแม่แจ่มก็จะพบกับบรรยากาศของวัดที่แตกต่าง

วัดที่แม่แจ่มแม้เป็นวัดชุมชนเล็กๆ แต่ว่ามีความขลังมีความสงบงาม ควรค่ากับคำว่าวัด แถมหลายวัดในเมืองนี้ยังมีความโดดเด่นสวยงาม มีเอกลักษณ์กับผลงานพุทธศิลป์ระดับมาสเตอร์พีชอันเป็นเอกอุ

สำหรับวัดสุดแจ่มในแม่แจ่มนั้น ผมขอคัดมา 5 วัด เริ่มกันที่ “วัดกองแขก” อยู่นอกเมืองบนเส้นทางไป อ.ฮอด ผมรู้จักวัดนี้จากคำแนะนำของคุณลุงผู้ใจดีใน อ.แม่แจ่ม

วัดกองแขก เป็นวัดเก่าแก่สร้างจากชาวชุมชนที่เป็นกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาจากต่างเมือง เช่น จาก ลำปาง เชียงแสน น่าน เชียงงคำ เป็นต้น วัดนี้มีวิหารที่สร้างอย่างประณีตสวยงาม ภายในมีจิตกรรมฝาผนังบนแนวคอสอง เรื่องชาดก รูปทวยเทพเทพดา แม้จะเป็นผลงานพุทธศิลป์พื้นบ้าน แต่ฝีมือการสะบัดปลายพู่กันนั้นเหลือร้ายทีเดียว
จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด
เขยิบเข้ามาใกล้เมืองกันที่ “วัดป่าแดด” ที่มีความโดดเด่นเรื่องจิตรกรรมฝาผนังเหมือนกัน โดยจิตรกรรมฝาผนังประดับอยู่ภายในวิหารที่สร้างขึ้นมาพร้อมๆกับการสร้างวัดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 จากนั้นราวๆปี 2428-2430 มีช่างชาวไทยใหญ่ผู้ผ่านทางได้มาแต้ม(วาด)จิตรกรรมฝาผนังขึ้น

จิตกรรมฝาผนังที่นี่เขียนเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก รวมถึงภาพแสดงวิถีชาวชีวิตชาวแม่แจ่มเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ที่ดูแล้วคลาสสิคมาก แถมหลายๆภาพยังมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์
โบสถ์กลางน้ำวัดป่าแดด
นอกจากนี้ที่วัดป่าแดด ยังมีงานสถาปัตยกรรมของตัวอาคารที่น่าสนใจอีกได้แก่ วิหารทรงล้านนาฝีมือช่างพื้นบ้านอันทรงเสน่ห์สมส่วน หอไตรเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 และพระอุโบสถหลังใหม่สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2543 ที่โดดเด่นด้วยลักษณะของโบสถ์กลางน้ำ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอันสวยงาม
ภายในโบสถ์วัดยางหลวง
วัดที่สามคือ“วัดยางหลวง” ตั้งอยู่ใกล้ๆกับวัดป่าแดด ตามประวัติวัดป่าแดดที่สร้างขึ้นแทนวัดทะ วัดเก่าดั้งเดิม ถือเป็นวัดเหนือ ส่วนวัดยางหลวงถือเป็นวัดใต้นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งงานฝีมือ ทั้งการทำปิ่นและการทอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มอันลือลั่น

วันที่ผมเข้าไปแอ่ววัดยางหลวง เป็นวันพระจึงได้เห็นพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย นุ่งขาวห่มขาวถือข้าวของมาทำบุญที่นี่ นับเป็นภาพที่ดูแล้วชวนอิ่มเอิบมาก
พระประธาน-กู่ปราสาท ในวิหาร
หลังผมเข้าไปไหว้พระประธานในโบสถ์พ่ออุ๊ยผู้ใจดีท่านหนึ่ง ชวนผมไปดูอันซีนในวิหารวัดยางหลวงที่อยู่ข้างๆกัน นั่นก็คือ กู่ปราสาท หรือที่เรียกว่า คิชฌกูฏ หรือ กิจกูฏ ที่ตั้งอยู่หลังองค์พระประธาน มีลักษณะเป็นงานศิลปะพม่าผสมเชียงแสน สันนิษฐานว่ากู่ปราสาทนี้สร้างมาก่อน ก่อนจะมาสร้างพระวิหารครอบอีกที จึงนับเป็นวิหารที่น่าชมมาก
อันซีนภาพโบสถ์กล้องรูเข็ม
ในวิหารหลังนี้ยังมีอันซีนอีกอย่างหนึ่งที่พ่ออุ๊ยภูมิใจนำเสนอ โดยพ่ออุ๊ยพาผมไปยืน ณ ตำแหน่ง หลังบานหน้าต่างบานหนึ่ง ก่อนจะปิดไฟ ปิดประตูหน้าต่างจนมืดมิด แล้วบอกให้มองไปยังพื้น ซึ่งองศาของแสงแดดที่ลอดรูเล็กๆเข้ามาได้ตกกระทบจนเกิดเป็นภาพเสมือนจริงของโบสถ์หลังข้างๆ

นับเป็นปรากฏการณ์กล้องรูเข็มลักษณะคล้ายการเกิดพระธาตุหัวกลับที่วัดพระธาตุลำปางหลวงหรือวัดพระธาตุจอมปิง จ.ลำปาง แต่ภาพเงาสะท้อนที่นี่ต่างออกไปตรงที่เป็นลักษณะหัวตั้ง เหมือนปกติ สำหรับอันซีนเงาพระวิหารนี้ถูกค้นพบเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 2547 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 เหนือ โดยทางวัดไม่ได้ระบุผู้ค้นพบเงาอันชวนพิศวงนี้
โบสถ์ไม้กลางน้ำวัดพุทธเอ้น
จากวัดยางหลวง ผ่านตัวอำเภอขึ้นไปทางเหนือที่ ต.ช่างเคิ่ง มีวัดเด่นดังอีกวัดหนึ่งนั่นก็คือ "วัดพุทธเอ้น"

วัดนี้เมื่อแรกเห็นผมก็ถึงทึ่งในงานพุทธศิลป์ที่พบเจอ เป็นวัดที่ดูแล้วสวยงามคลาสสิกมาก โดยเฉพาะโบสถ์กลางน้ำนั้น ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่เลยทีเดียว โบสถ์กลางน้ำวัดพุทธเอ้นสร้างด้วยไม้ เป็นงานพุทธศิลป์พื้นบ้านอันงดงามมีเอกลักษณ์เป็นเอกอุ หลังเล็กกะทัดรัดแต่สมส่วนคลาสสิค หน้าโบสถ์เป็นตาน้ำที่มีน้ำใสไหลรินอยู่ชั่วนาตาปี
ตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพุทธเอ้น
ชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ แต่ละวันจะมีคนมากรอกน้ำศักดิ์สิทธิ์กันไปไม่น้อย ทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่น ซึ่งตาน้ำที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นต้นกำเนิดของการสร้างวัดพุทธเอ้นขึ้น โดยพระภิกษุ 2 รูปที่ธุดงค์ผ่านมาเมื่อครั้งอดีต ได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น
พระธาตุ-วิหาร วัดพุทธเอ้น
ในวัดพุทธเอ้นยังมีพระวิหารหลังงาม ภายในมีประดิษฐานพระประธานดูขรึมขลัง ด้านขวามือ(เมื่อมองเข้าเป็นไป)ประดิษฐานพระเจ้าแสนตอง ส่วนด้านซ้ายมือประดิษฐานพระเจ้าทันใจ นับเป็น 3 องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัดแห่งนี้ ส่วนด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุที่ตรงฐานประดับลวดลายของปี 12 นักษัตร(ล้านนา)
พระเจ้าตนหลวง วัดกองกาน
หากขึ้นเหนือไปอีกนิดในเขต ต.แม่ศึก จะพบวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งนั่นก็คือ “วัดกองกาน” ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านกองกานชื่อเดียวกับวัด

วัดกองกานแม้ปัจจุบันอาคารต่างๆจะบูรณะสร้างใหม่ แต่นี่ถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญมากของ อ.แม่แจ่ม เพราะภายในวิหารวัดกองกานประดิษฐาน “พระเจ้าตนหลวง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม โดยทุกๆปีในช่วงสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะพร้อมใจกันไปสรงน้ำพระเจ้าตนหลวงที่วัดกองกานแห่งนี้

พระเจ้าตนหลวงองค์นี้ เป็นศิลปะล้านนามีหน้าตักกว้างกว่า 9 ศอก สูง 11 ศอก มีขนาดใหญ่ที่สุดใน อ.แม่แจ่ม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานว่า พระเจ้ามังราย ได้เคยเสด็จทางเรือมาที่วัดแห่งนี้ และเกิดอุบัติเหตุเรือแตก จึงต้องมีการทำไม้คานหามขึ้นเพื่อต่อใหม่ แล้วจึงนำไม้คานมากองรวมไว้ที่บริเวณนี้ เลยเป็นที่มาของวัดกองกาน หมู่บ้านกองกาน ซึ่งมาจากกองคานนั่นเอง
ชีวิตที่ผูกพันกับซิ่นตีนจกแม่แจ่มของแม่อุ๊ย
ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

ที่วัดกองกานนอกจากผมจะได้ไหว้องค์พระเจ้าตนหลวงเสริมสิริมงคลแล้ว ยังได้เจอกลุ่มแม่อุ๊ยนุ่งผ้าซิ่นแม่แจ่มลวดลายสวยงามมาทำบุญ

พูดถึงซิ่นตีนจกแม่แจ่มแล้ว นี่นับเป็นอีกหนึ่งผลระดับมาสเตอร์พีชของเมืองไทย ซิ่นตีนจกมีข้อแตกต่างไปจากการทอในท้องถิ่นอื่นๆ คือเป็นการทอหรือจกด้วยการค่ำลายลงกับกี่ทอผ้า แล้วจกทางด้านหลัง ด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เมื่อเสร็จแล้วสามารถสวมนุ่งได้ทั้ง 2 ด้าน นับเป็นงานฝีมือกันเกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มมาช้านาน จนตกผลึกเกิดเป็น ซิ่นตีนจกแม่แจ่มอันลือลั่น
เสน่ห์ทุ่งนาขั้นบันไดแห่งแม่แจ่ม
ทุ่งนาแดนนี้ช่างมีความหมาย

เสน่ห์อันแจ่มแจ๋ว แจ่มจรัส ของแม่แจ่มที่บรรดาขาเที่ยวรู้จักกันเป็นอย่างดียังมีอีกหนึ่งอย่างนั่นก็ คือ “ทุ่งนาขั้นบันได” ซึ่งหากไปในช่วงปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ ทุ่งนาส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวขจี บางทุ่งเริ่มแตกรวง บางทุ่งแตกรวงเหลือง ส่วนบางทุ่ง ต้นข้าวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว

สำหรับจุดชมนาขั้นบันไดนั้นมีที่เด่นอยู่ 3-4 จุด ได้แก่ทุ่งนาขั้นบันไดบ้านกองกาน บ้านแม่ศึก บ้านกองแขก และบ้านแม่ปาน(ในเส้นทางอินทนนท์เข้าแม่แจ่ม)
เขียวขจีนาขั้นบันได
ทุ่งนาในเมืองแม่แจ่มนั้นมีให้เห็นกันทั่วไป ทั้งนาขั้นบันไดและนาในพื้นที่ราบ ทุ่งนาบางแห่งแม้ดูผ่านๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ว่าลึกลงไปแล้วมีวิถีชีวิต มีเรื่องราวอันสมหวัง ผิดหวัง รันทด ข้นแค้นของชาวนาแฝงซ่อนอยู่

อย่างไรก็ดีภาพท้องทุ่งท้องนาอันเขียวขจีที่แม่แจ่มในวันนี้ ถือเป็นดังสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม่แจ่มวันนี้มีสภาพที่ดีกว่าเมืองแจมอันขาดแคลนเมื่อครั้งอดีต ยิ่งมีรถบรรทุกสินค้าการเกษตรวิ่งเข้าออกแม่แจ่มอยู่ไม่น้อย นั่นก็แสดงให้เห็นว่าแม่แจ่มวันนี้ได้เดินห่างไกลจากคำว่าแจมเมื่อกาลก่อนมาหลายช่วงตัว
องค์ประกอบแห่งท้องทุ่งนา
ขณะที่เรื่องของการท่องเที่ยวนั้น ด้วยองค์ประกอบหลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้แม่แจ่มวันนี้ยังคงมีสภาพที่ดีอยู่ ซึ่งผมได้แต่ขอให้แม่แจ่ม เป็นเมืองที่ “แจม”จากกระแสธารแห่งการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นแต่เม็ดเงิน กอบโกย ดังตัวอย่างของเมืองท่องเที่ยวดังๆหลายแห่งที่ถูกความโลภทำลายจนเสียศูนย์
***********************************************************

หมายเหตุ : ใน อ.แม่แจ่ม ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่น อาทิ หมู่บ้าน-ศูนย์วัฒนธรรมทอผ้าซิ่นตีนจก บ้านทำปิ่น สวนป่าแม่แจ่ม พระธาตุวัดช่างเคิ่ง กู่โบราณวัดเจียง วิถีชีวิตชาวบ้าน ประเพณีวัฒนธรรม และกิจกรรมล่องเรือ ล่องแพ ดูนก เที่ยวบ่อน้ำแร่ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น