อ่างทอง - จังหวัดอ่างทอง ทำพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง เพื่อทำการบูรณะใหม่ หลังมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้ภายในศาล และภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านที่วิจิตรงดงามได้เกิดหลุดล่อน และเสื่อมโทรมไปตามสภาพ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (24 ก.ย.) นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองอ่างทอง เพื่อทำการบูรณะใหม่หลังจากเริ่มทรุดโทรม โดยได้มีข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมบริจาคเงินเพื่อบูรณะศาลหลักเมืองในครั้งนี้ด้วย
สำหรับศาลหลักเมืองอ่างทอง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2534 มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนานถึง 21 ปี ทำให้ภายในศาล และภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านที่วิจิตรงดงามได้เกิดหลุดล่อน และเสื่อมโทรมไปตามสภาพ ทางเทศบาลฯ จึงเตรียมบูรณะปรับปรุง และซ่อมแซมองค์ศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่ให้มีความสวยงาม สมกับเป็นหลักชัย และศูนย์รวมใจของคนทั้งจังหวัดซึ่งต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท
ประวัติศาลหลักเมืองอ่างทอง
จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก ได้เสด็จไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุแผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 เวลา 15.30 น.
ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจัตุรมุข (4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดง ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน
เสาหลักเมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยม พื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่งถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณ ถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้น ได้ผ่านพิธีคัดเลือกต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสา และฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์ และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง
ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมือง มีศาลาตรีมุขซึ่งใช้เป็นที่ประทับ หรือที่นั่งขององค์ประธาน หรือประธานในการประกอบพิธีต่างๆ ด้านทิศใต้ มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้ มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และการแสดงต่างๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม
ศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงาม สมกับเป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวอ่างทอง