อ่างทอง - จังหวัดอ่างทอง ทำพิธีบวงสรวง และทำบุญศาลหลักเมือง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีบวงสรวง และทำบุญศาลหลักเมือง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา โดยศาลหลักเมืองอ่างทอง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2534 มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากผ่านกาลเวลามายาวนานถึง 21 ปี ทำให้ภายในศาล และภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ที่วิจิตรงดงามหลุดล่อน และเสื่อมโทรมไปตามสภาพ ทางเทศบาล จึงร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทำการบูรณะ และซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ให้มีความสวยงาม สมกับเป็นหลักชัยของชาวอ่างทอง
สำหรับประวัติศาลหลักเมืองอ่างทองนั้น จังหวัดได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล เป็นที่ปรึกษา
โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก ได้เสด็จเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุแผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง และเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 เวลา 15.30 น.
ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจัตุรมุข ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดง ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแยกสวยงามมาก โดยเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน
เสาหลักเมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยม พื้นปูด้วยหินอ่อน ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่งถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ใน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า “ไม้ขานาง” คือ ลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่งแบบง่ามหนังสติ๊กโบราณ ถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิหาร ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้น ได้ผ่านพิธีคัดเลือกต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสา และฉลองรับขวัญอย่างถูกต้องตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์ และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็นชาวอ่างทอง
ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมือง มีศาลาตรีมุขซึ่งใช้เป็นที่ประทับ หรือที่นั่งขององค์ประธาน หรือประธานในการประกอบพิธีต่างๆ ด้านทิศใต้ มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม และการแสดงต่างๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้สวยงาม