xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละกรมศิลป์ จากเวียงสา-อยุธยา-สุโขทัย เละเทะเกินเยียวยาทั้งแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มรดกโลกอยุธยาที่กลายเป็นมรดกเละในขณะนี้
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักโบราณคดีรุ่นลายคราม “รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม” วิพากษ์กรมศิลป์อย่างเผ็ดร้อน กรณีทาสีทับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบุญยืน จ.น่าน เป็นเพียงเศษเสี้ยวในการบูรณะโบราณสถานของชาติที่บ่งชี้ถึง “ความชุ่ย” และปล่อยปละละเลย แม้กระทั่งมรดกโลกอยุธยา สุโขทัย ก็ยังถูกทำลายกลายเป็นมรดกเละ เสี่ยงสูญสลายเพราะความหิวกระหายเม็ดเงิน ปลุกชุมชนท้องถิ่นฟื้นภูมิปัญญา ต้านอำนาจรัฐ-ทุนเข้ามากอบโกย

ทุกความเห็นจาก รศ.ดร.ศรีศักรอันว่าด้วยแหล่งโบราณสถานและความสำคัญของมรดกทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม ที่ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับด้วยอำนาจรัฐและทุนสามานย์ นับเป็นความเห็นที่คนในชาติควรรับฟังและขบคิดไปพร้อมกัน ก่อนที่ชาติไทยจะไม่หลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ใดๆ ให้ลูกหลานได้เรียนรู้

กรณีเวียงสา กับ ‘อำนาจบาตรใหญ่’ ของกรมศิลปากร

รศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ความเห็นต่อ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ในกรณีที่กรมศิลปากรทาสีทับภาพจิตรกรรมของชาวบ้านเวียงสา โดยวิพากษ์การกระทำของกรมศิลปากรอย่างตรงไปตรงมา ทั้งย้ำว่ากรมศิลปากรควรต้องมีความเข้าใจในทุกมิติทุกบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ก่อนที่จะมีการบูรณะโบราณสถานใดๆ เพราะคนในชุมชนมีสิทธิอันชอบธรรมในการร่วมกันปกป้องดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างเต็มที่ กรมศิลปากรจึงมิควรแสดงอำนาจบาตรใหญ่ทำการแก้ไขปรับปรุงโดยไม่ฟังความคิดเห็นจากคนในท้องถิ่น

“คุณต้องเข้าใจว่ากรมศิลปากรติดนิสัยว่า ‘รัฐเป็นเจ้าของ’ ‘กรมศิลปากรเป็นเจ้าของ กรมศิลปากรจะทำอะไรก็ได้’ เขาติดนิสัยจากระบบอำนาจที่รวมศูนย์ ติดนิสัยแล้วก็ไม่ยอมเปลี่ยนสักทีแม้บ้านเมืองทุกวันนี้จะเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งที่วัดคือสมบัติร่วมของคนท้องถิ่น มีกำหนดไว้ในกฎหมายของรัฐธรรมนูญด้วย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น คุณจะมาละเมิดเขาได้อย่างไร คุณไม่เปลี่ยนสันดานเดิม ว่าสิ่งที่เขาทำขึ้นมันมีความหมายต่อการดำรงชีวิตของเขา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวานั้น ไม่ใช่เพียงรูปแบบทางศิลปกรรมที่คุณจะมาบอกว่าดีหรือไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ออกมาจากภูมิปัญญาของเขาที่มีความหมายในการสอนศีลธรรมจริยธรรม ไม่มีใครเขาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังออกมาแบบอาร์ตแกลเลอรีหรอก ศิลปะของเขาจึงมีความหมาย ไม่ว่าจะเก่าแก่หรือมีอายุเท่าไหร่นั้นไม่สำคัญ เพราะสิ่งสำคัญคือ ความเป็นสมบัติของชุมชน เขาคิดสร้างขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน ดังนั้น กรมศิลปากรทำแบบนี้ คุณไปละเมิดเขา

สิ่งที่ควรทำคือคุณต้องให้แนวคิด แนะนำวิธีการรักษาโบราณสถานที่ดีที่ถูกต้องทางวิชาการแก่ชาวบ้าน แต่ไม่ใช่ว่าจะไปยึดครองของของเขา อยู่ดีๆ คุณจะไปทาสีทับได้อย่างไร กรมศิลปากรต้องถ่อมตัวหน่อย คุณต้องไปฟังความคิดเห็นชาวบ้านว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นมีคุณค่าอย่างไร ต้องอธิบายเขาว่าคุณจะซ่อมอย่างไร ต้องไปฟังความเห็นเขา การที่คุณไปทาสีทับแล้วไม่มีภาพเก่าหลงเหลือนี่คือคุณไปทำลายหลักฐานเขา การทาสีทับนี่ผมไม่เห็นด้วย มีหลายที่ที่เป็นแบบนี้ แม้หลายแห่งไม่ใช่กรณีทาสีทับ แต่เป็นการทำลายหลักฐานดั้งเดิมในรูปแบบอื่นๆ”

สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่กรมศิลปากรทาสีทับนั้น ชาวบ้านเวียงสาเผยว่าเป็นภาพทศชาติชาดกที่ศิลปินในท้องที่เป็นผู้วาดขึ้น แม้อายุของภาพอาจไม่เก่าแก่ถึงร้อยปีแต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจของคนในชุมชน ดังนั้น หากมีการให้เหตุผลแย้งว่าภาพที่ถูกทาสีทับไม่ได้มีความเก่าแก่มีอายุเป็นร้อยปี จึงเป็นการเบี่ยงประเด็นและให้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมนัก เพราะภาพเหล่านั้นมีคุณค่าและความหมายต่อชาวบ้าน แม้จะมีอายุไม่ถึงร้อยปีก็ตาม

“คุณต้องเข้าใจว่าสมัยโบราณเขาสอนศาสนาผ่านชาดก เขาสอนอริยสัจสี่ สอนเกี่ยวกับการพัฒนาจิตให้ดีขึ้น ให้ถือตามพระโพธิสัตว์คือสัตว์ที่ตื่นแล้ว ตั้งแต่สัตว์ตระกูลต่ำเรื่อยมาเลย ดังนั้น ในสมัยโบราณสมัยหลายพันปีก่อน เขาสอนกันตั้งแต่ 550 ชาติ แต่เมื่อมาถึงสมัยอยุธยา สุโขทัยลงมา เขาสอนกัน 10 ชาติ คือสอนในชาติที่สัตว์พัฒนามาเป็นมนุษย์แล้ว สอนสิบชาติตั้งแต่พระมหาชนกเรื่อยมา มาจนถึงการให้ทานในชาติสุดท้ายคือมหาชาติ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญทานขั้นสูงสุด นั่นคือการอบรมคติธรรมทางศาสนา คือการพัฒนาจิต อบรมจิตให้ตื่นขึ้นมา

ชาวบ้านก็ได้รับการอบรมแบบนี้มาตลอด และภาพนี้จึงถูกเขียนอยู่ตามจิตรกรรมฝาผนังของวัดทุกวัด เขาสอนศีลธรม สอนสิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่แค่ภาพวาดที่เป็นศิลปะ แต่มันมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเขา กรมศิลปากรไม่เคยเรียนสิ่งเหล่านี้ ต้องบอกให้อธิบดีอบรมกันหน่อย ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวบ้าน ไม่ว่า วิริยะ อุตสาหะ เนกขัมมะ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่องพระมหาชนก พระองค์ท่านก็สอนถึงสิ่งเหล่านี้ คือความอุตสาหะ พยายาม โดยเฉพาะชาติสุดท้ายคือการบำเพ็ญทานบารมี นั่นคือการสอนให้คนมีจิตใจที่พร้อมจะให้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาอย่างทุนนิยมสมัยนี้”

ดังนั้น ในความเห็นของ รศ.ดร.ศรีศักร การที่กรมศิลปากรทาสีทับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบุญยืน จึงแสดงออกถึงการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ใส่ใจฟังความคิดเห็นคนในท้องถิ่น
“มันเป็นการชอบแสดงอำนาจ บังคับโดยไม่ฟังเขา คุณควรจะฟังเขา ไม่ใช่ไปบังคับ กรมศิลปากรผิด ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อสิทธิที่เขามีต่อมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ชาวบ้านฟ้องศาลได้เลย การกระทำนี้ของกรมศิลปากรเป็นการกระทำที่เลว ต้องอบรมหน่อย กรมศิลปากรผิดเต็มที่ เพราะชาวบ้านเขาไม่ยินยอม คุณเข้าไปแบบนี้คุณละเมิดเขา อธิบดีกรมศิลปากรต้องไปปูผ้าขาวกราบชาวบ้านเขา ขอโทษเขา”
รศ.ดร. ศรีศักร วัลลิโภดม
‘มรดกโลก มรดกเละ’ ธุรกิจท่องเที่ยวในโลกทุนนิยม

นอกจากกรณีทำลายภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดบุญยืน ที่ อ. เวียงสาแล้ว รศ.ดร.ศรีศักรยังวิพากษ์นโยบายของรัฐ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงทุกภาคส่วนของสังคมที่ล้วนเกี่ยวข้องต่อการ ‘ทำลาย’ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ภายใต้การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมแบบจอมปลอมของโลกทุนนิยม ทั้งไม่ลืมที่จะหยิบยกกรณี อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่เต็มไปด้วยแหล่งโบราณสถานแต่กลับขาดการจัดการที่เหมาะสม

รวมถึงการตีแผ่โฉมหน้า ‘มรดกโลก’ ที่ภายใต้หน้ากากของการอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมนั้น แท้ที่จริงเป็นเพียงการสมรู้ร่วมคิดของเครือข่ายธุรกิจข้ามชาติ เพราะเหตุนั้น เขาพระวิหารจึงไม่สมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะไม่เช่นนั้นกลุ่มทุนจะเข้ามาแสวงผลประโยชน์โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าไทยหรือเขมรไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ

“เชียงแสนนี่มีปัญหาเพราะบริเวณตัวเมือง กรมศิลปากรไม่มีสิทธิ์เลย ด้วยความโง่ของกรมศิลปากร ไม่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นเขตโบราณสถานทั้งหมด ทั้งที่ปกติแล้วเขตเมืองโบราณต้องขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด ไม่ให้คนอยู่ หรือถ้าคนจะเข้าไปอยู่ก็ต้องระวัง แต่นี่กรมศิลปากรไม่ได้คุมทั้งพื้นที่ ดูแลเจาะไปเฉพาะตัวโบราณสถาน ก็เลยโทรม คนอื่นก็เข้ามารุก ร้อยพ่อพันแม่ ควบคุมไม่ได้ จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็ไม่ได้ มันรกโลกแล้ว แล้วตรงนั้นกลายเป็นท่าเรือ สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์พังฉิบหายหมด เพราะกรมศิลปากรไม่เคยสนใจ รัฐไม่เคยสนใจที่จะมากำหนดว่าที่นี่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นความผิด ตอนนี้ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว การค้ามาแทรกหมดฉิบหายหมดแล้ว เป็นสิ่งที่น่าสลด

สิ่งที่ควรทำกรมศิลปากรไม่ทำ ถามว่าผู้ใหญ่ในกรมศิลปากรเคยคิดทำไหม แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่คิดทำ รัฐบาลก็ไม่คิดทำ ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. เคยมีการขึ้นไปศึกษา แต่ก็ไม่มีใครคิดขึ้นทะเบียนเชียงแสนให้ทั้งเมืองเป็นเมืองประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งสุโขทัยตอนนี้ก็ยังถูกรุกล้ำ ถูกทุนนิยมรุกล้ำแล้วยังดัดจริตทำแสงสีเสียง คราวนี้ก็ยิ่งเละใหญ่ เพราะกลายเป็นแหล่งการค้า

มรดกโลกนี่แนวคิดในระยะแรกดี เป็นแนวคิดของคนตะวันตกที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งที่เป็นแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน แหล่งศิลปกรรมของประเทศต่างๆ ให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้ แต่ทุกวันนี้มันเพี้ยน มันกลายเป็นแหล่งเพื่อการท่องเที่ยว กลายเป็นแหล่งค้าขายข้ามชาติ กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามชาติ ทั้งหลวงพระบาง ฮอยอัน นครวัด กลายเป็นแหล่งที่มีสัมปทานเพื่อการท่องเที่ยวแทนที่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แล้วก็เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย นี่เป็นความเลวร้ายของมรดกโลกที่ผิดเพี้ยนไป แล้วเราก็ถูกกระตุ้นจากแรงผลักดันของพวกการท่องเที่ยวให้มีรายได้เข้าประเทศ ฉิบหายใหญ่ ฉิบหายหมด

“มรดกโลกบางแห่งในเมืองไทยชี้ได้เลย เป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามชาติ ค้าขายโดยที่ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย เหมือนกรณีเขาพระวิหาร ถ้าเราสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เราไม่ได้เสียแค่ 4.6 ตารางกิโลเมตร มันจะเสียมากกว่านั้น เพราะมันจะกลายเป็นแหล่งมรดกโลก การค้าข้ามชาติก็จะเข้ามา นายทุนข้ามชาติจะเข้ามา ชาวบ้านทั้งสองฝ่ายไม่ได้อะไร เป็นส่วนหนึ่งของการขายประเทศ แบบเดียวกัน ไทย-เขมรเหมือนกัน

ดังนั้นไม่ต้องเป็นมรดกโลก ไม่เห็นจำเป็นเลย ใครอยากดูให้มาดู เหมือนพม่า โบราณสถานของเขาไม่ได้เป็นมรดกโลกนะ เขาไม่ให้พวกมรดกโลกเข้ามายุ่งเกี่ยว คนก็ไปดูกันเอง มรดกโลกอยู่ที่คุณค่าในตัวเอง คนเขาเข้าไปหาเอง ไม่ต้องมาเที่ยวโฆษณาแบบนี้ นี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เลอะเทอะ เหมือนสุโขทัย อยุธยา เละตุ้มเป๊ะไปแล้ว ประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยน เนื้อหาเปลี่ยน ผิดเพี้ยน คุณเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เล่นเป็นนิยายไปเลย โดยเฉพาะไอ้แสงสีเสียงนี่ฉิบหายหมด ละเลงกันเลอะเทอะ”

ในมุมมองของ รศ.ดร.ศรีศักร สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการพยายามผลักดันให้แหล่งโบราณสถานต่างๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็คือ “ลำดับแรก เราต้องทำให้เป็นมรดกของท้องถิ่นเสียก่อน กระตุ้นให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่า ย้ำว่าเห็นคุณค่านะครับ ไม่ใช่เห็นมูลค่านะ แต่เห็นคุณค่าเพื่อที่เขาจะได้รักษาไว้ และทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คนจากข้างนอกทั่วโลกเข้ามาศึกษา แต่นี่ไม่ทำ รัฐยื่นมือเข้าไปจัดการเพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว แหล่งมรดกโลกหลายแห่งในโลกเป็นแหล่งที่ดี ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตมโหฬาร แต่มีนนิ่ง (meaning-ความหมาย) ของมันมีมาก มีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม ความหมายเดิมคงอยู่ แต่นี่หลายอย่างมันผิดเพี้ยนไปหมด

อย่างสุโขทัย อยุธยาตอนนี้แก้ไขไม่ได้หรอก มันถึงคราววิบัติ คือพวกผมไม่มีอำนาจ ทำได้แค่ถ่ายรูปเก็บไว้ บางทีก็ต้องชำระรูปแล้วนำมาเขียนถึง เราทำมาครึ่งศตวรรษแล้ว กระทั่งช่วงหลังๆ ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สแกนไว้ ทุกวันนี้ภาพชุดเก่าๆ ของโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เหลือแล้วนะ รูปเก่าๆ กรมศิลปากรเขาไม่เก็บเอาไว้ ทำลายหมดแล้ว อยุธยา สุโขทัย รูปเก่าๆ ก็ไม่มีเหลือแล้ว แต่เราเก็บไว้เพื่อวันข้างหน้า เพื่อที่คนรุ่นหลังถ้าเขาอยากฟื้นฟูใหม่ และเขาคิดเป็นทำเป็น เขาจะได้มีหลักฐานไว้ศึกษา”
ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กรมศิลปากรที่เข้ามาบูรณะวัดบุญยืน อ.เวียงสา จ.น่าน โดยทาสีทับภาพจิตรกรรมของชาวบ้าน
คนในท้องถิ่นต้องดูแลมรดกทางวัฒนธรรม อย่าให้ ‘อำนาจรัฐ’ เข้ามากอบโกย

“เราผิดมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ เราพัฒนาประเทศผิด เราพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง แต่เราไม่พัฒนาสังคม วัฒนธรรม สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของเราฉิบหายหมด สูญหายหมด ศาสนาพัง เมื่อศาสนาพังก็กลายเป็นไสยศาสตร์ สถาบันครอบครัวพัง สถาบันครอบครัวที่เกี่ยวกับการแต่งงานพัง ชุมชนก็แหลก เมืองไทยถึงเวลาที่วิกฤตที่สุด

ผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายนะ ผมว่าเมืองไทยมันฉิบหายแล้ว แค่รอว่าความวิบัติมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังว่าหลังจากวิบัติแล้วจะฟื้นด้วยวิธีอะไร คนแก่ๆ อย่างผม อายุมากกว่าศตวรรษสิ่งที่ทำได้ก็คือการรวบรวมสิ่งที่เป็นความรู้ความเข้าใจเก็บไว้ เพื่อที่เมื่อถึงเวลา เด็กๆ รุ่นหลังที่เขามีความเข้าใจจะได้ใช้เพื่อฟื้นฟูและพัฒนา ยกตัวอย่างเวียดนาม บ้านเมืองเขาถูกทำลายเมื่อ 16-17 ปีที่แล้ว ราบเป็นหน้ากองเลย แต่เขาฟื้นขึ้นมาได้ เพราะเขามีภูมิปัญญาที่มันไม่สูญหายไปไหน ส่วนของเรานี่เราไม่เคยถูกทำลายจากสงคราม แต่เราทำลายตัวเอง

เปรียบเหมือนเราทำลายบ้านเมืองแล้วเราปูซีเมนต์ราดทับพื้นดินไว้หมด มันก็ไม่เกิดหญ้าแพรกที่จะงอกขึ้นมา มันก็ฉิบหายหมด เราถึงได้ตกต่ำลงทุกทีเมื่อเทียบกับเวียดนาม เพราะเหตุนี้เราจึงเป็นพี่น้องกับเขมรได้ ในเอเชียอาคเนย์ ทั้งหมดนี่นะ ไอ้ที่ตกต่ำที่สุดคือ ‘เขมรกับไทย’ เป็นประเทศ ‘ฟอร์เซล’ เป็น ‘คันทรีฟอร์เซล’ และมีทรราชเหมือนกันคือท่านฮุนเซน ท่านทักษิณ”

ครั้นถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่อำเภอเวียงสา จะเป็นกรณีสุดท้ายหรือไม่ รศ.ดร.ศรีศักรตอบว่า

“ไม่หรอก มันมีอยู่ทั่วราชอาณาจักรนั่นแหละ เพียงแต่มันไม่เจอแจ็กพอตว่าท้องถิ่นเขาจะเข้มแข็งหรือเปล่า ถ้าชาวบ้านเขารวมตัวกันเข้มแข็ง อัดกลับไปแรงๆ กรมศิลปากรก็ทำอะไรไม่ได้หรอก รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็ไม่เคยใส่ใจ นับแต่ยุคจอมพล สฤษดิ์ จนการท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาจึงเริ่มหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจ สนใจเพื่อทำให้เกิดรายได้ โดยมี ททท.เป็นกลไกที่ทำให้เกิดความเสียหายทั่วราชอาณาจักร ดูจากมรดกโลก ประเทศที่เป็นเหยื่อก็มีหลวงพระบาง และเวียดนาม ถามว่าคนเวียดนามได้อะไร คนหลวงพระบางได้อะไร ไม่ได้เลย มีแต่คนข้ามชาติมากอบโกย

ดังนั้น คนในท้องถิ่นต้องรักษาบ้านเกิดของตัวเอง ถ้ารักษาไม่ได้ คุณก็ละลายไปกับอำนาจทุน รัฐบาล ตอนนี้เป็นรัฐบาลที่ไม่มีน้ำยาแล้ว มันคอร์รัปชัน มันเสียศีลธรรมกันไปหมด แล้วสภาพที่รัฐมันไร้จริยธรรมนี้แหละ ท้องถิ่นจึงต้องช่วยตัวเอง ท้องถิ่นไหน บ้านเกิดไหนที่เข้าใจ ก็จะรักษาสังคมตัวเองไว้ได้

ผมคิดว่าขณะนี้มีการเคลื่อนจากข้างล่างเยอะ ในหลายท้องถิ่นมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาบ้านเกิด หลายคนพังไปแล้ว แต่หลายบ้านเกิดฟื้นได้ ที่เขาฟื้นได้เพราะเขานำสิ่งเก่าๆ กลับมาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้สืบต่อ เช่น ชาวไทใหญ่ทางภาคเหนือ หรือหลายๆ แห่งในอีสานก็รื้อฟื้นภูมิปัญญาเดิมกลับมา

เราต้องชี้ให้เห็นว่าอดีตของเราเป็นอย่างไร และภูมิปัญญาที่เราเคยมีนั้นฉิบหายได้อย่างไร จริงๆ แล้ว เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมเราในอดีต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านเพียงแต่อธิบายว่าสิ่งเหล่านี้นั้นควบคุมได้ แต่พวกที่ไม่เข้าใจก็ไปวิสัชนาอะไรต่างๆ นานา ทั้งที่ความพอเพียงคือกำพืดของเรา ถ้าเราเข้าใจรากตรงนี้ เราก็จะฟื้นได้ เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มันวิบัติเพราะมีพวกสัตว์นรกมันแผ่ไปทั่ว มันมาจากอเวจีเป็นแถวเลย”
                                            .....
 
*หมายเหตุ
อ่านรายละเอียดข่าว 'โวยลั่นกรมศิลป์บูรณะวัดเก่าเมืองน่านมั่ว แถมเจอพิรุธรอยปูนใหม่ทับฐานพระประธาน' คลิกที่
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000048627 
อ่านรายละเอียดข่าว 'กองทุนมรดกโลกเผย “อยุธยา” ติดท็อปลิสต์ “มรดกสถาปัตยกรรมในเอเชีย” ที่เสี่ยงสูญสลาย' คลิกที่http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000055226
การเข้ามาตรวจสอบการทาสีทับภาพจิตรกรรมที่วัดบุญยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น