xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายทอดความสำเร็จ “บาธรูมดีไซน์” บนแนวคิด ศก.พอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ เจ้าของบาธรูมดีไซน์
ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เติบโตและแข่งขันกับนานาอารยประเทศในโลกได้ ดังนั้น การยกระดับ พัฒนาเอสเอ็มอี จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อย ที่ประสบความสำคัญทั้งด้านการเติบโตทางธุรกิจ และสังคมควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน ที่น่าจะเป็นเยี่ยงอย่างให้กับเอสเอ็มอีรายอื่นๆได้ อาทิ เช่น บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด

ความสำเร็จ และความน่าสนใจของ บริษัทบาธรูม ดีไซน์ จำกัด ที่เราได้เลือกนำเสนอในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากรางวัลต่างๆที่ได้รับจำนวนมากมายว่าทำงานอย่างไรทำไมถึงได้รับรางวัลมากมายเหล่านิ้ อาทิ รางวัลหน่วยงานดีเด่นแห่งชาติ 2552 จัดโดยสำนักเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ รางวัลนักออกแบบดีเด่น 3 ปีซ้อน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) รางวัล ชนะเลิศผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2555 สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมา จากสำนักงานพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ (กปร.) รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น รวมไปถึงรางวัลด้านงานดีไซน์ที่ได้รับในต่างประเทศ เป็นต้น

ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัทบาธรูมดีไซน์ จำกัด เล่าถึงความสำเร็จของบาธรูม ดีไซน์ ว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทเหมือนกับธุรกิจเอสเอ็มอี ทั่วๆไป เริ่มจากรับสินค้ามาขาย เกิดวิกฤติ ค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 ทำให้สินค้าที่นำเข้ามามีราคาแพง จึงตัดสินใจผลิตเอง และความตั้งใจในตอนนั้น คือ ต้องใช้พนักงานและนักออกแบบที่เป็นคนไทยเท่านั้น และต้องนำสินค้าแบรนด์ของคนไทยกลับไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศให้ได้ ซึ่งในตอนนั้นรู้ว่า ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และต้องมีความเสี่ยงสูง แต่สิ่งที่ยึดมั่นและทำมาตลอด คือการเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวง ก็มาจากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่คนไทยทุกคน

สำหรับบริษัท บาธรูมดีไซน์ ก่อตั้งปี 2538 ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก 1 ล้านบาท ดำเนินการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งห้องน้ำที่กล้าปฏิวัติรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องน้ำในเมืองไทย ทั้งในด้านดีไซน์ เทคโนโลยี และฟังก์ชั่น โดยความสำเร็จเกิดจากการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในประเทศและต่างประเทศปัจจุบันมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีรางวัลนวัตกรรมระดับประเทศและระดับโลกไม่ว่าจะเป็น DE Mark G-Mark จนถึง Red Dot Design Award เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ

ยึดหลักทำสิ่งที่รักและถนัด
ตามวิถีพุทธแบบพอเพียง

ดร.วัชรมงคล มีแนวคิดในการดำเนินงาน โดยยึดหลักมีความสุขทุกขั้นตอนในการทำงาน ด้วยการรักษาสมดุลของธุรกิจด้วยการบริหารแบบพอเพียง ด้วยพื้นฐานการทำงานในแบบที่เรารักและถนัด อีกทั้ง ยังนำหลักในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจโดยมีหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. ผลิตให้มาก คือ ทำในสิ่งที่เรารักให้มาก จะทำให้การทำงานเหมือนเป็นงานอดิเรก
2. ใช้แต่พอดี คือ มีความสุขจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น อยู่อย่างพอเพียง
3. เหลือช่วยผู้อื่น คือ มีความสุขจากการแบ่งปันให้กับพนักงาน ลูกค้า และสังคม ซึ่งถ้าเราไม่เคยพอก็จะไม่มีเหลือให้คนอื่น

ทั้งนี้ ดร.วัชรมงคล กล่าวถึงการบริหารงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างน่าสนใจว่า “การรักษาสมดุลของธุรกิจด้วยการบริหารแบบพอเพียงนั้น ทั้งหลายทั้งปวงมาจากแนวทางของเศรษกิจพอเพียงคือ เราจะทำในสิ่งที่เรารักและถนัด ซึ่งแนวทางคือพอประมาณ มีภูมิต้านทาน และมีเหตุผล ถ้า 3 ห่วงคล้องกัน ตัวที่อยู่ตรงกลางก็คือหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง แต่หากเราพอประมาณแต่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากพึ่งพาตัวเองอย่างเดียว พอตลาดต่างประเทศเข้ามาเราก็แย่ ในขณะเดียวกันหากแข่งขันได้ แต่ไปเอาเปรียบคนอื่น ลูกค้า ลูกน้องก็หนีไปที่อื่นหมด หรือเอาเปรียบชุมชน ก็เป็นแบบอุตสาหกรรมที่เราเห็นๆกันอยู่ คือการเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นธุรกิจของเรา เราต้องพึ่งพาตัวเองได้ และสามารถขยายธุรกิจอย่างพอประมาณ ไม่กู้เงินเยอะเกินไป อัตราส่วนที่กู้ต้องไม่เกินหนึ่งต่อหนึ่ง พอขยายธุรกิจแล้ว เราต้องหมุนเวียนให้ทุนเพิ่ม และควบคุมปริมาณเฉพาะให้หมุนเวียนได้เร็วที่สุด และที่สำคัญคือเราต้องควบคุมรายรับรายจ่ายให้ดีที่สุด เท่านี้บริษัทก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง”

ดูแลพนักงานเหมือนพี่น้อง
ปฏิบัติลูกค้าเสมือนญาติ

ทั้งนี้ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ใช้หลักการบริหารตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กับหลักธรรมแบบพุทธและการจัดการที่ทันสมัย รวมไปถึงการปกครองพนักงานด้วยความรัก ทำให้บริษัทที่ก่อตั้งจากคูหาเล็กๆเพียง 1 ห้องขยายเช่าคูหาเพิ่มเป็น 6 ห้องและในปัจจุบันบริษัทมีโรงงานประกอบและผลิตสินค้าของตัวเองที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และยังวางเป้าหมายในการทำธุรกิจเอาไว้อย่างชัดเจน คือดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติอย่างเป็นธรรม ทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบถี่ถ้วนไม่มีอคติ โดยคำนึงถึงหลักเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมต่างๆก่อนเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องอันจะก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขนั่นเอง ทั้งนี้บริษัทได้แบ่งกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็นสังคมใกล้และสังคมไกล ซึ่งสังคมใกล้ได้แก่

1. พนักงาน- บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความรักเหมือนพี่น้อง ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปและมีการจ่ายโบนัสทุกปี นอกจากนี้ยังดูแลในเรื่องของสวัสดิการต่างๆอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพการศึกษาตลอดจนการช่วยสนับสนุนให้พนักงานทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน และจัดกิจกรรมลดค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้พนักงานของบริษัทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. ลูกค้าหรือผู้บริโภค- บริษัทปฎิบัติต่อลูกค้าด้วยความรักเหมือนคุณพ่อคุณแม่ โดยการนำมาตรฐานการรับรองคุณภาพสินค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ทำให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดและคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายไปนั่นเอง

3. คู่ค้า- บริษัทปฎิบัติต่อคู่ค้าด้วยความรักเหมือนญาติในครอบครัว กล่าวคือมีความซื่อสัตย์สุจริตในการติดต่อธุรกิจกับคู่ค้าโดยยึดหลัก WIN-WIN และมีการจัดทำสัญญาทางธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลงานดีไซน์อ่างอาบน้ำ
เป้าหมายทางสังคม (Social Mission)
หนึ่งในหัวใจความสำเร็จ

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันนี้ หลายๆบริษัทก็ไม่ได้มุ่งหวังที่ผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆเช่น การให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นสังคมใกล้หรือไกลจากสถานประกอบการ การให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา การทำนุบำรุงศาสนา เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์สุขและความสุขให้แก่สังคมโดยรวมด้วย

สำหรับบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัดเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีการกำหนดเป้าหมายทางสังคมเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทนั่นคือ “การสร้างสังคมที่ดีตามวิถีแห่งความพอเพียง”โดยเริ่มจากการที่บริษัทได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล โดยการเอาใจใส่ต่อผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดให้มีโครงการส่งเสริมให้พนักงานเป็นคนดี เช่น การจัดทำโครงการ “สร้างสายใยรักบ้านเด็กอ่อนรังสิต” โดยการจัดให้พนักงานทุกคนหมุนเวียนออกไปปฏิบัติหน้าที่ และทำความดีรับใช้สังคมโดยไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆทุกๆวันพุธ เป็นต้น

นอกจากความสำเร็จทางธุรกิจที่บริษัทได้รับจากการนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้แล้ว บริษัทยังได้ต่อยอดความสำเร็จนี้ด้วยการนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและกลยุทธ์ทางด้านจริยธรรมไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรม CSR ของบริษัทที่หมู่บ้านซับผุด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้ชื่อโครงการ “ซับผุดโมเดล” ซึ่งปัญหาที่เกิดกับชาวบ้านคือผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ประกอบกับสระน้ำสาธารณะในหมู่บ้านไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่เพียงพอกับหนี้สิน ทางบริษัทได้เข้าไปศึกษาข้อมูลปัญหาและร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน โดยได้วางเป้าหมายที่จะทำให้หมู่บ้านซับผุดเป็นต้นแบบของแหล่งศึกษา หรือแหล่งเรียนรู้การพัฒนาชุมชนด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสมดุลมั่นคงและยั่งยืน โดยได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ปัจจุบันโครงการนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านเคยมีปัญหาขาดแคลนไม่พอใช้ ให้สามารถกลับมามีใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกพืชเกษตรนอกฤดูกาลเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนได้ โดยมีชาวบ้านในหมู่บ้านซับผุดที่ได้รับประโยชน์จากโครงการวางท่อส่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งกว่า 70 ครอบครัวหรือคิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 1,180 ไร่ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาสู่หมู่บ้าน และช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ เอื้อเฝื้อเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนในระยะยาวนั่นเอง

โดยบริษัทได้ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงานคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีบนพื้นฐานแห่งความรู้คู่คุณธรรม และด้วยความร่วมมืออันดีของหลายๆภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคธุรกิจ รวมทั้งชาวบ้านเจ้าของพื้นที่เองก็ช่วยทำให้โครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินโครงการอื่นๆต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย ได้แก่ โครงการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น การสอนชาวบ้านทำสวนสมุนไพรเกษตรทฤษฎีใหม่ สวนยางพารา การปลูกผักนอกฤดูกาล เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เป็นต้น

ดร.วัชรมงคล กล่าวถึงหลักการทำ CSR ของบริษัทว่า “การทำธุรกิจหากมุ่งแต่ผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง โดยไปเอาเปรียบลูกค้า เอาเปรียบลูกจ้าง หรือทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง มันจะทำกำไรได้แค่วันเดียว แต่ถ้าเราไม่ได้มองผลกำไรเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว หากแต่เรามองถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการนำหลักธรรมาภิบาลมาทำร่วมกับ CSR ที่ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่หมายถึงชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย องค์กรเราจึงมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพอเพียง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
ผลงานดีไซน์ที่ได้รับรางวัลในต่างประเทศ
บทสรุป

ดร.วัชรมงคล ทิ้งบทสรุป (Summary) ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ หากจะมองถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัทจริงๆแล้ว คือการผสมผสานการบริหารงานรูปแบบต่างๆเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักพระพุทธศาสนา และหลักการบริหารรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจ จนทำให้ขณะนี้เป้าหมายของบริษัทที่ตั้งไว้ในการขึ้นไปเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสินค้าในห้องน้ำ 1 ใน 5ของโลกในปี 2020 นั้นใกล้เคียงความจริงเข้าไปทุกที ซึ่งพิสูจน์ได้จากรางวัลด้านการออกแบบในระดับโลกที่ได้มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้างพนักงานให้มีคุณธรรม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตของบริษัทนั้นก็เพื่อจะเป็นการสร้างรากฐานของ "พลเมืองที่เก่งและดี" เพราะเมื่อบริษัทสร้างให้พนักงานทั้งองค์กรมีคุณธรรมแล้ว บริษัทก็จะสามารถสร้างองค์กรที่มีคุณธรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะต้องใช้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมมาภิบาล เพื่อช่วยในการสร้างประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจสังคม และเมื่อใดที่บริษัทมีความเข้มแข็ง บริษัทจึงจะมีโอกาสในการนำความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรขององค์กรไปทำประโยชน์ในการแบ่งปันและช่วยเหลือสังคมภายนอกให้มีความเข้มแข็งควบคู่ไปด้วย และจากความเข้มแข็ง และความเป็นต้นแบบตามวิถีแห่งความพอเพียงของสังคมย่อยภายในบริษัทนี่เองที่จะช่วยในการขยายผลไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของสังคมในภาพใหญ่ต่อไปในที่สุด

โทร. 0-2901-1254 ต่อ 101 ,www.bd-suffciencyeconomy.com
กำลังโหลดความคิดเห็น