ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์แทบทุกรายต่างสนับสนุนแนวความคิดของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ และการเปิดเสรีการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์หรือค่าคอมมิชชั่น
เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นหรือคนในอาชีพไหนๆ ที่ย่อมไม่อยากให้ใครมาทุบหม้อข้าวของตัวเองที่ผูกขาด แบ่งกันกินในหมู่พวกเดียวกัน 36 รายมานานนับสิบปี
ธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีกำไรปีละหลายพันล้านบาทสร้างผลตอบแทนอย่างงามให้ผู้ถือหุ้น มีเงินจ่ายโบนัสพนักงานปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 เดือน ความจริงแล้วเป็นธุรกิจที่ได้รับการอุดหนุนโอบอุ้มจากรัฐมาอย่างยาวนาน ทั้งในรูปของการยินยอมให้คงอำนาจการผูกขาดการประกอบธุรกิจไว้ และการอุดหนุนด้านราคา คือการประกันราคาค่าคอมมิชชั่นขั้นต่ำที่จะได้จากการซื้อขายหุ้นว่า จะต้องไม่ต่ำว่าร้อยละ 0.25 ของมูลค่าการซื้อขาย
ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากการรับประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง สับปะรด หอมแดง ฯลฯ จะต่างกันก็ที่รุปแบบที่ซ่อนเร้นแนบเนียนกว่า และตรงที่ โบรกเกอร์ที่ได้รับการประกันราคาค่าคอมมิวชั่นนั้นร่ำรวยมหาศาลกว่าชาวนาชาวไร่ หลายร้อยเท่า แต่ก็ยังได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากรัฐเท่าเทียมกัน
ตลาดหุ้นไทยซึ่งจะมีอายุครบ 37 ปีในวันที่ 30 เมษายนนี้ เคยยืนอยู่แถวหน้าของบรรดาตลาดหุ้นในกลุ่มอาเซียน เคยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10 % ในช่วงปี 2535-2538 แต่ลดลงมาเหลือเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในไทยและเอเชีย และหลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยก็ตกอยู่ในสภาพถอยหลังเข้าคลอง ไม่เคยมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 5% เลยจนถึงบัดนี้
สาเหตุแห่งความตกต่ำของตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน มีหลายสาเหตุ เช่น เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจไทยที่มีบริษัทใหญ่ๆ อยู่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นหมดแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นมีสินค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจไม่มากพอ ธุรกิจไทยยังนิยมการระดมทุนจากตลาดเงินมากกว่าตลาดทุน ความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องการลงทุนของคนไทย ภาครัฐไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องตลาดทุน ฯลฯ
การผูกขาดเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่พัฒนา แม้ว่าจะเกิดขึ้นก่อนประเทศอื่นๆ หลายประเทศ และมีอายุยาวนานจะครบ 4 ทศวรรษแล้ว เป็นการผูดขาดแบบครบวงจรคือผูกขาดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นตลาดซื้อขายหุ้นเพียงตลาดเดียวในประเทศไทย และการซื้อขายหุ้นในตลาดถูกผูกขาดอีกชั้นหนึ่ง โดยต้องซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีอยู่ 36 รายเท่านั้น รวมทั้งการที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ครึ่งหนึ่งมาจากโบรกเกอร์ การตัดสินใจของตลาดหลักทรัพย์จึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของโบรกเกอร์เป็นหลัก
การผูกขาดทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน รัฐบาลชุดที่แล้วได้ผลักดันการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ และการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ตามข้อเสนอของ ก.ล.ต.โดยการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกการผูกขาดในกิจการตลาดหลักทรัพย์และให้แปรรูปตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งสามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดได้ นอกจากนั้นยังยกเลิกข้อกำหนดที่ให้การซื้อขายหุ้นต้องซื้อขายผ่านสมาชิกตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 มีมติเห็นชอบ และให้ส่างร่าง พ.ร.บ.แก้ไขให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร แต่หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนรัฐบาล
การแปรสภาพตลาดหุ้นเป็นบริษัทมหาชนจะทำให้โบรกเกอร์หมดอำนาจการควบคุมการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่การยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่มิใช่สมาชิกตลาดหลักทรัพย์ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นในตลาดคือการสลายการผูกขาดการซื้อขายหุ้น เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี
ส่วนการเปิดเสรีค่าคอมมิสชั่นการซื้อขายหุ้นนั้น ก.ล.ต.ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว โดยกำหนดให้คิดค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2552 หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ได้เปลี่ยนอัตราค่าคอมมิชชั่นเป็นแบบขั้นบันได คือ ซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 0.25 ซื้อขาย 1 ล้านบาท-10 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.22 ซื้อขาย 10 ล้านบาท–20 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.18 ซื้อขายเกิน 20 ล้านบาท ให้ต่อรองค่าธรรมเนียมได้โดยเสรีและตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ให้ยกเลิกอัตราค่าคอมมิชชั่นเหล่านี้ โดยให้เปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นเต็มที่ เท่ากับเป็นการยกเลิกระบบการประกันราคาค่าคอมมิชชั่น ไปโดยปริยาย
นายกิตติรัตน์นั้นคัดค้านการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์และการเปิดเสรีมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เขาได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ในตอนนั้น นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ ซึ่งการแปรรูปและเปิดเสรีตลาดหลักทรัพย์นั้น เกิดขึ้นจากการผลักดันของ ก.ล.ต.ในยุคที่นายธีระชัยเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.อยู่ นายกิตติรัตน์จึงยังไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ จนกระทั่ง นายธีระชัยลาออก และนายกิตติรัตน์มาว่าการกระทรวงการคลังเอง จึงส่งเสียงดังได้อย่างเต็มที่ว่า อยากให้ ก.ล.ต.ทบทวนการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น
ส่วนเรื่องแปรสภาพตลาดหุ้นและเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์นั้นลืมไปได้เลย เพราะถ้ารัฐบาลดองร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่แก้ไขใหม่ไว้ ตลาดหลักทรัพย์ก็ยังจะเป็นของโบรกเกอร์ โดยโบรกเกอร์ และเพื่อโบรกเกอร์ต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 37 ปี