โดย...สุกัญญา แสงงาม
มหาอุทกภัยครั้งนี้ ส่งผลให้มรดกโลก โบราณสถานหลายแห่ง จมอยู่ใต้บาดาลยาวนานกว่า 2 เดือน กรมศิลปากร กับ ยูเนสโก ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พบว่า โบราณสถานมีคราบตะไคร่น้ำและคราบเกลือ เชื้อรา เกาะติดตามซอกอิฐ ภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญ อุโบสถวัดโบราณหลายแห่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องเร่งกำจัดโดยเร็วที่สุด
นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ความเสียหายเหล่านี้ กรมศิลปากร กับ ยูเนสโก ระดมสมองเพื่อหาวิธีฟื้นฟูให้มรดกโลก จิตรกรรม กลับมามีสวยงามดั่งเดิม
สิ่งที่กังวลในตอนนี้ ก็คือ นักวิชาการชาวต่างชาติและชาวไทย ได้วิเคราะห์ในทิศทางเดียวกันว่ากรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงของประเทศไทย จะเผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่สำคัญน้ำท่วมแต่ละครั้งจะกินระยะเวลายาวนานขึ้น
นี่คือ โจทย์ที่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะต้องระดมสมองกันอย่างเร่งด่วน ว่า ทำอย่างไรให้ “โบราณสถาน” อยู่กับน้ำโดยไม่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
นายเอนก กล่าวด้วยสีหน้าหนักใจ ว่า โจทย์นี้เป็นเรื่องที่กรมศิลปากร ไม่สามารถทำได้เพียงหน่วยงานเดียว เพราะสถานที่ตั้งของโบราณสถาน ส่วนใหญ่จะรายรอบไปด้วยชุมชน วัด โรงเรียน ดังนั้น การป้องกันภาพใหญ่คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจับมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นวางแผนป้องกันน้ำท่วมร่วมกัน ส่วนกรมศิลปากร มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่โบราณสถานเท่านั้น
สำหรับน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันหน้ามาคุยกัน เพื่อหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า โดยทำอย่างเป็นระบบ เช่น ขุดลอกคูคลองเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ให้ตื้นเขิน ขณะเดียวกัน ไม่ไปถมทางน้ำ สร้างบ้านจัดสรร ถนน อุตสาหกรรมฯลฯ หากแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ได้ เชื่อว่ามรดกโลกจะอยู่เคียงคู่เมืองไทยไปอีกยาวนาน
“โบราณสถานในอยุธยาส่วนใหญ่มีอายุเก่าแก่ 200-300 ปี อิฐเมื่อถูกแช่น้ำยาวนานนับเดือนจะเปื่อย ยุ่ย หัก พัง จำเป็นจะต้องหาวิธีบูรณะโบราณสถานให้อยู่กับน้ำ ซึ่งจะต้องระดมสมองผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้วเลือกสิ่งที่ดีที่สุดนำมาบูรณะ เพราะวันข้างหน้าโบราณสถานเหล่านี้อาจถูกน้ำท่วมซ้ำซาก” รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนไม่ห่วงโบราณสถานแช่น้ำ สิ่งที่น่าห่วงกว่าก็คือ คลื่น ที่มากระทบโบราณสถาน ตรงนี้สร้างความเสียหายมากกว่าการแช่น้ำ
นายเอนก กล่าวต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของเราลงพื้นที่สำรวจความเสียหายแล้ว ยังสำรวจว่าโบราณสถานแต่ละแห่งตั้งอยู่นั้นเป็นดินเหนียว ดินทราย ดิน มีความชุ่มน้ำได้มากน้อยเพียงใด เพราะดินเป็นส่วนหนึ่ง และบ่งชี้ได้ว่า โบราณสถานจะทรุดตัวหรือไม่ ส่วนการเสริมความแข็งแรงโบราณสถานสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ฉีดน้ำปูนเข้าไปในพื้นที่ว่างของโบราณสถานที่เป็นรูอยู่ จะเหมือนกาวไปบล็อกไว้ คอนกรีตเสริมเหล็ก และตอกเสาเข็ม เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวทางบูรณะโบราณสถานดังกล่าว จะนำเข้าหารือกับผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก เพื่อหาข้อสรุปก่อนบูรณะโบราณสถาน ซึ่งเรามีแผนบูรณะที่ วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโครงการนำร่อง จากนั้นค่อยขยายผลไปยังโบราณสถานแห่งอื่น ส่วนการปรับภูมิทัศน์รอบโบราณสถานให้สวยงาม จะต้องคำนึงถึงต้นไม้ที่สามารถทนน้ำได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะยืดอายุโบราณสถานให้อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยไปตลอดกาลนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะจำนวนมหาศาลทีเดียว ล่าสุด รัฐบาลไทยอนุมัติงบบูรณะจำนวน 600 ล้านบาท ยูเนสโก ได้อนุมัติเงินฉุกเฉิน จำนวน 75,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,325,000 บาท เยอรมนี มอบเงิน 1 แสนยูโร และมีอีกหลายประเทศ มอบให้รัฐบาลนำมาใช้ในการบูรณะมรดกโลก ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่