xs
xsm
sm
md
lg

ไต่ขอบฟ้าหลังคา“ตาก” พิชิต 3 ดอย หลายป่า ตระการตาทะเลหมอกงามขั้นเทพ/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ทิวทัศน์ท้องทะเลหมอกบนยอดดอยทูเล
“วันนี้เราจะขึ้นไปค้างคืนกันบนยอดดอยนู้นนนน”

พี่อดุลย์ บุญมาลาย หัวหน้าส่วนโยธา อบต.ท่าสองยางบอกกับผม พร้อมวาดมือชี้ให้ดูยอดเขาเป้าหมายที่ตั้งตระหง่านเงื้อมเป็นดังหลังคาเมืองตากทอดยาวลิบๆอยู่เบื้องหน้า

เพียงแค่เห็นเท่านี้ความรู้สึก“ใกล้ตา ไกลตีน”ก็พุ่งเข้ามาจับหมับในใจผมทันที แถมยังเป็นความรู้สึก “ไกลตีน ไกลใจ”อีกต่างหาก

เพราะชื่อของ“ดอยทูเล”กับ“ดอยม่อนคลุย”เป้าหมายในทริปนี้ ผมไม่คุ้นกับมันเลยจริงๆ งานนี้รู้แต่เพียงว่าจากลักษณะสูงชันของยอดดอยที่เห็น การจะเดินขึ้นไปบนนั้นมันโหดหินสาหัสสากรรจ์เอาเรื่อง แต่ด้วยความงามบนยอดดอยจากคำบอกเล่าของพี่อดุลย์สมทบด้วยภาพถ่ายที่พี่แกนำมาตอกย้ำยังไงๆงานนี้เราถอยไม่ได้
ลูกหาบนำทางเดินจากบ้านแม่จวางขึ้นสู่ดอยทูเล
ก้าวแรก

จากจุดเริ่มต้นที่บ้านแม่จวาง คณะลูกหาบชาวกะเหรี่ยง(ปกากะญอ)ค่อยๆทยอยแบกสัมภาระเดินตัดทุ่งนาขั้นบันไดหลังเก็บเกี่ยวลัดเลาะไต่เขาขึ้นไป

พวกเขาแม้มี 2 เท้าเหมือนกับผมแถมยังแบกของหนักอึ้ง แต่ทว่ากับเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว ทิ้งห่างผมกับพี่อดุลย์ออกไปเรื่อยๆ จนเผลอแผล็บเดียวหายเข้าป่าลับตาไปแล้ว

“ชาวบ้านพวกนี้น่าเห็นใจ ทำงานหนักแต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก หลายคนเข้าป่าไปเก็บหน่อ(ไม้) นำกลับมาขายได้กิโล(กรัม)ละบาทเดียว กว่าจะได้ร้อยโลเหนื่อยแทบตาย”

กิตติวงศ์ จอมจันทร์ หรือ ดอย เจ้าหน้าที่ป้องกันฯ อบต.ท่าสองยาง ผู้พิสมัยการเดินป่าแก๊งเดียวกับพี่อดุลย์บอกกับผมหลังเราทำความรู้จักกัน
เส้นทางป่าหญ้าแสนชันในช่วงสุดท้ายก่อนถึงยอดดอย
ดอยเล่าต่อว่า ด้วยเหตุนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง จึงเห็นว่าน่าจะจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นในชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้านในพื้นที่

และนั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมการเดินป่าเพื่อสำรวจเส้นทางในทริปนี้ ก่อนนำไปพัฒนาปรับปรุงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน ซึ่งพี่อดุลย์บอกว่า ขอเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบพอเพียง เน้นนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มผู้รักในธรรมชาติ รักการเดินป่า และเข้าใจในการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีแต่ความดิบของพื้นที่ตามสภาพดั้งเดิม อีกทั้งเขายังไม่ขอเป็นดอยที่โด่งดัง เพราะเมื่อโด่งดังมีคนขึ้นไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก มีเม็ดเงินจำนวนมากตกลงไปในพื้นที่ ไม่เพียงธรรมชาติและผืนป่าเท่านั้นที่ถูกทำลาย แต่วิถีชุมชนก็จะถูกทำลายไปด้วย
สภาพป่าอันร่มรื่นและแหล่งน้ำซับ ความอุดมสมบูรณ์บนรยอดอยทูเล
ครับ เรื่องเงินเรื่องทองนี่มันไม่เข้าใครออกใครจริงๆ หลายๆชุมชนท่องเที่ยวจำนวนมากต้องเสียศูนย์กู่ไม่กลับก็เพราะเรื่องผลประโยชน์เงินๆทองๆนี่แหละ

อย่างไรก็ดีงานนี้แม้พี่อดุลย์กับดอยจะออกตัวว่าพวกเขาเป็นมือใหม่ ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ มีแต่ใจที่อยากช่วยชาวบ้านให้มีชีวิตอยู่ดีกินดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเขามาถูกทางก็คือเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปพักค้างบนดอย

ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการอื่นๆนั้นยังไงๆผมขอฝากไปทางสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆว่าน่าจะลองเข้าไปช่วยแนะนำชาวบ้านที่นี่ดู เพราะด้วยศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเหลือเฟือ หากได้รับการจัดการพัฒนาที่ถูกที่ควรที่นี่น่าจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของภาคเหนือได้อย่างไม่ยากเย็น

ส่วนจะยั่งยืนหรือมาไวไปเร็ว งานนี้เป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ภาครัฐ และนักท่องเที่ยวที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ดีๆ
กางเต็นท์พักค้างแรมกลางป่าบนดอยทูเล
แม่จวาง-ทูเล

“พวกเราทั้งหมดยกเว้นพรานนำทาง(คนเดียว)เคยไปกันแค่ดอยทูเล ส่วนเส้นทางจากดอยทูเลต่อไปยังดอยม่อนคลุย ยังไม่มีใครเคยไป(เส้นทางนี้เป็นเส้นทางล่าสัตว์ของพรานเท่านั้น) พวกกะเหรี่ยงลูกหาบก็ยังไม่เคยไป พวกคุณโชคดีมากเพราะเป็นคณะแรกที่มาบุกเบิกเส้นทาง”

ผมฟังพี่อดุลย์แล้วไม่รู้ว่างานนี้โชคดีหรือโชคร้าย แต่ที่ทำเอาหัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออกก็คือคำพูดของพรานนำทางที่พูดขำๆว่า

“มากับกะเหรี่ยงไม่ต้องกลัวครับ พวกนี้ไม่เคยหลงป่า มีแต่หลงทางเท่านั้น”
ยอดดอยทูเลมีลักษณะเป็นภูเขาหญ้าแปลกตา
สำหรับเส้นทางสู่ยอดดอยทูเลหลังผ่านหมู่บ้านไปเป็นเส้นทางเดินง่ายนิดเดียว ซึ่งมันหมายถึงมีเส้นทางราบเดินสบายๆง่ายๆให้เรายิ้มได้กันแค่นิดเดียวประมาณ 10 % เท่านั้น ที่เหลือเป็นเส้นทางขึ้นเขาสูงชันผ่านป่าชุมชน ป่าโปร่ง แล้วต่อด้วยทางเดินสุดโหดชนิดเนินมรณะของภูสอยดาวยังเรียกพี่ในช่วงท้ายก่อนถึงบริเวณยอดดอยกับเส้นทางผ่านป่าหญ้าอันร้อนแล้งและชันดิก ชนิดต้องปีนป่ายและเดิน 4 ขาในบางช่วง จนใครหลายคนอดที่จะเปลี่ยนชื่อดอยแห่งนี้เสียใหม่จากทูเลเป็น“ดอยทุลักทุเล”ไม่ได้

จากนั้นพอขึ้นถึงยอดดอยใกล้ๆกับจุดพักกางเต็นท์ไม่น่าเชื่อว่าสภาพป่าจะหักมุมเปลี่ยนจากป่าหญ้าร้อนแล้งเป็นป่าดิบชื้นอันร่มรื่นเขียวครึ้ม อีกทั้งยังมีลำธารน้ำซับให้เราได้ใช้หุงหาทำอาหารและอาบน้ำอาบท่าชำระร่างกายให้หายเหนื่อยกัน
อาทิตย์อัสดงบนยอดดอยทูเล
แต่สภาพป่าบนนี้ก็พลิกอารมณ์อีกครั้งกับเทือกเขาบริเวณยอดดอยช่วงสุดท้าย ที่มีลักษณะเป็นป่าหญ้าขึ้นปกคลุมยอดเขา กลายเป็นภูเขาหญ้าเนินนูนสีเขียวอ่อน ดูสวยงามในยามเช้า-เย็นกับแสงแดดอ่อนๆที่ลูบไล้และเงาตกกระทบที่ผันแปรไปตามทิศทางของมุมแสง

เย็นวันนั้นหลังฟันฝ่าทางเดินสูงชันขึ้นมาสู่ยอดดอย ผมกับเพื่อนร่วมทริปขึ้นมายลอาทิตย์อัสดงท่ามกลางทะเลภูเขาที่เห็นซ้อนชั้นเป็นมิติเชิงชั้นกว้างไกล ก่อนส่งแสงตะวันในซีกโลกฝั่งนี้ให้ไปพักผ่อนในความมืด เพื่อตื่นขึ้นมาเปล่งพลังแสงให้กับมวลมนุษย์ชาติในทุกๆเช้าวันใหม่
ช่างภาพบันทึกภาพทะเลหมอกยามเช้าบนยอดดอยทูเล
ภูเขาสีทอง

แม้พระอาทิตย์หน้าหนาวจะขึ้นช้า แต่เนื่องจากจุดชมพระอาทิตย์บนยอดดอยสูงสุดที่อยู่ห่างจากที่พักไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตรนั้น มีสภาพสูงชัน(อีกแล้วครับทั่น)งานนี้ผมจึงตื่นแต่ไก่โห่ราวตี 5 ครึ่ง เพื่อเดินคลำทางฝ่าความมืดขึ้นไปพิชิตยอดดอยทูเล ณ ระดับความสูง 1,350 เมตร แล้วเฝ้ารอบันทึกภาพอรุณเบิกฟ้าและท้องทะเลหมอกบนยอดดอยแห่งนี้

ยอดสูงสุดของดอยทูเลแม้จะขึ้นไปลำบากยากเข็ญ แต่บนนั้นกลับมีผู้คนขนหินขึ้นมาก่อเป็นเจดีย์ด้วยจิตศรัทธา ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพลังแห่งศรัทธานั้นมันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยเลย เพียงแต่ว่าต้องใช้มันไปในทางที่ถูกที่ควรเท่านั้น
เจดีย์หินกอง แรงศรัทธาบนยอดดอย
“ดอยทูเล เป็นภาษากระเหรี่ยงหมายถึงภูเขาสีทอง”

ดอยบอกกับผมหลังเดินหอบแฮกฝ่าความชันและความหนาวระยับขึ้นมาบนยอดดอยแห่งนี้ด้วยกัน

ใครที่อยากรู้ว่าภูเขาสีทองเป็นอย่างไร ต้องขึ้นมายืนบนยอดดอยท่ามกลางแสงตะวันยามเช้าตรู่ที่สาดแสงสีทองส่องลูบไล้เหมือนที่ผมกำลังยืนอยู่นี้ แล้วมองลงไปเบื้องล่างยังบริเวณในบริเวณต้องแสงแดดจะสัมผัสได้ทันทีว่าดอยนี้มันสีทองจริงๆ โดยเฉพาะกับภูเขาหญ้าสีเขียวอ่อนลูกที่ตั้งรับแสงอย่างจังนั้นบัดนี้มันได้กลายเป็นภูเขาสีทองมลังเมลือง ในขณะที่ทะเลหมอกขาวโพลนนั้นก็พลอยดูขาวอมทองอร่ามตาตามไปด้วย
ทิวทัศน์ทะเลหมอกบริเวณจุดชมวิว
สำหรับเช้าตรู่ของวันนี้ โชคดีมากที่อะไรๆค่อนข้างเป็นใจทั้งท้องฟ้า แสงแดด เมฆหมอก สายลมผมจึงได้ตื่นตะลึงกับภาพท้องทะเลหมอกงามขั้นเทพสีขาวอมทองกว้างไกลสุดสายตา ที่จับกลุ่มรวมตัวกันอย่างหนาแน่นมีมิติ มีเชิงชั้น ลอยละล่องดุจดังทะเลปุยนุ่นบนสวรรค์ชั้นเทพ ที่มันทำให้ผมพลอยรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองคล้ายดังเป็นเทพยืนอยู่บนเมืองแมนแดนสวรรค์ชั้นฟ้าไปด้วย ซึ่งช่วยให้ความเหนื่อยหอบจากการไต่ยอดเขาขึ้นมาหายเป็นปลิดทิ้ง กลายเป็นความประทับใจที่ยากจะลืมเลือนแทน

ปุยหลวง

ครั้นเสร็จสรรพจากการถ่ายภาพ และดื่มด่ำซึมซับกับบรรยากาศทะเลหมอกบนยอดดอยอย่างเต็มที่แล้ว ผมเลาะไต่ความชันลงมายังบริเวณจุดชมวิวเบื้องล่างที่เมื่อวานเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก แต่เช้านี้มันได้กลายเป็นจุดชมทะเลหมอกชั้นดีอีกจุดหนึ่งบนขุนเขาแห่งนี้
หินรูปหัวใจ จุดถ่ายรูปชั้นดีบนดอยทูเล
ความงามของทะเลหมอกที่นี่(ในวันนั้น)แม้สู้บนยอดดอยสูงสุดไม่ได้ แต่บริเวณนี้มีจุดเด่นเป็นดังสัญลักษณ์ดอยทูเลก็คือ“หินหัวใจ”ที่เป็นชะง่อนหินเล็กยื่นออกมาจากริมภูเขาหญ้าน่ามหัศจรรย์ ให้ใครและใครหลายคนขึ้นไปยืนถ่ายรูป ยืนชมทะเลหมอกบนนี้กันตามสะดวก แต่ต้องระมัดระวังต่อการลื่นไถลตกเขาให้ดีๆด้วย

หลังอิ่มตาอิ่มใจจากทะเลหมอก ผมมาอิ่มท้องต่อกับข้าวต้มร้อนๆก่อนเก็บเต็นท์ สัมภาระ ออกเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่ดอยม่อนคลุย ที่จากบนยอดดอยมองเห็นลิบๆใกล้ตา ไกลตีนอยู่เบื้องหน้า
ต้นมะมั่ง
สำหรับเส้นทางเดินป่าในช่วงครึ่งแรกเช้าของวันนี้เป็นเส้นทางลุยฝ่าป่าดิบชื้นที่ระหว่างมีไฮไลท์อยู่ที่“ต้นมะมั่ง” หรือ “ต้นมะม่วงกลับเกล็ด” แตกปีกไม้เป็นริ้วๆกันกระรอกกระแตไต่ขึ้นไปกินผลของมันดูเป็นงานศิลปะธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่ง

จากนั้นเราไปแวะกินข้าวกันริมธารก่อนเดินไต่ขึ้นสู่สันเขายอด “ดอยปุยหลวง” ที่เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวไกล
สภาพป่าบนยอดดอยปุยหลวง
บนดอยลูกนี้สภาพป่าเปลี่ยนไปอีกครั้งจากผืนป่าดิบชื้น เข้าสู่ป่าไผ่ และป่าดิบเขาที่มีต้นไม้หงิกงอตามสภาพลมแรงที่พัดปะทะขึ้นอยู่ทั่วไป พร้อมๆกับวิวทิวทัศน์สวยงามกว้างไกลเบื้องล่าง กับสายลมเย็นๆที่โชยปะทะ จากนั้นเส้นทางเดินกลายเป็นป่าหญ้าร้อนแล้วอีกครั้ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเพียงประปรายเพราะพื้นเป็นทรายบนหิน

ดอยปุยหลวงนับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีแห่งหนึ่ง แต่งานนี้เราไม่มีเวลารอเพราะต้องเดินไปให้ถึงดอยม่อนคลุยก่อนค่ำ ซึ่งหลังจากขึ้นสู่สันเขาสูงสุดของยอดดอยแห่งนี้ เส้นทางก็เลาะตัดดิ่งลงมาสู่เบื้องล่าง
ทิวทัศน์ทะเลภูเขาเมื่อมองลงมาจากยอดดอยปุยหลวง
อย่างที่พี่อดุลย์เคยบอกเอาไว้ว่านอกจากพรานนำทางคนเดียวแล้ว ทุกคนในทริปไม่เคยมีใครเคยเดินป่าในเส้นทางสายนี้มาก่อน นั่นจึงทำให้ช่วงนี้หลายคนในทริปรวมทั้งผมด้วยเกิดการเดินหลงทางกันกระจาย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเดินตามลูกหาบคนไหน เพราะกะเหรี่ยงที่นี่ไม่เคยเดินหลงป่า แต่หากเดินหลงทางถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตามด้วยวิธีการเดินแบบตัดดิ่งตรงสู่จุดหมายของลูกหาบ และการตะโกนบอกกันเป็นระยะๆ สุดท้ายแล้วพวกเราทุกคนก็เดินมาถึงยังดอยม่อนคลุยในช่วงค่ำของวันนั้นจนได้
ดอยม่อนคลุย
ม่อนคลุย

หลังทุลักทุเลเหน็ดเหนื่อย 2 วันเต็มๆ เมื่อมาถึงยังดอยม่อนคลุยก็สบายแล้ว เพราะบนนี้มีถนนลูกรัง รถขับเคลื่อน 4 ล้อขึ้นถึง วันรุ่งขึ้นขากลับพวกเราจึงไม่ต้องบุกป่าฝ่าดงเดินลงให้ระทมเท้า

ดอยม่อนคลุย ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และจุดชมทะเลหมอกชั้นดี ที่สามารถมองลงไปเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลและมีหลายจุดหลายมุมให้เลือกด้วยกันเนื่องจากบริเวณนั้นมียอดดอยลูกย่อมๆให้ขึ้นไปชมวิวกัน
ดอยม่อนคลุยเป็นหนึ่งในจุดชมทะเลหมอกชั้นดี
สำหรับในเช้าวันนั้นทะเลหมอกบนดอยม่อนแม้ไม่มีให้เห็นหนาแน่นทึบ แต่มีลอยไหลขาวโพลนไปตามหุบเขาที่มียอดของขุนเขาน้อยใหญ่ โผล่แทรกขึ้นมาเป็นระยะดูสวยงามไปอีกแบบ

หลังผมตื่นเช้ามาบันทึกภาพพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกบนดอยม่อนคลุยอย่างจุใจ ก็ได้เวลาขึ้นรถเดินทางกลับสู่เบื้องล่างผ่านทิวทัศน์ของท้องทะเลหมอกยามสาย ที่แม้เวลาจะปาเข้าไปร่วม 10 โมงแล้ว แต่ทะเลหมอกที่นี่ยังคงลอยตัวอย่างหนาแน่นให้ได้ชื่นชมบนหลังกระบะรถกัน ก่อนที่พวกเราจะไปแวะชมหมู่บ้านกะเหรี่ยง“ปะเดอะเค” ที่ยังคงมีบ้านกะเหรี่ยงและวิถีกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมให้ชมกันพอสมควรเป็นจุดส่งท้ายของทริป
วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่บ้านปะเดอะเค
จากนั้นรถพาเรามุ่งหน้าขึ้นสู่ถนนสายหลักวิ่งกลับย้อนไปในเส้นทางเก่า มองเห็นดอยม่อน ดอยปุยหลวง และดอยทูเล หนึ่งในเทือกเขาหลังคาเมืองตากตั้งตระหง่านทอดตัวยาว ดูแล้วเกิดความรู้สึกใกล้ตา ไกลตีน ไม่ต่างไปจากครั้งแรก

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังผมได้ขึ้นไปตะลุยพิชิต กินนอน ขับถ่าย เหงาเมา หนาวเหน็บ สมบุกสมบัน บนยอดดอยทั้งสามมาก็คือ ความรู้สึกไกลตีน ไกลใจที่เคยเกิดขึ้นกับผมในครั้งแรกนั้นมันพลันมลายหายไป

กลายเป็นความรู้สึก “ไกลตีน แต่ใกล้ใจ”แทน

***********************************************************
ทะเลหมอกบนดอยม่อนคลุย
ดอยทูเลตั้งอยู่ที่บ้านแม่จวาง ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ยอดดอยอยู่ห่างจากทางขึ้นที่บ้านแม่จวางราว 6 กม. แต่ใช้เวลาเดินทางขึ้นประมาณ 6-7 ชม. เนื่องจากเส้นทางมีสภาพสูงชัน บนยอดดอยสามารถรับนักท่องเที่ยวที่มาพักค้างคืนได้ในจำนวนจำกัดครั้งละไม่เกิน 50 คน โดยต้องจองล่วงหน้าก่อน 5 วันขึ้นไป เพื่อจัดเตรียมลูกหาบและคนนำทาง และระยะห่างของการขึ้นไปพักแต่ละครั้งควรทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์เนื่องจากทางอบต.ท่าสองยางมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่พอ

ส่วนดอยม่อนคลุยตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 ตำบลคือท่าสองยางกับแม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีถนนลูกรังสำหรับรถขับเคลื่อน 4 ล้อขึ้นถึง ห่างจากทางหลวง 105 กม.158+100 ประมาณ 7.5 กม.บนยอดดอยม่อนคลุยมีที่กางเต็นท์ มีห้องน้ำ ห้องส้วม และสามารถรับนักท่องเที่ยวที่จะมาพักค้างได้ประมาณ 200 คน
แสงยามเช้าที่ม่อนคลุย
ทั้งสองดอยสามารถเที่ยวได้ในช่วงหน้าหนาวระหว่างเดือน พ.ย.-ก.พ.ของทุกปี โดยดอยทูเลเพิ่งทดลองเปิดหนักท่องเที่ยวขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนเส้นทางเดินป่าจากดอยทูเลสู่ดอยม่อนคลุยนั้น ทางอบต.ท่าสองยางเพิ่งมีการออกสำรวจบุกเบิกเส้นทางเป็นครั้งแรกในทริปนี้

สำหรับอัตราค่าบริการ ลูกหาบวันละ 300 บาท คนนำทางวันละ 400 บาท ค่ารถยนต์รับ-ส่ง คณะละ 100 บาท ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบต.ท่าสองยาง 089-268-0116,081-181-5820

ด้านผู้ที่ต้องการเที่ยวดอยทูเล-ม่อนคลุย เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆใน จ.ตาก สามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานตาก โทร. 0-5551-4341 -3
กำลังโหลดความคิดเห็น