กาญจนบุรี - ปลัดเทศบาลตำบลวังกะ เชิญเที่ยวเมืองทะเลหมอกที่สังขละบุรี ก่อนท่องสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศ แวะกราบไหว้สังขาร “หลวงพ่ออุตตมะ เทพเจ้าชาวมอญแห่งวัดวังก์วิเวการาม” เยี่ยมชมความงาม เจดีย์พุทธคยา
“แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ นทีสามประสบ มรดกทุ่งใหญ่ ไทยกะเหรี่ยงรามัญ สารพันธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออุตตมะ เมืองสังขละชายแดน สุดแคว้นตะวันตก” นี่คือคำขวัญประจำอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
นายมานพ เกิดแดง ปลัดเทศบาลตำบลวังกะ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ อำเภอสังขละบุรีมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี เนื่องด้วยอำเภอสังขละบุรี มีที่ตั้งอยู่ชายแดนมีอาณาเขตติดต่อกับเขตแดนประเทศพม่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีนั้นทหารฝ่ายพม่ามักยกทัพเข้ามาโจมตีเพื่อรุกรานประเทศไทย ทหารฝ่ายพม่าจะใช้เส้นทางผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ของอำเภอสังขละบุรี จึงเกิดประวัติศาสตร์มากมาย
ที่ตั้งของอำเภอสังขละบุรี เดิมตั้งอยู่ที่บ้านวังกะ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองลู ต่อมาได้มีโครงการเก็บกักน้ำเขื่อนเขาแหลม เป็นเหตุให้บริเวณที่ราบของที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี สถานีตำรวจ บ้านเรือนของราษฎรในเขตท้องที่หมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 3 ของตำบลหนองลู ต้องถูกน้ำท่วม
ต่อมาทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดสรรที่ดินและปลูกสร้างสถานที่ราชการให้ใหม่ และจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรใช้ปลูกบ้านพักอาศัยที่บริเวณเนินสูงพ้นจากระดับน้ำท่วมทางตอนเหนือของที่ตั้งเดิมประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งทำการขนย้ายส่วนราชการมาทำการยังสถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2527 จนถึงปัจจุบัน
ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน พื้นที่อำเภอสังขละบุรีทั้งหมดถูกปกคลุมด้วยสายหมอกทำให้บรรยากาศของอำเภอสังขละบุรี เริ่มหวนกลับคืนสู่ฤดูหนาวอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมาอำเภอสังขละบุรี ที่เคยถูกภัยแล้งเล่นงาน ปริมาณน้ำในแม่น้ำแห้งขอด ฤดูฝนที่ผ่านมาปริมาณน้ำได้ไหลเข้าสู่แม่น้ำซองกาเลียเป็นจำนวนมาก
โบสถ์หลวงพ่ออุตตมะ ที่เคยตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นดินกลับกลายมาเป็นเมืองบาดาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเหมาะกับการล่องเรือโยนเหรียญเข้าโบสถ์เพื่ออธิฐานภาวนาให้กับตนเองมีความเจริญรุ่งเรือง
ส่วนบริเวณสะพานไม้ (สะพานมอญ) ที่มีความยาวถึง 850 เมตร ถือว่าเป็นสะพานไม้ที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวเป็นอันดับสองของโลก ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือแรงงานของคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นชาวมอญ ชาวไทย และไทยรามัญ ทั้งหมดล้วนเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่ออุตตมะทั้งสิ้น
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวและถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งจะเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กำลังพายเรือออกจับปลาตั้งแต่เช้าตรู่โดยมีสายหมอกปกคลุมผืนน้ำทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วัดวังก์วิเวการาม หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันติดปากว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ปัจจุบันมี พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส พระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ เทพเจ้าชาวมอญ มรณภาพเมื่อเวลา 07.22 น.วันที่ 18 ตุลาคม 2549 ที่โรงพยาบาลศิริราช พระราชอุดมมงคล หรือ หลวงพ่ออุตตมะ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ศรัทธาและเคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศได้ละสังขารมรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ ทันทีที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่ออุตตมะทราบข่าว ต่างทยอยกันมารออยู่บริเวณหน้าห้องไอซียู เนื่องจากโรงพยาบาลได้ให้ญาติและผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่ออุตตมะเข้าไปกราบศพได้ภายในห้องไอซียูเท่านั้น
ต่อมาเวลา 10.40 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราชได้เคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะออกจากห้องไอซียู ไปฉีดยารักษาสภาพศพ ที่ตึกอดุลยเดชวิกรม โดยมีลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่ออุตตมะ นำถือพานที่วางพระแก้วมรกตและลูกประคำของหลวงพ่อที่ใช้อยู่เป็นประจำ เดินนำหน้าระหว่างทางไปตึกอดุลยเดชวิกรม โดยมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวมอญกว่า 100 คน ที่ทราบข่าวการละสังขารของเกจิอาจารย์ชื่อดัง นำดอกไม้ธูปเทียนมากราบศพเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยความอาลัยหลายคนร่ำไห้น้ำตานองหน้า
จนถึงเวลา 12.30 น. ได้มีการเคลื่อนศพหลวงพ่ออุตตมะออกจากตึกอดุลยเดชวิกรม นำขึ้นรถตู้ทะเบียน ฮก 9606 กรุงเทพมหานคร กลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่ออุตตมะ ที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพนิยมนำไปบูชาคือเหรียญหลวงพ่ออุตตมะและลูกประคำ
ปัจจุบันสังขาร “หลวงพ่ออุตตมะ” บรรจุอยู่ในปราสาทเก้ายอดชั้นสูงแบบชาวมอญ ซึ่งเป็นฝีมือการสร้างของช่างชาวเชียงใหม่ ทั้งหมดตั้งไหว้ที่บริเวณศาลาการเปรียญหลวงพ่ออุตตมะ นักท่องเที่ยวหรือศิษยานุศิษย์สามารถเข้าไปกราบไหว้หรือขอพรให้กับตนเองและครอบครัวให้มีความสุข มีความเจริญในหน้าที่การงาน ซึ่งจะได้ดั่งใจปรารถนาแน่นอน
นอกจากนั้นยังมี เจดีย์พุทธคยา หลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยจำลองมาจาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย งบประมาณจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเป็นเงินสด ทองคำ และวัสดุ ใช้แรงงานคนมอญในหมู่บ้านชาย-หญิง ประมาณ 400 คนปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้าง และเผาอิฐมอญขนาด กว้าง 4 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว หนา 1 นิ้ว จำนวน 260,000 ก้อน ปี 2525 เริ่มสร้างเจดีย์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว 42 เมตร สูง 59 เมตร เสาเหล็ก 4 ทิศ จำนวน 16 ต้น
ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะ อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ขึ้นไปประดิษฐานบนยอดเจดีย์ เจดีย์พุทธคยาถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีความสวยงามและสร้างชื่อเสียงให้กับวัดหลวงพ่ออุตตมะ และชาวสังขละบุรีเป็นอย่างมาก