xs
xsm
sm
md
lg

แอ่ว“วัดพระยืน” รื่นรมย์ รื่นใจ ในลำพูน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
วัดพระยืน
ในความเป็นเมืองผ่านของ“ลำพูน” หากเพ่งพินิจลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า เมืองลำพูนหรือหละปูนมีเสน่ห์มัดใจใครหลายคนให้ติดตรึงอยู่กับเสน่ห์อันสงบงามของเมืองนี้อยู่ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะกับวิถีที่ยังคงแนบแน่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งมี“พระธาตุหริภุญชัย”เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

พระธาตุหริภุญชัยนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของเมืองหริภุญชัย ซึ่งในสมัย“พระนางจามเทวี”ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรนี้ ได้สร้างวัดสำคัญในระดับรองลงมาเคียงคู่อยู่ 4 มุมเมือง เป็นจตุรพุทธปราการเพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมือง ได้แก่ วัดพระคงฤาษี ในทิศเหนือ, วัดประตูลี้ ในทิศใต้, วัดมหาวัน ทางทิศตะวันตก และ“วัดพระยืน” ในทิศตะวันออก ที่ผมมีโอกาสได้ไปแอ่วมาเมื่อไม่นานมานี้

วัดพระยืน ตั้งอยู่ที่บ้านพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง สันนิษฐานว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 1213 (หลังครองราชย์ได้ 7 ปี) ซึ่งนับจนวันนี้มีอายุเก่าแก่มากถึงกว่า 1,300 ปี

ชื่อของวัดพระยืน มาจากองค์พระพุทธรูปยืนเก่าแก่ ที่ตามเอกสารของวัดระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1606 ในสมัยพระเจ้าธรรมมิกราช(กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งหริภุญชัย) พระยืนองค์นี้หล่อด้วยทองสำริด สูง 18 ศอก(9 เมตร) เดิมประดิษฐานอยู่ในปราสาทสถูป(หลังพระวิหาร)

ต่อมาในปี พ.ศ. 1712 พระยากือนา ผู้ครองพิงนครเชียงใหม่และลำพูน ได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 องค์
เจดีย์วัดพระยืนอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
จากนั้นเมื่อกาลเวลาผันผ่าน สถูปวัดพระยืนได้พุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 พระครูศีลวิลาศ(พระคันธวงศ์เถระหรือครูบาวงศ์) เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์สถูปเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างก่อหุ้มคลุมองค์พระยืนทั้ง 4 ไว้ภายใน พร้อมกับสร้างพระพุทธรูปยืนองค์เล็กกว่าขึ้นมาประดับเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน(นั่นจึงเป็นที่มาของการห้ามผู้หญิงขึ้นไปบนลานประทักษิณของเจดีย์)

เจดีย์วัดพระยืน มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากเจดีย์ทั่วๆไปในเมืองไทย เป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม

ส่วนเรือนธาตุเป็นองค์ 4 เหลี่ยม มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานองค์พระพุทธรูปยืนสีทอง เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถา 4 เหลี่ยม ซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นฉัตรสีทองอร่าม หน้าเจดีย์วันนี้มีพระพุทธรูปหันหน้าเข้าหาองค์เจดีย์ที่วันนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เจดีย์วัดพระยืนยังมีอีกสิ่งชวนสังเกตที่ไม่มีบอกไว้ตามเอกสารทั่วไป นั่นก็คือที่บันไดทางขึ้นลานประทักษิณด้านหนึ่ง มีการสร้างรูปปูนปั้นนูนต่ำรูปเสือประดับไว้ ซึ่งมันทำให้ผมฉงนใจไม่น้อย

แต่งานนี้ความสงสัยถูกไขจนกระจ่างลงในบัดดล เมื่อ “ดร.พระครูภาวนาโสภิต วิ.” ท่านเจ้าอาวาสวัดพระยืน ที่เมตตามาเป็นผู้นำผมและคณะเที่ยวชมวัด อธิบายให้ฟังว่า สมัยก่อนวัดพระยืนมีอีกชื่อหนึ่งว่า“วัดกู่เสือ” เพราะรอบๆวัดเป็นป่ารกครึ้ม มีเสือมาเพ่นพ่านอยู่บ่อยครั้ง ช่างจึงปั้นปูนเป็นรูปเสือจารึกประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้
บรรยากาศอันร่มรื่นภายในวัด
วันนี้แม้ความเจริญทางวัตถุจะรุดหน้าไปมาก รอบๆวัดพระยืนกลายเป็นชุมชน ศูนย์ราชการ ไม่มีป่าหลงเหลือ แต่ในวัดพระยืนกลับยังคงมากมายไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่อัน“ร่มรื่น” และ“ร่มลื่น” หากเดินไม่ระมัดระวังบนทางเดิน(ยามหน้าฝน)ที่มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นสนามหญ้า และพื้นพิเศษเป็นถนนอิฐโบราณเก่าแก่ อุดมไปด้วยมอสเขียวชอุ่มดูสบายตาและสุดแสนจะคลาสสิค หากเทียบกับวัดวาอารามจำนวนมากในยุคปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนสนามดิน สนามหญ้า ตัดต้นไม้ใหญ่น้อย ให้กลายเป็นลานจอดรถคอนกรีตอันแข็งกระด้างและร้อนระยับ

วัดพระยืนนอกจากจะมีเจดีย์(พระยืน)เป็นไฮไลท์สำคัญแล้ว ภายในวัดแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากหลาย ซึ่งเดิมผมไม่รู้หรอก คิดเพียงแค่ว่าเข้ามาไหว้องค์เจดีย์ ถ่ายรูปเจดีย์ องค์พระยืน และรอบๆบริเวณสักเล็กน้อยแล้วก็ออกจรลีจากไป แต่เมื่อได้ท่านเจ้าอาวาสมานำชมวัด งานนี้เปรียบประหนึ่งการค้นพบขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในวัดแห่งนี้เลยทีเดียว(ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งชวนชมที่ทางวัดภูมิใจนำเสนอมาได้สักพักหนึ่งแล้ว)
ศาลาบาตร
สำหรับสิ่งน่าสนใจจุดแรกตั้งอยู่ในอาคารหลังเล็กๆใต้ร่มไม้เป็น“หลักศิลาจารึกวัดพระยืน”(หลักที่ 62) เป็นหินชนวนรูปใบเสมา ระบุปีชัดเจนว่าเป็นจุลศักราช 732 (พ.ศ.1913) เนื้อความเป็นอักษรโบราณ กล่าวถึงพระสุมนเถระที่นำพระพุทธศาสนาจากสุโขทัยมาเผยแพร่ในดินแดนล้านนา ซึ่งทางวัดในอาคารหลังเล็กๆใต้ร่มไม้ที่ทางวัดจำลองหลักศิลาจารึกมาจัดแสดง

จากหลักศิลาเดินไปอีกนิดจะพบ “ศาลาบาตร” หรือ “ศาลาเก้าห้อง” ที่ในอดีตใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆของวัด รวมถึงเป็นสถานเล่าเรียนหนังสือของคนเฒ่าคนแก่ประจำตำบลเวียงยองในยุคกระดานชนวนโน่น
ร่วมปั้นพระทำบุญ
ศาลาบาตรหลังนี้ ปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยกรมศิลป์(จากการผลักดันของท่านเข้าอาวาส)ที่ยังคงมนต์ขลังความคลาสสิคแบบดั้งเดิมเอาไว้ ภายในศาลา(ปัจจุบัน)แม้เลิกการเล่าเรียนไปนานแล้ว แต่ช่วงนี้มีกิจกรรมอันน่าสนใจให้ญาติโยมได้ร่วมเพลิดเพลิน นั่นก็คือ การร่วมปั้นพระดินสกุลลำพูน เช่น พระรอด พระคง พระลือ ในกรรมวิธีแบบโบราณด้วยมือของตัวเองเพื่อใส่ในฐานพระพุทธเมตตาศากยะมุนีศรีหริปุญไจยที่ทางวัดกำลังจัดสร้างขึ้น

การปั้นพระแบบนี้นอกจากจะเป็นการทำบุญด้วยมือของตนเองแล้ว(องค์ละ 9 บาท) ยังเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว
พระยืนจำลอง(องค์ซ้ายสุด)ข้างพระประธานในพระวิหาร
สำหรับสิ่งน่าสนใจ 2 ลำดับถัดไป ตั้งอยู่ขนาบข้างซ้าย-ขวา กับศาลาบาตร ได้แก่ “พระวิหาร”(ขวามือจากทางเข้า) ที่ดั้งเดิมสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ก่อนจะทำการบูรณะครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2537

ภายในประดิษฐานพระประธานเก่าแก่รุ่นราวคราวเดียวกับการก่อสร้างพระวิหาร ตั้งแต่ครั้งสมัยพระนางจามเทวี ขณะที่จิตกรรมฝาผนังเป็นผลงานวาดใหม่ฝีมือช่างท้องถิ่นเรื่องราวพุทธประวัติสีสันสดใส

ส่วนที่ถือเป็นอันซีนในวิหารหลังนี้ก็คือ ที่ด้านซ้ายมือขององค์พระประธาน(ใกล้ๆกับประตูบานซ้ายมือบานสุดท้าย)จะมีพระยืนองค์เล็กๆประดิษฐานอยู่

ท่านเจ้าอาวาสบอกกับผมว่า นี่คือองค์พระยืนจำลองที่จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปยืนองค์แรกในเจดีย์อันเป็นที่มาของวัดแห่งนี้นั่นเอง
โบสถ์ที่มีงานปูนปั้นตัวมอมอยู่ด้านหน้า
สลับฟากข้ามมายังฝั่งตรงข้ามพระวิหารทางด้านขวามือของศาลาบาตรกันบ้าง ฝั่งนี้เป็นที่ตั้งของโบสถ์ที่มีความน่าสนไม่น้อย

โบสถ์หลังนี้สร้างในสมัยพระยากือนา มีรูปทรงสัดส่วนสมส่วน ด้านหน้าตรงบันไดทางเข้ามีตัว“มอม”(สัตว์ในตำนานล้านนา)ทำจากปูนปั้นฝีมือชาวบ้านที่น่ายลไปด้วยหน้าตาอันน่ารักน่าชัง

เมื่อเดินผ่านตัวมอมเข้าสู่ภายในโบสถ์ จะพบกับองค์พระประธานคือพระศักยมุนีศรีสุมนะหรือหลวงพ่อใหญ่ที่ดูขรึมขลังมลังเมลือง

ในวันที่ผมไปเยือนโบสถ์หลังนี้ เป็นช่วงที่ช่างกำลังมาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานมากหลายที่ท่านเจ้าอาวาสกำลังทำอยู่ในช่วงนี้และที่ผ่านๆมา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ซึมซับสิ่งที่ดีงามในพระพุทธศาสนากลับไปจากการเข้ามาในวัด
อาคารพิพิธภัณฑ์
ส่วนสิ่งที่ท่านทำมาแล้วประสบผลด้วยดีก็คือ “พิพิธภัณฑ์”ท้องถิ่นในโซนหลังวัด ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2547 จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ต่างๆที่ทางวัดและชาวบ้านได้รวบรวมมานำเสนอ อาทิ ตู้พระธรรม หีบพระธรรม เครื่องเขิน ถ้วยชาม สัตตภัณฑ์ ขันโตก ผ้าพระบฏ เป็นต้น

สำหรับเรื่องนี้ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า เป็นความตั้งใจที่จะทำให้พระศาสนา ทำให้ชุมชน แม้ว่าบางเรื่องมันจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และมีบ้างที่บางคนไม่เข้าใจก็ตามที

“สิ่งที่อาตมาต้องการทำให้พระพุทธศาสนาและชุมชน ก็คือการนำเสนอความรู้ นำเสนองานพุทธศิลป์ความงดงามในพระพุทธศาสนา อาตมาไม่ต้องการนำเสนอในเรื่องของความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ”

ท่านเจ้าอาวาสกล่าวได้อย่างน่าฟัง พร้อมกับเสนอไอเดียว่า สำหรับวัดที่ดังๆรวยๆทั้งหลายนั้น(ซึ่งมันทำให้ผมอดนึกนึกวัดประเภทพุทธพาณิชย์หลายวัดในเมืองไทยไม่ได้)เมื่อชาวบ้านเขานำเงินมาทำบุญเป็นพุทธบูชา ทางวัดเหล่านี้ไม่ควรไปสร้างสิ่งสมมุติอย่างใหญ่โตมากมายเกินความจำเป็น หากแต่ควรนำเงินส่วนหนึ่งมาจัดสรรช่วยเหลือวัดที่กันดาร วัดที่ยากแค้นตามต่างจังหวัดบ้าง เพื่อให้พระในวัดที่ห่างไกลกันดารได้ร่วมเป็นแรงสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกทาง

นอกจากนี้ท่านเจ้าอาวาสยังบอกกับผมว่า ท่านเป็นพระไม่ควรจะอยู่กินข้าวชาวบ้านไปวันๆ หากแต่ควรทำเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อชุมชน เมื่อมีความพร้อมก็ควรทำทันที ไม่ควรรอวันพรุ่งนี้ หรือวันข้างหน้า และต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ อย่าหวังสิ่งตอบแทน

“ยามที่เรามีเรี่ยวแรง มีกำลัง มีความพร้อม จงทำในสิ่งที่ควรทำ”

ท่านอาวาสให้หลักธรรมคำสอนทิ้งท้ายกับผมก่อนล่ำลาจากกัน

........

หลังกลับออกมาจากวัดพระยืนด้วยความรื่นหัวใจ ผมพบว่าที่วัดพระยืนแห่งนี้นอกจากจะได้พบกับพระยืนแล้ว ยังพบว่าพระภิกษุสงฆ์ควรจะยืนหยัดเป็นหนึ่งในกำลังหลักของสังคมเพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น

แต่กระนั้นถึงอย่างไรก็ดี จากความเป็นไปและความเป็นจริงของสังคมไทยในวันนี้ ผมกลับพบว่าพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง(ย้ำว่าจำนวนหนึ่ง) นอกจากจะไม่ร่วมด้วยช่วยจรรโลงสังคมให้น่าอยู่แล้ว พวกเขายังกลายเป็นปัญหาของสังคมอีกต่างหาก
กำลังโหลดความคิดเห็น