โดย : ปิ่น บุตรี
“แห้ว” ไม่ใช่ “เหี้ย”
แต่แห้ว(พืชกินหัวได้ รสมันๆ)ดันเหมือนเหี้ย(สัตว์เลื้อยคลานประเภทหนึ่ง)ตรงที่ ต่างถูกใช้เป็นคำแสลงทั้งคู่
แห้ว เป็นแสลงของคำว่า “ผิดหวัง” “ไม่สมหวัง” หรือ “อกหัก” ที่อาจฟังดูไม่เป็นมงคลสำหรับใครบางคน
ส่วนเหี้ย เป็นคำหยาบ คำสบถ คำที่คนไทยใช้ด่ากันมาช้านาน หรือบางครั้งก็เป็นคำนำหน้าเรียกขานเพื่อนสนิท เปรียบเปรยกับนักการเมืองบางคน หรือใช้เรียกขานการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม
นอกจากนี้แห้วยังเหมือนเหี้ยตรงที่ แห้ว(พืช)อยู่ของมันดีๆ จู่ๆก็มีคนพยายามเรียกขานชื่อของมันเสียใหม่ว่า“สมหวัง” เพื่อเป็นการแก้เคล็ดให้กับชื่อที่สื่อถึงความผิดหวังของมัน ส่วนเหี้ย(สัตว์) มันอยู่ของมันดีๆ จู่ๆก็มีคนพยายามเปลี่ยนชื่อให้มันว่า“วรนุส” ซะอย่างงั้น
แม่ค้าแห้วต้มแถวบ้านผม เดี๋ยวนี้ไม่ขายแห้วต้มแล้ว หากแต่เปลี่ยนมาขาย“สมหวังต้ม”แทน ถุงเล็กๆตั้ง 20 บาทแน่ะ(แพง) แต่เวลาแม่ค้าคนนี้ด่ากับพ่อค้าขี้เมาแผงข้างๆ ผมไม่ยักกะเห็นเธอจะเปลี่ยนคำด่าจากไอ้... เป็น“ไอ้วรนุส”!!!แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี โชคยังดีที่ฝ่ายปกครองบ้านเรายังไม่บ้าจี้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอนาแห้ว” ในจังหวัดเลย เป็นอำเภอนาสมหวัง ไม่งั้นงานนี้คงพิลึกน่าดู แต่สำหรับ“อุทยานแห่งชาตินาแห้ว” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ ได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น“อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย”(ในปี พ.ศ. 2549) ซึ่งจากที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯภูสวนทรายคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้ เขาให้ข้อมูลว่า
คนที่เปลี่ยนชื่ออุทยานฯนาแห้วเป็นภูสวนทราย ไม่ได้มองในเรื่องชื่อที่ฟังไม่ค่อยโสภาเป็นหลัก หากแต่เปลี่ยนเพื่อต้องการเน้นให้เห็นถึงความโดดเด่นของภูสวนทราย ภูเขาสำคัญในพื้นที่อุทยานฯ และเพื่อให้ชื่อของภูสวนทรายสอดรับกับแหล่งท่องเที่ยว ภูเขาชื่อดัง 3 ลูกในเมืองเลย คือ ภูกระดึง ภูเรือ และภูหลวง
สำหรับอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายนั้น ในหน้าฝนอย่างนี้มีบรรยากาศชวนเที่ยวไปอีกแบบ โดยเฉพาะกับบรรดาน้ำตกทั้งหลายแหล่ หน้าฝนแบบนี้ น้ำจะเยอะ มีเสน่ห์ในพลังแห่งมวลน้ำให้ได้สัมผัสชื่นชมกัน
อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย มีน้ำตกหลักๆอยู่ 6 แห่ง และถูกนำมาเป็นตัวเปิดของคำขวัญนำเที่ยวอุทยาน คือ “เย็นสบาย 6 น้ำตก...หลากชนิดนก ค้อป่าใหญ่...สูงเสียดฟ้า ตีนสวนทราย...ตระการตา ภูไทย-ลาว”
โดย“เย็นสบาย 6 น้ำตก”นั้นได้แก่ “น้ำตกวังตาด” เป็นแผ่นหินกว้างรองรับการไหลกระทบตกของสายน้ำ มี 2 ชั้น สูงราว 20 เมตร “น้ำตกช้างตก” เป็นโขดหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน มี 2 ชั้น สูงราว 25 เมตร “น้ำตกผาค้อ” มีโขดหินขนาบ 2 ข้างของน้ำตก มีชั้นเดียว สูงราว 2 เมตร กว้างราว 20 เมตร “น้ำตกตาดภา” มี 2 ชั้น สูงถึง 60 เมตร กว้างราว 20 เมตร “น้ำตกคิ้ง” เป็นแก่งหิน 2 ชั้น สูงราว 5 เมตร และ“น้ำตกตาดเหือง”ที่ถือเป็นน้ำตกไฮไลท์ในอุทยานแห่งนี้
น้ำตกตาดเหือง เป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีสายน้ำไหลเย็นชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 50 เมตร กว้างราว 25 เมตร น้ำตกตาดเหืองแม้ไม่ใช่น้ำตกสูงใหญ่อลังการ แต่มีความพิเศษตรงที่เป็นน้ำตก 2 แผ่นดิน ซึ่งสายน้ำตกที่ไหลแผ่สยายลงมานั้น ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศคือไทยและสปป.ลาว เนื่องจากบริเวณตัวน้ำตกเป็นจุดรอยต่อของเขตแดนตามธรรมชาติที่สามารถเดินข้ามไป-มา ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวเหยียบกับระเบิด ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ใบผ่านแดน ไม่ต้องมีจุดตรวจ ไม่ต้องมีทหารยืนเฝ้า ที่สำคัญคือน้ำตกที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องกรณีพิพาทเขตแดนให้ปวดเศียรเวียนเฮดแต่อย่างใด
นอกจากน้ำตก 2 แผ่นดินแล้ว ในอุทยานฯภูสวนทรายยังมี จุดท่องเที่ยวน่าสนใจ ได้แก่ “เนิน 1408” จุดสูงสุดของอุทยานฯ บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,408 เมตร ที่เป็นทั้งจุดชมวิว และพื้นที่กางเต็นท์ที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในภาคอีสาน, “เนิน 1025” จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นประเทศลาวได้อย่างชัดเจน, “หินสี่ทิศ” หินทรายขนาดใหญ่ 4 ก้อน วางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกับพิพัทธสีมาตามมุมโบสถ์ 4 ด้าน, “ก่องเบิก”จุดชมพะอาทิตย์ขึ้นอันสวยงามของอุทยานฯ, “เต่าปูลู” เต่ามีหางสัตว์คุ้มครองที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่หาดูได้ค่อนข้างยากในเมืองไทย
ใครที่มาเที่ยวอุทยานภูสวนทรายที่นาแห้วแล้วหากมีเวลา อำเภอแห่งนี้ยังมีอีก 3 สถานที่สำคัญให้เราได้ไปเที่ยวชมกัน
สถานที่แรก “วัดโพธิ์ชัย” หรือ “วัดโพธิ์ชัยนาพึง” ต.บ้านนาพึง วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กรมศิลป์ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน
ภายในบริเวณวัดน่ายลไปด้วยงานพุทธศิลป์พื้นบ้าน นำโดยวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“อาราม” วิหารหลังนี้สร้างอย่างเรียบง่ายแต่สุดแสนจะคลาสสิค กับโครงสร้างไม้ ก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงแผ่นไม้หรือแป้นเกล็ดที่ปัจจุบันหาชมได้ยากเต็มที ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังวาดประดับทั้ง 4 ด้าน เรื่องราวพุทธประวัติและวรรณกรรมพื้นบ้าน ฝีมือช่างพื้นบ้านที่แม้ไม่เนี๊ยบแต่ทรงเสน่ห์มีชีวิตชีวา
ขนาบข้างกับวิหาร ด้านซ้ายเป็นเจดีย์ขนาดย่อม ด้านขวาเป็นโบสถ์ที่สร้างด้วยศิลปกรรมล้านช้างผสมล้านนา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังน่ายลเช่นกัน ผู้รู้หลายคนสันนิษฐานว่านี่ไม่น่าจะใช่ช่างฝีมือพื้นบ้าน เพราะลายเส้น เนี๊ยบไม่กระด้าง แต่จะว่าไปผมชอบภาพจิตรกรรมฝาผนังอารมณ์ดิบๆในวิหารมากกว่า
วัดโพธิ์ชัยยังมีหอไตรไม้เก่าแก่คลาสสิคเป็นอีกสิ่งน่าสนใจ และมี“พระเจ้าองค์แสน” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองนาแห้ว
พระเจ้าองค์แสน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 24 นิ้ว ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวรีดูอิ่มบุญ
พระเจ้าองค์แสนมีตำนานเล่าขานชวนพิศวงว่า ท่านเสด็จมาที่วัดแห่งนี้ทางอากาศ ในปี พ.ศ. 1204 และบังเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่บ่อยครั้ง
ทั้งด้วยความศักดิสิทธิ์และความทรงคุณค่าชนิดที่ประมาณมิได้ พระองค์แสนจึงเก็บรักษาไว้อย่างดีในกุฏิเจ้าอาวาส เพื่อความปลอดภัยจากเหล่ามารศาสนาทั้งหลาย
อีกวัดหนึ่งในอำเภอนาแห้วที่ชื่อคล้ายๆกับวัดโพธิ์ชัยและเป็นวัดเก่าแก่อายุไล่เลี่ยกันก็คือ “วัดศรีโพธิ์ชัย” หรือ “วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา” ที่ ต.แสงภา
วัดศรีโพธิ์ชัย โดดเด่นไปด้วยสิมหรือโบสถ์เก่าแก่ โครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาซ้อน 3 ชั้นปกคลุมต่ำ บริเวณหน้าบันเป็นภาพวาดพื้นบ้านกับไม้แกะสลักนูนต่ำดูเก๋ไก๋ ส่วนภายในสิมประดิษฐานพระประธาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงปู่ใหญ่” เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนผสมล้านช้างดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
วัดศรีโพธิ์ชัยยังมีของดีให้สัมผัสชื่นชมกันอีกได้แก่ “หอพระไตรปิฎก” ใกล้ๆกับสิมที่บูรณะปรับปรุงใหม่อย่างประณีตสมส่วนสวยงาม ส่วนถัดไปทางด้านหลังเป็น“มณฑปพระเพชร” สีเหลืองอร่าม ดูเด่นแต่ไม่โดดเป็นอีกหนึ่งในสิ่งชวนมอง ขณะที่ด้านข้างของสิมเป็น“กุฏิพระ”แบบพื้นบ้านหลังยาวลมโกรก ซึ่งกุฏิในลักษณะนี้ทำให้ผมอดนึกถึงสมัยเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไปอาศัยข้าววัดกินบ่อยๆไม่ได้
นอกจากนี้ที่บริเวณด้านหน้าของวัดโพธิ์ชัยยังมี“ต้นดอกไม้”จากงานประเพณี“แห่ต้นดอกไม้”ประดับไว้
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวนาแห้ว(ที่อำเภอท่าลี่ก็มี แต่ต้นดอกไม้มีขนาดเล็กกว่า)ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จัดทำกันในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ที่นาแห้วเล่าให้ฟังว่า ประเพณีแห่ต้นดอกไม้จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กระทำตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ โดยนำแนวคิดการพานพุ่มบายศรีดอกไม้พัฒนากลายมาเป็นต้นดอกไม้ ที่ทำโครงด้วยไม้ไผ่ มีดอกไม้พื้นถิ่นประดับอย่างสวยงาม
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ถือเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กำลังปั้นให้เป็นงานใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการให้ดี มิฉะนั้นงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้อาจผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปแบบผิดฝาผิดตัวจากแนวคิดดั้งเดิม กลายเป็นแนวคิดเพื่อการขายเหมือนงานประเพณีพื้นบ้านหลายๆแห่งก็เป็นได้
สำหรับของดีที่อำเภอนาแห้วยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะที่นี่ยังมีของดีอันเกิดจากศรัทธาที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ “พระธาตุดินแทน”
พระธาตุดินแทน เป็นเจดีย์ที่ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนเหมือนเจดีย์ทั่วๆไป หากแต่เป็นเจดีย์ดิน หรือภูเขาดินขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากพุทธศาสนิกชนนำดินมาถวายด้วยจิตศรัทธา กองทับถมกันจนกลายเป็นพระธาตุดินแทนหรือภูเขาดินขนาดใหญ่เป็นเวลากว่า 200 ปี
ทั้งนี้พระธาตุดินแทน มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า ในราวปี พ.ศ. 2313 ได้มีพระธุดงค์จากภาคกลางมาหยุดพักที่หมู่บ้านแสงภา และได้ป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระธาตุดินแทนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
เมื่อแล้วเสร็จพระธุดงค์ได้ให้ชาวบ้านรับศีลและสาบานต่อหน้าพระธาตุดินแทนว่าจะยึดถือพระธาตุดินแห่งนี้เป็นที่สักการบูชา โดยจัดงานทำบุญพระธาตุขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกๆปี และด้วยความศรัทธาของผู้คนในยุคต่อๆมา ทำให้มีคนนำดินมากองถวายเพิ่มให้พระธาตุแห่งนี้อยู่ไม่ได้ขาด จนกลายเป็นภูเขาดินขนาดใหญ่ขึ้นมา
นับเป็นอีกหนึ่งศรัทธาของชาวพุทธที่ชวนให้ไปสักการะเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีโอกาสผ่านไปทางยังนาแห้ว อำเภอที่แม้จะไม่เด่นดังมากมายด้านการท่องเที่ยว แต่ว่าก็มีสิ่งชวนเที่ยวอยู่หลากหลาย ซึ่งหากมาถูกจังหวะเวลาแล้ว ไม่น่าจะ“แห้ว”ในเรื่องของการท่องเที่ยวด้วยประการทั้งปวง ส่วนในเรื่องของความรักนั้น จะ“สมหวัง”หรือ “กินแห้ว” งานนี้ผมคงมิอาจหยั่งรู้ได้แต่อย่างใด
“แห้ว” ไม่ใช่ “เหี้ย”
แต่แห้ว(พืชกินหัวได้ รสมันๆ)ดันเหมือนเหี้ย(สัตว์เลื้อยคลานประเภทหนึ่ง)ตรงที่ ต่างถูกใช้เป็นคำแสลงทั้งคู่
แห้ว เป็นแสลงของคำว่า “ผิดหวัง” “ไม่สมหวัง” หรือ “อกหัก” ที่อาจฟังดูไม่เป็นมงคลสำหรับใครบางคน
ส่วนเหี้ย เป็นคำหยาบ คำสบถ คำที่คนไทยใช้ด่ากันมาช้านาน หรือบางครั้งก็เป็นคำนำหน้าเรียกขานเพื่อนสนิท เปรียบเปรยกับนักการเมืองบางคน หรือใช้เรียกขานการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม
นอกจากนี้แห้วยังเหมือนเหี้ยตรงที่ แห้ว(พืช)อยู่ของมันดีๆ จู่ๆก็มีคนพยายามเรียกขานชื่อของมันเสียใหม่ว่า“สมหวัง” เพื่อเป็นการแก้เคล็ดให้กับชื่อที่สื่อถึงความผิดหวังของมัน ส่วนเหี้ย(สัตว์) มันอยู่ของมันดีๆ จู่ๆก็มีคนพยายามเปลี่ยนชื่อให้มันว่า“วรนุส” ซะอย่างงั้น
แม่ค้าแห้วต้มแถวบ้านผม เดี๋ยวนี้ไม่ขายแห้วต้มแล้ว หากแต่เปลี่ยนมาขาย“สมหวังต้ม”แทน ถุงเล็กๆตั้ง 20 บาทแน่ะ(แพง) แต่เวลาแม่ค้าคนนี้ด่ากับพ่อค้าขี้เมาแผงข้างๆ ผมไม่ยักกะเห็นเธอจะเปลี่ยนคำด่าจากไอ้... เป็น“ไอ้วรนุส”!!!แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี โชคยังดีที่ฝ่ายปกครองบ้านเรายังไม่บ้าจี้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอนาแห้ว” ในจังหวัดเลย เป็นอำเภอนาสมหวัง ไม่งั้นงานนี้คงพิลึกน่าดู แต่สำหรับ“อุทยานแห่งชาตินาแห้ว” ที่ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ ได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น“อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย”(ในปี พ.ศ. 2549) ซึ่งจากที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯภูสวนทรายคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้ เขาให้ข้อมูลว่า
คนที่เปลี่ยนชื่ออุทยานฯนาแห้วเป็นภูสวนทราย ไม่ได้มองในเรื่องชื่อที่ฟังไม่ค่อยโสภาเป็นหลัก หากแต่เปลี่ยนเพื่อต้องการเน้นให้เห็นถึงความโดดเด่นของภูสวนทราย ภูเขาสำคัญในพื้นที่อุทยานฯ และเพื่อให้ชื่อของภูสวนทรายสอดรับกับแหล่งท่องเที่ยว ภูเขาชื่อดัง 3 ลูกในเมืองเลย คือ ภูกระดึง ภูเรือ และภูหลวง
สำหรับอุทยานแห่งชาติภูสวนทรายนั้น ในหน้าฝนอย่างนี้มีบรรยากาศชวนเที่ยวไปอีกแบบ โดยเฉพาะกับบรรดาน้ำตกทั้งหลายแหล่ หน้าฝนแบบนี้ น้ำจะเยอะ มีเสน่ห์ในพลังแห่งมวลน้ำให้ได้สัมผัสชื่นชมกัน
อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย มีน้ำตกหลักๆอยู่ 6 แห่ง และถูกนำมาเป็นตัวเปิดของคำขวัญนำเที่ยวอุทยาน คือ “เย็นสบาย 6 น้ำตก...หลากชนิดนก ค้อป่าใหญ่...สูงเสียดฟ้า ตีนสวนทราย...ตระการตา ภูไทย-ลาว”
โดย“เย็นสบาย 6 น้ำตก”นั้นได้แก่ “น้ำตกวังตาด” เป็นแผ่นหินกว้างรองรับการไหลกระทบตกของสายน้ำ มี 2 ชั้น สูงราว 20 เมตร “น้ำตกช้างตก” เป็นโขดหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน มี 2 ชั้น สูงราว 25 เมตร “น้ำตกผาค้อ” มีโขดหินขนาบ 2 ข้างของน้ำตก มีชั้นเดียว สูงราว 2 เมตร กว้างราว 20 เมตร “น้ำตกตาดภา” มี 2 ชั้น สูงถึง 60 เมตร กว้างราว 20 เมตร “น้ำตกคิ้ง” เป็นแก่งหิน 2 ชั้น สูงราว 5 เมตร และ“น้ำตกตาดเหือง”ที่ถือเป็นน้ำตกไฮไลท์ในอุทยานแห่งนี้
น้ำตกตาดเหือง เป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีสายน้ำไหลเย็นชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 50 เมตร กว้างราว 25 เมตร น้ำตกตาดเหืองแม้ไม่ใช่น้ำตกสูงใหญ่อลังการ แต่มีความพิเศษตรงที่เป็นน้ำตก 2 แผ่นดิน ซึ่งสายน้ำตกที่ไหลแผ่สยายลงมานั้น ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศคือไทยและสปป.ลาว เนื่องจากบริเวณตัวน้ำตกเป็นจุดรอยต่อของเขตแดนตามธรรมชาติที่สามารถเดินข้ามไป-มา ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวเหยียบกับระเบิด ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ใบผ่านแดน ไม่ต้องมีจุดตรวจ ไม่ต้องมีทหารยืนเฝ้า ที่สำคัญคือน้ำตกที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องกรณีพิพาทเขตแดนให้ปวดเศียรเวียนเฮดแต่อย่างใด
นอกจากน้ำตก 2 แผ่นดินแล้ว ในอุทยานฯภูสวนทรายยังมี จุดท่องเที่ยวน่าสนใจ ได้แก่ “เนิน 1408” จุดสูงสุดของอุทยานฯ บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,408 เมตร ที่เป็นทั้งจุดชมวิว และพื้นที่กางเต็นท์ที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในภาคอีสาน, “เนิน 1025” จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นประเทศลาวได้อย่างชัดเจน, “หินสี่ทิศ” หินทรายขนาดใหญ่ 4 ก้อน วางเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกับพิพัทธสีมาตามมุมโบสถ์ 4 ด้าน, “ก่องเบิก”จุดชมพะอาทิตย์ขึ้นอันสวยงามของอุทยานฯ, “เต่าปูลู” เต่ามีหางสัตว์คุ้มครองที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่หาดูได้ค่อนข้างยากในเมืองไทย
ใครที่มาเที่ยวอุทยานภูสวนทรายที่นาแห้วแล้วหากมีเวลา อำเภอแห่งนี้ยังมีอีก 3 สถานที่สำคัญให้เราได้ไปเที่ยวชมกัน
สถานที่แรก “วัดโพธิ์ชัย” หรือ “วัดโพธิ์ชัยนาพึง” ต.บ้านนาพึง วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่กรมศิลป์ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน
ภายในบริเวณวัดน่ายลไปด้วยงานพุทธศิลป์พื้นบ้าน นำโดยวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“อาราม” วิหารหลังนี้สร้างอย่างเรียบง่ายแต่สุดแสนจะคลาสสิค กับโครงสร้างไม้ ก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงแผ่นไม้หรือแป้นเกล็ดที่ปัจจุบันหาชมได้ยากเต็มที ภายในวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังวาดประดับทั้ง 4 ด้าน เรื่องราวพุทธประวัติและวรรณกรรมพื้นบ้าน ฝีมือช่างพื้นบ้านที่แม้ไม่เนี๊ยบแต่ทรงเสน่ห์มีชีวิตชีวา
ขนาบข้างกับวิหาร ด้านซ้ายเป็นเจดีย์ขนาดย่อม ด้านขวาเป็นโบสถ์ที่สร้างด้วยศิลปกรรมล้านช้างผสมล้านนา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังน่ายลเช่นกัน ผู้รู้หลายคนสันนิษฐานว่านี่ไม่น่าจะใช่ช่างฝีมือพื้นบ้าน เพราะลายเส้น เนี๊ยบไม่กระด้าง แต่จะว่าไปผมชอบภาพจิตรกรรมฝาผนังอารมณ์ดิบๆในวิหารมากกว่า
วัดโพธิ์ชัยยังมีหอไตรไม้เก่าแก่คลาสสิคเป็นอีกสิ่งน่าสนใจ และมี“พระเจ้าองค์แสน” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองนาแห้ว
พระเจ้าองค์แสน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 24 นิ้ว ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวรีดูอิ่มบุญ
พระเจ้าองค์แสนมีตำนานเล่าขานชวนพิศวงว่า ท่านเสด็จมาที่วัดแห่งนี้ทางอากาศ ในปี พ.ศ. 1204 และบังเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่บ่อยครั้ง
ทั้งด้วยความศักดิสิทธิ์และความทรงคุณค่าชนิดที่ประมาณมิได้ พระองค์แสนจึงเก็บรักษาไว้อย่างดีในกุฏิเจ้าอาวาส เพื่อความปลอดภัยจากเหล่ามารศาสนาทั้งหลาย
อีกวัดหนึ่งในอำเภอนาแห้วที่ชื่อคล้ายๆกับวัดโพธิ์ชัยและเป็นวัดเก่าแก่อายุไล่เลี่ยกันก็คือ “วัดศรีโพธิ์ชัย” หรือ “วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา” ที่ ต.แสงภา
วัดศรีโพธิ์ชัย โดดเด่นไปด้วยสิมหรือโบสถ์เก่าแก่ โครงสร้างไม้ ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาซ้อน 3 ชั้นปกคลุมต่ำ บริเวณหน้าบันเป็นภาพวาดพื้นบ้านกับไม้แกะสลักนูนต่ำดูเก๋ไก๋ ส่วนภายในสิมประดิษฐานพระประธาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงปู่ใหญ่” เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนผสมล้านช้างดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา
วัดศรีโพธิ์ชัยยังมีของดีให้สัมผัสชื่นชมกันอีกได้แก่ “หอพระไตรปิฎก” ใกล้ๆกับสิมที่บูรณะปรับปรุงใหม่อย่างประณีตสมส่วนสวยงาม ส่วนถัดไปทางด้านหลังเป็น“มณฑปพระเพชร” สีเหลืองอร่าม ดูเด่นแต่ไม่โดดเป็นอีกหนึ่งในสิ่งชวนมอง ขณะที่ด้านข้างของสิมเป็น“กุฏิพระ”แบบพื้นบ้านหลังยาวลมโกรก ซึ่งกุฏิในลักษณะนี้ทำให้ผมอดนึกถึงสมัยเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไปอาศัยข้าววัดกินบ่อยๆไม่ได้
นอกจากนี้ที่บริเวณด้านหน้าของวัดโพธิ์ชัยยังมี“ต้นดอกไม้”จากงานประเพณี“แห่ต้นดอกไม้”ประดับไว้
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวนาแห้ว(ที่อำเภอท่าลี่ก็มี แต่ต้นดอกไม้มีขนาดเล็กกว่า)ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จัดทำกันในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ที่นาแห้วเล่าให้ฟังว่า ประเพณีแห่ต้นดอกไม้จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กระทำตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ โดยนำแนวคิดการพานพุ่มบายศรีดอกไม้พัฒนากลายมาเป็นต้นดอกไม้ ที่ทำโครงด้วยไม้ไผ่ มีดอกไม้พื้นถิ่นประดับอย่างสวยงาม
ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ถือเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กำลังปั้นให้เป็นงานใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการให้ดี มิฉะนั้นงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้อาจผิดเพี้ยนเปลี่ยนไปแบบผิดฝาผิดตัวจากแนวคิดดั้งเดิม กลายเป็นแนวคิดเพื่อการขายเหมือนงานประเพณีพื้นบ้านหลายๆแห่งก็เป็นได้
สำหรับของดีที่อำเภอนาแห้วยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะที่นี่ยังมีของดีอันเกิดจากศรัทธาที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ “พระธาตุดินแทน”
พระธาตุดินแทน เป็นเจดีย์ที่ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนเหมือนเจดีย์ทั่วๆไป หากแต่เป็นเจดีย์ดิน หรือภูเขาดินขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากพุทธศาสนิกชนนำดินมาถวายด้วยจิตศรัทธา กองทับถมกันจนกลายเป็นพระธาตุดินแทนหรือภูเขาดินขนาดใหญ่เป็นเวลากว่า 200 ปี
ทั้งนี้พระธาตุดินแทน มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า ในราวปี พ.ศ. 2313 ได้มีพระธุดงค์จากภาคกลางมาหยุดพักที่หมู่บ้านแสงภา และได้ป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระธาตุดินแทนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี
เมื่อแล้วเสร็จพระธุดงค์ได้ให้ชาวบ้านรับศีลและสาบานต่อหน้าพระธาตุดินแทนว่าจะยึดถือพระธาตุดินแห่งนี้เป็นที่สักการบูชา โดยจัดงานทำบุญพระธาตุขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกๆปี และด้วยความศรัทธาของผู้คนในยุคต่อๆมา ทำให้มีคนนำดินมากองถวายเพิ่มให้พระธาตุแห่งนี้อยู่ไม่ได้ขาด จนกลายเป็นภูเขาดินขนาดใหญ่ขึ้นมา
นับเป็นอีกหนึ่งศรัทธาของชาวพุทธที่ชวนให้ไปสักการะเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีโอกาสผ่านไปทางยังนาแห้ว อำเภอที่แม้จะไม่เด่นดังมากมายด้านการท่องเที่ยว แต่ว่าก็มีสิ่งชวนเที่ยวอยู่หลากหลาย ซึ่งหากมาถูกจังหวะเวลาแล้ว ไม่น่าจะ“แห้ว”ในเรื่องของการท่องเที่ยวด้วยประการทั้งปวง ส่วนในเรื่องของความรักนั้น จะ“สมหวัง”หรือ “กินแห้ว” งานนี้ผมคงมิอาจหยั่งรู้ได้แต่อย่างใด