xs
xsm
sm
md
lg

สีสันประเพณี แห่ต้นดอกไม้ที่เมืองเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แห่ต้นดอกไม้
มากกว่าการสาดน้ำในวันสงกรานต์ แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวไทยมาช้านานคือประเพณี วัฒนธรรมที่สืบสานกันมาตั้งแต่อดีต แม้ว่าการละเล่นสงกรานต์จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยในแต่ละปี แต่ที่บ้านนาแห้วและบ้านอาฮี จังหวัดเลยนั้น ยังคงมีการสืบสาน "ประเพณีแห่ต้นดอกไม้" ประเพณีดั้งเดิมที่จะกระทำกันในช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจที่ประเพณีนี้ก็ยังคงถูกสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น และกลายมาเป็นสีสันงานสงกรานต์แบบพื้นบ้านที่น่าสนใจ
วิศวกรชาวบ้าน
งานแห่ต้นดอกไม้ที่บ้านนาแห้ว ตำบลแสงนภา นั้นมีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แม้ไม่อาจหาบันทึกที่เป็นหลักฐานได้อย่างแน่ชัด แต่การบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ของที่นี่ทำให้ทราบว่าเป็นพระเพณีกระทำตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะนิยมบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ จากเดิมเป็นดอก มาสู่ช่อ และพัฒนามาเป็นพานพุ่มหรือพานบายศรีขนาดต่างๆ จนกลายมาเป็นต้นดอกไม้อย่างในปัจจุบัน เพื่อน้อมบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นำความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้คน ชุมชนอยู่ดีมีสุข ข้าวกล้าในภูมินาอุดมสมบูรณ์ มีการปฎิบัติสืบทอดเป็นประเพณีทุกปีในวันปีใหม่ของไทย
ช่วยติดดอกไม้
เช้าวันที่ 14 เมษายนเป็นช่วงเวลาที่ชายหนุ่มในชุมชนต่างมารวมตัวกันเพื่อทำ “ต้นดอกไม้” สำหรับการแห่ในช่วงค่ำ โดยต้นดอกไม้นั้นมีลักษณะคล้ายพานพุ่มแต่ตัวโครงนั้นสานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างออกไปในแต่ละบ้าน สำหรับต้นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีความกว้างราว 3 เมตรและสูงกว่า 25 เมตร แม้มองว่านี่คือประเพณีแบบชาวบ้านแต่กว่าจะสร้างต้นดอกไม้ขนาดใหญ่ให้เสร็จนั้น ต้องอาศัยความชาญฉลาดจากภูมิปัญญาชาวบ้านผสานกับความรู้ทางวิศวกรรม เพราะการสร้างต้นดอกไม้นั้นจะไม่ใช้ตะปูและลวดเลยแม้สักตัวเดียว

ไม้ไผ่ขนาดใหญ่ถูกนำมาเป็นเสากลาง มีคานสำหรับแบกหาม และยึดทุกอย่างให้ติดแน่นด้วยเชือกที่ทำจากไผ่เช่นกัน ถ้าคำนวนโครงสร้างไม่ดี เมื่อยกขึ้นแห่ต้นดอกไม้ก็อาจจะเอียงหรือหักลงได้ แต่อย่างที่บอกว่า วิศวกรพื้นบ้านเหล่านี้สามารถใช้ภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี จนคนรุ่นใหม่หลายคนยังต้องทึ่ง ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับการตกลงของคนภายในหมู่บ้านว่าจะสร้างต้นดอกไม้ให้มีความใหญ่โตขนาดไหน เพราะยิ่งใหญ่มากนั้นอาจดูเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธา แต่เวลาแห่อาจจะลำบากมากกว่า
ดอกคูณมีเยอะในชุมชน
สำหรับผู้หญิงนั้นจะมีหน้าที่ออกไปเก็บดอกไม้มาติดที่ตัวของต้นดอกไม้ โดยจะใช้ดอกไม้ที่หาได้ภายในชุมชน อาทิ ดอกคูณ ดอกอินทนินท์ ดอกข่าป่า ดอกหางนกยูง แต่ละบ้านก็จะเก็บเอามารวมกัน ซึ่งบรรยากาศก็มีแต่ความสุข รอยยิ้ม ที่เกิดจากการพูดคุย ทุกคนนั่งล้อมวงช่วยกันร้อยดอกไม้ เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานในชุมชนก็ช่วยกันทำบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะวิ่งเล่นกันตามภาษาเด็กๆ เสียมากกว่า ยิ่งช่วงที่อากาศร้อนๆ แบบนี้ ผู้ใหญ่เองนั้นก็ยังมีเผลอหยิบขันน้ำมาสาดแกล้งกันเอง สร้างเสียงหัวเราะและความสนุกสนานควบคู่กันไปได้อย่างดี

ซึ่งกว่าต้นดอกไม้จะเสร็จสมบูรณ์นั้นก็ต้องมีการทดสอบการแห่จนแน่ใจว่าต้นดอกไม้จะไม่หักลงมา และสามารถแกว่งไกวตามจังหวะการแห่ได้อย่างสวยงาม และหลังจากที่ทางกลุ่มของผู้ชายช่วยกันสร้างต้นดอกไม้จนเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงคราวที่ฝ่ายหญิงต้องนำดอกไม้ที่เตรียมไว้มาติด ซึ่งในช่วงนี้เองจะเห็นบรรยากาศของสังคมต่างจังหวัด ซึ่งมีการพึ่งพาอาศัย และอยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง อาจจะมีวงสุราเล็กๆ ของผู้ชาย แต่ก็เรื่องเป็นธรรมดาหลังจากที่ได้ลงแรงเหน็ดเหนื่อยกันทั้งวัน ติดดอกไม้ไป สาดน้ำเล่นกันไป ช่วยกันคนละไม้คนละมือจนได้ต้นดอกไม้ที่สวยงามออกมา
คนละไม้ คนละมือ
หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะช่วยกันยกต้นดอกไม้ของตนออกมาวางไว้บริเวณวัดศรีโพธิ์ชัย เพื่อรอเวลาแห่ในช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ซึ่งทางวัดจะตีกลองสงสัญญาณเมื่อใกล้จะเริ่มแห่ และชาวบ้านก็จะทยอยกันมาจนแน่นขนัดบริเวณวัด เมื่อฟ้ามืดลงก็มีแค่แสงไฟจากในวัดเพียงไม่กี่ดวง ชาวบ้านจึงนิยมมาจุดเทียนอธิษฐานกันที่คานของต้นดอกไม้ เพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่าง และหลังจากนั้นก็เป็นช่วงของพิธีการรวมถึงการแสดงแบบพื้นบ้านอีกเล็กน้อย

เมื่อได้เวลา ชายหนุ่มของแต่ละหมู่บ้านก็จะช่วยกันยกต้นดอกไม้ขึ้นแห่ วบรอบพระอุโบสถให้ครบ 3 รอบ จากเดิมเสียงกลองและฉิ่งฉาบ ก็ประยุกต์นำเอาเครื่องเสียงสมัยใหม่มาใช้ร่วมด้วย เพื่อสร้างความสนุกสนานในการแห่ โดยหนึ่งต้นดอกไม้จะต้องใช้ผู้แห่ประมาณ 4 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าบ้านไหนทำต้นดอกไม้ใหญ่มาก ก็ต้องใช้คนแห่มากตามไปด้วย ในแต่ละก้าวเดินของผู้แห่จะทำให้ต้นดอกไม้แกว่งหมุนไปมา พริ้วไหวดั่งต้นไม้ทีถูกลมพัด สร้างความตื่นตาให้กับขบวนแห่ได้ไม่น้อย
สีสันของดอกไม้
3 รอบอุโบสถนั้นใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง เพราะความสนุกสนานจากการเซิ้งตามจังหวะเพลงไปด้วย เดินไปด้วย ส่วนคนที่ไม่ได้แบกต้นดอกไม้นั้นก็จะเดินถือช่อดอกไม้เล็กๆ แทน ซึ่งเรียกว่าประเพณีนี้เป็นศูนย์รวมเอาจิตใจของคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ผู้ใหญ่จูงมือลูกหลานมาร่วมพิธี เด็กผู้ชายบางคนก็มาแห่ต้นดอกไม้เล็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่ทำให้ เพื่อแฝงการถ่ายทอดภูมิปัญญาและประเพณีลงไป และหลังจากแห่เสร็จแล้วก็จะมีการตัดสินการประกวดความสวยงามของต้นดอกไม้ ซึ่งก็มีรางวัลติดไม้ติดมือกลับไป ถึงมีค่าไม่มาก แต่ก็ช่วยเป็นแรงจูงใจในการสืบสานประเพณีได้อีกทางหนึ่ง
จุดเทียนยามค่ำคืน
สำหรับที่บ้านอาฮี อำเภอท่าลี่นั้นก็จะคล้ายกับที่บ้านนาแห้ว แต่ขนาดของต้นดอกไม้นั้นจะเล็กกว่า และแห่กันในเวลากลางวัน แต่จะมีขบวนแห่ผ่านหมู่บ้าน ซึ่งระหว่างทางก็จะมีการสาดน้ำดับร้อนไปตลอดสองข้างทาง กว่า 2 กม. จนถึงวัด และจบที่การแห่เวียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ เช่นเดียวกัน ซึ่งแม้การแห่ต้นดอกไม้ที่บ้านนาฮีนั้นจะถูกลืมเลือนไปในบางช่วง แต่ก็มีกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าและนำกลับมาจนเป็นประเพณีที่ต้องปฏิบัติกันในทุกปีอย่างในทุกวันนี้

แม้ในปีนี้กระแสของงานสงกรานต์จะถูกมองในแง่ลบ จากการกระทำของคนเพียงไม่กี่คน แต่อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่าประชาชนคนไทยนั้นย่อมไม่ลืมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามต่างๆ อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า จะมีคนให้ความสนใจมากกว่าสาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อยในวันสงกรานต์หรือไม่นั้น ก็ต้องคอยดูกันในปีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น