โดย...สุกัญญา แสงงาม
“ทันทีที่สลัดคราบนักศึกษาแพทย์มาเป็นหมอเต็มตัว ตั้งเข็มทิศชีวิตไว้ว่า ภายหลังชดใช้ทุนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะกลับมาศึกษาต่อด้านศัลยแพทย์ จากวันนั้นจนถึงวันนี้กว่า 24 ปี ไม่ได้กลับไปเรียนตามที่คิดไว้ ไม่ใช่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ พอได้สัมผัสและเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ทำให้มุมมองชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม และเกิดความคิดใหม่ที่จะทำงานและพัฒนาโรงพยาบาลเล็กๆ ต่อไป” นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย แพทย์ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2553 บอกอย่างเต็มภาคภูมิ
นพ.ภักดี เล่าย้อนกลับไปว่า ครั้งแรกปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ รพ.ภูเรือ 2 ปี จากนั้นได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู มีความขัดแย้งทางความคิด มีการสู้รบกัน รักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ รักษาชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งการเดินทางค่อนข้างลำบากเพราะสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขากว่าคนไข้จะมาถึงมือหมอใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ประกอบกับเครื่องไม้เครื่องมือจำกัด อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน “รักษาคนไข้ให้หายจากอาการเจ็บป่วย”
“ตลอดชีวิตการเป็นแพทย์ไม่เคยคิดเรื่องรางวัลเลยแม้แต่น้อย ส่วนรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นครั้งนี้ขอมอบให้ทีมแพทย์ พยาบาล ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา และต้องทำงานร่วมกันอีกหลายปีกว่าผมจะเกษียณ” นพ.ภักดี บอกความรู้สึกในใจ
นพ.ภักดี บอกต่อว่า ปัจจุบัน รพ.สมเด็จพระยุพราช มีเครื่องไม้เครื่องมือด้านการแพทย์ค่อนข้างพร้อม มีห้องผ่าตัด ห้องคลอด หอผู้ป่วย แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือสุขภาพของชาวบ้าน ขณะนี้เจ็บป่วยเป็นโรคเดียวกันกับคนเมือง ก็คือ โรคเบาหวาน มะเร็ง มากขึ้น อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตการกินเปลี่ยนไปจากเดิม ชาวบ้านนิยมกินอาหารฟาสต์ฟูด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ค่อยออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคคนเมืองขยายวงกว้าง จึงให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ชาวบ้าน ปลูกฝังให้ออกกำลังกาย และอื่นๆ
“ช่วงแรกๆ ที่เป็นแพทย์ชนบท จะพบว่า ชาวบ้านมีปัญหาขาดสารอาหาร ขาดไอโอดีน ปอดอักเสบ มีผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งการขาดสารไอโอดีนจะพบปัญหาด้านสติปัญญาพวกเราร่วมกันขจัดปัญหาเหล่านี้โดยการเสริมไอโอดีนและโครงการหนังสือเล่มแรกกระต้นพัฒนาการเรียนรู้ ทว่าวันนี้สถานการณ์เจ็บป่วยชาวบ้านเปลี่ยนไปปรากฎว่าป่วยเป็นโรคคนเมือง อย่างเบาหวาน มะเร็ง เพราะชาวบ้านขาดความรู้ จึงทำงานแบบเชิงรุกโดยให้ความรู้ชาวบ้าน พร้อมตระหนักถึงพิษภัยของโรคนี้ด้วย” นพ.ภักดี กล่าว
นพ.ภักดี ฝากทิ้งท้ายถึงแพทย์รุ่นใหม่ด้วยว่า “ผมเชื่อว่า แพทย์ทุกคนเป็นผู้พร้อมในด้านสติปัญญา เศรษฐสถานะ จึงอยากให้ปรับทัศนคติใหม่ ไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชนบท ในพื้นที่ห่างไกล ก่อนศึกษาต่อเฉพาะทาง เพื่อให้ได้ประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ซึ่งการสัมผัสวิถีชีวิตในชนบทมีความแตกต่างจากรั้วโรงเรียนแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยเหล้านี้หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ พร้อมทั้งปลุกความศรัทธาในตัวแพทย์ให้คืนกลับมา สำหรับผมถือว่าเป็นผลผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งปฏิญาณกับตัวเองว่าจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”
สำหรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นกำลังใจแก่แพทย์ผู้อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบทให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมในชนบท
โดยในปี 2553 “นพ.ภักดี สืบนุการณ์” เป็นผู้ที่มีผลงานที่ประจักษ์ควรค่าแก่การได้รับรางวัล แพทย์ดีเด่นในชนบทเนื่องเพราะเป็นแพทย์ผู้เสียสละ มีอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท อุตสาหะ ดูแลเอาใจใส่ประชาชนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล กันดาร และเป็นพื้นที่สีชมพูอย่างต่อเนื่องกว่า 24 ปี ถือเป็นแบบอย่างของแพทย์ทั่วไปที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแพทย์เฉพาะทาง และยังสามารถอำนวยประโยชน์การบริการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุมภายใต้ทรัพยากรจำกัด ที่สำคัญเข้าถึงชีวิตและจิตใจของชาวบ้านตลอดจนผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี
ประวัติการศึกษา
ปี พ.ศ.2519 จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
ปี พ.ศ.2524 ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น
ปี พ.ศ.2535 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (แพทย์ขอนแก่น รุ่น 9) สอบอนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกันได้ในปี ใน
ปี พ.ศ.2538 เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ประวัติการทำงาน
ปี พ.ศ.2530 ได้เลือกทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลภูเรือ จังหวัดเลย หลังจากมาอยู่อำเภอภูเรือได้ราว 10 เดือน เกิดเหตุสู้รบที่สมรภูมิร่มเกล้าทางราชการต้องการแพทย์ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลนาแห้ว จึงได้อาสาสมัครไปช่วยงานนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาแห้ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นสู้รบในสมรภูมิร่มเกล้า
ปี พ.ศ.2532 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย-จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2537 อาสาสมัครไปช่วยราชการที่ รพ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากสาเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
เกียรติประวัติส่วนตัว
-แพทย์ชนบทดีเด่นของกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูนเกษร โดยมูลนิธิแพทย์ชนบท พ.ศ. 2534 -รางวัลพระราชทาน ”คนไทยตัวอย่าง” เสนอโดยมูลนิธิธารน้ำใจ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ พ.ศ. 2537
-รางวัลพระราชทาน “ศิษย์เก่าดีเด่น” มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2540
-รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น พ.ศ.2547