xs
xsm
sm
md
lg

เปลือยใจให้เป็นสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยุคนี้เป็นยุคของการแข่งขันไหม...ใช่ แต่ต้องเป็นการแข่งขันกับตัวเอง ยุคนี้เป็นยุคเอาใจกันไหม... ถูก แต่ควรเอาใจใส่กัน ไม่ใช่เอาใจเพื่อประจบประแจง ยุคนี้เป็นยุคชนะใจไหม... ควร แต่ควรชนะใจตัวเอง” มีคำสอนอีกมากมายจากพระหนุ่มรูปนี้ที่จะช่วยเยียวยาจิตใจอันว้าวุ่นของคนทำงานทั้งหลายให้รู้สึกเบาสบายและเป็นสุขมากขึ้น

“จิตร์ ตัณฑเสถียร” วงการบันเทิงคุ้นเคยกับนามสกุลนี้จากนักแสดงชื่อดัง “พล ตัณฑเสถียร” ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชาย คนในวงการโฆษณาจดจำชื่อนี้ได้ในนามนักวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการสื่อสาร เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาโฆษณาชื่อดัง ส่วนวงการน้ำหมึกรู้จักเขาผ่านคอลัมน์ “ธรรมะจากปลายพู่กัน” ในวารสารพลัม, ผู้แปลหนังสือ “ศิลปะแห่งอำนาจ (The Art of Power) โดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และล่าสุดในฐานะผู้เขียนหนังสือ “ใจเปล่าเล่าเปลือย”

การเรียนรู้หลักธรรมผ่านตัวหนังสือทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ผู้ชายที่ชื่อ “โก๋ หรือจิตร์ ตัณฑเสถียร” มีชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากเคยว้าวุ่นสับสนกับงานที่ทำ กลับค้นพบความสงบที่แท้จริงเมื่อได้พิจารณาเสียงเงียบภายในจิตใจ กระทั่งตัดสินใจสละทางโลก หันมาชี้ทางสว่างแก่คนทั่วไปซึ่งอาจเคยรู้สึกสับสนเช่นเดียวกัน และครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “พระจิตร์ หรือ พระโก๋” ล้อมวงเสวนาธรรมเพื่อมอบรอยยิ้มเย็นๆ และถ้อยคำง่ายๆ แต่ลึกซึ้งให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่ต้องการความสุขในชีวิต

เมื่อต้องทำงานสุ่มเสี่ยง
“ตอนที่ทำงานโฆษณาอยู่ หลวงพี่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำเลวร้ายแค่ไหน ถือเป็นการหลอกลวงคนอื่นหรือเปล่า คนที่ตอบหลวงพี่ได้ชัดเจนที่สุดคือหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ท่านบอกเอาไว้ว่าถ้ามีใครสักคนจะต้องถือปืน หลวงปู่ได้แต่หวังว่าคนๆ นั้นจะมีสติที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าใครที่ทำอาชีพสุ่มเสี่ยงต่อการยั่วยุกิเลส สุ่มเสี่ยงต่อการทำบาป หลวงปู่หวังว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนที่มีสติที่สุด และขอให้ทำเถอะ แต่แค่ทำให้ดี ทำให้มีความรับผิดชอบ ซึ่งหลวงพี่ก็ยึดความรู้สึกนั้นมาตลอด”

พระจิตร์เริ่มด้วยการย้อนความรู้สึกเมื่อครั้งยังเต็มไปด้วยความสับสนให้ฟัง ก่อนอธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงหลุดพ้นจากวังวนเหล่านั้นออกมาได้

“ถามว่างานประเภทนี้ช่วยหลวงพี่ยังไงบ้าง หลวงพี่เชื่อว่าคนที่สร้างเอฟเฟกต์ให้แก่หนังผีจะไม่กลัวผี ไม่กลัวหนังผี เพราะเรารู้ว่ามันเกิดจากอะไร เข้าใจกระบวนการเสียจนเราไม่ถูกหลอก เรารู้ว่าเลือดปลอมใส่ตรงนี้ จิ้มตรงนี้ เดี๋ยวจะไหลออกมาตรงนี้ หลวงพี่เองก็เคยอยู่ในกระบวนการปรุงแต่งเสียจนรู้ว่ามันปรุงอย่างไร หลวงพี่เลยมีสติแยกแยะได้ ไม่ถูกหลอกไปตามสิ่งที่เห็น พอไม่ถูกหลอกก็เลยเป็นอิสระได้ง่าย

สำหรับคนที่ยังคงต้องทำงานประเภทเดียวกันนี้ต่อไป แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าจะเป็นการสร้างบาปให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระจิตร์เสนอแนะอีกทางเลือกหนึ่งของการทำงานเอาไว้ให้ได้ลองปฏิบัติ เพื่อให้พนักงานกินเงินเดือนทั้งหลายได้ทำงานที่ตัวเองรักด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข

เราทำงานทุกอย่างได้โดยที่ไม่ต้องกลัวบาปเลยตราบเท่าที่เรามีสองอย่างอยู่ในใจ คือสติและความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อใคร รับผิดชอบต่อตนเอง ต่อทุกคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย นั่นหมายความว่ารับผิดชอบต่อผู้บริโภค รับผิดชอบต่อสังคมโลก ทำอะไรก็ได้ เบียดเบียนให้น้อยที่สุด แล้วรักให้มากที่สุด

“อย่าคิดว่าเราไม่มีทางเลือกหรือต้องทำตามคำสั่งทุกอย่างไม่ว่าจะถูกหรือผิด เพราะตอนที่หลวงพี่ทำงาน หลวงพี่ก็เลือกครับ ขอให้เชื่อเถอะว่าเราเลือกได้ ไม่มีใครบังคับเราได้จริงๆ นะ ความกลัวจนของเราสิบังคับเรา ความกลัวตกงานของเราสิเป็นตัวบังคับเราเอง คนอื่นบังคับเราไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรขอให้รู้จักรับผิดชอบ เพราะทุกครั้งที่เราทำผิด ชีวิตเราจะยากขึ้น แต่ทุกครั้งที่เราทำถูก เราจะแข็งแรง หนักแน่น และกล้าหาญมากขึ้น ทำถูกมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งหนักแน่น ที่สำคัญขอให้เชื่อในความรัก เชื่อในความถูกต้อง” พระจิตร์ยิ้มเย็นๆ ตบท้าย

อย่าเอาแต่กล่าวโทษ
ไม่เพียงฝ่ายผู้ประกอบการเท่านั้นที่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบ แต่ผู้บริโภคก็ต้องมีสติด้วยเช่นกัน เพราะถ้าทุกคนมัวแต่ปัดความรับผิดชอบและกล่าวโทษผู้อื่น ก็มีแต่จะทำให้สังคมของเราเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ในที่สุด

ถามว่าคนขายของน่ะบาปไหม ไม่นะ ขายของให้ดีสิ แต่ถ้าเราตีตราเขาไว้ก่อนแล้วว่าเขาขายของเพื่อล่อลวง เชิญชวนให้คนอยู่ในกิเลส มันก็ไม่ยุติธรรมกับเขา เพราะคนขายของพวกนั้น เขาคือคนหาเงินเลี้ยงลูก เขาคือคนเลี้ยงลูกน้อง” พระจิตร์กล่าวด้วยสายตาที่อ่อนโยน

“หลวงพี่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นสองฝั่งคือฝั่งผู้ผลิตและฝั่งผู้บริโภค ถ้าเป็นฝั่งผู้ผลิต เขาก็ต้องรับผิดชอบโดยทำให้มีการเบียดเบียนผู้ซื้อ เบียดเบียนสังคม เบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเขาเบียดเบียนไปเรื่อยๆ เขาก็จะไม่มีโลกอยู่ แล้วถ้าเขาเบียดเบียนผู้บริโภคมากๆ เมื่อคนเหล่านั้นป่วย เขาก็จะไม่มีคนซื้อ พอสังคมทรุดโทรม เขาก็จะไม่มีที่ขาย ถ้าโลกเสียหาย เขาจะไม่มีโลกอยู่ ส่วนผู้ซื้อเองก็ต้องรู้ว่าต่อให้ของอะไรมีอันตรายแค่ไหนก็ทำร้ายเราไม่ได้ ถ้าเราไม่หยิบของพวกนั้นเข้าปากเอง ถ้าเราไม่เอาตาไปดูและหลงระเริงไปกับสิ่งเหล่านั้น มันเป็นสิทธิของทุกคนที่สามารถดูแลเองได้ เลือกเองได้”

เพื่อไม่ให้คำอธิบายที่กล่าวไปดูเป็นนามธรรมและยากต่อการทำความเข้าใจเกินไป พระหนุ่มรูปงามจึงยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของตนเอง

“หลวงพี่เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล้าเอาไว้นะแต่วันนี้หลวงพี่อยากกลับไปแก้ หลวงพี่เคยเขียนว่าเหล้าฆ่าสติ เหล้าฆ่าปัญญา เหล้าฆ่าความรัก ซึ่งหลวงพี่คิดว่ามันไม่ถูก เพราะจริงๆ แล้วคนปล่อยให้เหล้าฆ่าสติ คนปล่อยให้เหล้าฆ่าปัญญา คนปล่อยให้เหล้าฆ่าความรักต่างหาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีคำว่าคนอนุญาตให้เหล้าทำทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อนุญาตให้เรื่องต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะหยิบยื่นกิเลสให้แก่เราสักแค่ไหน ก็ไม่มีวันทำร้ายเราได้”

ยอมโง่เถอะ ถ้า...
ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแย่งชิงเช่นนี้ การหามุมสงบให้แก่จิตใจดูจะเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาต่างๆ มักแวะเวียนเข้ามาให้ได้วุ่นวายใจไม่จบไม่สิ้นสักที ในฐานะที่เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว พระจิตร์ยืนยันด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่าเราทุกคนสามารถปล่อยใจให้สงบได้โดยไม่จำเป็นต้องละทางโลกหรือออกบวชอย่างท่านด้วยซ้ำ

ผ้าเหลืองนี้ไม่ใช่ผ้ากายสิทธิ์ ไม่ได้ช่วยให้หลวงพี่เป็นอิสระได้เพียงแค่นุ่งห่ม สติเท่านั้นที่ช่วยให้สงบได้ สติในที่นี้คือการรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าทำไปแล้วดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร ทำแล้วจะนำไปสู่อะไร และมีสติพอที่จะเลือกทำหรือไม่ทำ หลวงพี่คิดว่าสติสำคัญครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้หมด” หลวงพี่จิตร์ให้กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ก่อนยกตัวอย่างบางช่วงบางตอนของชีวิตให้ฟังอีกครั้ง

“ตอนหลวงพี่อยู่ทางโลก ครอบครัวหลวงพี่จะห่วงเสมอ ห่วงว่าหลวงพี่จะทันคนบ้างไหม หลวงพี่ตอบเลยว่าไม่ได้หรอก เพราะงานของหลวงพี่คือต้องทันตน เพราะตัวเราเองก็คือคน ถ้าเราทันเรา เราก็ทันทุกคนนั่นแหละ บางครั้งเราก็ต้องยอมบ้าง การยอมไม่ได้แปลว่าแพ้ การยอมมีแต่ชนะ เรายอมแล้วชนะตัวเอง ยอมแล้วเราเข้มแข็งขึ้น อันนี้หลวงพี่ยอมนะ”

“บางคนมองไปว่าการยอมหมายถึงการถูกเอาเปรียบ ถ้าเป็นอย่างนั้นหลวงพี่ว่าถูกเอาเปรียบเถอะ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีใครเอาเปรียบเราได้หรอก คนที่เอาเปรียบเราต่างหากที่กำลังเอาเปรียบตัวเขาเอง ไม่มีใครทำอะไรเราได้... (ยิ้ม) ชั่วดีอยู่ที่ใจ ไม่มีใครทำอะไรเราได้จริงๆ” พระจิตร์ย้ำประโยคเดิมอีกครั้งด้วยน้ำเสียงเนิบช้าและเป็นสุข

แต่หลายครั้งที่คนยอมคนมักถูกมองว่าเป็นคนโง่? ผู้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นออกไป พระจิตร์จึงช่วยชี้ทางสว่างให้มองอีกมุมหนึ่ง

คำว่าโง่เนี่ยคนอื่นให้เรา เราเอาเหรอ (ยิ้ม)... เขาให้เราได้ แต่นั่นไม่ใช่เรา หลวงพี่ไม่เคยเชื่อว่าคนชมหลวงพี่จะทำให้หลวงพี่ดีขึ้น ไม่เชื่อว่าคำตำหนิจะทำให้หลวงพี่แย่ลง หลวงพี่จะดีจะแย่ก็เพราะตัวหลวงพี่เอง หลวงพี่มักจะบอกเสมอว่าถ้าหลวงพี่เป็นหิน ตำหนิหลวงพี่ว่าเป็นมูลสัตว์ หลวงพี่ก็เป็นไม่ได้ หรือจะยกยอปอปั้นให้หลวงพี่เป็นทอง หลวงพี่ก็เป็นไม่ได้ เพราะหลวงพี่เป็นหิน มันคือความหนักแน่นที่ไม่มีใครมาสั่นคลอนเราได้ แล้วความไม่โลภที่จะเป็นทองหรือไม่เขลาพอที่จะเป็นมูลสัตว์ ก็จะทำให้เรายังคงเป็นหินอยู่อย่างนั้นแหละ”

“คำ อย่างเก่งก็เป็นแค่ลมนะ ลมมันทำได้ตามศักยภาพของลม แค่อย่าให้ลมเป็นอารมณ์ แล้วลมจะทำได้แค่พัดผ่านไป เท่านั้นเอง คนเราเป็นทุกข์กันมากมายเพราะเราเชื่อลม ลมบอกว่าดี เราก็อือออไปว่าเราดี ลมบอกเราว่าไม่ดี เราก็เป็นทุกข์ไปตาม สู้มีสติหนักแน่นอยู่กับสิ่งที่เราเป็น หมั่นพิจารณาตัวเองแล้วมองความจริงให้เห็นไม่ดีกว่าหรือ” ดูเหมือนว่าประโยคคำถามของพระจิตร์จะอยากกระตุ้นให้คิดและลองทำ มากกว่าจะต้องการคำตอบเสียอีก

เข้าวัดอย่างไรให้ได้บุญ
“ค่านิยมเรื่องการบริจาค” คืออีกหนึ่งวิถีการทำบุญซึ่งพระจิตร์ค่อนข้างกังวลและมองว่าเป็นค่านิยมผิดๆ ที่ยังคงยึดถือปฏิบัติกันอย่างล้นหลาม สำหรับชาวพุทธที่คงยังสับสนว่าควรเข้าวัดทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญและได้ความสุขที่แท้จริง พระจิตร์มีวิธีปฏิบัติซึ่งทำได้ง่ายและไม่ไกลเกินตัวมาเสนอแนะ

“หลวงพี่คิดว่าเราควรรู้จักว่าวัดอยู่ที่ไหนก่อน วัดเนี่ยอยู่ที่ร่างกายเรา คนที่ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเกินเนื้อเกินหนังตัวเอง พ้นออกไปจากเนื้อหนังของเราเองแล้วถือว่าอยู่นอกวัดหมด หลวงพี่มักจะเปรียบตัวเองเป็นหอยทากที่มีวัดเป็นร่างกาย หลวงพี่ไม่ใช่มดที่เดินออกมาพ้นรังก็พ้นวัดตัวเอง แต่หลวงพี่เป็นเหมือนหอยทาก เป็นเหมือนเต่า มีวัดเป็นร่างกายของเราเอง”

“แท้จริงแล้วเรื่องการทำบุญเข้าวัดอาจไม่จำเป็นด้วยซ้ำ แค่ฆราวาสฝึกทำทุกที่ให้เป็นวัดเท่านั้นก็พอแล้ว ฆราวาสจะทำยังไงให้โต๊ะตัวเองกลายเป็นวัด สำรวมราวกับว่าหน้าจอคอมพ์ ของตัวเองเป็นพระที่เคารพมากที่สุด จะได้ไม่กล้าคิดเลว พูดเลว ทำเลว ทำได้ไหม ทำราวกับว่ามีครูที่เรานับถือที่สุดนั่งอยู่ต่อหน้าเราทุกที่ ส่วนเรื่องทำทานนั้น ถ้าเราทำทานแล้วเราตัวเบาลงแสดงว่าใช่ แต่ถ้าเราทำทานแล้วข้างในมันหนักมากขึ้น เช่น แบกความภาคภูมิใจของการทำทานกลับมาด้วย อันนั้นเราทำผิด

เรื่องการเลือกวัดเลือกนิกายนับถือก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันเสียใหม่ บางคนเลือกเข้าวัดเพราะชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ บางคนเลือกจากความชอบส่วนตัว แต่ถ้าจะให้หลวงพี่จิตร์แนะนำ ท่านกล่าวว่า “หลวงพี่อยากจะแนะนำให้เลือกของที่ไม่เหมาะกับเรา นั่นแหละดีที่สุด”

“เพราะของที่เหมาะกับเรามันไม่มีอะไรดีเลย คำว่าเหมาะกับเราหมายความว่ามันตรงกับกิเลสของเรา ซึ่งการเลือกวัดเลือกนับถือด้วยวิธีการนั้นก็เหมือนเราเอาศาสนามาตามกิเลสของตัวเราเอง คิดไปว่าพระอาจารย์รูปนี้ถูกกิเลสเรา บางทีอาจจะเพราะพระอาจารย์รูปนี้สนองกิเลสเราได้ อนุโลมให้เราทำตามอย่างที่ต้องการได้ต่างหาก

วิธีที่จะเข้าถึงธรรมะได้โดยสะดวกที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องเลือกวัด เลือกนิกาย หรือต้องรอวันว่างเพื่อเดินทางเข้าวัด นั่นก็คือการหัดปล่อยใจให้ว่าง ระลึกถึงธรรมะด้วยตนเอง แล้ววิธีการนี้จะนำไปสู่วิถี “ใจเปล่าเล่าเปลือย” ได้อย่างที่พระจิตร์เขียนเอาไว้ในหนังสือ และช่วยให้พื้นที่ในใจของผู้ปฏิบัติสงบสุขมากขึ้น

“วิถีสู่ใจเปล่าเล่าเปลือยทำยังไง เราควรวางสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ความคิดฟุ้งซ่าน ควรวางความกังวล ความวางความคิดเก่าๆ ควรวางความคาดหวัง แล้วมันจะเกิดพื้นที่ พื้นที่ที่ทำให้ใจเราเปล่าขึ้น สำหรับคนที่มีห่วงสารพัดก็สามารถทำได้ เพียงแค่ตระหนักว่าห่วงไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ห่วง...ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ห่วงเป็นวง เกี่ยวให้ทุกอย่างมันอ้อยอิ่ง แล้วจะมีประโยชน์อะไร ห่วงคือความรักบวกความกังวล เอาความกังวลออกเสีย แล้วห่วงจะกลายเป็นความรัก

“เมื่อเหลือแต่ความรัก จากนั้นก็หัดรักตัวเองให้เป็น หลวงพี่เชื่อว่าทุกคนรู้จักความรัก คำว่ารักตัวเองเป็นคืออะไร ไม่ดีอย่าทำเพราะรู้ว่าทำแล้วจะเป็นทุกข์ ดีแต่ทำยากก็ฝืนทำเถอะเพราะในที่สุดแล้วมันจะเบาสบาย และที่สำคัญก็คือวางใจเสียจากความดีและไม่ดี ทำใจให้เป็นกลาง ค่อยๆ ฝึกไป เมื่อรู้จักรักตัวเองเป็น เห็นใจตัวเองได้ ก็จะมีชีวิตอย่างเป็นสุข” พระจิตร์ยืนยันความสุขให้เห็นอีกครั้งผ่านรอยยิ้มและแววตาของท่านเอง

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี



ใบหน้าเปี่ยมสุขของผู้พ้นทุกข์

ถ้อยคำบางตอนจากหนังสือ ใจเปล่าเล่าเปลือย
ฝักใฝ่ในพุทธศาสนาตั้งแต่ยังไม่นุ่งเหลือง

ความสงบในรูปแบบตัวหนังสือ
กำลังโหลดความคิดเห็น