สปสช.หนุนโรงพยาบาล-องค์กรคนพิการ ตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ ตั้งเป้านำร่อง 10 จังหวัด ได้รับงบแห่งละ 2 แสนบาท สำหรับพัฒนากิจกรรมช่วยเหลือผู้พิการให้มีทักษะดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อบรมคนพิการช่วยเหลือกันเอง ตั้งเป้าก้าวไปสู่การเป็นเครือข่ายร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living Concept) เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อทำให้คนพิการที่ผ่านกระบวนการมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ส่งผลให้คนพิการและครอบครัวมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการและส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการ สามารถเข้าถึงบริการ ด้านการฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ สปสช.จึงได้สนับสนุนให้มีการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการและองค์กรคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมและนำไปสู่การเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งเกิดการขยายเครือข่ายการดำเนินงานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการให้มีขอบเขตการดำเนินงานที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
นพ.วินัยกล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานนั้น ผู้รับผิดชอบหลัก คือ โรงพยาบาล และองค์กรคนพิการซึ่งมีคุณสมบัติตามกำหนดที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดย สปสช.สนับสนุนงบประมาณให้ทั้ง โรงพยาบาลและองค์กรคนพิการแห่งละไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับการจัดตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการขึ้นในหน่วยบริการ ส่วนองค์กรคนพิการจะมีการทำสัญญาเข้าร่วมดำเนินงานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการเพื่อดำเนินกิจกรรมในหน่วยบริการและในชุมชน มุ่งเน้นการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คนพิการช่วยเหลือเพื่อนคนพิการด้วยกันเอง มีกิจกรรมการฝึกอบรมทักษะบุคลากรสำหรับการดูแลคนพิการทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงฝึกอบรมคนพิการและครอบครัว ให้มีความรู้ในการทำงานให้บริการช่วยเหลือแก่คนพิการระดับรุนแรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในสังคมไทย ในการให้บริการแก่คนพิการ โดยคนพิการ และการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งด้านกายภาพและการมีผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของคนพิการ ทำให้คนพิการที่ผ่านกระบวนการ มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ส่งผลให้คนพิการและครอบครัว มีความสุขในชีวิตมากขึ้น
นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 มี.ค. - 30 ก.ย.นี้ ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ตามความพร้อมการเข้าร่วมดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมาย คือ คนพิการ ครอบครัว ผู้ดูแล และผู้ช่วยคนพิการ รวมถึงกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาระบบงานบริการฟื้นฟูฯ ทั้งทีมผู้ให้บริการจากหน่วยบริการ และบุคลากรขององค์กรคนพิการเอง ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการนี้ จะเกิดความร่วมมือ พัฒนาคุณภาพบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ การฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ ผู้ที่มีความพิการด้านการเคลื่อนไหว ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ตามกระบวนการแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ คนพิการและองค์กรพิการ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นผู้มีความสามารถและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้วยกันเอง เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยบริการและองค์กรคนพิการ ในการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการพัฒนาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการร่วมกัน และพัฒนาไปสู่การเป็นหน่วยร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะต่อไป