xs
xsm
sm
md
lg

พะเยา-พยาว-พระเยอะ...ที่“วัดลี”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
พระธาตุวัดลี
“พะเยา” ชื่อเสียงเรียงนามของจังหวัดนี้ ที่ใครและใครหลายคนมักยิงมุกว่าเป็นเมือง“พระเด็ก”(พระเยาว์)นั้น มาจากชื่อเดิม“พยาว”(สะกดแบบเก่า) ที่มาจาก“ภูยาว” หรือ “ภูกามยาว” อันเป็นทิวเขาสำคัญประจำเมือง

พยาวแม้จะเปลี่ยนมาเป็นพะเยา แต่สำหรับที่“วัดลี” ทางวัดได้นำชื่อเก่ามาตั้งเป็นชื่อ“พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว” ที่จัดแสดงของดีท้องถิ่นไว้ให้ผู้สนใจได้ชมกันมากมาย

รู้จักวัดลี

วัดลี ตั้งอยู่ที่บ้านหล่ายอิง ใกล้กับ โรงเรียนเทศบาล 3 ต.เวียง อ.เมือง เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่สำคัญของพะเยา

สำหรับคำเรียกสั้นๆว่า”ลี”อันเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ เป็นภาษาเหนือโบราณ หมายถึง กาด หรือ ตลาดในภาคกลาง วัดลี จึงหมายถึงวัดที่อยู่ในย่านชุมชนตลาด

วัดลีสร้างขึ้นโดยเจ้าสี่หมื่นพะเยา ในปีพ.ศ.2038 ก่อนถูกทิ้งร้างไปยาวนานหลายร้อยปี หลังถูกพม่ายึดครองล้านนาและกวาดต้อนผู้คนไป

กระทั่งในปี พ.ศ. 2463 - 2478 พระครูบาศรีวิชัย ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พร้อมฟื้นฟูวัดลีขึ้นมาอีกครั้ง

วัดลี มี “พระธาตุวัดลี” พระธาตุ 8 เหลี่ยมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งวัดเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำวัด
ส่วนจัดแสดงชั้นล่าง
นอกจากนี้วัดลียังมี “พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว” พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เพิ่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการได้ไม่นานเป็นอีกหนึ่งสิ่งทรงคุณค่าของวัด ซึ่งไม่เพียงเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุเท่านั้น หากแต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองพะเยา

พิพิธภัณฑ์วัดลี แหล่งรวมของดีแห่งล้านนา

พิพิธภัณฑ์เวียงพยาวหรือพิพิธภัณฑ์วัดลี เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจของ พระครูอนุรักษ์บุรานันท์ เจ้าอาวาสวัดลี ที่ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ท่านได้ตระเวนเก็บรวบรวมสะสมโบราณวัตถุ ข้าวของเก่าแก่ต่างๆที่ถูกทิ้งร้างกระจัดกระจายตามวัดร้างต่างๆในพะเยา มาไว้ที่วัดลี ด้วยเล็งเห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของสิ่งของเหล่านั้น

โดยท่านพระครูได้เล่าว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความที่ท่านเป็นคนเสียดายของ เห็นอะไรเป็นเก็บสะสมไว้หมด สิ่งของบางอย่างที่ชาวบ้านเขาทิ้ง อย่างเช่น ไม้แกะสลักโบราณอายุเป็นร้อยๆปีที่ชาวบ้านเขาจะเอาไปเผาทำฟืน ท่านพระครูก็ไปขอมาสะสมไว้ด้วยเห็นในคุณค่าของมัน
ไกด์น้อยนำชม
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดลีจะตั้งกันได้ง่ายๆ เพราะท่านพระครูเคยของบจัดทำพิพิธภัณฑ์จากภาครัฐไปอยู่เรื่อยๆเป็นเวลาหลายปี แต่เรื่องก็เงียบหายไปทุกที จนท่านน้อยใจ รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยวให้ทำงานอนุรักษ์อยู่คนเดียว ดังนั้นการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในช่วงแรกจึงเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น

กระทั่งมาในปี พ.ศ. 2549 ทางกรมศิลปากรและจังหวัดพะเยาได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงจับมือกับชาวชุมชนวัดลีจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น โดยใช้พื้นที่ของอาคารศาลาการเปรียญวัดลี ปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ แล้วเสร็จในปี 2550 และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2552 ในชื่อ “พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว(วัดลี)” จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ รวมแล้วกว่า 10,000 ชิ้น โดยเฉพาะกับพระพุทธรูปหินทรายที่มีอยู่มากหลายนั้น ที่นี่นับได้ว่ามีความโดดเด่นในอันดับต้นๆของล้านนาเลยทีเดียว
มุมศิลปวัตถุสลักจากหินทราย
ไกด์น้อยนำชม

หลังจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทางชุมชนวัดลีต่อยอดด้วยการจัดตั้งกลุ่มยุวมัคคุเทศก์หรือไกด์น้อยขึ้นมา เพื่อคอยอธิบายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ ซึ่งในวันที่ผมกับคณะไปแอ่ววัดลีนั้น เนื่องจากติดต่อขอไกด์น้อยไปล่วงหน้า ทางชุมชนวัดลีจึงจัดให้ตามคำขอ เป็นกลุ่มไกด์เด็กจากโรงเรียนต่างๆที่มาฝึกอบรมด้วยใจรัก มีตั้งแต่ ป.4 ไปจนถึง ม.4

ไกด์เด็กเหล่านี้จะมายืนคอยอธิบายเป็นจุดๆตามฐาน ตามตำแหน่งของตน บางคนก็พูดเก่ง บางคนด้วยความเป็นมือใหม่เพิ่งฝึกได้ไม่กี่วัน และยังไม่คุ้นกับคนแปลกหน้าหน้าแปลกอย่างพวกผมก็ออกอาการเกร็งเล็กน้อยถึงปานกลาง พูดผิดพูดถูก ตะกุกตะกัก ก่อนจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักภายใน 2 ชั้นของอาคาร

ชั้นล่างจัดเก็บพระพุทธรูปหินทราย ศิลปวัตถุที่สลักจากหินทราย และศิลาจารึกต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ ไม่น่าเชื่อว่าพะเยาถือเป็นจังหวัดที่มีการค้นพบศิลาจารึกมากที่สุดของเมืองไทย
จมูกโด่ง แหลม ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา
ในขณะที่เรื่องราวของพระพุทธรูปหินทราย ศิลปะสกุลช่างพะเยานั้นก็น่าสนใจยิ่ง เป็นหนึ่งในงานสกุลช่างอันโดดเด่นของเมืองไทยที่ใครหลายคนอาจไม่รู้ ซึ่งเอาไว้เมื่อถึงโอกาสเหมาะๆผมจะเขียนเล่าขยายความถึงพระพุทธรูปหินทรายเมืองพะเยาอีกที ส่วนตอนนี้ผมขอบอกเพียงสั้นๆถึงการสังเกตจุดเด่นของพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ตามคำบอกเล่าของ น้องวริศรา หิรัญโท ไกด์น้อยชั้น ม.3 โรงเรียนเทศบาล 3 ผู้นำชมว่า

“พระพุทธรูปหินทรายมีจุดเด่นสังเกตง่ายๆ คือ มีใบหน้าป้อมกลม และมีจมูกโด่งแหลม เป็นสัน คล้ายจมูกฝรั่ง”

ด้านงานศิลปวัตถุที่ทำจากหินทรายในชั้นล่างนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะกับประติมากรรมช้างที่แกะสลักอย่างสวยงามละเมียดละไมซึ่งจัดแสดงให้ดูอยู่หลายตัวนั้น ถือว่าโดดเด่นน่าชม สมเป็นของดีทรงคุณค่าที่คุ้มค่าต่อการเข้าชมไม่น้อยเลย
ส่วนจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน
มุกมา พาอึ้ง

หลังอธิบายศิลปวัตถุต่างๆในชั้นล่างกันพอหอมปากหอมคอ น้องไกด์น้อยพาผมขึ้นไปชมต่อกันบนชั้น 2 ที่เป็นการจัดแสดงจำพวกข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ เหรียญเก่า แบ๊งก์เก่า งานไม้ ถ้วยโถโอชาม เครื่องมือทำมาหากิน และพระพุทธรูปต่างๆ

โดยสิ่งที่ถือเป็นสิ่งโดดเด่นในชั้นนี้ก็มี รอยฝ่ามือ ฝ่าเท้า(ของจริง)ของครูบาศรีวิชัยที่จารึกไว้บนผืนผ้า, สัตภัณฑ์ไม้เก่าแก่แกะสลักอย่างสวยงาม, พระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยสกุลช่างพะเยาที่มีความพิเศษตรงที่มีพระพักตร์อมยิ้มที่เหมือนกับมองเราอยู่ตลอด,พระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัยอันสวยงาม, พระพุทธรูปไม้หรือพระเจ้าไม้ทำจากไม้มงคลที่มีทั้งแกะจากไม้ท่อนเดียวและนำไม้หลายชิ้นมาประกอบกัน, เศียรของพระพุทธรูปทรงเครื่องและเศียรของพระพุทธรูปสาวก เป็นต้น
พระพุทธรูปพระพักตร์อมยิ้มที่เหมือนกับมองเราอยู่ตลอด
ในขณะที่ในส่วนของโซนข้าวของเก่า จำพวกเครื่องเสียง ทีวี พัดลม ตะเกียง และ ฯลฯ นั้น ด้วยความที่เริ่มคุ้นกัน น้องๆไกด์น้อยจึงปล่อยมุกกับอุปกรณ์คิดเลขยุคดั้งเดิมอย่าง“ลูกคิด”ออกมาเปิดตัวให้ผมรู้สึกอึ้งเล็กน้อย ก่อนต่อกันด้วยมุก“แฟนเก่า” ที่คนถูกแฟนทิ้งอย่างผมฟังแล้วถึงกับหัวร่อมิได้ร่ำไห้มิออก ซึ่งมุกทั้ง 2 และมุกแถมอื่นๆของพวกน้องเขาจะเป็นอย่างไร ใครอยากรู้คงต้องไปร่วมรับรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่พิพิธภัณฑ์วัดลีแห่งนี้
พระพุทธรูปไม้
พิพิธภัณฑ์วัดลี กับวิถีแบบไทยๆ

ก่อนไปเยือนวัดลีไม่กี่วัน มีข่าวดังว่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งในพระเยา แห่กันไปสักการะพระพุทธรูปหินทรายสีชมพูที่พิพิธภัณฑ์วัดลีแห่งนี้ โดยมุ่งไปที่การบนบาน ขอโชคลาภ ขอเลข ขอหวย ซึ่งใครหลายคนอาจมองว่านี่มันไม่ค่อยตรงกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สักเท่าไหร่

แต่งานนี้จากการที่ผมได้สอบถามกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ได้ความว่า หลายคนที่มาขอโชคขอลาภจากองค์พระพุทธรูปต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เมื่อกลับออกไปแล้ว(เชื่อว่า)ได้ดังสิ่งที่หวัง พวกเขาก็จะกลับมาทำบุญให้วัด เราสามารถนำเงินเหล่านี้มาทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์ไปอีกทาง

และนี่นับเป็นอีกหนึ่งวิถีแบบไทยๆซึ่งยากที่จะหาชาติใดลอกเลียนแบบได้
*****************************************

พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว(วัดลี) เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน เวลา 09.00-15.00 น. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-5443-1835,08-9636-7194
กำลังโหลดความคิดเห็น