xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยบุญสู่เส้นทาง 9+9 มงคล “สุโขทัย-กำแพงเพชร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ข่าวการถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกและภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกของนายสุวิทย์ คุณกิตติ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และทำให้หลายๆ คนกำลังหวั่นเกรงว่าการถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกและภาคีอนุสัญญาดังกล่าว จะทำให้มรดกโลกในเมืองไทยที่ได้รับการประกาศไปแล้ว 5 แห่งในอดีตนั้นจะถูกถอนทะเบียนคืน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มรดกโลกได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนไปแล้วก็ยังคงสถานะเป็นมรดกโลกอยู่เหมือนเดิม

และในช่วงที่เรื่องมรดกโลกกำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคมอยู่ในขณะนี้ เราจึงขอถือโอกาสพาไปท่องเที่ยวตามรอยบุญในเส้นทางคาบเกี่ยวกับเมืองมรดกโลกสุโขทัย-กำแพงเพชร ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัยจัดขึ้น โดยสถานที่ท่องเที่ยวในเส้นทางนี้ แม้ไม่ได้อยู่ในเขตมรดกโลก แต่ก็เป็นแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุอันทรงคุณค่า ซึ่งแม้ไม่มีใครมายกย่องให้เป็นมรดกโลก แต่นี่คือมรดกไทยที่คนไทยควรภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งที่คนไทยต้องช่วยกันอนุรักษ์ ทำนุบำรุงรักษาไว้ให้ตราบนานเท่านาน
พระอจนะ วัดศรีชุม
9 มงคล ในอาณาจักรสุโขทัย

เส้นทางตามรอยบุญในสุโขทัยเริ่มต้นที่ “ศาลพระแม่ย่า” ในตัวเมืองสุโขทัยซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปหิน สลักด้วยหินชนวนเป็นรูปสตรีมีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ ประทับยืนตรง ชาวสุโขทัยต่างเรียกขานเทวรูปองค์นี้ว่า “พระแม่ย่า” และสันนิษฐานว่าเป็นเทวรูปพระนางเสือง ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นพระเจ้าย่าของพระยาลิไท อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวสุโขทัย เชื่อกันว่าหากใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใดๆ ก็จะไปกราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระแม่ย่า เล่ากันว่ามักจะได้สมดังที่ขอ

ต่อมาเป็น “หลวงพ่อเป่า วัดราชธานี” กลางตัวเมืองสุโขทัย ริมแม่น้ำยม เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เป็นวัดที่ใช้ประกอบรัฐพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยา อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์คือ "หลวงพ่อเป่า" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษตรงที่พระโอษฐ์ของท่านดูคล้ายกำลังเป่า หากได้กราบไหว้เชื่อกันว่าท่านจะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ความชั่วร้ายและสิ่งอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้

ไม่ไกลจากวัดราชธานี เป็นที่ตั้งของ “วัดไทยชุมพล” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระไตรภูมิ หรือหลวงพ่อโต” และ “พระไตรโลก หรือหลวงพ่องาม” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยซึ่งมีพุทธลักษณะอันงดงามยิ่งนัก ทั้งยังเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนั้นอีกด้วย เมื่อได้กราบไหว้แล้วจิตใจจะสงบเยือกเย็นคลายความรุ่มร้อน เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิต
ศาลพระแม่ย่า ในเมืองสุโขทัย
คราวนี้เข้ามาในเขต “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” กันบ้าง มากราบไหว้ “หลวงพ่อขาว วัดตระพังทอง” พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย ท่านเคยแสดงความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อัศจรรย์ เมื่อคราวที่เกิดเพลิงไหม้อุโบสถ ภายนอกอุโบสถมีรอยไหม้ แต่ภายในอุโบสถรวมถึงองค์หลวงพ่อขาวกลับไม่มีรอยไหม้ใดๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ส่วนชื่อของวัดตระพังทองนั้น ได้มาจากสระน้ำโบราณของเมืองสุโขทัยที่ตั้งใกล้กับวัด โดยคำว่าตระพังแปลว่าสระน้ำนั่นเอง

สำหรับวัดที่สำคัญที่สุดของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ “วัดมหาธาตุ” ก็เป็น 1 ในเส้นทาง 9 มงคลนี้เช่นกัน โดยวัดมหาธาตุเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากว่า 800 ปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันพระศรีศากมุนีประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามฯ ผู้ที่มากราบไหว้พระยังจะได้ชมความงดงามของศิลปกรรมแบบสุโขทัยอันเก่าแก่ของวัดมหาธาตุ

ไม่ไกลจากวัดมหาธาตุ เป็นที่ตั้งของ “พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสุโขทัยที่ทรงพระปรีชาสามารถ และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวสุโขทัยเสมอมา

ออกนอกคูเมืองสุโขทัยไปทางประตูศาลหลวง ไปไหว้ “พระพุทธสิริมารวิชัย” ในหอพระพุทธสิริมารวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จมาทรงเบิกพระเนตร เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 นอกจากองค์พระจะงดงามแล้ว หอพระก็ยังมีความวิจิตรไม่แพ้กัน โดยภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย
 พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
และมงคลสุดท้ายในเส้นทางก็คือที่ “วัดศรีชุม” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระอจนะ” ชื่อของท่านแปลได้ว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้” สันนิษฐานว่าองค์พระมีอายุเก่าแก่ถึง 700 ปี เลยทีเดียว

9 มหามงคล นครชากังราว

อีกหนึ่งเส้นทางบุญที่ ททท. จัดขึ้น ก็คือที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณในลุ่มน้ำปิง ได้แก่ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองนครชุม และเมืองชากังราว เป็นหัวเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่ยังคงปรากฏร่องรอยอารยธรรมล้ำเลิศทางศิลปกรรมจนได้รับยกย่องให้เป็น “มรดกโลก”
เส้นทาง 9 มหามงคล นครชากังราว เริ่มต้นขึ้นที่ “รอยพระพุทธบาทจำลอง วัดเสด็จ” วัดสำคัญของเมืองกำแพงเพชร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองและเป็นที่เก็บศิลาจารึกนครชุมหลักที่ 3 บันทึกเรื่องราวตำนานพระเครื่อง ประเพณีไหว้พระธาตุ (วัดพระบรมธาตุนครชุม) และไหว้พระพุทธบาท (วัดเสด็จ) พร้อมกัน ที่ชาวบ้านเรียกสืบต่อกันมาว่า “ประเพณีการทำบุญเพ็ญเดือน 3”

มากราบ “หลวงพ่อโม้ หรือหลวงพ่อเทพโมฬี วัดเทพโมฬี” พระพุทธรูปปูนปั้นโบราณปางมารวิชัย บูรณปฏิสังขรณ์โดยหลวงปู่โง่น โสรโย พระเกจิชื่อดังแห่งวัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร ชาวเมืองกำแพงเพชรนิยมมากราบไหว้ขอพร และมักถวายท่านด้วยขนมจีนน้ำยา
พระบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร
ส่วนที่ “วัดบาง” เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชร” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ศิลปะเชียงแสน อายุกว่า 800 ปี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชากังราวมาแต่อดีต มีพุทธลักษณะคล้ายกับหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร

“หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์” แห่งปากคลองสวนหมาก พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของเมืองกำแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต จากตำนานการค้นพบองค์หลวงพ่อในดินลักษณะคล้ายจอมปลวก มองดูคล้ายอุโมงค์เพื่อหลบซ่อนข้าศึกในอดีต จึงเป็นที่มาของชื่อ “หลวงพ่ออุโมงค์” ประชาชนที่เลื่อมในศรัทธานิยมถวายด้วยขนมแป้งข้าวหมาก ขนมบัวลอย และบายศรี

วัดสำคัญที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวกำแพงเพชรคือ “วัดพระบรมธาตุนครชุม” พระอารามหลวงชั้นตรี ที่ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุจากประเทศศรีลังกา ชาวกำแพงเพชรมีความเชื่อว่า “ผู้ใดไหว้นบกระทำบุญพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า” ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดงานประเพณีนบพระเล่นเพลงในวันมาฆบูชา

มาถึงเมืองกำแพงเพชรแล้วไม่ควรพลาดที่จะมาสักการะ “ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร” เทพารักษ์คุ้มครองบ้านเมืองที่ชาวเมืองกำแพงเพชรเคารพนับถือ ควรมากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
วัดพระสี่อิริยาบถ ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
“วัดพระแก้ว” เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย และเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมือง และมีเฉพาะเขตพุทธาวาส ภายในบริเวณวิหารมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ ซึ่งได้รับการเผยแพร่เป็นดังภาพสัญลักษณ์เมืองโบราณกำแพงเพชร

“วัดนาควัชรโสภณ หรือวัดช้าง” ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือใกล้กับประตูเมือง มีคูน้ำล้อมรอบเจดีย์ประธานทรงระฆัง ประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัว จำนวน 18 เชือก และบริเวณด้านหน้าองค์เจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าชาวบ้านเคยเห็นช้างลงเล่นน้ำในคูน้ำแห่งนี้ในช่วงกลางคืน และตอนเช้าก็พบว่ามีจอกแหนติดอยู่กับรูปปั้นช้างเหล่านั้น

สำหรับสถานที่มงคลแห่งสุดท้ายตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร คือที่ “วัดพระสี่อิริยาบถ” โดยสิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจตุรมุขซึ่งแต่ละทิศเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถที่แตกต่างกันไป คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ที่งดงามมากองค์หนึ่ง อีกทั้งภายในบริเวณวัดยังคงสภาพเป็นป่าธรรมชาติที่รักษาไว้อย่างดีเพื่อคงไว้ซึ่งบรรยากาศของโบราณสถานในเขตอรัญวาสีเช่นในอดีต

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สำหรับผู้ที่สนใจท่องเที่ยวตามรอยบุญในเส้นทาง 9 มงคลในอาณาจักรสุโขทัยกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหมู่คณะ 40 ท่านขึ้นไป ในราคาท่านละ 99 บาท โดยจะมีบริการนำชมวัดทั้ง 9 ด้วยรถราง/รถคอกหมู (รถเมล์ไม้) พร้อมมัคคุเทศก์และการจัดเวียนเทียนเต็มรูปแบบ ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และรับพระเครื่องปางลีลาพิมพ์เม็ดขนุนให้กับทุกท่านที่เข้าร่วมเส้นทางตามรอยบุญนี้

และผู้ที่สนใจเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยบุญ 9 มหามงคล นครชากังราวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นหมู่คณะ 40 ท่าน ขึ้นไป ในราคา 99 บาท โดยจะมีวิทยากรนำชม 9 วัด ด้วยรถไฟฟ้า จากนั้นไปร่วมสืบสานประเพณีเวียนเทียนกลางคืน ณ วัดพระสี่อิริยาบถ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และรับพระเครื่องปางลีลาพิมพ์เม็ดขนุนไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุโขทัย โทร. 0-5561-6228 - 9
กำลังโหลดความคิดเห็น