xs
xsm
sm
md
lg

ดินเผาเล่าเรื่อง...ตามรอยเครื่องสังคโลก ที่กำแพงเพชร-สุโขทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ตะลอนเที่ยว (travel_astvmgr@hotmail.com)
พระเครื่องที่ใส่คราบให้ดูคล้ายกับพระเก่า
การไปเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง นอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังเป็นการออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆแสวงหาความรู้ใหม่ๆมาประดับสมอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน”ของทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่กำลังเดินหน้าผลักดันอยู่ในขณะนี้ โดยในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้ออกไปท่องเที่ยวเรียนรู้ ตามรอยเส้นทาง“เครื่องปั้นดินเผา” และ “เครื่องสังคโลก” ในดินแดนเก่าแก่สำคัญของเมือง ที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย

แต่ก่อนจะไปเที่ยวกันนั้น มาหาความรู้เบื้องต้นในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องสังคโลกกันก่อนดีกว่า
สาธิตวิธีการทำพระเครื่อง
สำหรับเครื่องปั้นดินเผานั้น เริ่มต้นมาจากวิวัฒนาการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่จะใช้สิ่งใกล้ตัวอย่างเช่น ดิน มาทำเป็นภาชนะต่างๆ ด้วยการปั้น แล้วนำมาเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้มีความคงทนแข็งแรงขึ้น สามารถคงรูปไว้ใช้ประโยชน์ได้นาน

ต่อมา เมื่อเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้น้ำยามาเคลือบ และเพิ่มอุณหภูมิในการเผา ทำให้ภาชนะที่ได้มีเนื้อแกร่งขึ้น ผิวของภาชนะก็มีความเป็นมันวาว ดูสวยงามขึ้น หรือที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก
หม้อกรัน หม้อน้ำรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง
ทั้งเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องสังคโลก ต่างก็มีความเป็นมาอย่างยาวนานบนแผ่นดินประเทศไทย โดยเฉพาะที่กำแพงเพชรและสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังปรากฏหลักฐานต่างๆ ให้เห็นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นในเส้นทางการท่องเที่ยวในทริปนี้

เริ่มต้นเส้นทางการเรียนรู้กันที่ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม ที่ ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร แหล่งพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย ที่เมืองกำแพงเพชรแห่งนี้ถือว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ศิลปะ และสถาปัตยกรรม
การปั้นด้วยการตี ที่เหลืออยู่แห่งเดียวในบ้านทุ่งหลวง
มีตำนานการสร้างพระพิมพ์ หรือที่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่า พระเครื่อง ตั้งแต่ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ซึ่งในตอนที่ค้นพบหลักศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก

ถ้าหากว่ามาเที่ยวที่นี่ก็จะได้เห็นวิธีการทำพระพิมพ์ หรือพระเครื่อง ตามแบบฉบับของชาวกำแพงเพชรที่มีความงามสง่าของศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างกำแพงเพชร โดยที่หลักการทำพระเครื่องนั้นก็จะคล้ายกับการทำเครื่องปั้นดินเผา แต่แตกต่างกันในเรื่องของเนื้อผสมที่มีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อเงิน เนื้อนาค และเนื้อทอง
เครื่องปั้นดินเผารูปแบบใหม่ๆ
การสาธิตการทำพระเครื่องของที่นี่จะได้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การกดพิมพ์ ตากแดด นำไปเผา นำพระมาใส่รา ใส่คราบ จนกระทั่งนำใบตองแห้งมาขัดพระ จนได้พระเครื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระเก่าหลายร้อยปี ซึ่งสมาชิกในแหล่งการเรียนรู้ฯ ก็จะให้ความรู้ในทุกขั้นตอนด้วยความเต็มอกเต็มใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส

หลักจากได้ความรู้เรื่องการทำพระเครื่องกันแล้ว เราก็ออกเดินทางไปกันต่อที่ จ.สุโขทัย มุ่งหน้าไปยัง บ้านทุ่งหลวง หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย และมีการทำเครื่องปั้นดินเผาสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แม้กระทั่งในปัจจุบัน ถ้าหากว่าเข้ามาถึงภายในหมู่บ้านแล้วลองสังเกตแต่ละบ้าน ก็จะได้เห็นชาวบ้านกำลังผลิตเครื่องปั้นดินเผาในขั้นตอนต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละคน
พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบ
และก่อนที่จะไปดูตามบ้านต่างๆ ก็แวะเวียนเข้าไปที่ กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวง ไปดูประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณนานนับร้อยปีจากหลักฐานที่ยังสืบค้นได้ มีการกล่าวถึง “หม้อกรัน” ซึ่งเป็นหม้อน้ำรูปแบบเฉพาะของบ้านทุ่งหลวง

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของที่นี่จะผสมดินกับทรายในอัตราส่วนค่อนข้างสูงเพื่อให้คายน้ำ และเมื่อนำไปเผาแล้วจะได้สีของดินเป็นสีแดงเข้ม ผิวดินหยาบ ส่วนวิธีการขึ้นรูปนั้นจะมีอยู่สี่วิธี คือ การขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การขึ้นรูปด้วยการหล่อ การขึ้นรูปด้วยการปั้น และการปั้นด้วยการตี ซึ่งในปัจจุบันนั้นยังหลงเหลือการทำวิธีนี้อยู่เพียงบ้านเดียว
เครื่องถ้วยสังคโลกที่บิดเบี้ยวจากการเผา
คนที่ชอบตกแต่งบ้าน หรือชอบเครื่องปั้นดินเผา ถ้ามาถึงที่บ้านทุ่งหลวงก็ไม่ควรพลาดการเดินดูสินค้ารูปแบบต่างๆ ตามบ้าน เพราะจะมีทั้งเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของประดับตกแต่งบ้านและสวน เป็นทั้งรูปสัตว์ ตัวการ์ตูน กระถางต้นไม้ ไปจนถึงของระลึกน่ารักๆ หลากหลายชิ้น มาเห็นแล้วคงอดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านไม่ได้

จากที่บ้านทุ่งหลวง ก็แวะเวียนไปชมแหล่งรวบรวมเครื่องสังคโลกกันอีกแห่งหนึ่งที่ พิพิธภัณฑ์เครื่องเคลือบ ที่สนามบินสุโขทัย ซึ่งจะเรียงลำดับการจัดแสดงตามลำดับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ และแบ่งตามแหล่งเตาต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
จำลองวิถีการทำเครื่องสังคโลก
แม้ว่าจะไม่สามารถถ่ายภาพด้านในได้ แต่ก็ยังเดินชมเครื่องสังคโลกต่างๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน แล้วลองสังเกตความแตกต่างระหว่างเครื่องสังคโลกในยุคต่างๆ และเครื่องสังคโลกที่ผลิตจากแหล่งเตาแต่ละแห่งว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร หรือแม้กระทั่งเครื่องสังคโลกที่เสียหายจากการนำเข้าเตาเผา แล้วเกิดการบิดเบี้ยว แตกหัก ก็ยังคงความสวยงามที่แตกต่างจากเครื่องกระเบื้องในปัจจุบัน

ร่องรอยของเส้นทางการขนส่งและการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องสังคโลกในประเทศไทยนั้น นอกจากจะมีอยู่ตามแหล่งหมู่บ้านต่างๆ แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก ที่ อ.สวรรคโลก
เครื่องประดับสถาปัตยกรรมที่ทำจากปูนปั้น
เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกจะได้ศึกษาเรื่องของเมืองสวรรคโลก เริ่มต้นตั้งแต่พัฒนาการของเมืองสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งถึงในยุคปัจจุบัน โบราณวัตถุต่างๆ ของเมืองสวรรคโลกที่นำมาจัดแสดงก็มีทั้ง แท่งดินเผามีลายตาราง กระเบื้องเชิงชายรูปนางอัปสรและเทวดา เป็นต้น

ถัดมาจะเป็นเครื่องเครื่องสังคโลก ซึ่งชื่อ “สังคโลก” ได้ถูกสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากชื่อเมืองสวรรคโลก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยในสมัยสุโขทัย หรืออาจเป็นชื่อเรียกมาแต่เดิมว่าบ้านสังคโลก เพราะมีการพบเอกสารโบราณที่มีชื่อบ้านสังคโลกบันทึกไว้
พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย
เครื่องสังคโลกที่นำมาจัดแสดงก็จะมีทั้งที่ผลิตในเมืองสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย ที่สุโขทัยเมืองเก่า และยังมีจากแหล่งเตาอื่นๆ นำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ซึ่งนอกจากจะมีเป็นเครื่องถ้วย เครื่องใช้ต่างๆ แล้ว ก็ยังมีเครื่องประดับตามสถาปัตยกรรมต่างๆ รวมถึงท่อน้ำดินเผา ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชลประทานในสมัยสุโขทัย

เมื่อเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้นสอง จะได้เป็นความงดงามในศิลปะของพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ได้แก่ ศิลปะลพบุรี ศิลปะเชียงแสน ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอู่ทอง ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ ที่หากว่าใครไม่รู้ถึงความแตกต่างของพระพุทธรูปในสมัยต่างๆ ก็ยังมีตารางเปรียบเทียบให้ได้อ่านเพิ่มความรู้กันอีกด้วย

เดินชมพระพุทธรูปที่บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์นี้ “ตะลอนเที่ยว” รู้สึกว่าจิตใจสงบขึ้น แถมยังได้เห็นศิลปะที่งดงามของคนไทย ที่สืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนชาติอื่นใดในโลก
เครื่องปั้นดินเผาโบราณ ขุดค้นพบในบริเวณเมืองศรีสัชนาลัย
พูดถึงแหล่งผลิตของเครื่องสังคโลก หลายคนอาจจะรู้จักกับ “เตาทุเรียง” ว่าเป็นเตาสำหรับผลิตเครื่องสังคโลกในยุคกรุงสุโขทัย แต่อาจจะยังไม่เคยเห็นหน้าตา หรือไม่รู้ข้อมูลอื่นๆ ซึ่งก็มาศึกษาเพิ่มเติมกันได้ที่ ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก โดยที่นี่จะให้ความรู้ตั้งแต่การสร้างเตาทุเรียง กรรมวิธีการเผาเครื่องสังคโลก มีแบบจำลองเตาทุเรียงทั้ง 3 ยุค ไปจนถึงแหล่งเตาที่เรียงที่มีการขุดค้นพบในพื้นที่

แหล่งเตาทุเรียงใน จ.สุโขทัย ที่มีการขุดค้นพบนั้นมีอยู่สามบริเวณ คือ เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย อยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใกล้กับวัดพระพายหลวง เป็นเนินดินที่เรียกกันว่า เนินร่อนทอง บริเวณที่สองคือ เตาทุเรียงบ้านป่ายาง อยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เหนือแก่งหลวง และบริเวณสุดท้ายคือ เตาทุเรียงเกาน้อย ซึ่งอยู่ห่างจากเตาป่ายางออกไป 5 กิโลเมตร และเป็นบริเวณที่ตั้งของศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้
เตาทุเรียงที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น
เรียนรู้เรื่องเครื่องสังคโลกและเตาทุเรียงแล้ว ก็เดินเข้าไปชมเตาทุเรียงที่มีการขุดค้นพบจริงที่ด้านในศูนย์ศึกษาฯ ที่ยังได้เห็นรูปร่างลักษณะของเตาทุเรียง และยังหลงเหลือร่องรอยของเครื่องสังคโลกที่ยังอยู่ภายในเตา เตาทุเรียงที่ค้นพบนี้อยู่ใต้ชั้นดินลงไปลึก เนื่องจากการทับถมของชั้นดินตามระยะเวลาที่ผ่านไป

หลังจากชมเครื่องสังคโลกในสมัยก่อน และดูร่องรอยของเตาทุเรียงแล้ว ก็ลองแวะมาชมเครื่องสังคโลกในยุคใหม่กันที่ร้าน เซรามิคโมทนา ที่เปิดให้เรียนรู้ถึงกรรมวิธีการผลิตแบบยุคปัจจุบัน เอกลักษณ์ของที่นี่จะอยู่ที่การผสมผสานวิธีการทำเครื่องสังคโลกแบบสุโขทัยดั้งเดิม กับการปรุงแต่งรูปทรงให้ทันสมัยในแนวญี่ปุ่น ซึ่งหากว่าสนใจก็สามารถซื้อกลับไปฝากเพื่อนฝูงกันได้
การทำเครื่องสังคโลกยุคใหม่
มาเที่ยวกันในทริปนี้ นอกจากจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ก็ยังได้เห็นความสามารถของบรรพบุรุษของเราที่สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องสังคโลกที่มีความสวยงาม และยังส่งต่อภูมิปัญญานี้มาให้ลูกหลานในปัจจุบัน ที่นำมาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่ออีกด้วย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย โทร. 0-5561-6228-9
กำลังโหลดความคิดเห็น