xs
xsm
sm
md
lg

“น่าน” ทางลัดประตูสู่ “หลวงพระบาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระประธานวัดภูมินทร์งดงามตรึงใจชวนไปน่าน
การผจญภัยอันท้าทายไปกับเส้นทางอันสุดตื่นเต้นของ “ตะลอนเที่ยว”ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางรถยนต์เชื่อมโยงภูมิภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน”ของททท.และหอการค้าจ.น่าน

โดยทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” และเพื่อนผองร่วมชะตากรรมเดียวกันกว่า 54 ชีวิต ได้เดินทางจากกรุงเทพฯมุ่งตรงสู่จังหวัดน่าน เมืองสงบที่ต้องตั้งใจมาแห่งล้านนาตะวันออก และเป็นเมืองที่จะเป็นประตูสู่อินโดจีนให้แก่เราในครั้งนี้

โดยจุดหมายหลักหนึ่งในนั้นของพวกเราคือ “หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลก เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั่นเอง

อย่าเพิ่งสงสัยว่าเราจะเดินทางไปหลวงพระบางแล้วจะมาน่านกันทำไม?

นั่นเพราะจังหวัดน่านมีชายแดนติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว รวมเป็นระยะทาง 277 กม. และยังมีด่านสากล 1 แห่ง คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งด่านนี้แหละ จะเป็นประตูพาเราผ่านจากแดนไทยไปแดนลาว
พระธาตุแช่แห้งพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองน่าน
และเมื่อมีโอกาสแวะเวียนผ่านมาพักที่เมืองน่านทั้งที ก็ไม่อยากจะให้เสียเที่ยวเปล่าๆ เพราะเป็นอันรู้กันดีว่า เมืองน่านนั้น ยังเป็นเมืองที่สงบ แวดล้อมด้วยธรรมชาติแห่งขุนเขา และเป็นดินแดนที่มากด้วยศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของล้านนา

งานนี้เมื่อชาวคณะเดินทางมาพร้อมเพรียงกันที่เมืองน่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงขอพากันไปแวะไหว้ขอพรกันที่ “วัดภูมินทร์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตเมือง (หัวแหวนเมืองน่าน)เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์”แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์

จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ โดดเด่นด้วยเรื่องจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวง ที่เป็นเรื่องราวของชาดกในพุทธศาสนา วิถีชีวิตของคน เมืองในสมัยนั้น รวมทั้ง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ เป็นต้น
ตะลุยผ่านลำน้ำกลางขุนเขา
ขอพรที่เดียวยังไม่หนำใจเลยพากันมาอีกหนึ่งสถานที่ ที่หากมาเมืองน่านแล้วไม่ได้แวะก็เหมือนมาไม่ถึง คือ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม สร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่างพ.ศ.1869-1902

องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญ ไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้า พระวิหาร เป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะหรือปีกระต่าย
หมู่บ้านกลางหุบเขาระหว่างทางไปหลวงพระบาง
ได้ขอพรพระรับความเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอก่อนเดินทางไกลกันเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เวลาพักผ่อนออมแรงกันที่เมืองน่านหนึ่งคืน ก่อนที่รุ่งสางของวันใหม่ พวกเราจะตื่นกันแต่เช้าตรู่ ยกโขยงกันบุกด่านห้วยโก๋นแต่เช้า ตลอดเส้นทางที่ผ่านจากตัวเมืองน่าน มุ่งหน้าสู่ด่านห้วยโก๋นนั้น ในช่วงเช้าเริ่มมีบรรยากาศของไอหมอกลอยละลิ่วเป็นสายมาให้เห็นกันบ้าง แสดงให้เห็นว่าที่เมืองน่านใกล้ถึงฤดูหนาวมาเยือน

ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง “ตะลอนเที่ยว” ก็มาโผล่ที่หน้าด่านห้วยโก๋น สำหรับด่านห้วยโก๋น ในวันธรรมดานี้ช่างเงียบเหงา แต่ถ้าเป็นช่วงวันเสาร์แล้วล่ะก็ คึกคักอย่าบอกใคร เพราะใกล้ๆด่านจะมีตลาดนัดที่ไว้เป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าจากไทย-ลาว ชาวบ้านจากฝั่งลาวจะนำอาหาร พืช ผักจากป่าเข้ามาค้าขายกันในฝั่งไทย แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้เราเลือกเดินทางในวันธรรมดาจึงไม่ได้เห็นภาพนั้น

และคงเพราะเป็นวันธรรมดาการตรวจเอกสารผ่านแดนจึงรวดเร็วเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง “ตะลอนเที่ยว”ก็ข้ามพรมแดนมายืนอยู่ ฝั่งตรงข้ามของด่านห้วยโก๋น คือ ด่านน้ำเงิน แขวงไชยบุลี (ด่านท้องถิ่น) ของสปป.ลาวแล้ว

จากด่านน้ำเงิน แขวงไซยะบุรี การผจญภัยก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จากเส้นทางราบเรียบก็เข้าสู่เส้นทางที่เริ่มขรุขระบ้าง แต่ก็ทดแทนความลำบากเรื่องเส้นทางได้ด้วยธรรมชาติที่งดงามสบายๆของป่าเขาที่มีให้มองกันเพลินๆ
ทุ่งนาที่เริ่มแปรสี
วิ่งมาระยะทาง 38 กิโลเมตร พวกเราเดินทางกันจนถึงเมืองหงสา เมืองที่เรียกได้ว่าใกล้ที่สุดจากด่านน้ำเงิน ก็พอให้มีจุดแวะพักได้หายใจกันได้บ้าง แล้วจึงเริ่มเดินทางกันต่อ เส้นทางนี้ทำให้คิดขึ้นมาได้ข้อหนึ่งว่า บางครั้งจุดมุ่งหมายอาจไม่สคัญเท่ากับเรื่องราวที่พบระหว่างทาง เพราะตลอดเส้นทางที่เรามุ่งหน้าสู่หลวงพระบางนั้น ต้องผ่านเส้นทางที่ยิ่งกว่าหลุมพระจันทร์ จนสมาชิกบางคนเปรยๆว่าเหมือนมาขับรถในปารีสดักการ์

เส้นทางเต็มไปด้วยหลุมบ่อ กับฝุ่นสีโอวัลติน ยามที่รถของพวกเรากันเอง ขับเข้ามาในระยะประชิกัน ฝุ่นก็ตีตลบฟุ้งแต่เส้นทางแบบนี้ กลับแฝงด้วยความบริสุทธิ์ ทั้งทุ่งนางดงามเรียงตัวสลับซับซ้อนเป็นขั้นบันไดคดเคี้ยวตามขุมเขา สลับสีแซมลายด้วยสีเขียวบ้างสีทองของรวงข้าวบ้าง บางที่เมื่อรถแล่นขึ้นเขา มองซ้ายเป็นผา มองขวาเป็นเหว เราก็จะเห็นความงดงามของทิวทัศน์แห่งขุนเขาน้อยใหญ่ ที่เขียวครึ้มโค้งเป็นครึ่งวงกลมพาดผ่านกันไปมา โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีครามงดงามดุจภาพวาด

ต้องผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ของชาวลาวที่ตั้งอยู่ตามหุบเขา ทำให้คิดว่าดินแดนแห่งนี้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มากทีเดียวเห็นเด็กเล็กวิ่งวุ่นไปมาตามหมู่บ้าน บ้างหลังสะพายกระบุงช่วยครอบครัวเก็บพืชผล พวกเราต้องผ่านภูเขาที่สูงชัน รวมทั้งผ่านลำธารถึง 9 แห่ง จึงจะถึงเมืองเชียงแมน เขตจอมเพ็ด เมืองที่เป็นจุดลงเรือบักข้ามน้ำโขงสู่เมืองหลวงพระบาง ก็เป็นช่วงใกล้ค่ำพอดี

เมืองเชียงแมนนั้นเป็นเมืองเงียบๆ ที่เหลือเชื่อว่าจะอยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง มองจากเมืองเชียงแมน ไปพวกเราเห็นแสงไฟหลากสี มันบ่งบอกถึงความเจริญที่เรารุกคืบเข้าใกล้ทุกขณะ ในเวลาเพียงไม่ถึง 15 นาที บักเล็กๆที่ใช้เรือ 2 ลำมาต่อกัน ก็พาทั้งคนและรถข้ามฟากมาถึงหลวงพระบางโดยสวัสดิภาพ
ชอปปิ้งในตลาดมืดหลวงพระบางยามราตรี
แต่แทนที่จะกินข้าวเย็นแล้วพักผ่อนกันให้หายเหนื่อยในโรงแรม พวกเราเลือกที่จะมาเดินสบายๆที่ “ตลาดมืด” ของลาว บนถนนศรีสว่างวงศ์ ที่มีของขายตั้งแต่หน้าพระราชวังจนสุดถนน สัมผัสบรรยากาศแบบหลวงพระบางยามราตรี ของที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นเมือง และของที่ระลึก ภาพวาด เกี่ยวกับหลวงพระบาง นักชอปชาวไทยคง ชอปกันได้อย่างเพลินใจยิ่ง เนื่องจากที่ลาวรับเงินบาทของไทย ราคาของก็แล้วแต่ความสามารถในการต่อรอง ของแต่ละคน ชอปกันจนหิวก็มีตรอกเล็กๆที่ขายอาหาร ส้มตำ ขนมจีน แมลงทอด และอีกสารพัดเห็นฝรั่งมังค่านั่งกินกันเคี้ยวตุ้ยน่าอร่อย

เมื่อราตรีในหลวงพระบางสิ้นสุด ก็นอนเอาแรงเสียหน่อย ก่อนที่จะพากันตื่นแต่ไก่โห่ ไปทำบุญใส่บาตรข้าวเหนียว พระสงฆ์นับร้อยๆรูปหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวผู้มาหลวงพระบางไม่ยอมพลาด พระที่นี่เดินกันเร็วมากคนใส่บาตรต้องมีสมาธิ และควรต่อรองราคากระติ๊บข้าวเหนียวกับแม่ค้าให้เรียบร้อยเสียก่อนเป็นดีที่สุด ไม่งั้นอาจได้บุญแต่กระเป๋าเบาได้
ดูเหมือนคนหลวงพระบาง คุ้นชินกันกล้องเสมอ เมื่อต้องตักบาตรยามเช้า
ใส่บาตรเสร็จแล้วเดินชม “ตลาดยามเช้า” ของหลวงพระบางเสียหน่อย ดูว่าบรรยากาศจะแตกต่างจากตลาดมืดแค่ไหน และพบว่าแทบจะไม่แตกต่างจากตลาดเช้าทางภาคเหนือบ้านเราเลย มีพืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์นานาชนิดมาวางขาย พร้อมกับรอยยิ้มของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่ยิ้มรับไมตรีจากนักท่องเที่ยวอย่างไม่เหนื่อยอ่อน

เมื่อมาหลวงพระบางแล้วก็ต้องไปที่ “พระราชวังเจ้ามหาชีวิต” ที่ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของหลวงพระบางเข้ามาเรียนรู้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2447 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ขึ้นครองราชย์ไม่นานนัก ภายในเก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ตลอดจนห้องบรรทม ห้องทรงงาน และพระแท่นที่ประทับต่างๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” ซึ่งเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองหลวงพระบางไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอคอยการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
 ตลาดเช้าเมืองหลวงพระบาง
จากวังมาวัดกันบ้างที่ “วัดเชียงทอง” วัดที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวที่ยังสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้ถูกทำลายจากกองทัพฮ่อที่บุกปล้นเมืองหลวงพระบางเหมือนวัดอื่นๆ

สิมของวัดเชียงทองนั้นเป็นแบบล้านช้าง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น รูปทรงหลังคาผายกว้างออกเรียกว่าหลังคาปีกนก ทั้งภายในและภายนอกสิมล้วนมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรดน้ำด้วยการ “พอกคำ” หรือลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านและเรื่องเกี่ยวกับศาสนา
วัดเชียงทอง สุดยอดสถาปัตยกรรมลาว
ทางด้านหลังสิมก็จะเห็นลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ มีนกและสัตว์นานาชนิด ซึ่งต้นไม้นั้นก็คือต้นทอง หรือต้นงิ้ว ที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้โปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเชียงทอง หมายความถึงป่าต้นทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณนี้นั่นเอง

ยังมี “หอพระม่านและหอพระพุทธไสยาสน์” ที่อยู่ด้านหลังสิม หอพระขนาดย่อมสองหลังนี้ทาด้วยสีชมพูนวลตา ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของลาว ห่างออกไปไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของ “โรงเมี้ยนโกศ” หรือโรงราชรถที่ใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ ที่น่าสนใจชมก็คืองานแกะสลักไม้ด้านหน้าโรงเมี้ยนโกศเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยฝีมือของเพียตัน (พระยาตัน) สุดยอดช่างลาวคนหนึ่ง
ต้นทองหรือต้นงิ้วด้านหลังสิมวัดเชียงทอง
เพียงระยะทาง 152 กิโลเมตร จากด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ไม่ทันข้ามวัน “ตะลอนเที่ยว” ก็ได้พบประสบการณ์เดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจดจำยิ่ง ขอแถมท้ายในเหล่านักผจญภัยด้วยว่า จากเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าสู่ใต้เมืองพูคูน ไปจนถึงเมืองเชียงขวาง ไปชมทุ่งไหหินได้ และลงไปถึงเมืองวังเวียงกุ้ยหลินเมืองลาวได้ด้วยเช่นกันก่อนจะกลับออกนครเวียงจันทน์ไปโผล่ที่จังหวัดหนองคายได้.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่(ดูแลพื้นที่จ.น่าน) โทร.08-1888-4123 , 0-5452-1118
กำลังโหลดความคิดเห็น