xs
xsm
sm
md
lg

สช.เสนอทางออก-สร้างความเป็นธรรม 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการเสนอ 3 ระบบสุขภาพ หนุนกรมบัญชีกลางเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินเป็นจ่ายแบบปลายปิด ตั้งเพดานค่ารักษาพยาบาล จัดตั้งกลไกกลางทำงานร่วมกันทั้ง 3 ระบบ ชี้ทัศนคติผู้ให้บริการก็ไม่เป็นธรรม จ้องฟันกำไรกลุ่มข้าราชการ โฆษก ปชป.เสนอให้ ส.ส.-ส.ว.รัฐบาล-ฝ่ายค้านเป็นตัวอย่างใช้บัตรทองสร้างความเชื่อมั่น

วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีการจัดเวทีสาธารณสุข “หาทางออก สร้างความเป็นธรรมสามระบบหลักประกันสุขภาพ” โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความแตกต่างกันทั้งแหล่งที่มาของเงิน สิทธิประโยชน์ ผู้ให้บริการ และระบบการจ่ายเงิน ทำให้ระบบมีความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการให้บริการนั้น ส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการโดยตรง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากยิ่งขึ้น

นพ.อำพล กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่มีรูปแบบวิธีการจ่ายเงินในระบบเปิด คือ จ่ายตามปริมาณบริการจริง ซึ่งเป็นระบบที่ให้มีการเบิกงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้อย่างอิสระทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จากการใช้ยาเกินความจำเป็น รวมทั้งมีการใช้ยาใหม่และยาที่มีราคาแพงจึงควรมีการกำหนดเพดานว่าแต่ละปีสามารถที่จะเบิกได้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นแบบปลายปิดเช่นเดียวกับรูปแบบการจ่ายเงินในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“การเปลี่ยนรูปบการจ่ายเงินใหม่ ไม่ใช่การยกเลิกสิทธิเดิมที่มีอยู่ แต่ต้องเน้นสร้างความเข้าใจ เพราะมีหลายประเด็นที่เข้าใจผิดเช่น ยาชื่อการค้า ยาต้นตำรับที่มีราคาแพง หรือยาชนิดใหม่ ที่ข้าราชการใช้อยู่นั้นอาจไม่ได้ดีกว่ายาชื่อสามัญ แต่ยาที่มีราคาแพง หรือยาชื่อการค้าเหล่านี้ เป็นยาที่โรงพยาบาลสามารถเบิกได้เต็มราคาและบวกกำไรเพิ่มขึ้นได้” นพ.อำพลกล่าว

นพ.อำพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ดูแลระบบสวัสดิการจำเป็นต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่โป่งมากขึ้นเรื่อยๆ จึ่งต้องหาวิธีการจัดระบบใหม่ ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) มีข้อมูลอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ คือ การต้องตัดสินใจในระดับนโยบายต่อไป

นพ.อำพล กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลบางแห่งอ้างว่านำรายได้ที่ได้จากระบบสวัสดิการราชการไปช่วยระบบบัตรทองที่ยังขาดแคลนอยู่ว่า คงต้องดูว่าโรงพยาบาลเหล่านี้ขาดแคลนจริงหรือไม่ เพราะทราบข้อมูลว่า โรงพยาบาลทั่วไป/ศูนย์ ในสังกัดสธ. ปัจจุบันงบปะมาณไม่ได้ขาดแคลนแล้ว แต่มีเงินบำรุงเหลือมากกว่า 100 ล้านบาท ที่บอกว่าขาดทุนแล้วนำงบส่วนอื่นมาชดเชยหากเป็นจริงการนำเงินส่วนอื่นมาใช้ในส่วนที่ขาดแคลนจะยิ่งทำให้ระบบเสียและเกิดปัญหา เพราะหากงบในระบบบัตรทองไม่พอก็ควรของบจากสปสช.แทนที่จะนำเงินของสวัสดิการข้าราชการมาใช้ซึ่งถือเป็นกระเป๋าใบเดียวกันจากรัฐบาล การทำลักษณะนี้จึงไม่ถูกต้องอยู่แล้ว

นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย เครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวกป.)กล่าวว่า การออกแบบระบบประกันสุขภาพมีความแตกต่างกันตั้งแต่ต้น ด้วยกลุ่มเป้าที่ต่างกัน ส่งผลทำให้บริการมีความแตกต่างกันด้วย ที่เห็นอย่างชัดเจน เช่น ข้าราชการมักได้รับยานอกบัญชียาหลัก ยาต้นแบบนำเข้าจากต่างประเทศและยาที่มีราคาแพงสูงกว่าผู้ป่วยอีก 2 ระบบอย่างชัดเจน เช่น ยาลดไขมัน รวมถึงได้รับหัตถการบางอย่างสูงกว่า เช่น การผ่าคลอด การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น

นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้บริการของผู้มีสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ พบว่า ผู้ป่วยประกันสังคมมีการใช้บริการผู้ป่วยนอกเป็น 1.4 เท่าของผู้ป่วยในระบบบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการมีการใช้บริการผู้ป่วยในเป็น 1.25 เท่า ของผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง โดยมีความแตกต่างชัดเจนในการให้บริการผู้ป่วยด้วยการรักษาด้วยยาหรือบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน ขณะที่ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ด้านสุขภาพเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน

นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอเพื่อลดเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพ คือ 1. ปฏิรูปการจ่ายเงินในระบบประกันสุขภาพให้เป็นระบบงบประมารปลายปิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในหารใช้จ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกันให้มีวิธีการจ่ายและอัตราที่เป็นมาตรฐานสอดคล้องกับความจำเป็นและรักษาคุณภาพบริการให้เป็นไปตามมาตรฐาน 2. ส่งเสริมให้เกิดระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพมาตรฐานทั้งในเขตเมืองและชนบท3.ให้มีระบบการติดตามประเมินคุณภาพบริการในเชิงผลลัพธ์ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องและ 4. ให้มีโครงก้างกลไกกลางมในการอภิบาลแต่ละระบบเพื่อกำกับทิศทางการพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประเทศ

“การรวมกองทุนทั้ง 3 กองทุน มีการคุยกันมานานและถือเป็นเรื่องยากเพราะมีแรงต้านมาก เกรงว่าจะได้รับบริการที่ด้อยลง ดังนั้น เสนอให้สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือวิธีการการจ่ายเงิน” นพ.สัมฤทธิ์กล่าว

น.ส. สุวิภา สุขวณิชนันท์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เห็นด้วยที่ต้องมีกลไกกลางมาดูแล เนื่องจากปัญหาของกรมบัญชีกลางคือติดขัดข้อกฎหมาย โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินกองทุน หรือมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเพียงแต่มีการจัดทำงบประมาณตามกฤษฎีกาเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล พ.ศ.2523 ซึ่งปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มเห็นชัดเจนในปี 2545 และมีปริมาณเงินค่าใช้จ่ายสู.มากขึ้นทุกปี โดยในปี 2552 ตั้งงบประมาณไว้ 48,000 ล้านบาทแต่มีการใช้จริง 61,300 ล้านบาท เกินงบประมาณที่ตั้งไว้และต้องเบิกจากงบกลางของรัฐบาล โดยในปี 2553 ตั้งงบประมาณไว้เท่าเดิมคือ 48,000 ล้านบาทแต่มีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณเกินอีกเช่นเดิม

“กรมบัญชีกลางไม่สามารถบริหารจัดการใดๆ ได้เลย แม้แต่สปสช.ทีมีการจัดซื้อยาแบบรวมซึ่งสามารถต่อรองราคายาได้ทำให้ซื้อยาได้ในราคาถูกกว่า หรือแม่แต่รัฐบาลทำซีแอล ระบบสวัสดิการข้าราชการก็ไม่ได้รับการลดราคาด้วย เมื่อสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กลับได้คำตอบว่า ใช้ยาอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แทนที่จะเป็นนโยบายของประเทศในการใช้ยาในระบบบัญชียา แต่ยาในประเทศกลับมีหลายราคา และให้กรมบัญชีกลางมาทะเลาะกับผู้ป่วยหรือให้ผู้ป่วยทะเลาะกับแพทย์ หรืออย่างกรณีตรวจพบว่ามีการจ่ายยาวิตามินที่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสูง เมื่อสอบถามไปยังแพทย์ กลับได้คำตอบว่า ไม่รู้จักวิตามินในบัญชียาหลักฯ เลย ซึ่งในลักษณะนี้ก็ต้องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้เป็นผู้ตอบเพราะกรมบัญชีกลางเองไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้” น.ส.วุวิภากล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมในระบบประสุขภาพ มาจาก 3 ข้อใหญ่ คือ 1.วิธีการจ่ายเงิน 2.แหล่งที่มาของเงินและต้นตอใหญ่ ที่สุด คือ 3.ระบบคิดของผู้ให้บริการที่มองคนไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าระบบการจ่ายเงินจะเป็นอย่างไร แต่ยังมีวิธีมองคนไม่เป็นธรรมอยู่ เช่น หากเป็นข้าราชการก็จะอยู่บนวิธีคิดที่จะฟันกำไร โดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษา
นายนิมิตร์ กล่าวต่อกว่า

ขอเสนอทางออก 4 ข้อ คือ 1.แก้กฎหมายประกันสังคมเพิ่มการป้องกันสุขภาพ 2.ให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินในการดูแลสุขภาพ 0.8% นำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ อีก 6 ข้อ แทนการรักษาพยาบาล และให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิการรักษาในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 5% เหมือนเดิม โดยไม่มีการจ่ายซ้ำซ้อน 3.มีกลไกกลางเข้ามาจัดการมาตรฐานคุณภาพการรักษาและราคาค่ารักษาพยาบาล และ 4.มีระบบการสร้างความเข้าใจในทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพ

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศและเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลหันมาใช้สิทธิบัตรทอง ควบคู่ไปกับสิทธิประโยชน์ในการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างในสังคม ในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งนโยบายการขยายสิทธิคลอบคลุมบุตรและภรรยาของผู้ประกันตนก็เป็นนโยบายหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ความเป็นธรรม

ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การหารือกันครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและการออกแบบข้อเสนอการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการทำความเข้าใจให้ชัดแจ้งเป็นรูปธรรม โดยให้สช.เป็นเจ้าภาพในการผลักดันขับเคลื่อนจัดตั้งกลไกบริหารกองทุนทั้ง 3 ระบบ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ขาดเพียงตัวแทนจากกรมบัญชีกลางเท่านั้น โดยอาจต่อยอดจากคณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนที่มีอยู่แล้ว ส่วนกลไกในการติดตามประเมินผลที่เป็นอิสระนั้น สวรส.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น