xs
xsm
sm
md
lg

ปราสาทพระวิหารจำลอง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อประมาณต้นสัปดาห์ที่แล้ว เราคงได้ยินข่าวคราวที่เป็น “ความคิดสร้างสรรค์” ของ “ภาคเอกชน” และ “ภาคประชาชน” เกี่ยวกับ “การสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง” ที่บริเวณ “ผามออีแดง” ที่ตามความมั่นใจว่าอยู่ฝั่งไทย จนเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในหมู่คนไทยกันเอง จนมีเสียงขานตอบรับ “สนับสนุน” กันโดยทั่วไป จากผลของการสำรวจของนานาสารพัดสำนัก น่าจะสูงถึงร้อยละ 80 กว่าๆ!

เป็นกรณีที่แทบไม่น่าเชื่อว่า “แนวคิด” นี้ เมื่อได้ถูกโยนออกมาสู่สาธารณชน กลับได้รับทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และเสียงตอบรับอย่างกว้างขวาง จนน่าจะเป็นไปได้ที่ “แนวคิดการสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง” อาจจะได้รับการสนับสนุน และสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากที่แม่ทัพภาคที่ 2 พล.อ.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล ได้นำผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่บรรดานายทหารที่เฝ้าระวังตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะช่วงพื้นที่บริเวณที่มักมีการปะทะกันบ่อยครั้ง จากความเข้าใจผิดของเขตแดนและความไม่ชัดเจนของพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,000 ไร่

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ปัญหาระหว่างพื้นที่บริเวณทับซ้อน 3.5 ตารางกิโลเมตรนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาตลอดระยะเวลานับสิบๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยความไม่ชัดเจนของการปักหลักพรมแดนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ต่างก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนของพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร ว่า “ไทย” หรือ “กัมพูชา” ได้ครอบครองบริเวณพื้นที่ใดบ้าง “กรณีพิพาท” จนเลยเถิดถึง “ขั้นปะทะ” กัน จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

แต่ว่าไปแล้ว บริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ “อึมครึม-คลุมเครือ” มาตราบเท่าทุกวันนี้ โดยที่เมื่อเราได้ยินข่าวคราวปะทะกันทีไร เป็นต้อง “อารมณ์เดือด!” ทุกครั้ง และจินตนาการว่ามันคงสู้รบปะทะจนอาจกลายเป็นพื้นที่สงครามย่อยๆ ไปเลยก็เป็นได้

ทั้งนี้ตามความเป็นจริงแล้ว เท่าที่ได้สดับตรับฟังมา เหตุการณ์มิได้เลยเถิดบานปลายถึงขั้นสงครามชายแดนแต่ประการใด แต่เป็นเพียงการยิงปืนขึ้นฟ้า “ข่มขู่” กันเท่านั้น ว่า “เฮ้ย! หน่วยลาดตระเวนของเอ็งน่ะ กำลังรุกล้ำมาฝั่งเรานะ!” โดยที่แทบจะนานๆ ครั้ง จะยิงถล่มกระสุนเข้าใส่กัน

อย่างไรก็ตาม แทบทุกครั้งที่บรรดา “ทหารลาดตระเวน” ที่เฝ้าคุ้มกันแนวตะเข็บบริเวณนั้น เมื่อลาดตระเวนมาเจอกัน ก็จะทักทาย พร้อมนั่งร่วมวงเสวนาและร่วมดื่ม ร่วมรับประทานอาหารอย่างคุ้นเคยดังเพื่อนสนิทกัน มิได้เกลียดชัง พุ่งจะห่ำหันกันแต่ประการใด

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา นั้น ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเป็น “ปัญหาเก่าแก่” ที่ “คาราคาซัง” กันมายาวนานจนทุกวันนี้ “คณะกรรมการเจรจาร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา” กับบริเวณพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร ยังมิได้มีข้อยุติและคืบหน้าไปมากเท่าใดเลย ดูเสมือนว่าทั้งสองฝ่ายมิได้จ้องจะเอาเป็นเอาตายจริงจังกันขนาดนั้น ตราบใดที่พอจะยอมรับกันได้ เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน และมิได้ล่วงล้ำเขตพื้นที่จนน่าเกลียด!

แต่ช่วงที่ “รัฐบาลพลังประชาชน” เป็นรัฐบาลนั้น ในช่วงที่ “คุณนพดล ปัทมะ” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น ได้เร่งดำเนินการเต็มที่สนับสนุนให้มีการ “ประกาศ” ให้ “ปราสาทพระวิหาร” เป็น “มรดกโลก” ด้วยการยินยอมประสานงานเป็นตัวกลางระหว่าง “กัมพูชา” กับ “องค์กรยูเนสโกแห่งยูเอ็น-สหประชาชาติ” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอบางสิ่งบางอย่างระหว่าง “นายใหญ่” กับ “รัฐบาลกัมพูชา” ในขณะนั้น

ทั้งนี้ เราคงพิสูจน์อะไรไม่ได้จาก “ข้อวิพากษ์วิจารณ์-ข้อกล่าวหา” ดังกล่าวข้างต้น แต่แทบทุกฝ่ายทั้งในประเทศไทยและนานาอารยประเทศต่างตระหนักดีและถึงขั้นปักใจเชื่อว่า น่าจะมี “การเจรจาต่างตอบแทน” กรณี “ผลประโยชน์” เกี่ยวกับ “แหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน-แก๊สและน้ำมัน” และอาจเลยไปจนถึง “เกาะกง” ที่ต้องการเพียงตอบสนอง “นายใหญ่!”

นอกจากนั้น ยังมีการนินทากันเพิ่มเติมว่า “การปะทะ” และ “การแย่งพื้นที่ 3.5 ตารางกิโลเมตร” นั้น น่าจะเกิดจาก “การสนับสนุน” จนถึงขั้น “ยั่วยุ” ของ “นายใหญ่” ที่ “กดปุ่ม-บงการ” อยู่ต่างประเทศ ด้วยการให้เงินก้อนโตสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่าง “ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา”

จะจริงเท็จประการใด เราคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ พอหมดยุคนายนพดล ปัทมะ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากที่องค์กรยูเนสโก ได้ประกาศให้ “ปราสาทพระวิหาร” เป็น “มรดกโลก” ขึ้นกับ “ประเทศกัมพูชา” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า คุณนพดล “จบภารกิจสำคัญ” ก็ประกาศ “ลาออก-เปิดตูด” และอาจรับทรัพย์ไปอีกโข จนเป็นที่มาของการด่าทอจากคนไทยว่า “ขายชาติ!”

นับแต่นั้นมา แนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณนั้นก็เกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันอย่างประปราย โดยที่ทุกฝ่ายในฝั่งไทยต่าง “ชี้นิ้ว” ไปที่ “นายใหญ่” หมดว่า “อยู่เบื้องหลัง!”

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว “ปราสาทพระวิหาร” เท่านั้นที่ประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ที่ตกเป็นของกัมพูชา แต่ “บริเวณเขาพระวิหาร” นั้น ยังมิได้ถูกประกาศให้เป็นของกัมพูชา ซึ่งบริเวณพื้นที่ทับซ้อน 3.5 ตารางกิโลเมตรนั้น ยังคงร่วมประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองที่ยังไม่ได้ข้อยุติแต่ประการใด

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “ปราสาทพระวิหาร” เป็นปราสาทโบราณมีความเก่าแก่ยาวนานนับเกือบพันปี ดังที่กล่าวตามประวัติศาสตร์ข้างต้น และโด่งดังไปทั่วโลก จนมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาท่องเที่ยวปีละจำนวนหลายแสนคน แต่ก็ต้องเดินขึ้นจากฝั่งไทย เพราะเดินทางขึ้นจากฝั่งเขมรนั้นยากลำบากมาก

ทางการกัมพูชาเพียรพยายามสร้างถนนและทางขึ้นจากฝั่งประเทศเขามาโดยตลอด แต่ยากเย็นแสนเข็ญ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาลาดชัน และต้องลงทุนสูง จึงยังไม่สำเร็จบรรลุผลมาถึงวันนี้

ความเก่าแก่โบราณและสถาปัตยกรรมของ “ปราสาทพระวิหาร” นั้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แม้กระทั่งถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีและภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างประทับใจเมื่อได้ไปเยี่ยมชมทุกครั้ง

ว่าไปแล้ว “ปราสาทพระวิหาร” น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อทีเดียวของกัมพูชา นอกนั้นแทบจะไม่มีอะไรเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้แก่ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชา” ได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราที่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

แนวคิดในการสร้าง “ปราสาทพระวิหารจำลอง” ที่ “ผามออีแดง” ฝั่งไทยนั้น เป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุนอย่างมาก และขอย้ำว่า “มิใช่เป็นความคิด” ของแม่ทัพภาคที่ 2 กับผู้บัญชาการทหารบก แต่เป็นแนวคิดของ “ภาคเอกชน-ภาคประชาชน” ที่เอือมระอาและเบื่อหน่ายความขัดแย้ง จน “ลักปิด-ลักเปิด” กล่าวคือ เดี๋ยวก็เปิดให้ชม เดี๋ยวก็ปิดให้ชม จนบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติเอือมระอากับปัญหาดังกล่าว ขาดรายได้ไปเยอะ!

นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องอาศัยฝั่งไทยในการเดินทางขึ้นสู่ปราสาทฯ จนฝั่งเขมรเองก็ไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก เนื่องด้วยทำให้เขาขาดรายได้ จนเกิดการ “ตีรวน-สร้างปัญหา” จนนักท่องเที่ยวไม่เป็นสุข

การจะสร้างปราสาทพระวิหารจำลอง น่าจะต้องใช้พื้นที่จำนวนนับร้อยไร่ และงบประมาณมหาศาล แต่ระยะยาวก็ต้องตอบว่า “คุ้ม!” อย่างแน่นอน เพราะจะ “สวยกว่า-ใหญ่กว่า” ตลอดจนบริเวณผามออีแดงนั้น เป็นชะง่อนเขาที่ทิวทัศน์สวยงามมากกว่าที่ตั้งของปราสาทฯ จริงในปัจจุบัน

มีเพียงปัญหาเดียวที่อาจจะไม่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว คือ “ความโบราณ” และ “ประวัติศาสตร์” ที่นักท่องเที่ยวต้องการ “ความประทับใจ” กับสองประเด็นข้างต้น

ซึ่งในกรณีปัจจัยปัญหาหลักข้างต้นนั้น “โบราณ-ประวัติศาสตร์” เป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยว การสร้าง “ปราสาทพระวิหารจำลอง” อาจเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อ “การประชัน” กันเท่านั้น ซึ่งแน่นอน “ความอลังการ” ย่อมยิ่งใหญ่กว่าแน่นอน แต่ “ความรู้สึก” นั้น น่าจะต้องมาขบคิดเป็นประเด็นสำคัญสูงสุดเช่นเดียวกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น