xs
xsm
sm
md
lg

ให้เอกชนเช่าอุทยานฯ : ขายฝัน ขายท่องเที่ยว หรือขายป่า???/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

ทะเลหมอกที่อุทยานฯห้วยน้ำดัง
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติบ้านเรา อาทิ ป่าเขา ดงดอย เถื่อนถ้ำ น้ำตก ทะเล ส่วนใหญ่ล้วนอยู่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

แต่จู่ๆกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็งานเข้า ด้วยการออกมาประกาศว่า จะ(นำร่อง)เปิดอุทยานแห่งชาติชื่อดัง 10 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานฯเขาใหญ่ ห้วยน้ำดัง ดอยอินทนนท์ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ภูกระดึง ดอยสุเทพ-ปุย แก่งกระจาน เอราวัณ และอุทยานฯดอยผ้าห่มปก ให้เอกชนเข้ามาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่ถึง 30 ปี

ขายฝัน...

วิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ในฐานะประธานคณะทำงานการท่องเที่ยวและการลงทุนดำเนินกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมได้วางหลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ไว้ 3 ประเด็นหลักๆด้วยกัน คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพและยั่งยืน ประเด็นทางสังคม ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม และประเด็นเศรษฐกิจ ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่

ส่วนกรณีที่กลัวว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานเข้าดำเนินกิจกรรมในอุทยานฯจะเข้าไปทำลายธรรมชาติและป่านั้น วิชิต บอกว่า คิดว่าขณะนี้ความคิดของนักธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นักธุรกิจยึดถือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพราะกระแสโลกกระแสสังคมกำลังให้ความสำคัญเรื่องนี้

ครับ ในเรื่องนี้ดูผ่านๆฟังเผินๆก็ดูดี เพราะหากว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วบ้านเรา เอกชนมักจะบริหารจัดการดีกว่าราชการเสมอ แต่กระนั้น จากประวัติที่ผ่านๆมา เอกชนที่มารับสัมปทานระยะยาวจากภาครัฐส่วนมากมักเป็นกลุ่มทุนนักการเมือง กลุ่มทุนสามานย์ที่พร้อมจะจ่ายใต้โต๊ะอยู่ทุกเมื่อเพื่อให้ตนเองได้สัมปทาน

นั่นจึงเป็นข้อกังขาให้ผู้นิยมไพรคัดค้านและตั้งคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะรับประกันได้อย่างไรว่า ทุนที่เข้ามาจะไม่ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น พวกเขาจะไม่ขึ้นค่าที่พัก ค่าเหยียบอุทยานฯ ให้เราๆท่านๆต้องจ่ายแพงขึ้น จนไม่สามารถเที่ยวได้ในอุทยานฯบางแห่งเพราะราคาโคตรแพง (ต้องไม่ลืมว่าบรรดานักธุรกิจที่พร้อมจะทำสัมปทานกับรัฐในบ้านเรามักจะคิดแต่กำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง เพราะเงินส่วนหนึ่งต้องนำไปเลี้ยงนักการเมืองและข้าราชการกังฉิน)

รวมถึงการดำเนินการอื่นๆที่ไม่โปร่งใส เพราะแค่ยังไม่ทันเริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการก็มีข่าวออกมาแล้วว่า ได้มีการต่อรองราคาที่ดินที่ทางกรมอุทยานฯกำหนดราคาค่าเช่าไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน ให้ลดลงเหลือตารางเมตรละ 3 บาทเท่านั้น ทั้งๆที่ยังไม่มีการเปิดประมูลอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ขายท่องเที่ยว

สำหรับการเปิดสัมปทานอุทยานฯนั้น ประเด็นหลักก็เพื่อผลประโยชน์ทางการท่องเที่ยว ซึ่ง อนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เผยถึงเรื่องนี้ว่า การอนุญาตให้เอกชนดำเนินการบริการท่องเที่ยว เกิดจากแนวคิดจะช่วยหารายได้มาช่วยเศรษฐกิจของประเทศ เพราะขณะนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่น่าจะนำมาอวด และนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปรับรู้รับทราบ ดีกว่าปล่อยเอาไว้ให้เสื่อมโทรมและบางพื้นที่ก็ถูกบุกรุกเสียหาย

เรียกว่าให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทำ ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่ง ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า

" พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นที่พักชั่วคราวที่อุทยานไปรักษาไว้ แต่ตอนนี้กำลังจะถูกเลือกให้เป็นจุดที่มีศักยภาพและจะทำรายได้สูงในแง่ของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าชาวบ้านคงไม่ยอม เพราะที่ผ่านมาอุทยานฯพยายามผลักดันชาวบ้านออกมาจากพื้นที่ แต่กลับจะเปิดให้เอกชนมาแทนที่ นอกจากนี้โดยส่วนตัวก็เป็นห่วงมาก เพราะถ้าดูจากวิธีใช้พื้นที่อุทยานมาทำเขตบริการ กำลังเลือกจุดที่เปราะบางที่สุด โดยไม่ได้อิงข้อมูลทางวิชาการ แต่อิงความสวยงามมาเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกำลังคุยกัน เพราะไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะถ้ายิ่งบนเกาะมีสิ่งปลูกสร้างถาวรเมื่อใด ปัญหาจะตามมาอีกมากมายแน่นอน"

เรื่องนี้ทำให้ผมอดคิดถึงเขาใหญ่เมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้วไม่ได้ ในยุคนั้นเขาใหญ่ได้เปิดให้เอกชนไปทำโรงแรม สนามกอล์ฟ ที่พบว่ามีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างใหญ่หลวง ทั้งเรื่อง ขยะ น้ำเสีย และอื่นๆ จนเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาใหญ่ในยุคนั้นไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก ซึ่งสุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป ทำให้พื้นที่สนามกอล์ฟกลับกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเหล่าเก้ง กวาง และทำให้ป่าเขาใหญ่-ดงพญาเย็นได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกในกาลต่อมา

นอกจากนี้จากการไปเที่ยวป่า เขา ทะเล ตามอุทยานฯต่างๆ ผมพบว่าหลายๆอุทยานฯมีการบริหารจัดการที่ดีไม่แพ้เอกชน จนบางอุทยานฯได้รับการการันตีคุณภาพด้วย“รางวัลกินรี” ของททท. อาทิ อช. เอราวัณ อช.แก่งกระจาน อช.เขาสก อช.ตาดโตน อช.ผาแต้ม เป็นต้น

แถมอุทยานฯหลายแห่งยังมีสิ่งเหนือกว่าเอกชน(ส่วนใหญ่) ที่มีการเเบ่งพื้นที่ให้คนท้องถิ่นเข้ามาขายของ มีเจ้าหน้าที่สื่อความหมายซึ่งมาคอยพาเที่ยวและให้ความรู้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ พร้อมประสบการณ์จริงจากป่าไพรได้อย่างยอดเยี่ยม ชนิดที่ไกด์ท่องตำราได้แต่มองตาปริบๆ

แล้วทำไมทาง ทส. ไม่ ยึดอุทยานฯเหล่านั้นเป็นต้นแบบ พร้อมเพิ่มงบประมาณด้านการดูแล อนุรักษ์ พัฒนา และบริหารจัดการอุทยานฯลงไป

เอ...หรือว่างบประมาณเพิ่มไปแล้ว แต่ว่าไปตกหล่นเข้ากระเป๋าใครในระหว่างทาง ทำให้พิทักษ์ป่าวันนี้ยังเดินถือปืนเก่าๆขึ้นสนิม ออกลาดตระเวน ที่หากว่าวันใดโชคร้ายปะทะกับพวกลักลอบตัดไม้ล่าสัตว์ในป่าที่มีอาวุธทันสมัยครบมือแล้วละก้อ งานนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร

ขายป่า

ไม่รู้มันเป็นความบังเอิญหรืออย่างไร ที่ 10 อุทยานฯดัง ซึ่งมีแผนเปิดให้เอกชนเช่านั้น เป็นอุทยานฯชุดเดียวกันกับ 10 อุทยานฯ ที่ทางกรมอุทยานฯประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 51 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นอุทยานฯจนเกินขีดความสามารถ

เรื่องนี้หากว่ากันตามหลักการถือเป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริม แต่ก็มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจจะเป็นแผนการค่อยๆผลักดันนักท่องเที่ยวทั่วไปออกจาก 10 อุทยานฯ ดัง(ที่ไม่ใช่อุทยานฯที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเยอะเป็น 10 อันดับแรกของเมืองไทย) แล้วเปิดโอกาสกลุ่มทุนเข้ามายึดครองโดยอ้างว่าสถานที่เต็ม แต่ที่จริงแล้วอุทยานฯดังๆเหล่านั้น มันเต็มเพราะเอกชนผู้สัมปทานกันไว้ให้นักท่องเที่ยวของตนต่างหาก

ยกตัวอย่าง สมมติในอนาคตเราจะขับรถขึ้นไปกางเต็นท์บนเขาใหญ่ อาจถูกทางอุทยานฯเขาใหญ่อ้างว่าที่พักเต็มเราไม่สามารถพักค้างได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวที่ยอมจ่ายแพง จองที่พักหรือซื้อแพ็คเกจที่อยู่ในการดูแลของเอกชนที่กรมอุทยานฯเปิดให้เช่าเพื่อจัดการการท่องเที่ยว

เรียกว่าเข้าทางเขาพอดี เพราะงานนี้หลายอย่างมันช่างดูสอดคล้องและบังเอิญอย่างร้ายกาจจริงๆ

ส่วนที่ไม่บังเอิญก็คือ ตั้งแต่มีการจัดตั้งอุทยานฯแห่งแรก(เขาใหญ่)ขึ้นในปี พ.ศ.2505 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการปกป้องดูแลรักษาป่า มาวันนี้ 46 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าจำนวนผืนป่าก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง แถมล่าสุดนี่กรมอุทยานฯยังคิดจะเปิดป่าให้เอกชนเช่าเสียอีก

กรณีอย่างนี้หลายคนๆแถวบ้านผมเขาเรียกว่าพวก“ขายป่ากิน” น่ะคร้าบพี่น้อง

แต่ว่าเขาจะขายป่าเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ขายป่าเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว หรือขายป่าเพื่อผลประโยชน์ของใคร??? งานนี้คงต้องติดตามอย่ากระพริบตา ซึ่งคิดๆแล้วมันก็น่าเศร้าใจแทนบรรดาพนักงานพิทักษ์ป่าชั้นผู้น้อยตามอุทยานๆต่างๆ ที่เฝ้าเพียรปกป้องดูแลรักษาป่า ด้วยจิตใจอันมุ่งมั่น รวมถึงพยายามบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์ป่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาสู่อนุชนคนรุ่นหลัง

ผิดกับคนระดับผู้นำอุทยานฯที่กระทำการในสิ่งตรงกันข้าม

หากสภาพการณ์ยังคงเป็นไปในอีหรอบนี้ ต่อให้มีคนแบบ สืบ นาคะเสถียร อีกพันคน หมื่นคน ป่าไม้ไทยก็ยังคงเผชิญวิบากกรรมไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไหร่
กำลังโหลดความคิดเห็น