xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการค้านกระทรวงทรัพยากรฯ ดึงเอกชนขยี้ 10 อุทยานแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศเปิดอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง นำร่องให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่จัดการบริการประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง 3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 4.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 7.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย 8.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 9.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ10.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

โดยทางกรมฯเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีนักธุรกิจหลายรายเสนอแผนจัดการอุทยานแห่งชาติ ที่ต้องการบริหารมายังกรมฯ และยังพยายามให้กรมฯ ลดราคาค่าเช่าลง ทั้งนี้กรมฯ กำหนดราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อบริการไว้ตารางเมตรละ 30 บาท หรือไร่ละ 4.8 หมื่นบาทต่อเดือน แต่เอกชนมองว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป และต่อรองให้ลดราคาลงเหลือแค่ตารางเมตรละ 3 บาทเท่านั้น

สำหรับแผนการเปิดให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่บริหารจัดการ ได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้น อาทิ จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในโซนบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์อาหาร ร้านขายของที่ระลึก รีสอร์ท โรงแรม โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี มีเงื่อนไขว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปลูกป่าเพิ่มเติม

วิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดีกรมฯ กล่าวว่า กรมวางหลักการเบื้องต้นให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการให้การบริการพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ดูแลรับผิดชอบ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการจัดการอย่างมืออาชีพและยั่งยืน ประเด็นทางสังคม ต้องให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและประเด็นเศรษฐกิจ ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่

"กรมอุทยานฯ ต้องการให้มืออาชีพเข้ามาบริหารพื้นที่บริการ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ นักธุรกิจขนาดใหญ่ หรือขนาดกลาง โดยกรมฯ จะแบ่งพื้นที่ของอุทยานฯ เป็นกลุ่ม ๆ คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลาง และกลุ่มทั่วไป เพื่อเปิดให้มีตัวเลือกหลากหลาย ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสของประชาชนในการเข้าถึงธรรมชาติ"วิชิตกล่าว

ส่วน ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า การให้สัมปทานเอกชนเข้าบริหารจัดการในพื้นที่อุทยานฯ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยต่างประเทศหลายประเทศมีการดำเนินการรูปแบบนี้มานานแล้ว และเป็นไปตามโครงงานการจัดการพื้นที่คุ้มครองตามอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพที่มี 191 ประเทศเป็นสมาชิก เพื่อหาเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนไปบริหารจัดการพื้นที่ป่า เพราะงบประมาณของรัฐไม่เพียงพอ

ด้าน ศ.นิวัติ เรืองพานิชย์ นักวิชาการด้านวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงแนวความคิดในการให้สัมปทานอุทยานแห่งชาติแก่ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการคิดถึงแต่เงินด้านเดียว ไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักในการดูแลรักษาป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งในที่สุดแล้ว จะทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย จึงขอเรียกร้องข้าราชการอย่าตามใจฝ่ายการเมืองมากเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น