นักท่องเที่ยวผวาขึ้นภูชี้ฟ้าน้อยลง ส่วนใหญ่จะถ่ายรูปอยู่ด้านล่าง และบางส่วนรอให้ฟ้าเปิดเสียก่อนแล้วจึงเดินขึ้นไปชมวิวตรงหน้าผา ด้านมาตรการความปลอดภัยทำได้เพียงนำเชือกมาขึงบริเวณจุดที่นักท่องเที่ยวตกเหวเสียชีวิต ส่วนอุทยานแห่งชาติที่อื่นๆ ก็เริ่มตั้งมาตรการระวังความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น ด้าน ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติ เริ่ม 1 ก.ค.นี้
หลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวตกหน้าผาที่วนอุทยานภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย เป็นผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวบนภูชี้ฟ้าลดน้อยลง โดยบางส่วนที่มากางเต็นท์นอนอยู่แล้วก็เลือกที่จะถ่ายรูปด้านล่าง ไม่ขึ้นไปบริเวณยอดปลายแหลมหรือปากสิงโต และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรอให้ท้องฟ้าเปิด มีความสว่างเพียงพอ จึงค่อยเดินเท้าขึ้นไปถ่ายรูปทัศนียภาพ และทะเลหมอกในช่วงสายแทน
บันเทิง เครือวงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นมาอีกทำได้อย่างลำบาก เพราะการปักปันเขตแดนไทย-ลาว ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น การที่ท้องถิ่นหรือวนอุทยานฯ จะทำการปักป้ายหรือสัญลักษณ์ขนาดใหญ่เตือนจึงทำไม่ได้ เนื่องจากจะกลายเป็นการรุกล้ำต่อเติมพื้นที่บนพื้นที่บนภูชี้ฟ้า ที่ทางการลาวอ้างกรรมสิทธิ์ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศสเมื่อ 115 ปีก่อน และจะมีการประท้วงไปยังกระทรวงต่างประเทศ
ในขณะนี้เพื่อเป็นการป้องกันเหตุซ้ำรอยเดิม เจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า กรมป่าไม้ ร่วมกับ อบต.ตับเต่า จึงได้นำเชือกมาขึงบริเวณจุดที่นักท่องเที่ยวตกเหวเสียชีวิต เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวหลงเดินเข้าไปถ่ายภาพ เนื่องจากป้ายที่ติดว่าจุดอันตรายเล็กและติดอยู่ต่ำเกินไป คาดว่าจะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น
ทางด้านอุทยานแห่งชาติภูกระดึงก็เตรียมพร้อมป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้ซ้ำรอยนักท่องเที่ยวตกภูชี้ฟ้า โดยศุภชาติ วรรณวงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้ระมัดระวังอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และก็ได้เตรียมความพร้อมป้องกันอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าวอย่างเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น โดยได้มีการเตรียมป้ายเตือนภัยตามหน้าผาต่างๆ ปักไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัด และจะเน้นการเอาเจ้าหน้าที่ไปดูแลนักท่องเที่ยวตามหน้าผาต่างๆ เช่น ผาหล่มสัก นกแอ่น และผาอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวไปใช้บริการกันเยอะ หากมีนักท่องเที่ยวคนใดไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำก็จะให้เจ้าหน้าที่นั้นทำการตักเตือนและปรับไม่เกิน 1,000 บาท
นายศุภชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงนั้นมีมากพอ และมีการจัดเวรเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่บริเวณผานกแอ่นซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นนั้น ทางอุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ 3-5 คน มาดูแลนักท่องเที่ยวตามริมหน้าผาในช่วง 05.00 น. ในปัจจุบันก็ยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น โดยในช่วงนี้จะมีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 200-300 คนในวันปกติและ 700-1000 คนในวันหยุด และในปีนี้ทางอุทยานฯ การจำกัดการเดินทางขึ้นภูกระดึง ไม่เกินวันละ 5,000 คน และเริ่มใช้แล้วในปีนี้
ด้านสุวิทย์ แก้วปิยรัตน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปดูทะเลหมอก กล่าวว่าอุทยานห้วยน้ำดัง ตั้งแต่เปิดมาไม่เคยมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว และสถานที่ต่างๆ ในอุทยานฯ ก็ไม่มีจุดเสี่ยง เพราะจุดชมทะเลหมอกนั้นเป็นยอดเขามีลานกลางแจ้งกว้างขวาง ไม่ต้องเบียดเสียดกันแบบภูชี้ฟ้า อีกทั้งทางอุทยานฯ มีจำนวนเจ้าหน้าที่มากกว่า 30 คน ผลัดเปลี่ยนเวรกันทำงานดูแลนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนประธาน สังวรณ์ หัวหน้าฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า จุดชมทะเลหมอกของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะอยู่บนยอดเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวมาขึ้นชมจำนวนมาก ปัจจุบันมีปริมาณหมอกตามปกติไม่มากจนมองไม่เห็นเส้นทาง อีกทั้งสภาพพื้นที่ก็ไม่มีจุดเสี่ยง ที่น่าจะเป็นจุดอันตรายก็คือส่วนของเส้นทางเดินรถเพื่อขึ้นไปยังยอดเขาพะเนินทุ่งซึ่งเป็นทางแคบและชัน บางช่วงเป็นเส้นทางติดกับเหวลึก แต่ทางอุทยานฯ ก็ได้มีการป้องกันอยู่แล้วคือกำหนดเวลารถขึ้นลงอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้มีรถสวนทางกันระหว่างเส้นทางจนอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้
นอกจากนั้นแล้ว ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้ออกกฎกระทรวงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมอุทยานแห่งชาติต่างๆ เนื่องจากในช่วงวันปีใหม่ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเกือบทุกแห่งมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเกินพิกัดเอาไว้ทั้งสิ้น ในขณะนี้จึงได้กำหนดอุทยานนำร่องไว้ 10 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้จริงจังในวันที่ 1 กรกฎาคม 2551