บีบีซีนิวส์/เอเยนซี - พื้นที่แผ่นโลก เหลือ "มหาสมุทร" เพียงแค่ 4 % เท่านั้นที่ยังไม่ถูกมนุษย์ย่ำยี่ ซึ่งพื้นที่บริสุทธิ์ที่เหลือเป็นพื้นที่น้ำแข็งใกล้ขั้วโลกที่กำลังเผชิญการละลาย ขณะที่กว่า 40% ได้รับผลเลวร้ายแล้วจากน้ำมือมนุษย์ ระบุเป็น "เสียงปลุก" ให้ผู้กำหนดนโยบายเริ่มปฏิบัติการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล
ดร.เบนจามิน ฮัลเพิร์น (Dr Benjamin Halpern) จากศูนย์วิเคราะห์และสังเคราะห์นิเวศวิทยาแห่งสหรัฐฯ ในซานตา บาร์บารา (National Center for Ecological Analysis and Synthesis in Santa Barbara) ซึ่งเป็นหัวหน้าในการทำแผนที่โลกแสดงผลกระทบต่อมหาสมุทรอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์นี้กล่าวว่า มนุษย์ได้สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อมหาสมุทรและระบบนิเวศที่อยู่ภายใต้ทะเล
ภาพแผนที่โลกนี้แสดงให้เห็นว่า 41% ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ 17 รายงานซึ่งสัดส่วนที่มากกว่าที่เคยคิดกัน และเพียง 4% ที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย โดยแผนที่ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และแคนาดานี้เป็นครั้งแรกที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอิทธิพลของมนุษย์ในด้านต่างๆ ที่กระทบต่อมหาสมุทร และยังได้ตรวจสอบตัวบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่รวมถึงแนวปะการัง แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ดงสาหร่ายและคุณภาพน้ำ
จากการศึกษาพบว่าทั้งการประมง มลพิษ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดจากมนุษย์ได้ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างหนักต่อมหามสมุทรเกือบครึ่ง ขณะที่พื้นที่น้ำแข็งซึ่งอยู่ใกล้ขั้วโลกนั้นยังบริสุทธิ์อยู่ แต่ก็กำลังเผชิญการคุกคามจากแผ่นน้ำแข็งละลาย ซึ่งข้อมูลนี้ทีมวิจัยระบุว่าเป็น "เสียงปลุก" สำหรับผู้กำหนดนโยบาย
"ในอดีตนั้นการศึกษาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นผลกระทบจากกิจกรรมเดี่ยวๆ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้สร้างแผนที่โลกซึ่งแสดงถึงกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายเรียงซ้อนกันหลายชั้น เราจึงได้ภาพใหญ่ของผลกระทบทั้งหมดที่มนุษย์ได้ทำมากกว่าแค่ผลเสียจากเรื่องเดียว" ดร.ฮัลเพิร์นกล่าว
ด้าน ดร.มาร์ก สปอลดิง (Dr.Mark Spalding) ซึ่งร่วมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า แผนที่นี้เป็นการทดลองครั้งแรกที่จะอธิบายและแสดงปริมาณถึงสิ่งที่มหาสมุทรทั่วโลกต้องเผชิญจากปัจจัยอันเนื่องจากมนุษย์ ซึ่งเรียงลำดับตั้งแต่การขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์ไปจนถึงการทำประมงเกินพอดี
"มีปัจจัยสำคัญที่จะปลุกคุณให้ตื่นเมื่อเห็นแผนที่ลักษณะนี้ เพราะมนุษย์ได้คุกคามมหาสมุทรไปทั่วโลก แผนที่นี้จะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณจริงที่จะเริมต้นลงมือจัดการชายฝั่งและมหาสมุทรของเราเสียที" ดร.สปอลดิงกล่าว
ในการทำแผนที่นี้ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติราว 20 คนได้แบ่งพื้นที่มหาสมุทรออกเป็นตารางกิโลเมตรเพื่อสร้างแบบจำลองอันซับซ้อนโดยพิจารณาข้อมูลจริงที่หาได้เกี่ยวกับอิทธิพลของมนุษย์จากกิจกรรมต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยได้คำนวณ "คะแนนผลกระทบจากมนุษย์" สำหรับแต่ละพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นแผนที่ของความเสียหายที่มนุษย์ทำให้เกิดแก่ทะเลจริงๆ และบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างตกตะลึงกับผลลพธ์ของแบบจำลองนี้ แต่พวกเขาก็หวังว่าแผนที่นี้จะถูกนำไปใช้เพื่อความพยายามอนุรักษ์ทะเลในลำดับต้นๆ
"ผมว่าสิ่งน่าอัศจรรย์ใจที่สำคัญของแผนที่นี้คือการได้เห็นผลกระทบจากมนุษย์ที่ครอบคลุมทุกเรื่องอย่างสมบูรณ์ ไม่มีที่ไหนเลยที่รอดพ้นมนุษย์ไปได้ ช่างเป็นแผนที่ช็อคความรู้สึกเมื่อได้เห็น" คำกล่าวของ ดร.สปอลดิงซึ่งนำการวิจัยครั้งนี้และยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาวุโสของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติสากล "เนเจอร์ คอนเซอร์แวนซี" (The Nature Conservancy) โดยเขายังระบุอีกว่าปัจจัยใหญ่ในการทำลายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตทางทะเลคือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการทำประมงเกินพอดี
ด้าน แอนดรูว โรเซนเบิร์ก (Andrew Rosenberg) ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ (University of New Hampshire) สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมในการศึกษาครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องไม่มองว่าการประมงและมลพิษเป็นเรื่องที่แยกจากกันอีกต่อไป โดยผลกระทบจากมนุษย์นี้เป็นเรื่องที่ซ้อนทับกันระหว่างพื้นที่และเวลา ซึ่งเมือ่นานไปในหลายกรณีจะขยายผลจนเพิ่มความน่ากลัวอย่างสูง
"ข้อความถึงผู้กำหนดนโยบายค่อนข้างชัดเจนสำหรับผม ปฏิบัติการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ตัดตอนผลกระทบจากการกระทำอันครบชุดของมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก" โรเซนเบิร์กกล่าว