xs
xsm
sm
md
lg

ยันสร้าง “หอดูดาว” ไม่ฟังเสียงปชช.ผิดจิตสำนึกนักวิทยาศาตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการ -อาจารย์ มช.ยันการก่อสร้างหอดูดาวบนยอดดอยอินทนนท์ ไม่เคยฟังเสียงประชาชนผิดจิตสำนึกนักวิทยาศาสตร์ เชื่อ สดร.ล็อกพื้นที่ยอดดอยไว้เพียงที่เดียว ระบุเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลาหลังระบบนิเวศทรุดหนัก วอนรัฐถอนพื้นที่กองทัพอากาศ –จำกัดนักท่องเที่ยวให้โอกาส “อินทนนท์” ฟื้นตัว ย้ำไม่ขวางความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ แต่ไม่อยากให้เป็นเรื่องสนองความอยากของใครบางคน


เป็นที่กล่าวถึงกันมาสักพักแล้วสำหรับโครงการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่จะสร้างในบริเวณหน่วยพิทักษ์ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งกังวลกันว่าจะส่งผลต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ได้
       
       นายชัชวาล บุญปัน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จนบัดนี้โครงการก่อสร้างดังกล่าวยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทั้งที่ไม่ว่าผลดำเนินโครงการจะออกมาอย่างไร ประชาชนในพื้นที่ก็จะต้องเป็นผู้รับผลนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้การทำประชาพิจารณ์จะไม่เป็นข้อบังคับในระเบียบที่ สดร.ต้องบรรจุลงในรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นผู้พิจารณา แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น

นายชัชวาล ชี้ว่า การประชาพิจารณ์ถือเป็นจิตสำนึกที่ทั่วโลกให้การยอมรับเพราะผู้ดำเนินโครงการต้องตระหนักว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งระบบนิเวศบนยอดดอยอินทนนท์ ที่เสื่อมโทรมมากแล้วก็ถือเป็นสมบัติส่วนรวมของคนไทยและของคนทั้งโลกที่ต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างยั่งยืน ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ก็มีจุดประสงค์นั้น

นอกจากนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่มีนักวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว แม้จะไม่มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทำประชาพิจารณ์เลย แต่การประชาพิจารณ์เพื่อพูดคุยกันด้วยเหตุและผลก็น่าจะเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจกันได้

นายชัชวาล เผยอีกว่า จากการติดตามโครงการยังไม่เห็นพื้นที่อื่นใดนอกจากยอดดอยอินทนนท์ที่ สดร.จะเสนอเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำรองของการก่อสร้างหอดูดาวขนาด 2.4 เมตรนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการจำเพาะเจาะจงดังจุดประสงค์ของการก่อตั้ง สดร.เมื่อปี 2547 ซึ่งระบุชัดลงไปว่าก่อตั้งเพื่อจัดสร้างหอดูดาวบนยอดดอยอินทนนท์ โดยไม่มีตัวเลือกในพื้นที่อื่นใด

"กรณีหอดูดาวเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลากับระบบนิเวศ ที่ล่มสลายไปแล้วของยอดดอยอินทนนท์" อาจารย์ผู้สอนวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว

เขาชี้ว่า ตัวเองตลอดจนชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และภาคีคนฮักเจียงใหม่ขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขใน 2 ประเด็นนอกจากการทบทวนการสร้างหอดูดาว คือ การย้ายสถานีเรดาของกองทัพอากาศออกจากพื้นที่ และการออกมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาท่องเที่ยวบนยอดอินทนนท์ในแต่ละปี

กรณีการย้ายสถานีของกองทัพอากาศซึ่งใช้พื้นที่ยอดดอยอินทนนท์จำนวนมาก นายชัชวาล เรียกร้องว่า กองทัพอากาศได้เข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงมายาวนานเพียงพอที่จะถอนกำลังออกจากพื้นที่ได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อความมั่นคงทางชีวภาพของยอดดอยอินทนนท์อย่างมหาศาล

ทางออกของเรื่องนี้จึงเป็นการลดพื้นที่ใช้สอยลงเรื่อยๆ ในแผน 5 ปี หรือแผน 10 ปีจนถอนกำลังออกไปอยู่ในพื้นที่อื่นได้ทั้งหมด หากทำได้ก็จะได้รับการสรรเสริญจากประชาชนในพื้นที่อีกมาก ทั้งนี้เพราะระบบนิเวศบนยอดดอยอินทนนท์ มีความบอบบางมาก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดๆ ได้เหมือนกับสิ่งของ

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้วันหยุดของเทศกาลสำคัญๆ ประจำปี ณ ยอดดอยอินทนนท์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศของยอดดอยอินทนนท์เสื่อมโทรม นายชัชวาล ยืนยันว่า ทุกวันหยุดเทศกาลจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาใช้พื้นที่ดังกล่าวจนแน่นขนัด เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวได้ตลอดปี จนธรรมชาติไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ทัน

จึงอยากเรียกร้องให้มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวบนยอดดอยอินทนนท์ พร้อมการปลุกจิตสำนึกต่อเรื่องนี้ เพื่อหวังว่าระบบนิเวศที่สูญเสียไปแล้วจะกลับคืนมาสมบูรณ์ดังเดิม

"ความรู้ดาราศาสตร์มีไว้ก็เพื่อให้รักษาโลกของเราไม่ใช่เหรอ ซึ่งดาราศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นส่วนเล็กนิดเดียวในจักรวาล แต่อยู่ๆ เรากลับจะมาทำลายมัน ทั้งๆ ที่ สดร.น่าจะเป็นหัวหอกที่ผลักดันให้กองทัพอากาศถอนตัวจากพื้นที่ไปด้วยซ้ำ" นายชัชวาลย้ำ

ทั้งนี้ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างหอดูดาวดังกล่าวเพื่อเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ของประเทศ แต่ไม่อยากให้ผู้ใดอ้างความเจริญส่วนตัวไปอยู่เหนือฐานทรัพยากรบนพื้นที่ และอยากให้การสร้างหอดูดาวเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่ควรทำออกมาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มากกว่าการกระทำสนองความอยาก พอเห็นชาติอื่นเช่นประเทศจีนมีก็อยากมีบ้าง อันเป็นเรื่องชาตินิยมเกินไป

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างหอดูดาว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอีไอเอ โดยได้จัดทำอีไอเอฉบับสมบูรณ์เสร็จเมื่อ พฤศจิกายน 2550 ก่อนส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมพิจารณา และอยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานที่ถูกตีกลับมาจำนวน 19 ประเด็น

อย่างไรก็ดี การจัดเสวนาระดมความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 นายชัชวาล เผยว่า ถือเป็นเวทีแรกที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันของ 2 ฝ่าย หลังโครงการเดินหน้าไปมากแล้ว โดยขณะนี้เสียงจากฝ่ายสนับสนุนและเสียงจากฝ่ายคัดค้านยังคงก้ำกึ่งกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น