นักวิชาการ มช.กร้าวมีทางเลือกที่ดีกว่าสร้างหอดูดาวบนยอดดอยอินทนนท์ ยกจับมือ ตปท.ส่งคนดูงาน -พัฒนาโปรแกรมช่วยสอน ด้านปลัด วท.ยันใส่ใจสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และถึงยังไงก็ต้องมี แต่เพราะเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ยินดีหาที่ใหม่หากไม่ได้ข้อยุติ
นายชัชวาล บุญปัน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นถึงความจำเป็นของการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ว่า อยากให้มีการทบทวนโครงการใหม่อีกครั้ง ซึ่งอาจพบทางเลือกที่ดีกว่าการก่อสร้างหอดูดาวใหม่ก็ได้
นายชัชวาล เชื่อว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนากล้องดูดาวที่มีอยู่ในประเทศให้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือในอีกทางหนึ่งคือการมีความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีหอดูดาวอยู่แล้วเพื่อส่งบุคลากรไปฝึกงานก็น่าจะทำได้อยู่กับโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนหลายร้อยล้านบาทโครงการนี้ ซึ่งจะใช้เพื่อฝึกกำลังคนและกระตุ้นความสนใจด้านดาราศาสตร์แก่เยาวชนได้
ตัวอย่างความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือกับประเทศจีนที่มีหอดูดาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่มณฑลยูนนาน เหมือนกับที่ สดร.กำลังผลักดันก่อสร้างบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งวิตกกันว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่อ่อนไหวของดอยอินทนนท์ โดยอาจารย์ผู้สอนวิชาฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานรายนี้ยืนยันว่า ตำแหน่งของหอดูดาวที่ห่างกันเพียงไม่กี่พันกิโลเมตรย่อมไม่มีผลใดๆ ต่อคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้แน่นอน
ต่อประเด็นเดียวกัน ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ ยืนยันว่า การก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินอย่างรัดกุม โปร่งใส และทำตามขั้นตอนตลอดจนคำแนะนำของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้เพราะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาก และยืนยันได้ว่าการก่อสร้างหอดูดาวจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เช่น ข้อมูลที่ชี้ว่าจะมีการตอกเสาเข็มขนาด 21 เมตรบนยอดดอยอินทนนท์ ก็ได้ศึกษาแล้วว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนขนาดของหอดูดาวก็ใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ดร.สุจินดา เผยด้วยว่า ที่ผ่านมา สดร.ยังได้ดำเนินการโดยเปิดเผยต่อประชาชนในพื้นที่มาตลอด และได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของหอดูดาว โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งหอดูดาวจะเป็นกลไกกระตุ้นให้เยาวชนมีความสนใจในด้านดาราศาสตร์และได้รู้ได้เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้
เพราะลำพังการวิจัยพัฒนาเพียงอย่างเดียวย่อมเข้าไม่ถึงเยาวชน แต่ต้องมีหอดูดาวจริงๆ ไปตั้งไว้ให้เยาวชนได้เห็นด้วยตาตัวเอง จะมีก็เพียงระยะหลังเท่านั้นที่มีผู้ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้าน
"คนที่ชมเขาจะไม่มาพูดถึง แต่คนที่ไม่ชมเขาจะร้องเสียงดัง แต่เพราะโครงการนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราก็พยายามทำให้ทุกคนพอใจ ไม่อยากให้มีเรื่องไม่พอใจเกิดขึ้นเลย" ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
ดร.สุจินดา ยืนยันอีกว่า การก่อสร้างหอดูดาวนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ทางวิชาการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่หากไม่สามารถก่อสร้างบนยอดดอยอินทนนท์ได้จริง ก็พร้อมจะหาที่อื่นทดแทน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับการตั้งหอดูดาวก็ตามที