xs
xsm
sm
md
lg

ยัน “ดอยอินทนนท์” เหมาะสุดตั้งหอดูดาวแห่งชาติ-ปัดไม่เคยตัดต่อ EIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยันการเลือก “ยอดดอยอินทนนท์” เป็นที่ตั้งหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานและยึดหลักวิชาการ ตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้เป็นจุดที่เหมาะสมและสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ย้ำชัดจะใช้พื้นที่เดิมโดยไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่ พร้อมปัดไม่ได้ตัดต่ออีไอเอ ขณะเดียวกันหากผลการศึกษาพบว่า หอดูดาวก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศ ก็พร้อมพิจารณาสถานที่อื่นเป็นทางเลือก

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างที่บริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ศึกษาจัดทำรายงานเสร็จ และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)พิจารณาไปแล้ว แต่ให้นำกลับมาปรับปรุงเพิ่มเติมในรายละเอียด

ทั้งนี้ หากผลการศึกษาออกมาว่า พื้นที่บนยอดดอยอินทนนท์ จะได้รับผลกระทบมากจากการสร้างหอดูดาวก็พร้อมที่จะพิจารณาสถานที่อื่นเป็นทางเลือก ซึ่งก็ได้มีการพิจารณาไว้แล้ว และพร้อมที่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ด้วย โดยทุกอย่างน่าจะชัดเจนภายในกลางปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้เห็นว่าพื้นที่บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด ที่จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ เพราะจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ยืนยันว่าการตัดสินใจเลือกยอดดอยอินทนนท์ เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานและหลักวิชาการทั้งสิ้น แต่หากก่อให้เกิดความขัดแย้ง ก็พร้อมที่จะหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

ส่วนกรณีที่กลุ่มนักอนุรักษ์มีความเป็นห่วงว่า กิจกรรมของหอดูดาวแห่งชาติ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของดอยอินทนนท์ รองศาสตราจารย์บุญรักษา ชี้แจงว่า พื้นที่ที่ใช้ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ เป็นพื้นที่เดิมที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการก่อสร้างที่จุดดังกล่าวก็จะมีการใช้พื้นที่ ทั้งตัวอาคาร สำหรับติดตั้งกล้องดูดาวและห้องควบคุมรวมทั้งสิ้นประมาณ 250 ตารางเมตร เท่านั้น โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กิจกรรมของหอดูดาวแห่งชาติที่ไปตั้งอยู่ตรงจุดนั้น ก็จะมีกิจกรรมน้อยมาก เพราะใช้เป็นเพียงจุดติดตั้งกล้องดูดาวและมีห้องปฏิบัติการควบคุม ใช้เจ้าหน้าที่เพียง 2-3 คนเท่านั้น แล้วใช้การเชื่อมสัญญาณลงไปศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศและฝึกอบรมดาราศาสตร์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

“ขอยืนยันว่า การจะก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ เราคำนึงและให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งก็พยายามที่จะไม่ให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศ ที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก”รองศาสตราจารย์บุญรักษา กล่าวและว่า

ในเชิงวิชาการแล้วมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาพื้นที่ที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานกล้องดูดาวที่จะนำมาติดตั้ง ซึ่งจากการพิจารณาแล้วก็พบว่าบริเวณยอดดอยอินทนนท์ เป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้วในประเทศไทย สำหรับจะใช้เป็นที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม หากในที่สุดแล้วมีการศึกษาอย่างละเอียดพบว่า มันจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงและก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นก็คงจะไม่ดื้อดึงใดๆ ซึ่งคงจะต้องมีการพิจารณาจุดอื่นที่มีความเหมาะสมรองลงไป แต่ทุกอย่างคงจะต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนภายในกลางปีนี้ เพราะกล้องดูดาวที่สั่งทำใกล้เสร็จแล้ว

สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ ว่ามีความจงใจที่จะไม่นำเสนอข้อมูลประกอบเกี่ยวกับหอดูดาวทั่วโลกที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เพื่อชี้ให้เห็นว่ายอดดอยอินทนนท์ เป็นเพียงจุดเดียวในประเทศไทยที่มีความเหมาะสมในการตั้งหอดูดาวแห่งชาตินั้น

รองศาสตราจารย์บุญรักษา ชี้แจงว่า เหตุผลที่ไม่ได้ส่งข้อมูลประกอบเกี่ยวกับหอดูดาว ที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เพราะหอดูดาวเหล่านั้น ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภูมิประเทศแตกต่างจากประเทศไทย คือไม่มีสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงหรือเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งไม่มีจุดที่มีความสูงเหมือนในประเทศไทย ทำให้การตั้งหอดูดาวในประเทศเหล่านั้นต้องตั้งอยู่ในจุดที่มีความสูงต่ำกว่า 2,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ขณะเดียวกันผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เพิ่มเติมว่า การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ เป็นความพยายามส่วนหนึ่งในการที่จะผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนจะได้มีการพัฒนาความร่วมมือในเชิงวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษา และนักวิชาการด้านดาราศาสตร์จากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ไทยรวมทั้งจะเป็นผลดีต่อจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เคยชี้แจงถึงเหตุผลที่ยอดดอยอินทนนท์เป็นจุดเหมาะสมที่สุด ในการเป็นที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติว่า เป็นเพราะที่จุดดังกล่าวมีความสูงกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงพ้นจากระดับฟ้าหลัวแล้ว ทำให้จะไม่มีหมอกควันมาเป็นตัวบดบังทัศนวิสัย จึงจะสามารถใช้งานกล้องดูดาวได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยหากไปตั้งอยู่ในจุดที่ต่ำกว่า 2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลก็อาจจะมีปัญหาจากฟ้าหลัวและทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันที่ความสูงระดับดังกล่าว ยังมีความหนาแน่นของอากาศน้อยกว่าพื้นราบประมาณ 30% ด้วย ซึ่งเป็นผลดี เพราะอากาศที่เป็นตัวดูดแสงมีปริมาณลดน้อยลงและเป็นผลดีต่อการใช้งานกล้องดูดาว

ทั้งนี้ แม้ยอดดอยอินทนนท์จะเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดแต่ก็ยังใช้งานกล้องดูดาวได้เพียงปีละประมาณ 8 เดือนเท่านั้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปีเป็นช่วงที่ไม่สามารถใช้งานได้อยู่แล้วเพราะมีฝนตก
กำลังโหลดความคิดเห็น