จากกระแสคัดค้านการสร้าง "หอดูดาวแห่งชาติ" บนยอดดอยอินทนนท์ เนื่องจากวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นในป่าเมฆที่อาจได้รับความเสียหายอันเนื่องจำนวนคนที่จะขึ้นไปเยือนมากขึ้น ผอ.สถาบันดาราศาสตร์เผยหากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านพร้อมย้ายที่ตั้ง
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบการก่อสร้างหอดูดาว กล่าวว่าสถานที่ตั้งหอดูดาวเป็นมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งทางสถาบันเพียงแต่ดำเนินการตามติ หากแต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องสร้างหอดูดาวบนที่มีความสูงอย่างยอดดอยอินทนนท์ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,500 เมตรและเป็นความสูงเหนือระดับเมฆที่สูงเฉลี่ย 2,000 เมตร และเมืองไทยก็มีพื้นที่สูงระดับดังกล่าวจำกัด ทั้งนี้คาดว่าสภาพอากาศจะดียาวนาน 7-8 เดือนทำให้มีเวลาศึกษาท้องฟ้าได้มากขึ้น
นับแต่เริ่มโครงการสร้างหอดูดาว รศ.บุญรักษากล่าวว่าได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดและปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง หากมีผลกระทบจริงๆ ก็คงต้องขยับสถานที่ตั้งไปยังสถานที่อื่นๆ โดยบริเวณกิ่วแม่ปานบนดอยอินทนนท์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ เป็นอีกทางเลือกในการตั้งหอดูดาว แต่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่าจะเป็นที่ไหน พร้อมระบุว่าเมื่อหอดูดาวพร้อมทำงานแล้วจะมีคนประจำอยู่แค่ 2-3 คน หากแต่เจ้าหน้าที่จำนวนมากจะอยู่บริเวณของสำนักงานที่ กม.31
ด้าน วิภู รุโจปการ นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์อยู่ที่หอดูดาวสตีวาร์ด ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงความกังวลว่าหากก่อสร้างหอดูดาวแล้วจะเป็นการดึงดูดให้มีคนขึ้นไปบนดอยอินทนนท์มากขึ้นทั้งการทัศนศึกษาของนักเรียนและนักดาราศาสตร์นั้น แท้จริงแล้วหอดูดาวไม่สามารถรองรับคนได้มากขนาดนั้น โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนประจำหอดูดาวและส่งข้อมูลผ่านสัญญาณไร้สายไปยังที่ต่างๆ ซึ่งหอดูดาวใหญ่ๆ ทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้
ส่วนครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ จ.ฉะเชิงเทราอย่างนายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทยกล่าวถึงความจำเป็นของหอดูดาวใหม่ว่าจะเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์และอวกาศสำหรับเยาวชนซึ่งเป็นวิชาบังคับเหมือนวิชาวิทยาศาสตร์อื่นๆ แล้ว ทั้งนี้ต่างประเทศเห็นเป็นเรื่องสำคัญมากและจัดเป็นสุดยอดวิชา และยังเชื่อว่าการก่อสร้างหอดูดาวครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยลดความเชื่อที่งมงายต่อปรากฏการณ์บนท้องฟ้าได้ด้วย
ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีกล้องดูดาวเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตรที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย นายวรวิทย์กล่าวว่าควรสร้างขนาดใหญ่เลยเพื่อให้คุ้มค่าแก่การลงทุน อีกทั้งโอกาสก่อสร้างหอดูดาวก็เป็นเรื่องยาก ดังที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร.ต้องผลักดันการสร้างหอดูดาวนานถึง 7-8 ปี และโดยส่วนตัวเชื่อว่าหอดูดาวจะไม่ทำให้เกิดเสียงดังจนนกแตกตื่นเพราะการดูดาวจำเป็นต้องใช้ทั้งความเงียบและความมืดเป็นทุนอยู่แล้ว
"ถ้าเราไม่สร้างในที่สูงสุดแล้วก็เสียตังค์เปล่า ซึ่งนาซา (องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ) ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลออกไปนอกโลกก็เพราะเหตุผลนี้ เราต้องการเลี่ยงบรรยากาศโลกที่มีเมฆหมอกและลมมารบกวน ดร.ศรัณย์ ก็ได้ดูมาหลายรอบแล้ว มีการตรวจสอบ ไม่ใช่ว่าผมกับดร.ศรัณย์เป็นเพื่อนกันแล้วมาช่วยหรือมาปกป้องกันแต่เป็นเรื่องที่เราเป็นนักดาราศาสตร์ เราทำกันด้วยใจ" นายวรวิทย์กล่าว