xs
xsm
sm
md
lg

ยกเครื่อง “ดาราศาสตร์” ผ่านหลักสูตร “iAstro”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยถึงวิชา ‘ดาราศาสตร์’ หลายคนคงมีโอกาสได้เรียนจากในวิชาวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งในพ.ศ. 2544 จึงมีการนำวิชาดาราศาสตร์เข้าบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของชาติ โดยเนื้อหาหลักเน้นไปในเรื่องของกลุ่มดาว ระบบสุริยะ เอกภพ และเทคโนโลยีทางอวกาศ หากปัญหาจากการผลักดันวิชานี้เข้าหลักสูตรคือภาวะการขาดแคลนบุคลากรในการสอนและสื่อการสอน ส่งผลให้การศึกษาในวิชาดาราศาสตร์จึงเหมือนถูกหมางเมินไปโดยไม่รู้ตัว

** ครู-แหล่งเรียนรู้ คือสิ่งที่ขาด

“จริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากสอนวิชานี้” เป็นคำสารภาพของ อ.พรรณี ประยุง ผู้สอนวิชาดาราศาสตร์ จาก ร.ร.ศึกษานารี ซึงได้อธิบายปัญหาให้ฟังว่า สาเหตุมาจากวิชาดาราศาสตร์นั้นไม่มีวิชาเอก ครูวิทยาศาสตร์ก็จะมีแต่ครูฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ในส่วนของดาราศาสตร์นั้นไม่มี เมื่อต้องแยกไปสอนก็เลยไม่มีใครอยากจะสอน เพราะผู้สอนเองก็ได้วิชามาไม่เต็มที่

“ทำให้ค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ของครูผู้สอนประสบอุปสรรค แหล่งข้อมูลการค้นคว้ามีน้อย ในส่วนปัญหาด้านการสอนนั้นจากสภาพความเป็นจริงที่วิชานี้ต้องมีการฝึกปฏิบัติ ออกนอกสถานที่จริงเพื่อสังเกตการณ์ดวงดาว และเหตุการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ในการใช้ส่องดูดาวที่มีราคาแพง สื่อที่ใช้ในการสอนก็ราคาแพงเช่นกัน” อ.จากร.ร.ศึกษานารีระบุ

** คนสนใจน้อย สาเหตุสื่อการสอนหยุดพัฒนา

เช่นเดียวกับ ผศ.สันติ ศรีประเสริฐ หน.กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ(มัธยม) ที่กล่าวว่า แหล่งเรียนรู้อันหนึ่งของครูคือการฝึกอบรม ซึ่งทาง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ก็รับหน้าเสื่อในการฝึกอบรมความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เสมอมา แต่จะมีความชัดเจนในส่วนของวิชาหลักๆ เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เท่านั้น แต่ทางด้านของดาราศาสตร์นั้นไม่ได้มีการอบรมที่ชัดเจน และเข้มข้นเหมือนกับวิชาที่กล่าวมา

จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานสนับสนุนการทำวิจัย(สกว.) คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือ LESA ได้จับมือกันจัดทำ หลักสูตร iAstro (E-learning) หรือการอบรมสาระการเรียนรู้ดาราศาสตร์และอวกาศผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีโอกาสได้รับความรู้ และเสริมสร้างความมั่นใจในการสอนวิชาดาราศาสตร์ให้มากขึ้น

** เข้าถึง เข้าใจ แนวทางใหม่พัฒนาครู

ผศ.ดร.อลิศรา ชูชาติ ประธานสาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่ดูแลหลักสูตรการผลิตครู อธิบายถึงที่มาว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดครูผู้สอนโดยตรง ยิ่งในปัจจุบันนี้วิชาดาราศาสตร์ ถูกบรรจุให้มีการเรียนตั้งแต่ป.1-ม.6 เนื้อหาต้องมีมากขึ้นหลายเท่าตัว การที่จะพัฒนาครูจึงเป็นไปได้ยาก เพราะการที่จะให้ครูที่รับผิดชอบการสอนมาฝึกอบรมก็เป็นไปได้ยาก แต่หลักสูตรที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นนี้จะช่วยใช้ระบบการฝึกอบรมเป็นไปได้ง่ายขึ้น

“หลักสูตรที่จะพัฒนาขึ้นนั้นไม่ได้มุ่งเน้นให้ครูอ่านอย่างเดียว ระบบการเรียนออนไลน์ครั้งนี้จะเป็นระบบที่ให้ครูมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างฝึกอบรมแต่ทุกอย่างจะดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ขณะเดียวกันเราก็จะมีกิจกรรมการเรียนรู้จริง เพื่อให้ครูเข้าใจปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เห็นการเปลี่ยนแปลงจุดต่างๆ หลังจากฝึกอบรมแล้วครูจะได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ่งขึ้นเกี่ยวกับดาราศาสตร์ สามารถที่จะได้แนวทางในการผลิตสื่อการสอน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้” ผศ.ดร.อลิศรา กล่าว

** ‘ดาราศาสตร์’ จุดประกายการเรียนรู้ของเด็ก

น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผอ.ศูนย์ฯ LESA กล่าวด้วยว่า หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและครอบคลุมหลักสูตรที่ครูจะสอน โดยการเรียบเรียงตามหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้น โดยจะแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร 101 ดาราศาสตร์ สังเกตุการณ์และระบบสุริยะ ที่จะมีเนื้อหาครอบคลุมในส่วนของชั้นประถมศึกษา – ม.ต้น และหลักสูตร 102 ดาวฤกษ์ กาแล็กซี่ และเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นเนื้อหาของ ม.ปลายทั้งหมด

จุดเด่นของหลักสูตรการ iAstro คือมีการให้ความรู้อย่างครบวงจรตั้งแต่ดาราศาสตร์พื้นฐาน จนถึง เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งในแต่ละบทเรียนจะมีการสอดแทรกด้วยสื่อการสอนและกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติ ผู้เข้าอบรมสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งสื่อที่ใช่สอนนั้นผลิตจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และซอฟท์แวร์ที่ทันสมัย เช่น การใช้ภาพ 3 มิติ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของช่วงเวลาเพื่อการเรียนรู้กลุ่มดาว หรือการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เพียงแค่จะช่วยให้เข้าใจง่าย แต่ยังเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้มีความสนุกสนานน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบการสื่อเหล่านี้ยังมีมาตรฐานที่ทัดเทียมกับต่างประเทศอีกด้วย

“หากครูมีความเข้าใจ และสามารถสื่อออกมาได้ดีนั้นวิชาดาราศาสตร์จะเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ ในทุกๆ เรื่อง เด็กจะยอมรับและเข้าถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สามารถเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆรอบๆตัวได้ตลอดเวลา ทำให้มีความเข้าใจในระบบความเป็นไป กลไกของธรรมชาติ ไม่งมงาย สามารถหาคำตอบของความเปลี่ยนแปลงได้จากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเหตุผล” น.อ.ฐากูร ทิ้งท้าย

** สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรม ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.iAstrocenter.com หรือติดต่อได้ที่ โทร.0-2218-2462-3 **

กำลังโหลดความคิดเห็น